บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันเสาร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

คุยข้ามคืน กับ แดนอรัญ แสงทอง


นักเขียนผู้ถูกประเทศตัวเองทอดทิ้ง (เรื่องจริงอิงนิยาย) แต่ “ขายได้” ในยุโรป

นี่เป็นคำโปรยหน้าปกของหนังสือพ็อตเก็ตบุ๊คที่เกี่ยวกับวรรณกรรมน้องใหม่ล่าสุด Bookmarx ของสำนักพิมพ์ผจญภัย แม้บทสัมภาษณ์นี้จะเคยลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเมื่อวันที่ 22 ธ.ค.51 แต่นี่เป็นบทสัมภาษณ์ที่เรียบเรียงใหม่ เข้มข้นและสมบูรณ์กว่า (80 หน้า)  รับบทหนักแกะเทปและเรียบเรียงโดย สุรชัย พิงชัยภูมิ 

ในเล่มนอกจากไฮไลท์บทสัมภาษณ์ของแดนอรัญแล้ว ยังมีเรื่องสั้นไทยและแปลจากนักเขียนใหญ่ อย่างเช่น

เรื่องสั้นไทย
“ชายชรากับนกพิราบ” / เวียง-วชิระ บัวสนธ์
“จากหน้าต่างห้อง 601” / ยรรยง บุญ-หลง
“The Happening : สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เราอธิบาย” / วยากร พึ่งเงิน

เรื่องสั้นแปล
“ความต่อเนื่อง” / ฮูลิโอ คอร์ตาซาร์ - เขียน / จิรวัฒน์ แสงทอง แปล
“ปอก” / ปีเตอร์ แครีย์ – เขียน / กันต์ธร อักษรนำ แปล
 “อาหารครอบครัวมื้อค่ำ” / คาสึโอะ อิชิงุโระ – เขียน / อนุสรณ์ ติปยานนท์ แปล

ทัศนวิจารณ์ “เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่า” / นพดล ปรางค์ทอง
บทความพิเศษ “โพสต์โมเดิร์นกับประเด็นในการศึกษาวรรณกรรม” / สุรเดช โชติอุดมพันธ์

และเรื่องอื่นๆ อีกจำนวนมาก

วันอังคารที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

แดนอรัญ แสงทองกับผลงานแปลล่าสุดใน “นารีนิยาม” Bookvirus ฟุ้ง 07


เบิกม่านเรื่องสั้นผู้หญิงเกินนิยาม รวม 5 เรื่องสั้นแปลจาก 5 ประเทศ 
ฝรั่งเศส, อิหร่าน, ญี่ปุ่น, บราซิล และหนึ่งในเล่มเรื่อง “จบให้สวย” จากแคนาดาของ มาร์กาเร็ท แอ็ตวูด มี แดนอรัญ ร่วมแปลอยู่ด้วย 

ใครอยากรู้ว่าแดนอรัญมีอารมณ์ขำแค่ไหน ลองอ่าน “จบให้สวย” เรื่องแนวกุ๊กกิ๊กน่ารักแบบฉบับความสุขเลือกได้ที่ตัวเรา จะสนุกแค่ไหนคนอ่านเป็นผู้ตัดสินครับ

หนังสือพิมพ์จำนวนจำกัด มีจำหน่ายเฉพาะที่ร้าน Kinokuniya (สาขาพารากอน / สาขาอิเซตัน) และศูนย์หนังสือจุฬาทุกสาขา

อ่านเพิ่มเติมที่ :
http://ninamori.blogspot.com/2010/07/bookvirus-07.html


หมายเหุต : บุ๊คไวรัส หนังสือในเครือ Filmvirus / Bookvirus เคยตีพิมพ์ผลงานของแดนอรัญ ทั้งที่แปลและเรื่องที่แต่งเอง 

ปี 2547 บุ๊คไวรัส เล่ม 2 (รวมเรื่องสั้นทั้งไทยและต่างประเทศ)

- “ในท่ามกลางแสงแห่งเดือนอันฉายฉาน” (เรื่องสั้นโดย แดนอรัญ แสงทอง)

- “แดนใต้” ของ ฆอร์เฆ้ หลุยส์ บอร์เฆส (แปล)

- “กาลอวสาน” ของ ฆอร์เฆ้ หลุยส์ บอร์เฆส (แปล)

ปี 2552 บุ๊คไวรัส เล่ม 3 กาจับโลง  “เลือดสามหยาด” ของซาเดก เฮดายัต (แปล)

ปี 2553 บุ๊คไวรัส เล่ม 6 “เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ” (แปล)

วันจันทร์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

"ตำนานเสาไห้" Short Film


เสาไห้ : ตำนานปรัมปรา คารวะแด่ดวงจิตอันสุกสกาวชั่วนิรันดร์

รายการ 10 ปากกาหน้าเลนส์ วรรณกรรมสู่แผ่นฟิล์ม ทางสถานีโทรทัศน์ ทีวีไทย ได้นำผลงานของแดนอรัญ เรื่อง ตำนานเสาไห้ มาทำเป็นหนังสั้น ณ ขณะนี้ทางทีมงานของรายการเพิ่งเสร็จสิ้นการถ่ายทำสัมภาษณ์แดนอรัญในช่วงแรก ส่วนใครจะได้กำกับ และหนังจะออนแอร์วันไหนนั้น ทางบล็อกจะอัพเดตข่าวให้ทราบอีกครั้งครับ

ตำนานเสาไห้ ตีพิมพ์ครั้งแรก ในจุดประกายวรรณกรรม วันที่ 22 ก.ย. 2544

วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

“ตำนานเสาไห้” ใน สยามรัฐ


“ต้นธารแห่งแรงบันดาลใจ...ที่ถั่งท้นล้นหลากด้วยพลังอันมหัศจรรย์”  
คือหัวบทวิจารณ์ ตำนานเสาไห้ โดย  สกุล บุญยทัต  คอลัมน์ ปากกาขนนก หน้า 73-74
อ่านเพิ่มเติมที่ สยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ ฉบับที่ 43 วันศุกร์ที่ 16 – พฤหัส ที่ 22 ก.ค. 53 

วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

สบแสงแดนเสือ: ภารกิจโกยคำชั่วชีวิตของ แดนอรัญ แสงทอง


สัมภาษณ์โดย : ทีมงานฟิล์มไวรัส
ถ่ายภาพ : โมรีมาตย์ ระเด่นอาหมัด

หมายเหตุ : นี่เป็นบทสัมภาษณ์ล่าสุดของแดนอรัญ ที่ยังไม่เคยลงสื่อใดๆ มาก่อน สัมภาษณ์เมื่อต้นเดือน ม.ค. 53  โปรดติดตามอ่านฉบับสมบูรณ์พร้อมบทความที่แดนอรัญเขียนได้ใน Open Review พ็อตเก็ตบุ๊คส์ สำนักพิมพ์โอเพ่น (ภายในปีนี้)

…………………………………………………………………….

แดนอรัญ แสงทอง ชื่อที่หลายคนขยาดขาม บางคนนับถือเป็นศาสดาแห่งสวนอักษร และอีกจำนวนไม่น้อยที่ยักไหล่ “แล้วไง ?” จึงรู้สึกทั้งตื่นเต้นและแปลกใจ เมื่อ สนธยา ทรัพย์เย็น – เจ้าสำนักฟิล์มไวรัสมอบหมายให้พวกเราบุกไปสัมภาษณ์คนป่าถึงบ้านที่จังหวัดเพชรบุรี จินตนาการที่เราวาดฝันกับภาพจริงที่แตกต่างกันอย่างสุดโต่ง แต่สุดท้ายก็มาประสานกันได้ในที่สุด นับจากวันซึ่ง “ทุ่งดอกหญ้าถึงดวงดาว” ของ ออสการ์ ไวลด์ (สนพ. ทานตะวัน) เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเราได้รู้จักกับคุณแดนอรัญ ด้วยอรรถรสของการเพาะเลี้ยงบ่มพรรณพฤกษ์ทางภาษา และการคัดสรรเรื่องแปลซึ่งทำให้พวกเราติดตามอ่านเรื่อยมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผลงานประหลาดพิลาสที่เขาประพันธ์เอง เรื่องของเขามักมีเสียงแปลกประหลาดบางอย่างเสมอที่สะกิดให้เราสะดุ้งลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ยิ่งเมื่อเราร่วมงานกับเขาในหนังสือแปลชุด bookvirus เล่ม 3 ฉบับ “กาจับโลง” (สนพ. ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์) และร่วมเฉลิมฉลอง 100 ปี เรื่องแปล “เว็นดิโก้” (สนพ. โอเพ่นบุ๊คส์) จึงยิ่งชวนให้ฉงนเป็นที่สุดว่า แท้จริงบุคคลเบื้องหลังอลังการงานคำรามเหล่านั้นจะมีตัวตนเป็นเช่นใด
  สำหรับภารกิจการรวบตัวสิงห์แดนเสืออันหนักหนาสาหัสนี้ แม้จะเสียดายว่า คุณ 
 ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการใหญ่ของสนพ. โอเพ่นบุ๊คส์ ซึ่งเป็นอดีตผู้อุปสมบถไม่ว่าง
  มาวาดบ่วงและร่วมถกธรรม แต่อย่างไรก็ตามพวกเราเหล่าคนบาปสมาชิกฟิล์มไวรัสก็พร้อมด้วย
อุปกรณ์คำถามและอาวุธครบมืออันเป็นดังหน่อเนื้อเซฟตี้คัต ซึ่งถูกตระเตรียมมาไว้ต้านมรสุม
พิโรธที่ส่อแววจะตั้งเค้า                                                                                                                                                  
เรามาถึงเพชรบุรีก่อนเวลานัด จึงมีเวลาเที่ยวชมเมือง เราไม่รู้มาก่อนว่าเพชรบุรีมีลิงเยอะ และมีภูเขาตั้งอยู่ใจกลางเมือง ที่นี่มีแม่น้ำ และมีถนนใต้ร่มมะฮ็อกกานีขนาดใหญ่เป็นแถวยาว... หลังจากดื่มด่ำกับธรรมชาติพอหอมปากหอมคอ เราก็มุ่งหน้าต่อไปยังจุดนัดพบ บ้านไม้หลังสีขาวฟ้าซึ่งเป็นบ้านเช่าที่คุณแดนอรัญใช้เป็นฐานทัพในการเขียนหนังสือ เขาทักทายต้อนรับพวกเราอย่างเป็นกันเอง ไม่ดุไม่กัด เขาดูสะอาดสะอ้าน บ้านก็เป็นระเบียบเรียบร้อยกว่าบ้านของชาวบ้านทั่วไป ในห้องของเขาเต็มไปด้วยหนังสือ ตัวจริงของคุณแดนอรัญเป็นคนผิวคล้ำ ร่างกายบึกบึนแข็งแรงมาก หน้าผากกว้าง ผมยาวสีดำ หนวดเคราก็ยาวแต่สีเทาแกมเงิน น้ำเสียงกระฉับกระเฉง เขาตอนนี้ท้วมกว่าในรูปที่พวกเราเห็นในอินเตอร์เน็ท ตอนคุยกันเขาดู
หงุดหงิดบ้างเล็กน้อยเพราะอยู่ในช่วงเลิกบุหรี่และกาแฟ แต่โดยรวมแล้วถือว่าเขาเป็นเจ้า
บ้านที่ดี เรานั่งที่ม้าหินอ่อนใต้ต้นมะม่วง มีลมพัดเบา ๆ จากทางทิศตะวันตก มีเสียงนกร้อง  
และหลังจากได้ดื่มน้ำเย็น ๆ ชื่นใจแล้ว การสัมภาษณ์ก็เริ่มขึ้น และสิ่งที่ทำให้เราแน่ใจว่าคุยไม่
ผิดตัวก็คือการทำตาขวางของเขาเมื่อเริ่มพาดพิงถึงบรรดามหาบัณฑิตผู้รอบรู้ข่าวสาร ซึ่ง
ชอบทำตัวเป็นนักปรัชญาผู้ใคร่ครวญเฉพาะด้านในระดับจินตมยปัญญาและสุตมยปัญญา

หมายเหตุ: ต้องขออนุญาตคุณแดนอรัญ และคุณผู้อ่านทุกท่านที่ทีมงานฟิล์มไวรัสขอระบุชื่อ
หนังสือ ชื่อภาพยนตร์และชื่อบุคคลบางส่วนเป็นตัวสะกดภาษาอังกฤษ ทั้งนี้นั้นเพื่อความสะดวกในการเทียบเสียงและการสืบค้นต่อไป 

• คุณยังเชื่อมั่นในอำนาจของวรรณกรรมอยู่ไหม
นี่เป็นคำถามที่ตอบยากนะ ต่อให้เป็นคำตอบในทัศนะส่วนตัวก็ตามทีเถิด เอาเป็นว่า
คำตอบนี้ไม่เกี่ยวข้องกับใคร โดยส่วนตัวแล้วขณะนี้ผมไม่ได้เร่าร้อนด้วยพลังการสร้างสรรค์ใด
ๆ เลย อยู่ในภาวะเฉื่อยเนื่อย อย่าว่าแต่จะเขียนหนังสือเลย แม้แต่จะอ่านก็ไม่ค่อยได้อ่าน พูด
ง่าย ๆ ก็คือเกียจคร้านน่ะแหละ ผมเขียนน้อยลงมาก อ่านน้อยลงมาก เออ พูดก็น้อยลง วัน ๆ
แทบไม่ได้พูดกับใคร วันเวลาช่วงสี่ซ้าห้าเดือนมานี้มันดูแปลก ๆ น่ะ ผมกำลังเลิกบุหรี่และเลิก
กาแฟเด็ดขาด ดูเหมือนว่าพลังของผมถูกใช้ไปในการต่อสู้กับความอยากสูบบุหรี่และความอยาก
ดื่มกำแฟ ผมติดบุหรี่และกาแฟงอมแงมมายาวนานหลายสิบปี พอเลิกบุหรี่เลิกกาแฟก็เลย
หงุดหงิด พ้นจากช่วงนี้ไปผมอาจสนุกกับการเขียนขึ้นมาอีกก็ได้ ผมหวังอย่างนั้นนะ ถ้าหากผม
จะนึกจะคิดอะไรอยู่บ้างเกี่ยวกับวรรณกรรม ผมก็นึกถึงวรรณกรรมที่เป็นโลกุตตระศิลป์น่ะ  
ไม่ใช่วรรณกรรมที่เป็นโลกียะศิลป์ โลกุตตระศิลป์คืออะไรและโลกียะศิลป์คืออะไร แตกต่าง
กันอย่างไร คุณก็ลองหาอ่านเอาจาก “ทางเอก” ของท่านพุทธทาส ผมคิดว่าคนที่เกี่ยวข้องกับ
ศิลปะวรรณกรรมทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้สร้าง ผู้เสพ หรือผู้ประเมินคุณค่า ควรจะศึกษา  
ควรจะเอาใจใส่กับทัศนะทางศิลปะของท่านพุทธทาสนะ แน่นอนละว่าทัศนะของท่านพุทธทาส
นั้นก็พัฒนามาจากทัศนะของพระพุทธองค์นั่นเอง พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าการพูดคุย ถกเถียง  
วิจักขณ์วิจารณ์เกี่ยวกับวรรณกรรมนั้นเสี่ยงต่อการผิดศีลข้อสี่ คือว่าเข้าข่ายพูดเพ้อเจ้อ ดังนั้น  
ทั้งผมและคุณต้องระมัดระวังตัวให้ดี ในสมัยพุทธกาลก็มีมหากวีนะ ชื่อท่านวังคีสะ ท่าน
วังคีสะนี่นอกจากท่านจะเป็นมหากวีแล้วท่านก็ยังเป็นเต้ยในการปฏิบัติสมาธิภาวนาด้วย พลังจิต
ของท่านแข็งกล้ามหาศาล และท่านก็เป็นจอมอหังการ์ ท่านมั่นใจในตนเองมากจนถึงกับ
หาญกล้าปะทะคารมกับพระพุทธองค์ แต่ท่านพ่ายแพ้ และท่านก็เลยบวช ประพฤติธรรมวินัย
ของพระพุทธองค์ เข้าใจว่าหลังจากท่านเป็นพระอรหันต์แล้วท่านรจนากวีนิพนธ์น้อยลง บทกวี
ของท่านยังคงปรากฏอยู่ในพระสูตรหนึ่งหรือสองพระสูตร ผมลืมชื่อพระสูตรเหล่านั้นเสียแล้ว  
ถ้าคุณสนใจคุณก็ลองค้นดูในพระไตรปิฎก ผมมั่นใจว่าแม้แต่กวีอย่าง “นายผี” หรือจิตร ภูมิ
ศักดิ์ก็จะไม่เอาใจใส่กับทัศนะทางวรรณกรรมตามกรอบมาร์กซิสท์ – เลนินนิสหรือเหมาอิสต์อีก
เลยถ้าหากมีโอกาสได้ศึกษาแนวคิดและแนวปฏิบัติของพระพุทธองค์

                                                                                               

• สำหรับคุณแล้ววรรณกรรมควรจะเป็นอย่างไร
ผมสนใจเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงจากโลกียะไปสู่โลกุตตระ พระอรหันต์น่ะท่าน
ก็ล้วนแล้วแต่เป็นปุถุชนมาก่อน คนเราไม่จำเป็นต้องใช้เวลาหนึ่งพันปีในการเรียนรู้ถึงความไร้
แก่นสารของโลกียะหรอก ท่านอะไรนะที่ท่านเฝ้าแต่รำพึงว่า “ที่นี่ข้ดข้องหนอ ที่นี่วุ่นวาย
หนอ” ท่านยสะ ท่านผู้นี้ก็ไม่ใช่คนทุคตะยากไร้ ท่านก็มั่งมีศรีสุขดีและอาจถึงแก่วุ่นวายอยู่กับ
สุรานารีและพาชีกีฬาบัตรเสียด้วยซ้ำไป แต่ท่านก็มีสติปัญญามากพอที่จะหยั่งรู้ได้ถึงความ
แปรปรวนของชีวิต เมื่อตอนเป็นเด็ก ๆ ผมอ่านพบเรื่องของท่านผู้นี้ผมก็พูดกับตนเองว่า อะไร
วะ รำพึงแค่นี้ถึงกับออกบวชเลยเหรอ แต่นี่คือถ้อยคำอมตะ ทุกวันนี้ก็ยังคงกระพันชาตรีอยู่เลย  
“ที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ” นี่คือสิ่งที่ผมรู้สึกอยู่ตลอดเวลา
ท่านพระโมคคัลลาน์นั้นตอนท่านลงมือปฏิบัติสมาธิภาวนาใหม่ ๆ ท่านก็มักจะสัปหงกอยู่เป็นนิจ ชีวิตในสมณะเพศของท่านองคุลีมาลนั้นในระยะแรกก็คงไม่สู้จะราบรื่นนักเพราะท่านเคยเป็นโจรมาก่อนและบาปเวรทั้งหลายทั้งปวงก็คงจะหลอกหลอนท่าน และผมคิดว่าท่าน
เป็นผู้ติดในรสชาติของอาหารด้วยนะ มีความเป็นไปได้อยู่มากว่าท่านอาจไปไกลถึงขนาดกิน
เนื้อมนุษย์ด้วย เหมือนอย่างที่เราจะรู้สึกได้ในตำนานของพระนเรศวรหรือตำนานของแดรคคิว
ลาหรืออย่างน้อยเนื้อที่ท่านเคยกินในระหว่างที่ท่านเป็นโจร อาจเป็นเนื้อสัตว์สุก ๆ ดิบ ๆ ทีนี้ก็มี
พระบาลีกล่าวรับรองไว้ว่า “ผู้ที่ยังติดใจในรสชาติของอาหาร ย่อมไม่ติดใจในรสแห่งฌาน”  
ผมเข้าใจว่าท่านพระองคุลีมาลคงทรมานมาก หลวงพ่อชาเล่าว่าสมัยท่านอินทรีย์ยังไม่แก่กล้า  
ความอยากอาหารเล่นงานท่านแทบเสียผู้เสียคน ท่านคิดถึงส้มตำกล้วยดิบที่โยมมารดาของท่าน
เคยทำให้ท่านกินตอนท่านยังไม่ได้บวช คิดถึงจนน้ำลายไหล แต่ท่านอาจารย์ทองรัตน์ กันต
สีโลนั้นกลับแตกต่างออกไป ท่านเคยเพลิดเพลินยินดีอยู่ในฌานของท่านจนไม่ฉันอาหารคราว
ละหลาย ๆ วัน ท่านผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปุถุชนมาก่อนทั้งนั้น ถ้าผมจะเขียน ผมก็
อยากจะเขียนถึงความเปลี่ยนแปลงในจิตใจของท่านเหล่านี้ ถ้าหากว่าผมพอจะทำอะไรที่มันจะ
เกี่ยวข้องกับวรรณกรรมอยู่บ้างแล้ว ผมก็อยากจะเอาเรื่องราวประดานี้แหละมาแปรเป็น
วรรณกรรม พูดง่าย ๆ ก็คือเรื่องราวของบรรดาพระป่าจะเป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับผม ท่านพระ
อาจารย์พรหม จิระปุญโญนั้นชีวิตของท่านคล้ายคลึงกับชีวิตของท่านพระองคุลีมาลอย่างยิ่ง  
และผู้คนในแวดวงของการปฏิบัติธรรมต่างก็รู้กันดีว่าท่านพระอาจารย์พรหมมีภูมิจิตภูมิธรรมสูง
ล้ำเลิศ เป็นผู้บริสุทธิ์

• ในฐานะนักแปลคุณคิดว่าเราได้อ่านหนังสือที่เราควรจะได้อ่านมากพอหรือยัง
ข้อมูลทางวิชาการของศาสตราจารย์เอียน สตีเวนสันเกี่ยวกับการระลึกชาติได้น่ะมีใคร
แปลหรือยัง คนสมัยใหม่มักหัวเราะเยาะความเชื่อเรื่องตายแล้วเกิดใหม่ มองว่าเป็นเรื่องโกหก
หวือหวา แต่การศึกษาของคนสมัยใหม่น่ะติดตังวนเวียนอยู่กับสุตมยปัญญาและจิตมยปัญญา คือว่าฟังมาก ดูมาก อ่านมาก รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ มาก แล้วก็กลายเป็นบัณฑิต มหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต มีปัญญาที่เรียกว่าสุตมยปัญญา พวกที่คิดมาก ใคร่ครวญมาก ใช้เหตุผล ใช้จินตนาการก็กลายเป็นนักคิดนักเขียน เป็นศิลปิน นักวิทยาศาสตร์ กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน พวกนี้ก็มีปัญญาอยู่ในระดับจินตมยปัญญา แต่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอนถึงการแสวงหาปัญญาจากการปฏิบัติธรรมบำเพ็ญเพียร ที่เรียกว่าภาวนามยปัญญา เป็นคำสอนที่มีระบบระเบียบและกฎเกณฑ์แน่ชัดละเอียดละออ ความรู้อันแจ่มชัดจากการบำเพ็ญเพียรภาวนาเรียกว่า ญาน หรือ ฌาน บุพเพนิวาสานุสสติญานคือญานที่ทำให้เราสามารถระลึกชาติได้ เป็นเรื่องสามัญนะ เป็นเรื่องปรกติสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง มนุษย์เรานั้นเวียนตายเวียนเกิด วิทยาศาสตร์ไม่เชื่อในความจริงข้อนี้ มนุษย์ยุคใหม่ผู้มีความคิดเป็นวิทยาศาสตร์จึงมักจะมีท่าทีที่ว่า “ฉันอาจจะทำชั่วทำเลวก็ได้ถ้าจำเป็นหรือถ้าโอกาสเป็นใจ ฉันตายแล้วก็ดับสูญ กรรมตามสนองฉันไม่ทันหรอก ชาติหน้าไม่มี” ผลก็คือความชั่วความผิดบาปแพร่ขยายครองโลก ข้อมูลเกี่ยวกับการตายแล้วเกิดใหม่นี่ภาษาไทยมีอยู่เป็นกุรุส ลองเอางานของฝรั่งเศสมาอ่านดูบ้าง นี่เป็นเรื่องที่ผมอยากอ่าน แล้วผมก็ยังอยากอ่านงานของนักปราชญ์ฝรั่งโบราณอีกคนหนึ่งที่ชื่อ เอ็มมานูเอล สวีเดนบอร์ก (Emmanuel Swedenborg) แต่ผมว่า สวีเดนบอร์ก นี่เพ้อเจ้อ แกเป็นคนวาสนาน้อย แกไม่มีโอกาสได้ศึกษาพระพุทธศาสนา  คุณและผมยังมีวาสนาบารมีมากกว่ามหาปราชญ์อย่างแกเสียอีก


• เล่มอื่น ๆ มีอีกไหม
“The Varieties of Religious Experience” ของ วิลเลี่ยม เจมส์ 
(William James) น่าจะมีใครแปลเสียทีนะโดยเฉพาะพวกมหาบัณฑิตหรือดุษฎีบัณฑิต
ทางด้านปรัชญา แต่ผมคิดว่าประสบการณ์ทางจิตของผู้คนในหนังสือเล่มนี้ที่เจมส์แกกล่าวถึงมัน
เป็นไปโดยบังเอิญ คือมีอาการ “จิตรวม” โดยบังเอิญ “จิตรวม” หรือ “เอกัคคตา” นี่เป็น
เรื่องธรรมดามากของการปฏิบัติธรรมตามแนวของชาวพุทธ เป็นอาการขั้นหนึ่งของจิต เริ่มจาก
วิตก วิจาร ปิติ สุข แล้วไป เอกัคคตา วิตกก็คือการคิดซ้ำ ๆ การไตร่ตรองใคร่ครวญซ้ำ ๆ นะ  
ไม่ใช่กลัดกลุ้ม เป็นสมาธิในระดับโลกียะ เกิดขึ้นกับใครก็ได้ มันยังเคยเกิดขึ้นกับผมเลยใน
ระหว่างที่ผมเขียน “เงาสีขาว” และ “เจ้าการะเกด” คุณไปอ่านรายละเอียดเอาเองซีในคำนำ
ของ “เงาสีขาว” ฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง แต่การจะมีสมาธิในระดับนี้ได้ คุณต้องกำจัด กาม
ฉันทะ วิหิงสาพยาบาท วิจิกิจฉา ถีนมิทธะ อุทัธจะกุกกุจจะออกไปจากจิตใจของคุณเสียก่อน  
สิ่งเหล่านี้เรียกว่านิวรณ์ เป็นอุปสรรคแก่สมาธิ นี่แหละคือปฐมบทของภาวนามยปัญญาละ พระ
พุทธองค์ไม่ได้ทรงบอกให้แค่เพียงนั่งนิ่ง ๆ แล้วหลับตา อ้ายนั่นมันหัวหลักหัวตอ สมาธิใน
พระพุทธศาสนาน่ะมีระบบระเบียบ มีกฎเกณฑ์ มีขั้นตอน แต่ต้องปฏิบัติเอาเอง ถึงจะรู้ได้ด้วย
ตนเอง ไม่ต้องรอให้ใครมายืนยัน แค่โลกียสมาธิแค่นี้ก็มีปาฏิหารย์แล้ว ผมนี่ไงเล่าที่สำแดง
ปาฏิหารย์เขียนหนังสือขายได้เฉียดแสนเล่มในทวีปยุโรป ทั้งที่เป็นนักเขียนกระจอกงอกง่อยที่
คนไทยแทบไม่รู้จัก

• ที่ไม่ใช่หนังสือทางศาสนาล่ะ
อยากอ่าน “เหลียวไจ๋จื้ออี้”(Liao Zhai Zhi Yi หรือ "เรื่องแปลกในห้องเหลียว
ไจ๋" / Strange stories from a Chinese studio) ฉบับสมบูรณ์ของ “ผู่ซง
หลิน” เสียที นักแปลชาวจีนที่เชี่ยวชาญภาษาไทยน่าจะมีอยู่เยอะนะ แต่ไม่เห็นมีใครจัดทำ  
สมาคมนักเขียนจีนเขาน่าจะเป็นตัวตั้งตัวตีได้ แต่ไม่รู้ซี เขาอาจไม่ชอบผู่ซงหลินก็เป็นได้ ผู่ซง
หลินแกไม่ใช่นักเขียนเพื่อชีวิตหรือเขียนประท้วงความอยุติธรรมในสังคม แกเขียนเรื่องผี เขียน
ได้สนุกเป็นบ้า เขียนตรง ๆ ซื่อ ๆ ตามที่แกคิดและรู้สึก ทันทีที่คุณลงมืออ่านงานของแกได้เพียง
สักไม่กี่บรรทัดคุณจะรู้สึกได้ในทันทีว่าคุณกำลังเผชิญหน้ากับอัจฉริยะ ยิ่งคุณอ่านงานของแก
ต่อไปเรื่อย ๆ คุณก็จะยิ่งอัศจรรย์ใจไม่รู้จบ แกมีชีวิตอย่างอดอยากและตายเหมือนหมา แต่
ความคิดความฝันของแกแปลกใหม่และทรงพลัง แกพูดถึงความลึกลับของจิตไว้มากมายเสียด้วย  
แกพูดถึงการถอดวิญญาณออกจากร่างอย่างหน้าตาเฉย แกไม่แยแสกับค่านิยมหรือขนบประเพณีทางวรรณกรรมในยุคของแกเอาเสียเลย นี่ถ้าผู่ซงหลินแกยังมีชีวิตอยู่แกอาจเขียน “ผีท่านประธานเหมา”

“ผีท่านโจวเอินไหล” “ผีท่านเติ้งเสี่ยวผิง” หรือไม่ก็ “ปิศาจนางเจียงชิง”  คนจีนน่าจะภูมิใจในตัวแกนะ ผมต้องอ่านผู่ซงหลินจากภาษาอังกฤษ ประดักประเดิดสิ้นดี แต่แม้กระนั้นลวดลายเด็ด ๆ ของแกก็ยังหลงเหลืออยู่ อีกเล่มที่ผมอยากให้มีคนแปลก็คือ “An Invincible Memory” ของ João Ubaldo Ribeiro นักเขียนชาวบราซิล ไม่แน่ใจว่าอ่านชื่อแกถูกต้องไหม ริไบโร คนนี้คล่องแคล่ว ปราดเปรียว เต็มไปด้วยชั้นเชิงและลำหักลำโคนพอฟัดพอเหวี่ยงกับมาร์เกซ อีกเล่มหนึ่งก็คือ “Burmese Days” ของ ยอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) ไอ้เล่มหลังนี้ถ้าไม่มีใครแปลผมอยากแปลเสียเอง “Burmese Days” เล่มนี้คนไทยน่าจะได้อ่านกันเสียตั้งนานแล้ว ในเล่มนี้ออร์เวลล์พูดถึงเมืองไทยด้วยและพูดถึงในแง่ดี                                                                                                                  

• จำได้ไหมว่าหนังสือเล่มไหนทำให้คุณเป็นนักอ่านและอยากเป็นนักเขียน
จำไม่ได้หรอก แต่ผมยังเด็กมากตอนที่ผมอ่าน “สมบัติพระศุลี” ของเซอร์ เอช.  
ไรเดอร์ แฮกการ์ด (Henry Rider Haggard) หนังสือมันชำรุด ขาดหน้าขาดหลัง 
 แล้วผมก็ยังเป็นเด็กมากอีกเช่นกันเมื่อเริ่มอ่านนวนิยายต่าง ๆ นานาใน “บางกอก” “ผดุง
ศิลป์” “เดลิเมล์วันจันทร์” ซึ่งแต่ละเรื่องไม่เคยจบบริบูรณ์ คือผมเป็นเด็กบ้านนอก หนังสือ
เป็นสิ่งหายาก ที่เป็นเนื้อหนังหน่อยก็คือได้อ่านหนังสือชุด “บ้านเล็ก” ของลอร่า อิงกัลล์ ไวล์
เดอร์ใน “ศรีสัปดาห์” ต่อมาที่ชัดเจนมากก็คือ เสเพลบอยชาวไร่และผู้มียี่เกในหัวใจของ  
รงค์ วงษ์สวรรค์ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ช่วง มูลพินิจเขียนภาพประกอบ ชอบทั้งเรื่องและ
ภาพประกอบ ทุกวันนี้ก็ยังคิดถึงอยู่เลย ต่อมาอีกก็เป็นเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ของอาจินต์ ปัญจ
พรรค์ แต่ในช่วงเวลาไล่เรี่ยกันนั้นก็อ่านอุษณา เพลิงธรรมไม่รู้เรื่อง เวียนหัว รู้สึกว่าอ่านยาก  
ผมมาเป็นแฟนอุษณา เพลิงธรรมเอาเมื่อผมโตเป็นหนุ่มแล้วและเสพติดงอมแงมเรื่อยมาจนถึง
ขณะนี้ และในเวลาไล่เรี่ยกันนั้นก็ไม่กล้าอ่านเรื่องผีของเหม เวชกร กลัวทั้งตัวเรื่องและ
ภาพประกอบ ผมคงเคยได้พยายามเป็นนักเขียนมาหลายชาติแล้วและคงได้พยายามศึกษา
พระพุทธศาสนามาหลายชาติแล้วด้วย แต่ในวัยหนุ่มนั้น Hunger ของ Knut  
Hamsun และเรื่องสั้นทั้งหมดของเฮมิงเวย์เป็นแรงผลักดันที่รุนแรงมาก ต่อมาอีกก็เป็น “มา
ดามโบวารี” ของโฟลแบรต์ สำนวนแปลของ ดร.วิทย์ ศิวะยานนท์ ผมอ่านเสียแทบจะท่องจำ
ได้                                                                                                                                                                        

• เดี๋ยวนี้ยังชอบดูหนังอยู่ไหม
น้อยลงมาก ดูเพื่อความบันเทิงอันเบาโหวง ดูเอาสนุกเสียแหละมาก อยู่ต่างจังหวัด
อย่างนี้บางทีผมก็ไปดูหนังกลางแปลง ทำตัวกลมกลืนไปกับผู้คนชาวโลกเขา มีอยู่คืนหนึ่งดูอยู่
จนดึก นั่งดูอยู่บนเสื่อของเพื่อนบ้าน ดูหนังจีนเรื่อง “จอมใจบ้านมีดบิน” (House of 
Flying Daggers - หนังของจางอี้โหมว) เบื่อก็นอนดูดาว ดูเงาไม้ใหญ่ ดูหลังคาโบสถ์  
หลังคาวิหาร ดูแนวกุฏิ เพราะว่าหนังฉายในวัด เหมือนตอนเป็นเด็ก อีกคืนหนึ่งไปดู “Die 
Hard” ที่วัดป้อม ภาคที่มีเจเรมี ไอออนส์เล่นน่ะ ก็สนุกดี เดินกลับบ้านคนเดียวกลางดึก  
หมาเห่ากันเกรียว อีกคืนหนึ่งไปดู “ Starship Troopers” มันปึงปังโครมครามดี  
เหมือนเป็นเด็กได้ดูหนังการ์ตูนเรื่องโปรด ไร้สาระสิ้นดี เกือบยี่สิบปีได้แล้วที่ผมไม่ได้เข้า
โรงหนังเลย ทุกวันนี้ก็ดูแต่หนังแผ่นเสียเป็นส่วนมาก  

• แต่เมื่อก่อนมีเสียงเล่าลือว่าคุณดูหนังเยอะ ดูแล้วเคยคิดอยากลองทำหนังเองบ้างไหม
ค่อนข้างขยันดู แต่ยิ่งผมอายุมากขึ้น ศรัทธาความเชื่อมันของผมที่มีต่อหนังก็ลดลง ใน
ฐานะศิลปะ หนังเป็นความสิ้นเปลืองที่ไม่เข้าท่า ผมเขียนบทกวี “ตะคอกปิศาจ” มีความยาว
หน้าเดียว ลงทุนค่าต้นฉบับสิบสตางค์เท่านั้น และมันก็เป็นบทกวีที่ผมยังกล้าท้าให้คุณอ่าน 
“อสรพิษ” น่ะมูลค่าการผลิตต้นฉบับตกอยู่ในราวสิบสองบาทมั้ง เพราะเขียนแล้วเขียนอีกอยู่
หลายเที่ยว “เจ้าการะเกด” มูลค่าการผลิตต้นฉบันตกอยู่ในราวเจ็ดสิบบาทเท่านั้น ผมเพียงแค่
มีเงินซื้อสมุดและปากกาเท่านั้นเอง ลงทุนไม่กี่บาท ผมก็สร้างสรรค์ศิลปะได้ ไม่รบกวนคนอื่น
ด้วย หนังน่ะเหรอ กล้องถ่ายหนังก็แพง ฟิล์มก็แพง แล้วคุณก็ต้องพึ่งคนอื่น ๆ เพื่อสนอง
ความคิดความฝันของคุณ คุณต้องพึ่งนักแสดง ตากล้อง ผู้เขียนบท ผู้ทำดนตรีประกอบ  
ผู้ออกแบบเสื้อผ้า ฯลฯ หนังเรื่องหนึ่ง ต้องพึ่งพาผู้คนมากมาย วิจิตรศิลป์น่ะมันไม่ใช่เรื่อง
จำเป็นนักสำหรับมวลชน ดังนั้นก็อย่าไปสิ้นเปลืองเงินทองไปสร้างมันขึ้นมา หรือถ้าอดรนทน
ไม่ได้ก็ทำหนังแปดมิลล์ขาวดำก็น่าจะเข้าท่า เอาอย่าง ชาลี แชพปลิน กูโรซาว่า เทชิกาฮารา  
หรือไม่ก็หาหนังสือดี ๆ มาอ่าน แล้วสร้างหนังเอาเองในหัว พันเอกออเรลิยาโน (อ้างถึงตัวละคร
ในหนังสือของ การ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกวซ เรื่อง “100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว” / สนพ. สามัญ
ชน – ทีมงานฟิล์มไวรัส) กำลังนอนระอิดระอาอยู่ในเปลญวน ทหารรับใช้เข้ามาบอกว่า “ผู้พัน
ครับ พวกนักกฎหมายมาหาท่านครับ” และผู้พัน ซึ่งกำลังเบื่อแทบตายชัก พูดกับทหารรับใช้
อย่างไม่แยแส “พาพวกแม่งไปโรงกะหรี่ก่อนไป” แค่นี้ก็เป็นหนังฉากหนึ่งได้แล้ว สร้างเองใน
หัว มันส์ตายห่า ใครอยากทำหนังก็ทำไปเถอะ แต่บอกให้ก็ได้ว่าผมพึ่งพาผู้อื่นน้อยมากในการ
ทำงานเขียน ในการทำงานเขียนผมได้อยู่เพียงลำพังอย่างแท้จริง ผมได้ต่อสู้แต่เพียงลำพังอยู่ใน
สงครามของผม ในการทำหนังคุณพาคนอื่น ๆ ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ให้ต้องต่อสู้ในสงครามของคุณ  
มันไม่แฟร์ แพ็ทตัน ควรจะชกกะ รอมเมลตัวต่อตัว (นายพลยอร์จ เอส. แพ็ทตัน และจอมพล 
 เออร์วิน รอมเมล อเมริกาและเยอรมนี ปฏิบัติการที่ชายหาดนอร์มังดีในช่วงสงครามโลกครั้งที่
สอง– ทีมงานฟิล์มไวรัส) ใครชอบแพ็ทตันก็เชียร์แพ็ทตัน แต่ไม่ควรตายเพื่อแพ็ทตัน ใครชอบ
รอมเมลก็เชียร์รอมเมล แต่ไม่ควรตายเพื่อรอมเมล ในทำนองเดียวกันไอเซนฮาวร์ก็ควรจะจับคู่
กับฟอนรุนเส็ทด์ ยอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็ควรจะจับคู่กับ บินลาดิน มวลชนก็จะได้ดูศึกซุปเปอร์
ไฟท์เหมือนที่ได้ดูมูฮัมหมัด อาลีดวลกับโจ ฟราเซียร์ หรือซูการ์ เรย์ เลียวนาร์ดดวลกับโธมัส  
เฮิร์นส์ หรือซัลวาดอร์ ซานเชซ ดวลกับ วิลเฟรโด โกเมซ ทีพระนเรศวรท่านยังดวลกับพระ
มหาอุปราชาเลย สหประชาชาติแม่งทำอะไรของแม่งอยู่วะ ทำไมแม่งไม่ดูการทำงานของดอน  
คิง การที่ขุนศึกดวลกันตัวต่อตัวโดยที่ไพร่พลไม่ต้องเดือดร้อนนี้เป็นธรรมเนียมของกษัตริย์แห่ง
บูรพาทิศ ฝรั่งแม่งไม่เข้าใจหรอก เราไม่ควรเลียนแบบฝรั่งในเรื่องนี้ ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เสกสรรค์พูดว่าอยากชกกับณรงค์ กิตติขจร เออ ค่อยฟังเข้าท่าหน่อย                                                                            

• แสดงว่าไม่มีหนังเรื่องใดที่คุณโปรดปราน
ผมชอบหนังหลายต่อหลายเรื่องของกูโรซาว่า ชอบผู้กำกับญี่ปุ่นที่ทำหนังผีชุด  
“Kwaidan” ของ Masaki Kobayashi ชอบ “Women in the Dunes”  
ของ Hiroshi Teshigahara ผู้กำกับเหล่านี้ทำหนังได้ดีโดยใช้ทุนต่ำ คุณธรรมประจำ
ชาติของญี่ปุ่นก็คือความประหยัดมัธยัสถ์ “Women in the Dunes” น่ะเรื่องเดิมมันดี
มาก มันเป็นเรื่องเล่าเปรียบเทียบที่พยายามอธิบายว่าชีวิตคืออะไร ปรากฏว่าชีวิตคือการโกย
ทราย แอ็บเสริ์ดซิบหาย เหมือนชีวิตผมเลย แล้วก็ชอบ “The Rat Trap” ของ  
Adoor Gopalakrishnan ที่ถ่ายทำแบบเรียบง่าย ชีวิตธรรมดาของคนตัวเล็ก ๆ                                                                            

• ช่วยอธิบายหน่อยได้ไหมที่บอกว่า Women in the Dunes เหมือนชีวิตคุณ
ผมอยู่ในหล่มของถ้อยคำ มีแต่ถ้อยคำนับไม่ถ้วน ผมต้องโกยถ้อยคำเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่  
โกยถ้อยคำเพื่อเอาชีวิตรอด ถ้อยคำคือทรายสำหรับผม แล้วผมก็ต้องยอมรับการกระทำอันไร้
สาระเช่นนี้เสียด้วยนะ ยอมรับอย่างขมขื่นเหมือนอ้ายตัวเอกในหนังเรื่องนั้นเลย

• รู้สึกอย่างไรที่คนอื่นคิดว่าคุณเป็นคนบ้า
เฮ้ย ยังบ้าไม่มากพอ ผมคงจะบ้าแน่ ๆ ถ้าผมเข็น “เงาสีขาว” อีกสองภาคออกมา แต่
แค่ “เงาสีขาว” ภาคเดียวคนอื่น ๆ เขาก็ต้องเดือดร้อนในสงครามของผมมากพอแล้ว “เงาสีขาว” ฉบับพิมพ์ครั้งที่สองพิสูจน์อักษรผิดพลาดฉกาจฉกรรจ์ คนพิสูจน์อักษรเขาเห็นว่า “เงาสีขาว” เป็นแต่เพียงสงครามส่วนตัวของผมเท่านั้น เป็นสงครามส่วนตัวของอ้ายบ้าคนหนึ่ง เขายังไม่อยากเชื่อเลยว่า “เงาสีขาว” ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสและสเปน ผมคิดว่าผมเป็นนักเขียนที่ทำงานหนักกว่านักเขียนไทยคนอื่น ๆ นะ ผมอยู่เพียงลำพังค่อนข้างมาก พูดคุยสนทนากับตนเองค่อนข้างมาก เออ ตอนที่พระนเรศวรคาบพระแสงดาบปีนบันไดปล้นค่ายพม่าน่ะ ผมก็ได้ยินอ้ายพวกพม่ามันพูดแกกันและกันว่าพระนเรศวรเป็นบ้า เฮ้ย นี่ผมยังไม่ได้ดู “สมเด็จพระนเรศวร” กะเขาเลย ท่านมุ้ยท่านได้ยินเหมือนผมหรือเปล่าวะ ความจริงผมก็ไม่ค่อยอยากดูเท่าไหร่ ผมคลับคล้ายคลับคลาว่าอาจารย์สุเนตรน่ะแกเป็นพม่ากลับชาติมาเกิด
(อ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ เป็นที่ปรึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ของท่านมุ้ย – ทีมงานฟิล์มไวรัส)

• “เงาสีขาว” ภาคภาษาอังกฤษเมื่อไหร่จะได้รับการตีพิมพ์
คงไม่ได้พิมพ์แล้วมั้ง มันเป็นนวนิยายเรื่องหนึ่งในโครงการ Thai Modern 
Classics เจ้าของโครงการก็คือ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล หัวเรือใหญ่ของโครงการก็คือ
คุณมาร์แซล บารังส์ คุณมาร์แซลแกก็พยายามผลักดันจะให้ “เงาสีขาว” ภาคภาษาอังกฤษ
ได้รับการตีพิมพ์อยู่เหมือนกัน แต่พอดีตอนนั้นคุณสนธิยึดทำเนียบรัฐบาลได้เสียก่อน เออ ใคร
ก็ได้ช่วยจัดให้คุณสนธิได้ชกกับคุณทักษิณให้รู้ดีรู้ชั่วกันไปเสียที คนอื่นเขาจะได้ไม่เดือดร้อน

• ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองบ้างหรือเปล่า
น้อยมาก รู้แต่เพียงว่าเสื้อเหลืองกับเสื้อแดงทะเลาะกัน รู้แต่เพียงว่ามีพวกซ้ายเก่าเข้า
ร่วมเป็นแกนนำเสื้อแดงอยู่ด้วย หมายถึงซ้ายเก่าที่เป็นนักอุดมคติ ไม่ใช่ซ้ายหิวเงินนะ รู้แต่เพียง
ว่าซ้ายเก่าพวกนั้นฝังอกฝังใจกับ “โฉมหน้าศักดินาไทย” ของจิตร ภูมิศักดิ์มากไป โดยที่แทบ
จะไม่เคยอ่าน “คันฉ่องส่องเจ้า” หรือ “พระดีที่น่ารู้จัก” ของสุลักษณ์ ศิวรักษ์เลย ผม
หมายความว่าสังคมไทยของเรานั้นมีความซับซ้อนและมีลักษณะเฉพาะตัวมาก ไม่ควรที่จะมอง
สังคมไทยตามกรอบทฤษฎีมาร์กซ์ – เลนินแต่เพียงอย่างเดียว

• กลับมาเรื่อง “เงาสีขาว” ฉบับพิมพ์ครั้งที่สองอีกที ฉบับพิมพ์ครั้งนี้ทำไมคุณไม่พิสูจน์อักษรเสียเอง
ผมทนสำบัดสำนวนของตนเองไม่ไหว ผมผิดเองแหละ แล้วก็ต้องทนรับความเจ็บปวด  
คุณก็คงรู้ดีแล้วว่ากวีน่ะทนกับทุกสิ่งทุกอย่างได้ทั้งหมดแหละ ยกเว้นการพิสูจน์อักษรที่ผิดพลาด  
แต่ผมก็พอใจกับคำนำอยู่นะ ผมทำอะไรกับมันไม่ได้หรอก เอาเป็นว่าใครอยากอ่าน “เงาสี
ขาว” ฉบับที่มันเรียบร้อยหน่อยก็อ่านเอาจากฉบับภาษาฝรั่งเศสหรือภาษาสเปนหรือ
ภาษาอังกฤษก็แล้วกัน ส่วนฉบับสมบูรณ์ทั้งสามภาคน่ะต้นฉบับก็ยังอยู่ครบถ้วนที่ผม แต่เรียงไว้
ไม่สู้เป็นระเบียบสักเท่าไหร่ สำนักพิมพ์สามัญชนเขาก็เคยบอกว่าเขาอยากพิมพ์นะ แล้วก็
สำนักพิมพ์หนึ่งก็อยากพิมพ์ ผมขี้เกียจรื้อต้นฉบับ คุณมาร์แซลก็อยากแปล แต่ผมไม่อยาก
เสียเวลากับมัน อย่างน้อยก็ในขณะนี้                                                                                                                                    

• คุณผิดหวังหรือเปล่าที่ “เจ้าการะเกด” ของคุณไม่มีใครสนใจเลย
 มันเป็นหนังสือชนิดที่เขียนแล้วเหงื่อออกเป็นเลือด ผมพึงพอใจในตนเองเป็นอย่างมาก
หลังจากเขียนมันจบลง รู้สึกเหน็ดเหนื่อยสาหัส รู้สึกไปไกลถึงขนาดว่าชีวิตนี้อาจเขียนหนังสือ
อีกไม่ได้ แต่แล้วก็ไม่ได้แยแสมันอีก รู้สึกว่ามีการดิ้นรนจากใครสักคนที่จะขัดขวางไม่ให้
หนังสือเล่มนี้ตกถึงมือคณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรท์ คือเขากลัวว่าหนังสือเล่มนี้อาจได้รับ
รางวัล ในความเป็นจริงแล้วมันคงไม่มีคุณค่าถึงปานนั้นหรอก แต่คนที่เขาดิ้นรนขัดขวางคนนั้น
เขากลัวว่ามันอาจได้รับรางวัลเข้า เขาไม่อยากให้ผมได้รางวัล เขาไม่ชอบผมเป็นการส่วนตัว ซึ่ง
เขาก็คงมีเหตุผลของเขา เขานึกว่าผมอยากได้รางวัลนี้เต็มแก่ ผมไม่ได้เอาใจใส่ข่าวคราว
วรรณกรรมหรอกนะ ยิ่งตอนนั้นเช่าบ้านหลังหนึ่งซึ่งเป็นบ้านนอกอยู่ไกลจากตัวเมืองมาก  
หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารอะไรก็ไม่ได้อ่าน อินเตอร์เน็ทอะไรนี่ผมก็ใช้ไม่เป็น ผมพิมพ์ดีดเองก็
ยังไม่ได้ ส่งเอสเอ็มเอสทางมือถือก็ไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้มีปมด้อยนะ รู้สึกว่าไม่จำเป็น รู้สึกว่ามัน
เป็นเรื่องงมงายไร้สาระ ผมแปลกใจหน่อย ๆ กับการขัดขวางนั้น ซึ่งถ้าจะพูดตรง ๆ ก็คือ มันมา
จากความอิจฉาตาร้อน พวกขันที พวกลักเพศเป็นกันเยอะ ชายชาตรีที่จริงแท้เขาไม่อิจฉาริษยา
ใคร เข้าใจว่านั่นเป็นครั้งแรกที่ผมเอ่ยคำว่า “รางวัลอมยิ้มทางวรรณกรรม” ออกมา รู้สึกว่าคน
ที่เขาขัดขวางได้เป็นผลสำเร็จ เขาจะดีใจมาก ผมเองก็ไม่ได้เอาใจใส่นัก “เงาสีขาว” ภาคภาษา
ฝรั่งเศสและภาษาสเปนเป็นหนังสือเล่มโต ผมได้ค่าลิขสิทธิ์ค่อนข้างมาก “อสรพิษ” แปลอีก
ห้าหกภาษาและพิมพ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกในภาษาฝรั่งเศส ผมได้ค่าลิขสิทธิ์ค่อนข้างมาก คุณมาร์แซล
แปล “เจ้าการะเกด” สิบหน้าเป็นภาษาฝรั่งเศส ส่งไปให้ “เลอเซย” สำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่แห่ง
หนึ่งในฝรั่งเศส “เลอเซย” บอกว่าเอามาให้หมดทั้งเล่ม ด่วน ! “เจ้าการะเกด” ภาคภาษา
ฝรั่งเศสสตาร์ทที่ 7,000 เล่ม ๆ ละ 900 บาท คิดเป็นเงินไทยนะ แล้ว “เลอเซย” ก็รีบให้ผม
เซ็นสัญญา มีเงินค่าตวัดปากกาในการเซ็นสัญญาเหนาะ ๆ ด้วย ดังนั้นผมจึงไม่เดือดเนื้อร้อนใจ
อะไรทั้งนั้น ผมฟื้นตัวขึ้นมาเขียน “มาตานุสสติ” กับ “ดวงตาที่สาม” หน้าตาเฉย “ดวงตาที่
สาม” นี่น่ะเป็นหนังสือชนิดที่เขียนไปผิวปากไป แล้วผมก็ยังมีเงินและมีพลังพอที่จะเขียนงานที่
เป็นโลกุตตระศิลป์แท้ ๆ คือ “วิมุตติคีตา หมายเลขหนึ่ง” พอมันเป็นอย่างนี้คนที่เขาดิ้นรน
ขัดขวางเขาก็ไม่พอใจหน่อย ๆ เขาพูดถึง “เจ้าการะเกด” ว่า “ยังอุตส่าห์ได้รับการแปลเป็น
ภาษาฝรั่งเศสอีกนะ” “เจ้าการะเกด” นี่แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสกับอิตาลีเท่านั้น ผมอยากให้มัน
ถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษ สเปน หรือเยอรมัน หรือภาษาอื่น ๆ อีกสักสี่ห้าภาษามากกว่า  
ภาษาไทยขายไม่ดีก็ช่างมันเถิด เออ พวกอิตาเลียนพิมพ์หนังสือของผมเสียสวยเชียว เป็นสิ่ง
ตีพิมพ์ที่ประณีตบรรจง

• รู้สึกอย่างไรที่กระทวรงวัฒนธรรมของฝรั่งเศสเขามอบเครื่องอิสริยาภรณ์ให้คุณ
อึดอัด วิตกกังวล เขินอาย ผมอยู่คนเดียวมานาน เป็นชาวบ้านนอกสมบูรณ์แบบ  
ปนเปอยู่กับชาวบ้านน่ะแหละ แต่ก็ไม่ได้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพวกเขา เป็นคนนอก เป็นคน
แปลกหน้า ผมมักจะไปวัด แต่ก็จะสมาคมคบหาเฉพาะเพียงกับพระภิกษุที่ปฏิบัติธรรมเท่านั้น  
กับพระที่บวชอาศัยผ้าเหลืองผมไม่แยแสเลย พูดง่าย ๆ ก็คือผมเข้าสมาคมไม่เป็นเสียแล้ว โดย
ส่วนตัวนะ คุณก็คงจะรู้ ผมเป็นคนแอนตี้ชาวต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น ฝรั่งเศส  
อังกฤษและอเมริกัน ใน “เงาสีขาว” มีอยู่ตอนหนึ่งที่ตัวเอกของเรื่องถอดรองเท้าออกจะเขวี้ยง
หัวฝรั่ง ใน “เจ้าการะเกด” ก็มีการกล่าวถึงรอยสักคำว่า “ตราด” บนทรวงอกของกรมหลวง
ชุมพรเขตอุดมศักดิ์และพลพรรคของท่าน ตอนเป็นเด็กในชั่วโมงประวัติศาสตร์พอเรียนถึงเรื่อง
การเสียดินแดนทีไรผมร้องไห้ทุกที ผมเดือดดาลออกุสต์ ปาวีมากเป็นพิเศษอยู่ด้วย ผมก็จึงไม่สู้
สบายใจนักกับข่าวคราวที่ว่าผมอาจเป็นผู้มีเกียรติได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ที่ว่านั่นและอยากจะ
เก็บตัวอยู่เงียบ ๆ และเพิกเฉยเสีย คิดว่าทางกระทรวงวัฒนธรรมของฝรั่งเศสหรือสถานทูต
ฝรั่งเศสในประเทศไทยคงไม่ลำบากนักหรอกที่จะหาใครสักคนที่เหมาะสม แต่ผมเดือดดาลนะ
เมื่อได้รู้ว่าทันทีที่มีข่าวว่าผมจะได้รับอิสริยาภรณ์นั้นเข้าเท่านั้นเอง ก็มีผู้ดิ้นรนคัดค้านสุดกำลัง  
ก็รายเดียวกับที่ขัดขวางไม่ให้มีการส่ง “เจ้าการะเกด” เข้าประกวดรางวัลซีไรท์นั่นแหละ ผม
รู้สึกว่าแวดวงวรรณกรรมไทยนี่มันช่างน้ำเน่าจริง ๆ มีความอิจฉาริษยากันยังกะในละคร
โทรทัศน์ ผมก็เลยประชด ผมโทร. หาคุณมาร์แซล บารังส์ ถามว่าทางกระทรวงวัฒนธรรม
ฝรั่งเศสเขาจะให้รางวัลอะไรผมอย่างนั้นเหรอ คุณมาร์แซลบอกว่า ใช่ กำลังจะโทร.หาผมอยู่
พอดี ผมก็เลยบอกคุณมาร์แซลว่าถ้าเขาจะให้ ผมก็จะพยายามทำตัวให้เรียบร้อยและยินดีจะไป
รับ ตกลงผมก็เลยเข้ากรุงเทพฯ เข้ากรุงเทพฯ ทีไรก็เป็นบ้านนอกเข้ากรุงทุกที แล้วก็ไปสถานทูต
ฝรั่งเศส ไปพบท่านทูต คือท่านโลร็องต์ ปีลี และผู้ช่วยทูตฝ่ายวัฒนธรรมคือคุณฌอง ชาคอน
เนต์ ทั้งสองท่านนี่ท่านก็พยายามทำตัวเป็นเจ้าภาพที่ดี ผมก็เป็นแขกที่ไม่เอาไหน ผมเอาแต่คิด
ว่าในบริเวณสถานทูตนี่เมื่อปี 2436 – 37 น่ะ อ้าย ม.ปาวี (ฌอง-มารี ออกุสต์ ปาวี นักสำรวจ
และกงสุลฝรั่งเศส ผู้มีบทบาทสูงในการก่อเกิดวิกฤติการณ์ 112 ที่บีบบังคับให้ไทยยกดินแดนฝั่ง
ซ้ายของแม่น้ำโขงให้กับฝรั่งเศส - ทีมงานฟิล์มไวรัส) ปาวีมันก็คงยืนเดินนั่งนอนทำอะไร ๆ อยู่ 
แถว ๆ นี้ แล้วผมก็ลงไปยืนอยู่ที่ท่าเทียบเรือริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและคิดว่าที่ตรงนี้ใช่หรือเปล่า
วะที่อ้าย ม.ปาวีมันลงเรือหนีไปเกาะสีชังเมื่อตอนที่ในหลวงรัชกาลที่ห้าตรัสให้มันไปเข้าเฝ้า ซึ่ง
สิ่งที่ติดตามมาก็คือการที่ฝรั่งเศสยกกองทัพเรือมาปิดแม่น้ำเจ้าพระยา อาจารย์ขจร สุขพานิช
บอกว่า อ้าย ม.ปาวี เป็นข้าราชการคนหนึ่งของกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส ต้องพยายาม
เข้าใจเขาบ้าง ผมรับไม่ได้ว่ะ ผมเป็นขบถโดยสันดาน ผมก็เป็นแขกที่ไม่น่ารักในงานเลี้ยงดิน
เนอร์ของท่านทูต หน้าตาบูดบึ้งขมึงทึง ไม่พูดไม่จา ถามคำตอบคำ ยังแค้นเคืองอ้าย ม.ปาวีอยู่ 
 
• แต่ก็ไม่มีเหตุร้ายอะไรใช่ไหม
ไม่มี เพียงแต่ไม่สู้ราบรื่นนัก ก่อนหน้านั้นผมโทร.หาเวียง วชิระบอกว่า เฮ้ยเวียง เรา
ต้องไปดินเนอร์ที่สถานทูตฝรั่งเศส เวียงก็กำชับว่าไปกินข้าวบ้านเขาแล้วก็อย่าเสือกไปรื้อฟื้น
อดีตเข้าเชียวนะ

• แล้วคนที่คุณกล่าวว่าเขาคอยขัดขวางคุณนั่นล่ะ
เอ ไม่รู้ซี เขาก็คงนอนกระมัง นอนงอก่องอขิง

• คุณระบุชื่อเขาได้ไหม เป็นคนในวงวรรณกรรมหรือเปล่า
อย่าเลย พูดเรื่องอื่นเถอะ ผมก็ไม่อยากพูดถึงคนอื่นในแง่ร้ายนักหรอก แค่นี้ผมก็พูดถึง
เขาในแง่ร้ายมามากแล้ว คุณเองก็อย่าปักใจเชื่อถือผมไปเสียหมดล่ะ จะกลายเป็นการฟังความ
ข้างเดียว เขาก็เป็นเพื่อนเก่าของผมเองแหละ แต่ผมแปลกใจว่ะที่มีเรื่องอย่างนี้เกิดขึ้น ผมได้แต่
สบถโวยวายอยู่ในใจว่า โธ่อ้ายสากกระเบือดินเอ๋ย กูอุตส่าห์ศึกษาคำพระแล้ว เข้าวัดเข้าวาแล้ว
นะนี่ ยังมากระทำการบ้องตื้นให้กูโมโหโทโสอยู่อีก แล้วพอกูด่า ก็หาว่ากูก้าวร้าว แต่ไม่เป็นไร
หรอกมือเปื้อนก็เอามือกู ตีนเปื้อนก็เอาตีนกู ในความเป็นจริงผมยังประคับประคองตนเองอยู่ได้  
ถ้ามาร์แซล บารังไม่เอางานของผมไปแปล ผมจะลำบากมาก ถ้าเวียง วชิระไม่เอางานของผม
ไปพิมพ์และอนุญาตให้ผมเบิกค่าเรื่องล่วงหน้าได้ ผมจะลำบากมาก ถ้า “เลอเซย” ไม่ส่งค่า
เรื่องมาให้ผมเรื่อย ๆ ผมจะลำบากมาก

• จะเขียนหนังสือแบบ “ยามพราก” อีกหรือเปล่า

คงเป็นไปไม่ได้ ผมเป็นคนทำงานช้า กว่าจะเขียนอะไรได้สักหน่อยก็ช้า หนังสือที่ผม
เขียนน่ะผมแทบไม่เคยเก็บไว้เลย “ยามพราก” เหรอ ผมนึกไม่ค่อยออกแล้ว

• ผู้เขียน “ยามพราก” น่าจะเป็นคนโรแมนติคมาก
ความรักเป็นความโง่หลงงมงาย กามารมณ์ก็เป็นความโง่หลงงมงาย ตัวเราเองน่ะ
สกปรกมากนะ เพศตรงข้ามของเราก็เช่นกัน เราต้องกินอาหารวันละหนึ่งมื้อเป็นอย่างน้อย  
อาหารไม่ว่าจะดูสดสวยน่าชื่นชมเพียงใด ก็จะถูกบดเคี้ยวปนกับน้ำลาย กลายเป็นอาหารใหม่
ในกระเพาะ กลายเป็นอาหารเก่าในลำไส้ รอที่จะถูกขับถ่ายออกมา พระภิกษุผู้ปฏิบัติธรรมท่าน
จึงฉันอาหารปนกันไปหมด เคยมีชาวไทยผู้อาจหาญผู้หนึ่งไปถามพระฝรั่งที่วัดหนองป่าพงว่า
ทำไมถึงต้องทำอาหารให้ปนเปกันเหมือนอาเจียนของสุนัขเช่นนั้น พระฝรั่งตอบว่า ถึงมันจะไม่
ปนกันในระหว่างที่เรากิน มันก็จะปนกันอยู่ดีหลังจากที่เรากินเข้าไปแล้ว คุณฟังดูซี นี่สำนวน
ของนักปฏิบัติธรรมแท้ ๆ ละ นี่แสดงว่าแม้แต่ในการกิน มนุษย์ปุถุชนก็ยังรู้ไม่เท่าทันตนเอง  
พวกนักคิดนักปรัชญาตะวันตกน่ะมีสักคนหนึ่งไหมที่จะฉุกคิดถึงข้อเท็จจริงพื้นฐานข้อนี้ แต่ก็นี่
แหละคือข้อคิด ข้อพึงสังวรณ์ข้อหนึ่งในแนวทางการปฏิบัติธรรมของพระพุทธองค์ “อาหาเร  
ปฏิกูลัง” อาหารทั้งหลายล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งปฏิกูล ความจริงข้อนี้จะนำไปสู่ความจริงอีกมาก
หลาย มนุษย์ทุกยุคทุกสมัยหลงโยนี หลงองคชาติ หลงเวจมรรค พระพุทธองค์ไม่ข้องแวะกับ
สิ่งเหล่านี้ พระอรหันต์ไม่ข้องแวะกับสิ่งเหล่านี้ ปุถุชนหลงโยนีซึ่งจะเหี่ยวย่นฝ่อแฟบ เป็น
ทางผ่านของระดู หลงองคชาติซึ่งจะปวกเปียก หลงเวจมรรคอันเป็นทางผ่านของสิ่งปฏิกูล โง่
บัดซบกันถึงปานนี้แล้วก็ยังแอ็คอาร์ทสร้างสรรค์งานศิลป์กันอีกเนาะ แล้วก็มีผู้แอ็คอาร์ทวางท่า
ว่ากูน่ะเชี่ยวชาญ เป็นนักวิจารณ์ แล้วก็มีผู้แอ็คอาร์ทวางท่ากูน่ะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ประเมินคุณค่า
ของงานศิลป์แต่ละชนิด ตัวผมเองนี่ก็อยู่กับวรรณกรรมมานาน เป็นนักเขียน นักอ่าน นัก
วิจารณ์ เป็นผู้ประเมินคุณค่างานศิลป์มาเสียนักต่อนัก น่าสมเพชจริง ๆ คุณลองขบคิดถึงความ
หมายของถ้อยคำนี้ดูให้ดี ๆ ซี “การถกเถียงพูดคุยกันในเรื่องมหาภารตยุทธ เรื่องยักษ์ลักนางสี
ดา ถือเป็นการพูดเพ้อเจ้อ” ตอนผมเขียน “ยามพราก” น่ะ อินทรีย์ผมยังไม่แก่กล้าเท่านี้นี่

• คุณมีทัศนะที่เลวร้ายมากเกี่ยวกับความรักและกามารมณ์ เหตุนี้กระมังคุณถึงได้เคยให้สัมภาษณ์ว่าคุณอยากอยู่ป่า
ผมเพียงแต่คาดหมายว่าชีวิตผมมันน่าจะต้องเป็นเช่นนั้น การไปอยู่ป่าสำหรับผมก็คือ
ไปอยู่วัดป่าซึ่งที่เพชรบุรีก็พอมีอยู่บ้าง แต่ในความเป็นจริงผมก็ยังเป็นคฤหัสถ์ผู้ครองเรือนอยู่  
การไปอยู่วัดป่าทำให้ผมต้องปรับตัวหลายอย่าง เช่นต้องกินอาหารเพียงวันละมื้อ ซึ่งทำให้ผม
หิวมาก แล้วผมก็ล้างห้องน้ำ และกวาดวัด ได้อยู่คนเดียวเงียบ ๆ ได้อ่านหนังสือเก่า ๆ ในห้อง
สมุดของวัด ผมโชคดีที่ภาวนาเป็น ผมมักจะเดินจงกรมได้ยืดยาว คนที่ภาวนาไม่เป็น ต่อให้เขา
อยู่ในความสงัดวิเวก เขาก็ไม่ฉลาดขึ้นมาหรอก แล้วการภาวนาน่ะก็มีตำราเยอะแยะ มีครูบา
อาจารย์มากมาย คุณชอบแนวไหนก็เลือกเอา คนที่ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่รู้จักการภาวนา ไม่เข้าใจ
วิธีการเข้าถึงพระรัตนตรัย ต่อให้เขาอ่านพระไตรปิฏกเจ็ดเที่ยวเก้าเที่ยว เขาก็ไม่ซาบซึ้งหรอก  
ผมอยากจะยืนยันว่าข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมและประวัติพระเถระผู้เป็นผู้ปฏิบัติธรรมดี  
ปฏิบัติธรรมตรง ปฏิบัติชอบ ปฏิบัติเพื่อเป็นพระอริยะนั้นในภาษาไทยเรามีอยู่เหลือเฟือ นี่ถ้า
แฮร์มันน์ เฮสเส (Hermann Hesse นักเขียนเยอรมันผู้แต่ง “สิทธารถะ” และ “นาร์ซิส
ซัสกับโกลด์มุนด์”/ สนพ.ประพันธ์สาส์น- ทีมงานฟิล์มไวรัส) ได้รู้เรื่องนี้ เขาก็คงไม่รีบร้อน
เขียน “เกมลูกแก้ว” (The Glass Bead Game- ฉบับแปลของ “สดใส” สนพ. อัม
รินทร์) ออกมาหรอก ผมเห็นว่ามนุษย์เราเสียเวลา เสียพลังไปมากมายกับความรักและกามารมณ์ พระพุทธองค์ยุติการเกี่ยวข้องกับกามเมื่อพระชนมายุได้ 29 ชันษา แล้วก็ทรงประกาศ
ศาสนาอันประเสริฐขึ้นมาได้สำเร็จ มหาตมะคานธียุติการเกี่ยวข้องกับกามเมื่อท่านอายุ 37 มั้ง  
แล้วท่านก็เป็นผู้นำในการประกาศอิสรภาพให้แก่อินเดีย สมเด็จพระนเรศวรน่ะก็ทรงเกี่ยวข้อง
กับกามน้อยมากหรือแทบไม่ได้เกี่ยวข้องเลย นี่ถ้าพระองค์เป็นกษัตริย์หนุ่มผู้บูชารัก หรือ
แสวงหารักแท้ ไทยก็ยังคงเป็นขี้ข้าพม่าอยู่มั้ง ผมพูดเรื่องนี้ก็เพราะเซ็กส์มันเข้ามามีบทบาทใน
โทรศัพท์มือถือมากยิ่งขึ้นทุกที ผมอยากจะยืนยันว่าการไม่ยุ่งเกี่ยวกับความรักและกามารมณ์นั้น
สร้างปาฏิหาริย์ได้ ดูตัวอย่างได้จากพระพุทธองค์ มหาตมะคานธี สมเด็จพระนเรศวร

• คุณอยากให้หนังสือของคุณกลายเป็นหนังไหม แล้วอยากให้ใครทำ
อยากซี แต่หนังสือของผมน่ะแม้แต่นักอ่านทั่ว ๆ ไปเขาก็ยังไม่ค่อยอ่านกันเลย อย่าว่า
แต่พวกผู้กำกับหนังเลย ผมคิดว่าผู้กำกับหนังที่ยิ่งใหญ่ล้วนแล้วแต่เป็นหนอนหนังสือนะ กูโรซา
ว่า (Akira Kurosawa) สัตยาจิต ราย (Satyajit Ray) อิงมาร์ เบิร์กแมน  
(Ingmar Bergman) จอห์น ฮุสตัน (John Huston) เอลียา คาซาน (Elia 
Kazan) ฟรานซิส ฟอร์ค ค็อปโปลา (Francis Ford Coppola) เรื่อยมาจนถึงโอลิ
เวอร์ สโตน (Oliver Stone) พวกนี้เป็นหนอนหนังสือระดับเขี้ยวลากดินทั้งนั้น ผู้กำกับ
หนังไทยที่ค่อนข้างขยันอ่านหนังสือและพอจะพูดได้ว่ามีรสนิยมทางวรรณกรรมก็น่าจะมีวิจิตร  
คุณาวุฒิสักคนหนึ่งกระมัง ความจริงแล้ว “เจ้าการะเกด” น่ะเหมาะแก่การทำเป็นหนังนะ ผม
ไม่มายด์หรอกว่าใครจะเอาไปทำ แต่ควรจะจ่ายค่าเรื่องอย่างยุติธรรมสักหน่อยนะ จะว่าไปแล้ว
ความจำเป็นอันดับแรกของภาพยนตร์ที่ดีก็คือมันต้องสร้างจากเรื่องที่ดี จะว่าไปแล้วผมเองก็
ไม่ได้ยังชีพอยู่ได้ด้วยการบิณฑบาต

• ช่วงนี้คุณมีงานแปลออกมาเยอะ มีโครงการจะเขียนนวนิยายของตนเองบ้างไหม

คงต้องเขียนแน่ ๆ สักเรื่องหนึ่งหละ ถ้าไม่เขียนเวียงมันจะบ่นตายห่า เวียงเขาเป็นผู้
อุปถัมภ์ผมอยู่ เล่มเล็ก ๆ สักหนึ่งเรื่องหรือสองเรื่อง นี่ก็เขียนค้างอยู่เรื่องหนึ่งนะ เป็นต้นร่างที่
หนึ่ง เป็นประสบการณ์ในการท่องเที่ยวธุดงค์ของสามเณรองค์หนึ่งซึ่งเป็นสามเณรที่เด็ด
เดี่ยวกล้าหาญมาก โดยส่วนตัวแล้วผมควรจะเขียนนวนิยายเรื่องนี้ที่วัดป่าแห่งใดแห่งหนึ่งนะ  
ไม่ควรจะเขียนในบ้านเช่าชานเมืองอย่างนี้ ผมสงสัยตนเองอยู่บ่อย ๆ ว่าผมพร้อมเต็มที่สำหรับ  
“โลกุตตระศิลป์” หรือยัง แต่ผมไม่รีบร้อนหรอกนะ

• พูดถึงแวดวงวรรณกรรมในยุคนี้สักหน่อยได้ไหม
ผมแทบไม่ได้พบปะหรือข้องเกี่ยวกับใครเลย คุยกับคุณมาร์แซลอยู่บ้างนาน ๆ สักครั้ง  
คุณมาร์แซลเขาอ่านวรรณกรรมไทยมากกว่าคนไทยทั่ว ๆ ไปเสียอีก เขาก็แนะนำให้ผมอ่านงาน
ของปราบดา หยุ่น เขาบอกว่าคนนี้เขียนหนังสือดี เขาพูดให้ผมฟังว่าคุณวิน เลียววรินทร์เป็น
นักเขียนเรื่องสั้นที่ดีที่สุดของไทย เขาพูดว่าผมควรจะแข็งใจอ่านงานของ Annie Proulx  
และนวนิยายสักเล่มหรือสองเล่มของ Ian McEwan และอีกเล่มหรือสองเล่มของ John 
Updike แต่ผมก็ไม่ได้กระตือรือร้นหรอกนะ ไม่ใช่มีอคติหรืออย่างไร มันเกิดอะไรขึ้นกับผม
ก็ไม่รู้ มันอธิบายยาก เข้าใจว่ามันคงเคยเกิดขึ้นกับคนรักวรรณกรรมอย่างอาจารย์รัญจวน อินทร
กำแหงมาก่อนแล้ว หรือเคยเกิดขึ้นกับคุณหญิงสุรีย์พันธ์ มณีวัตมาก่อนแล้ว คืออยู่ ๆ ก็แทบจะ
เลิกราจากวรรณกรรมไปเลย แล้วหันไปดื่มด่ำกับศาสนธรรมแทน ศิลปะทางการเขียนน่ะผมก็
หวังพึ่งพาว่ามันจะใช้เป็นเครื่องเลี้ยงชีพเท่านั้น แต่ก็มีหน้าที่อื่นที่สำคัญกว่า คือผมคิดว่าในชีวิต
ของผมนี่มาถึงตอนนี้แล้วอย่าให้อะไรมันสำคัญเกินไปกว่าการภาวนา สำหรับผมแล้วมนุษย์มีอยู่
สองจำพวกเท่านั้น คือพวกที่ภาวนากับพวกที่ไม่ภาวนา แล้วผมก็อยากจะจำกัดความสนใจของ
ผมไว้เฉพาะกับเรื่องราวของผู้ภาวนาเท่านั้น

• อะไรบ้างที่ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจคุณผิด ๆ
ให้เขาเข้าใจผิดไปเถอะ ขืนเขาเข้าใจถูกขึ้นมาผมคงเป็นบ้าตาย คนอื่นเขาเข้าใจผิดก็
ช่างเขาเถิด เราอย่าเข้าใจตัวเราผิดเป็นใช้ได้ มันก็เรื่องธรรมดาของโลกน่ะแหละ มีสุขและมี
ทุกข์ มียศมีเสื่อมยศ มีลาภมีเสื่อมลาภ มีสรรเสริญมีนินทา บางทีมีใครด่ามาผมก็ด่าตอบไปบ้าง
โดยเฉพาะอ้ายคนที่มันคิดว่ามันมีอำนาจ ผมไม่ใช่คนสยบยอมกับอำนาจ ไม่แยแสด้วยซ้ำไป  
แต่ก็ไม่ซีเรียสนะไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร ผมเคยเขียนจดหมายบอกใครคนหนึ่งไปว่า  
“วิจารณญานนั้นมีไว้ประกอบการใช้ความคิด ไม่ใช่เอาไว้สำหรับการโขลกน้ำพริก” 

• คนมักจะมองว่าคุณเองน่ะแหละคือตัวเอกของ “เงาสีขาว” เขาเข้าใจว่าคุณเพียงแต่เอาชีวิตจริงของคุณมาเขียนเท่านั้น เขาเข้าใจถูกต้องไหม
“เงาสีขาว” เป็นเรื่องแต่ง มีความจริงอยู่น้อยมาก ถ้าคนอ่านทึกทักว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือเป็นเรื่องที่ดูสมจริงอย่างมากก็เท่ากับว่าเขากำลังให้เกียรติผมอย่างเกินเลย ไม่ว่าเขาจะเต็มใจอย่างนั้นหรือไม่ก็ตาม โดยกลวิธีทางการเขียน “เงาสีขาว” เป็นโมเดริ์นนิสม์แบบหนึ่ง นักอ่านไทยโดยทั่วไปไม่ค่อยคุ้นกับรูปแบบอย่างนั้นนัก ก็เท่านั้นเอง

• คุณเอาประสบการณ์ใหม่ ๆ จากที่ไหนมาเขียนหนังสือในเมื่อคุณเป็นคนเก็บตัวไม่ชอบเข้าสังคมอย่างนี้
โดยแก่นสารทางด้านจิตใจแล้วมนุษย์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ไหนแต่ไร มนุษย์ยัง
เป็นเหมือนเด็กที่ไม่รู้จักโตทั้งที่อายุอานามก็มากขึ้นทุกที การใช้โทรศัพท์มือถือไม่ได้ทำให้เขา
ฉลาดขึ้นกว่าเมื่อตอนที่เขาต้องหยอดเหรียญโทร.เอาจากตู้สาธารณะนี่นา ความก้าวหน้าทาง
เทคโนโลยียิ่งทำให้มนุษย์ลุ่มหลงงมงายเข้าไปใหญ่ พัฒนาการทางอุตสาหกรรมยิ่งเป็นไปอย่าง
รวดเร็วเพียงใดปัญหามลพิษก็มากยิ่งขึ้นเพียงนั้น เอาน่า มีเรื่องให้เขียนเยอะแยะไป คุณคงยัง
ไม่ได้อ่าน “วิมุตติคีตา” ล่ะซี ดูเอาเองซีว่าผมเอาอะไรมาเขียน

• จริง ๆ แล้วตัวตนของแดนอรัญ แสงทองเป็นอย่างไร
ผมเป็นคนมีอารมณ์ขันนะ “เงาสีขาว” “ดวงตาที่สาม” “มาตานุสสติ” หรือแม้แต่ “อสรพิษ” เป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยอารมณ์ขัน แม้แต่ “ตำนานเสาไห้” ก็ยังมีอารมณ์ขันเลย “เจ้าการะเกด” น่ะสี่ห้าย่อหน้าแรกผมเขียนไปพลางหัวเราะไปพลาง ผมล้อเลียนเชคสเปียร์ โฟลแบรต์ โฟล์คเนอร์ เฮมิงเวย์ ผมเยาะหยันตัวผมเอง ผมล้อเลียนวิธีการเขียนร้อยแก้วของท่านเหล่านั้น และเยาะหยันวิธีการเขียนร้อยแก้วของตนเองใน “เงาสีขาว” ความคิดและความรู้สึกต่าง ๆ นานาเมื่อเขียนมันออกมาแบบโมเดิร์นนิสม์ แล้วมันเป็นอย่างนี้หรือวะ เอียง ๆ เฉ ๆ ตรง ๆ บ้าง ทื่อ ๆ บ้าง สั้นกุดบ้าง ยืดยาวเลื้อยเฟื้อยบ้าง เฮ้ย นั่นมันความระทดระทวยแบบไหนวะน่ะ เป็นภาษาไทยที่ถูกแปลเป็นไทยมาแล้วเรียบร้อยถึงสามครั้งเป็นอย่างน้อย