บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

10 ปากกาหน้าเลนส์ : “ตำนานเสาไห้”


ไทย เธียเตอร์ : 10 ปากกาหน้าเลนส์… หน้าที่พลเมือง : 26 ก.ย. 53

  “ตำนานเสาไห้” โดย 'แดนอรัญ แสงทอง” นักเขียนที่คนไทยอาจรู้จักกันน้อยมากแต่ว่าโด่งดังและมีชื่อเสียงอย่างมากในยุโรป โดยเฉพาะผลงาน เงาสีขาว, อสรพิษ เป็นต้น ถูกถ่ายทอดเป็นหนังสั้น โดย “ภวัต พนังคศิริ” ผู้กำกับฝีมือดีมากประสบการณ์


แดนอรัญ แสงทอง หรือชื่อจริง เสน่ห์ สังข์สุข นักเขียนชาวเพชรบุรี ผลงานนวนิยายเรื่องแรกของเขาคือ เงาสีขาว ได้รับการคัดเลือกจากหนังสือ The 20 Best Novels of Thailand ของ Marcel Barang ให้เป็น 1 ใน 20 นวนิยายที่ดีที่สุดของไทย และยังได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส, สเปนและอังกฤษ อีกทั้งเรื่องสั้น อสรพิษ และ เจ้าการะเกด ต่างก็ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาอื่น ๆ เช่นกัน ต่อมารัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์ในลำดับชั้น Chevalier du Arts et Lettre ให้แก่เขาในปี พ.ศ. 2551 

ภวัต พนังคศิริ มีผลงานกำกับมากมายในวงการบันเทิงอาทิ กำกับมิวสิควิดีโอ รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์โฆษณา ละครโทรทัศน์ โดยงานด้านการกำกับภาพยนตร์ประกอบด้วย ภาพยนตร์เรื่อง SIX หกตาย ท้าตาย, ภาพยนตร์เรื่อง นาคปรก, ภาพยนตร์เรื่องอรหันต์ซัมเมอร์ เป็นต้น

ตำนานเสาไห้

ขอพระมหาเทพผู้พระวรกายไล้เลปด้วยถ่านเถ้าผู้สวมสร้อยกะโหลกศรีษะมนุษย์ต่างลูกประคำ
จงอภิบาลข้า
ขอพระมหาเทพผู้มีคชพักตร์
มีพระกรรณแผ่ใหญ่ดังกระด้ง
และประทับบนมุสิกวาหะ
กวาดเสียด้วยงวงของท่าน
อุปสรรคที่ขวางครรลองความคิดข้า

ข้าพเจ้าใคร่จะขอร้องให้ท่านเดินแผ่วเบา พูดคุยแผ่วเบา สำรวมกิริยาอาการ ท่านผู้เจริญ
ทั้งหลายข้าพเจ้าใคร่จะขอร้องให้ท่านสำรวมกาย วาจาและใจประหนึ่งว่าท่านกำลังอยู่เฉพาะเบื้องพระพักตร์แห่งพระมหากษัตราธิราชเจ้า ผู้ทรงมหิทธิเดชและเรืองรุ่งด้วยกฤษฎาภินิหาร ข้าพเจ้าใคร่จะขอร้องให้ท่านถอดหมวกและรองเท้าของท่านออกและเก็บร่มของท่านเสีย และต่อจากนั้น จงยอบกายลงจุดธูปเทียน ปักดอกไม้ลงในแจกัน และหมอบกราบเบญจางคประดิษฐ์ลงสามครา ณ เบื้องหน้า…

“ตำนานเสาไห้” จะปรากฏต่อสายตาผู้ชมทั่วประเทศในวันอาทิตย์ที่ 26 ก.ย. 53 นี้ เวลา 4 ทุ่ม 5 นาที


และโปรดติดตามชมรายการ "สิบปากกาหน้าเลนส์" ตอนอื่นๆ ทุกวันอาทิตย์เวลา 22.05 น. ทางทีวีไทย  
......................................................................................

ขอขอบคุณทางรายการไทยเธียเตอร์ 10 ปากกาหน้าเลนส์ ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบ

วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

ตำนานเสาไห้ “ต้นธารแห่งแรงบันดาลใจ... ที่ถั่งท้นล้นหลากด้วยพลังอันมหัศจรรย์”

บทความวิจารณ์โดย สกุล  บุญยทัต

Email: blue-theatre@hotmail.com

จากสยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ ฉบับที่ 43 : 16-22 ก.ค.53
............................................................................

ขอขอบคุณ คุณสกุล บุญยทัต ที่ให้ความอนุเคราะห์เผยแพร่บทความชิ้นนี้

............................................................................

“ณ ดินแดนต่างๆ ของโลกแห่งชีวิต มักมีบันทึกแห่งความทรงจำของการเล่าขานเรื่องราวต่างๆ อันเป็นที่มาที่ไปอันเร้นลึก ซ่อนอยู่กับเบื้องหลังแห่งความมีความเป็นของสิ่งนั้น... เป็นที่มาแห่งความหมายและเป็นสัญลักษณ์แห่งการตีความอันน่าครุ่นคิดและท้าทายสำนึกแห่งความเป็นจริง... บริบทโดยรวมของนัยดังกล่าวล้วนมีที่มาที่ไปอันสลับซับซ้อน ผูกติดเป็นเบื้องหลังที่เต็มไปด้วยอัศจรรย์และปาฏิหาริย์อันเหลือเชื่อ กระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของมิติแห่งศรัทธาในความฝังจำของผู้อยู่ร่วม... ในฐานะของผู้รับรู้และเฝ้ามองปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างเพ่งพินิจ... มีบางสิ่งที่ก้าวขึ้นสู่บทบาทสูงสุดในทิศทางของประวัติศาสตร์ แต่ก็มีบางสิ่งที่จมลึกอยู่กับก้นบึ้งของความเปล่าดายแห่งวันเวลาที่ไม่ได้รับการเหลียวแล... นี่คือภาพแสดงอันเคลือบแคลงของสิ่งที่เรียกว่าตำนานที่ผ่านข้ามทั้ง “ความจริงลวง” และ “ความลวงจริง” จนยากที่จะเหลือสัมผัสแห่งความจริงหรือความลวงที่แท้เอาไว้เป็นที่ประจักษ์อันชัดแจ้งได้ วิถีแห่งความเป็นไปทั้งหมดนี้จึงขึ้นอยู่กับปัจเจกของผู้สัมผัสนั้นๆ ว่าจะเลือกเชื่อมันและผูกพันอยู่กับสิ่งที่เป็นดั่งปริศนานี้เช่นไร ?... ซึ่งตรงนี้คือทางออกของคำตอบอันจริงจังผู้เล่าเรื่องในแต่ละบุคคล...”


“ตำนานเสาไห้”... ตำนานบทเศร้าแห่งชีวิตที่นับเนื่องและเกี่ยวพันกับธรรมชาติอันศักดิ์สิทธิ์... วิถีอันยิ่งใหญ่ของสิ่งอันยืนยงข้ามยุคข้ามสมัยผ่านลีลาแห่งศรัทธาและความเชื่อมั่นอันไม่รู้จบ... ที่ต้องสูญสิ้นค่าความหมายแห่งตนเองลงทั้งด้วยอคติ และมิจฉาทิฐิที่ถูกครอบครองโดยมนุษย์... มันคือเรื่องราวแห่งโศกนาฏกรรมที่น่าขมขื่นใจ... ซึ่งนอกเหนือจากการคร่ำครวญหวนไห้แล้ว... ก็ไม่มีสิ่งใดที่สามารถสนองตอบกับวังวนแห่งบาปเคราะห์อันเกิดขึ้น ณ ที่ตรงนี้ได้...

“แดนอรัญ แสงทอง” นักเขียนรางวัล “ศิลปาธร” คนล่าสุดได้ร้อยเรียงเรื่องราวแห่งตำนานที่สั่นสะท้านอารมณ์นี้ด้วยเจตจำนงที่มุ่งเน้นและสร้างสรรค์ในส่วนผสานของความเป็นจริงแห่งความรู้สึกจริง กับสภาวะแห่งจินตนาการ ที่ผุดพรายขึ้นมาจากห้วงของการรับรู้ และตีความบนพื้นฐานแห่งความเป็นจิตวิญญาณที่ลึกซึ้ง

“ถ้าหากมีใครถามฉันว่า... ในฐานะนักเขียน... คุณได้เขียนเรื่องอะไรมาบ้าง ฉันก็จะตอบว่า “ตำนานเสาไห้” ถ้าเขาถามอีกว่า “เรื่องเดียวเท่านั้นรึ” ฉันก็จะตอบว่า “เรื่องเดียวเท่านั้น”

“แดนอรัญ” ได้เน้นย้ำถึงปณิธานในการเขียนงานชิ้นนี้ของเขา ซึ่งเป็นดั่งผลงานสร้างสรรค์พิเศษ ที่ถูกกลั่นออกมาจากสำนึกแห่งการร่วมรับรู้จากสัมผัสด้านในที่เต็มไปด้วยความตั้งใจและการน้อมรับภาวะอันควรยกย่องต่อสิ่งที่ถือเป็นตัวละครสำคัญที่ได้เขียนถึง... บทตอนแรกคือการคารวะต่อตำนานปรัมปราที่ดูเหมือนจะมีรากฐานมาจากสถานะอันต้อยต่ำ หากจะมองจากสายตาของคนที่อยู่ ณ เบื้องสูง ที่พร้อมจะเหยียบย่ำความเป็นพื้นถิ่นและสถานะแห่งความเป็นคติชนของชาวบ้านธรรมดาที่สืบเนื่องความเป็นศรัทธากันมาชั่วกัปชั่วกัลป์...

“ข้าพเจ้าใคร่ของร้องให้ท่านเดินแผ่วเบา พูดคุยแผ่วเบา สำรวมกิริยาอาการ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าใคร่จะขอร้องให้ท่านสำรวมกาย วาจา และใจ ประหนึ่งว่าท่านกำลังอยู่เฉพาะเบื้องพระพักตร์แห่งพระมหากษัตราธิราชเจ้าผู้ทรงมหิทธิเดช และเรืองรุ่งด้วยกฤษฎาภินิหาร ข้าพเจ้าใคร่จะขอร้องให้ท่านถอดหมวกและรองเท้าของท่านออกและเก็บร่มของท่านเสีย และต่อจากนั้นจงยอบกายลงจุดธูปเทียน ปักดอกไม้ลงในแจกัน และหมอบกราบเบญจางคประดิษฐ์ลงสามครา ณ เบื้องหน้าแท่นบูชาอันต่ำต้อยและแปลกประหลาดนี้”

ทำไมสิ่งที่ต่ำต้อยและแปลกประหลาดถึงได้รับการย้ำเตือนให้ผู้คนต้องแสดงถึงความคารวะอันยิ่งใหญ่... นั่นคือเจตจำนงอันบริสุทธิ์ของการเล่าเรื่องราวเรื่องนี้หลังจากปูมประวัติแห่งสิ่งที่ดูเหมือนจะต่ำต้อย ณ เวลานี้ ได้ถูกขยายความออกไปในลักษณะของการเป็นที่พึ่งในมิติแห่งการเซ่นสรวงบวงพลี เพื่อประโยชน์เฉพาะตนมากกว่าการที่จะน้อมรำลึกถึงอดีตกาลอันล้ำค่าที่เคยเป็นตราความหมายอันยาวนานนับพันปีของสิ่งๆ นั้น... มนุษย์เราต่างพากันหลงลืมอดีตอันศักดิ์สิทธิ์ และพากันหมกมุ่นอยู่กับปัจจุบันอันฉาบฉวยเปราะบางกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา ดวงจิตของมนุษย์ส่วนใหญ่ในโลกของวันนี้ จึงจมดิ่งอยู่กับแรงปรารถนาในชั่วครู่ยามของตนเพียงเท่านั้น

“เพราะท่านมาสู่ที่แห่งนี้ เพื่อแสวงหาสิริมงคลคุ้มครองตนเพื่อเสริมสร้างพลังใจของท่านให้แข็งกล้า เพื่อขยายขอบเขตแห่งความคิดฝันและจินตนาการของท่านให้กว้างขวางลึกล้ำและมีสีสันขึ้น เพื่อยกระดับจิตใจของท่านให้สูงส่งขึ้น และเพื่อเป็นประจักษ์พยานต่อสิ่งที่หลงเหลืออยู่จากความมลังเมลืองของตำนานอันยิ่งใหญ่ที่กำลังถูกลืมเลือนและถูกบิดเบือนให้เฉไฉไปมิใช่หรือ”

แท้จริงสิ่งที่ผู้คนหลั่งไหลกันมาบูชานั้นคืออะไร ? แน่นอนว่าทุกสิ่งอาจเคยเป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ แต่ด้วยหัวใจของมนุษย์ สิ่งอันเป็นทั้งความยิ่งใหญ่และไม่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายอาจมีค่าเสมอกัน หากการยอมรับนับถือของชีวิตไม่ได้ถูกดึงออกมาจากเบ้าหลอมอันหม่นไหม้ของอวิชชา... อะไรก็เป็นอะไรได้... ท่ามกลางมโนธรรมสำนึกอันผุกร่อนและความเป็นไปแห่งเจตนาที่ถูกห่มคลุมด้วยความเห็นแก่ตัว ซึ่งปราศจากเป้าหมายของความดีงาม... นี่อาจเป็นบรรทัดฐานแห่งความผิดบาปของชีวิต ที่ปรากฏร่างขึ้นโดยไม่หวั่นเกรงต่อคุณธรรมอันหมายถึงตัวแทนที่ล้ำลึกของคุณธรรม “บนแท่นบูชามิใช่พระพุทธรูปมิใช่ประติมากรรมรูปทวยเทพหรือรูปปั้นของวีรบุรุษ หรือรูปปั้นสิงสาราสัตว์อันมีอยู่เพียงในจินตนาการจากเทพนิยายใดๆ หากแต่เป็นเสาไม้ต้นหนึ่ง โคนกว้างเพียงหนึ่งคนโอบกลมกลึงประหนึ่งสลักเสลา ค่อยๆ รีเรียวด้วยลีลาวิจิตร บรรจงจากโคนไปจรดปลาย ประหนึ่งนายช่างเอกเขาแกล้งหล่อคำนวณความยาวราวสิบวาเศษ ทุกหนทุกแห่งแหล่งที่บนเสาต้นนี้เหลืองอร่ามไปด้วยแผ่นทองคำเปลว เสาต้นนี้เป็นสิ่งที่สิงสถิตของดวงวิญญาณอันเจิดจรัสดวงหนึ่งท่ามกลางดวงวิญญาณอันเจิดจรัสทั้งสากลจักรวาล ความเป็นมาของเสาต้นนี้ และวิญญาณดวงนี้ ผู้คนเขาเล่าขานสืบต่อกันมาเป็นตำนานปรัมปรา”

“แดนอรัญ” ได้สร้างตัวละคร (Character) ในงานประพันธ์ของเขาที่ไม่ได้เป็นมนุษย์ ด้วยการบรรยายจนรับรู้และรู้สึกในความมีชีวิตชีวาที่สมจริงและผูกมัดไว้ด้วยความน่าเชื่อถือด้วยวิถีแห่งการอาศัยจินตนาการที่ประมวลเอาจากสิ่งที่เห็นจากภายนอกทั้งหมดให้เข้ากับสิ่งที่เป็นแก่นสารอันสลับซับซ้อนภายใน... ที่มาที่ไปของตัวละครสำคัญได้เชื่อมโยงเข้ากับสภาวะของความเป็นอดีต... ได้หลอมรวมเข้ากับความเป็นนิรันดร์ ซึ่งประเด็นตรงส่วนนี้คือการนำเสนอในด้านประพันธกรรมที่นับว่าเป็นการอวดฝีมือของผู้เขียน โดยเฉพาะกับการนับเชิงเปรียบเทียบที่สื่อออกมาด้วยการพรรณนาถึงคุณสมบัติอันโดดเด่น จนเห็นได้ถึงเอกลักษณ์ของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่สามารถแทนความหมายได้ทั้งหมด (Synecdoche) การเขียนในลักษณะนี้นี่เองที่ทำให้ “ตำนานเสาไห้” หนังสือเล่มบางๆ เพียงสามสิบกว่าหน้าได้กลายเป็นดั่งมหาสมุทรแห่งความงามในแง่มุมที่เป็นทั้งสุนทรียศาสตร์และความคิดในเชิงประวัติศาสตร์และสังคมที่กระจ่างชัด... ความชัดเจนของเรื่องเล่าเรื่องนี้อยู่ที่ความสามารถของผู้เล่าด้วยภาษาอันสละสลวย... และด้วยเนื้อในของความรู้สึกที่สามารถขับขานอารมณ์ของภาษาในช่วงตอนต่างๆ ของเรื่องราวให้ปรากฏออกมา ดั่งบทเพลงของจิตวิญญาณ... ท่วงทำนองและลีลาจังหวะของถ้อยคำต่างเคลื่อนไหวไปบนเส้นเสียงแห่งสรรพสิ่งของธารสำนึก... มันคือภาพแสดงทางวรรณกรรมที่เต็มไปด้วยสีสันแห่งความจริงและภาวะไหวสะท้านทางความตระหนักรู้...

“ดวงวิญญาณนี้... แต่ก่อนร่อนชะไรครองรูปลักษณ์เป็นอิตถีเพศสะคราญโฉมเยี่ยงอัปสรสวรรค์ แลแม่นางนั้นไร้ชื่อ แม่นางดำรงอายุขัยมาเนิ่นนานนับสิบศตวรรษ แต่ด้วยบุญญาภินิหาร แม่นางจึงครอบครองความเป็นสาวสวยนะแน่งไว้ชั่วกาลนาน มีเกศายาวสลวยดำขลับวะวาวดั่งขนแห่งนกกาน้ำ ตางามดั่งตาทราย คิ้วโก่งดั่งคันศรแห่งกามเทพ ริมฝีปากแดงดั่งดอกกุหลาบ ฟันขาวดั่งไข่มุก หูดั่งหอยสังข์ แขนสละสลวยดั่งต้นอ้อย ขากลมกลึงเรียวงามดั่งต้นกัทลีในป่าสีมรกตแห่งแดนหิมพานต์ เท้าอวบอิ่มอ่อนนุ่มเหมาะสำหรับจะเหยียบย่างลงบนตฤณชาติเขียวขจีอันพร่างพราวด้วยหยาดน้ำค้างในอุทยานแห่งแดนสรวง ทรวงเต่งตูมดั่งดอกบัวตูมสองดอกที่อยู่เคียงกัน จมูกงามเหมือนดอกไม้ไร้ชื่อ มือทั้งสองงามเหมือนช่อดอกไม้อีกอย่างหนึ่งซึ่งไร้ชื่อเช่นกัน กาลเวลาไม่อาจระคายรูปโฉมของแม่นางได้ เพราะแม่นางมีชีวิตอันเป็นนิรันดร์ (โอ้แม่นางได้สร้างความผิดบาปใดไว้ตั้งแต่เมื่อหนใดหนอ จึงได้ถูกสาปให้มีชีวิตอันเป็นนิรันดร์) โลหิตทุกหยาดในกายแม่นางเป็นคนไทยบริสุทธิ์ และหยาดอสุชลของแม่นางก็เช่นกัน”

บทพรรณนาที่เต็มไปด้วยความวิจิตรตระการนี้ นับเป็นภาวะที่บ่งชี้ให้เห็นถึงรูปโฉมของจินตนาการที่บันทึกอยู่ในห้วงคิดของผู้เขียน... ‘แดนอรัญ’ ให้การยกย่องตัวละครตัวนี้ในฐานะปฐมบทของตำนาน ซึ่งสร้างความหมายต่อสัมผัสแห่งจิตใจได้อย่างแยบยล... ขณะที่มนุษย์ต้องตกอยู่ในวงกรอบของโชคชะตา ซึ่งเราต่างมีสิ่งที่รักใคร่บูชาและสิ่งที่เราอาจถือว่าเป็นความเกลียดชั่งล้ำลึก

ชีวิตมักมีสิ่งที่เราจดจำและพึงใจ เพียงแต่ว่าเราจะสามารถบอกกล่าวเล่าขานถึงสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์อย่างเต็มที่สักเพียงไหนเท่านั้น... ดูเหมือนว่าขณะที่เราก่นด่าสาปแช่งอะไรสักอย่าง แรงขับด้านในของเรากลับส่งเสียงได้ก้องกังวานมากยิ่งกว่าความดีงาม นี่เป็นบรรทัดฐานแห่งการก้าวย่างของตำนานว่า... จะดำรงอยู่ด้วยความรักหรือความเกลียดชังกันแน่... บนโลกที่ศรัทธาอันบริสุทธิ์กำลังจะถูกลืมเลือนและปิดตายด้วยพันธนาการของความว่างเปล่า...

‘แดนอรัญ’ ได้ชี้ให้เห็นว่าความเป็นมาและนิวาสสถานของความเป็นอดีตนั้นยิ่งใหญ่และมีค่าเสมอ... แม้ว่ามันจะถูกทำลายลงอย่างโหดร้ายจากสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่เคยเห็นค่าของมันก็ตาม... อดีตก็คืออดีต... ความงามของมันสถิตอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจสำหรับผู้รับรู้เป็นสัมพันธภาพทางจิตวิญญาณที่ก่อเกิดและไม่มีวันจบสิ้น... มีอยู่หลายครั้งหลายหนที่ความเป็นอดีตของโลกนี้ถูกทิ้งขว้างไปอย่างไม่ไยดี โดยเฉพาะอดีตที่อาจหาค่าไม่ได้ด้วยทัศนคติของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน... การทำลายล้างในบริบทของความไม่รู้... ยังคงเดินเคียงคู่ไปกับเส้นทางของทรรศนะเชิงอคติที่ไม่เคยให้ค่าต่อสิ่งใด นอกจากค่านิยมเชิงผลประโยชน์นี้ที่ถูกกำหนดขึ้นมาด้วยมายาคติที่เห็นแก่ได้อันเป็นเหตุผลเฉพาะที่ยิ่งใหญ่ของตนเองเพียงเท่านั้น... เหตุนี้... อดีตจึงถูกทำลายลงครั้งแล้วครั้งเล่า และความเป็นอดีตก็เป็นเพียงภาพบรรยายที่เหลืออยู่ในความทรงจำเฉพาะบุคคลเพียงเท่านั้น...

“นิวาสสถานของแม่นางนั้นงามจับตานัก เป็นตะเคียนทองอายุขับหนึ่งพันปี สูงลิบลิ่วตระหง่านเงื้อมอยู่เหนือป่าดิบ ต้นแม่น้ำป่าสักลำต้นเป็นเปลาระหงกลมกลึง แผ่กิ่งก้านรกครึ้มเขียวขจีออกเป็นเชิงเป็นชั้นดั่งร่มฉัตร... มีกล้วยไม้ ป่าหลากสีประดับประดา ร่มเงาเคหาสน์นางไม้นี้แผ่ขยายเป็นวงกว้าง เหนือผืนดินบริเวณโคนต้นคือพงหญ้าเขียวและดงดอกไม้หลากสี ส่งกลิ่นหอมตลบอบอวล ณ ที่แห่งนี้หมู่กวางก็เคยมาเยื้องชำเลืองเดินและเล็มหญ้า กระทำให้ฝูงผึ้งแมลงภู่และผีเสื้อบินว่อนกระจัดกระจาย แต่พยัคฆาและเสือสีห์อันร้ายกาจมิเคยเลียบเคียงดุ่มด้อมเข้ามาเลย ณ ที่แห่งนี้ปักษาสีสดใสเสียงไพเราะที่ยังชีพด้วยธัญพืชและไม้ผลต่างก็เข้ามาเกาะพักเหนื่อยและขับขานบทเพลง แต่ปักษาล่าเหยื่อสีคล้ำทะมึนมีเสียงชวนหวาดแสยงที่ยังชีพด้วยชีวิตสัตว์อื่นมิเคยย่างกรายเข้ามาเลย ตะเคียนทองต้นนี้งามเลิศล้ำอำไพยิ่งนัก และแม่นางก็ดื่มด่ำปีติสุขภาคภูมิใจในอหังการ์แห่งเรือนงามของตนเสมอมา อันว่าแม่นางครองสถานภาพสูงส่ง เป็นราชินีแห่งนางไม้ทั้งหลายฉันใด ตะเคียนทองของแม่นางก็ครองสถานภาพสูงส่งเป็นราชินีแห่งมวลพฤกษาในป่าฉันนั้น”

แน่นอนว่าโครงเรื่องของชีวิตไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็ตามย่อมมีภาวะที่ต้องถูกเบี่ยงเบน... “ไม้งามย่อมมีคนจอง” กิตติศัพท์ของตะเคียนทองต้นนี้บันลือไกล เป็นเหตุให้มีคนเข้ามาเชิญวิญญาณของแม่นางผู้สิงสถิตไปอยู่ ณ ศาลเพียงตาแทน...ด้วยความหวังจะนำตะเคียนทองต้นนี้ไปเป็นเสาเอกของวัง เจ้าเมืองก็มี... ไปเป็นเสาเอกเคหาสน์ ของคหบดีผู้มั่งคั่งหรือขุนนางยศใหญ่ก็มี... จะเอาไปต่อเป็นเรือใหญ่สำหรับแข่งขันในฤดูน้ำหลาก จะเอาไปทำเป็นเสาเมรุมาศให้ท้าวพระยามหากษัตริย์องค์นั้นองค์นี้บ้างล่ะ “แต่แม่นางก็ยืนกรานปฏิเสธเสมอมา”... ครั้นพอมีคนหักหาญดันทุรังจะโค่นตะเคียนทองลง แม่นางก็สำแดงเดช ขู่ขวัญเขาต่างๆ นานา...

บริบทแห่งตะเคียนทองต้นนี้กับเงาร่างของแม่นางผู้เป็นเจ้าของอันสืบเนื่องอยู่ร่วมกันมานับพันปี... ถือเป็นบทตอนที่สื่อแสดงถึงภาวะอันยิ่งใหญ่ของโลกธรรมชาติที่ธำรงอยู่ด้วยสิ่งแวดล้อมอันให้คุณค่าแก่กันและกันเสมอมา แม้ว่าจะถูกรุกรานหรือคุกคามจากปัจจัยภายนอกสักเพียงใดก็ตาม... โดยเฉพาะจากค่านิยมแห่งสัญลักษณ์ทางชนชั้นที่คอยบีบบังคับและรังแกขู่เข็ญอยู่เสมอ... ‘แดนอรัญ’ ได้นำมิติทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ในช่วงแห่งความรุ่งโรจน์และสูญเสียแทรกไว้ในการประพันธ์อย่างมีชั้นเชิง... ผ่าน “ทิพยจักษุ” แห่งแม่นางผู้มีญาณวิเศษและอำนาจเหนือธรรมชาติในช่วงชีวิตอันยาวนาน... สิ่งนี้คือมิติแห่งอุทาหรณ์เชิงเปรียบเทียบที่ทั้งเป็นสุขและทุกข์อันเนื่องมาแต่ปรากฏการณ์ของแผ่นดิน “แม่นางได้รับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในดินแดนสุวรรณภูมินี้มาตั้งแต่บรมสมกัป ทั้งที่เกิดในเวียงวังของท้าวพระยามหากษัตริย์ ทั้งที่เกิดในเรือนชานบ้านช่องและกระท่อมทับของสามัญชน” นับจากพระยาพานคลุ้มคลั่งอยู่ในท้องพระโรงเมื่อรู้ว่าตนได้ฆ่าบิดาด้วยมือแห่งตนและเสพสังวาสกับมารดาแห่งตนเข้าให้เสียแล้ว

แต่แม้กระนั้นก็ยังสั่นประกาศิตสั่งฆ่ายายหอมผู้เลี้ยงดูตนมา... ได้เคยเห็นพ่อขุนผาเมืองเจ้า เมืองราดขึ้นช้างทรงกลับไปยังเมืองของพระองค์ หลังจากช่วยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ กำราบขอมโดยไม่แยแสกับบัลลังก์กษัตริย์สุโขทัยอันว่างเปล่าซึ่งรอคอยพระองค์อยู่ เพราะทรงมีความรักในเทวตาธรรมยิ่งกว่าความรักในเศวตฉัตร... ได้เคยเห็นพระมหินทราธิราชหมอบกราบลงแทบบาทบุเรงนอง ยอมยกกรุงศรีอยุธยาให้เป็นข้าขอบขัณฑสีมาแก่กรุงหงสาวดี... ได้เคยเห็นพระนเรศวรผู้ฉกาจกล้าคร้ำเคร่งฝึกปรือพาหุยุทธ์คิดการซ่องสุมผู้คนจะสลัดแอกพม่า... และแม่นางก็ได้เห็นพระเจ้าเอกทัศน์ร่ำน้ำจัณฑ์เมามาย... ยังหมกไหม้ใฝ่ฝันอยู่กับกามรส แม้ในยามเสียงปืนใหญ่ของกองทัพพม่าจะคำรนคำราม “แม่นางได้เห็นมาทั้งหมดทั้งสิ้น ประดาชนเผ่าไทยเมื่อยามเขามีสุข เมื่อยามบ้านเมืองปราศจากสงคราม... แม่นางได้เห็นอีกเช่นกัน ประดาชนเผ่าไทยเมื่อคราที่ เขาอกไหม้ไส้ขม... แตกสานซ่านเซ็นเพราะถูกกองทัพศัตรูรุกราน... แม่นางอิ่มสุข เมื่อเห็นเขาอิ่มสุข แม่นางร่ำไห้ เมื่อเห็นเขาร่ำไห้... เขาเหล่านั้นเป็น ชนเผ่าเดียวกันกับแม่นางทั้งหนุ่มสาวลูกเล็กเด็กแดงและเฒ่าชแรแก่ชราเหล่านั้น... เขาเป็นส่วนหนึ่งของแม่นาง แม่นางเป็นส่วนหนึ่งของเขา มันเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร มันเกิดขึ้นแต่ครั้งไหน แม่นางไม่รู้เลย รู้แต่เพียงว่ามันจะเป็นเช่นนั้นไปอีกนานเท่านาน”

เบ้าหลอมแห่งสำนึกที่ผ่านผัสสะของดวงตาภายในของ ‘แดนอรัญ’ ตรงส่วนนี้สื่อสำนึกถึงความจริงแท้แห่งภาพแสดงที่ตราตรึงอยู่กับความหมายทางประวัติศาสตร์ มันคือบทวิพากษ์ทางความคิดต่อสิ่งที่เห็นและสิ่งที่แสดงอยู่เบี้องหน้าของการรับรู้... ประวัติศาสตร์ผ่านไปแล้ว... มันไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงและพลิกกลับเหตุการณ์ใดๆ ได้อีก แต่มันก็ยังสามารถตีความใหม่ด้วยมุมมองใหม่ได้ สุดแต่ว่าสำนึกคิดของผู้อยู่ร่วมในแผ่นดินจะตระหนักถึงผลลัพธ์แห่งการรับรู้ดังกล่าวนี้กันมากน้อยเพียงไหนเท่านั้น...

‘แดนอรัญ’ มองเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยสายตาที่คมกริบ มันเต็มไปด้วยโจทย์แห่งคำถามที่เน้นย้ำให้ต้องขบคิดและไม่อาจมองข้ามผ่าน เช่นเดียวกับประเด็นอันสำคัญที่สุดของเรื่องเล่าเรื่องนี้... ที่นับเป็นอุบัติการณ์แห่งการสร้างบ้านแบ่งเมืองใหม่หลังจากล่มสลายอันน่าสมเพชเวทนา... จากภาวะแห่งการขาดสติและไร้ความรับผิดชอบของผู้นำ

เมื่อสิ้นอยุธยา... ผ่านกรุงธนบุรี จนล่วงเข้าสู่การสถาปนาเมืองหลวงใหม่ขึ้น อันหมายถึงกรุงเทพมหานคร... เมืองใหม่... ที่ถูกสร้างขึ้นจากจิตอันรับผิดชอบและความหวังแห่งความเป็นอนาคต... นั่นคือเจตนารมณ์อันสูงส่งที่ทำให้แม่นางตัดสินใจสละเรือนรังอันหมายถึงต้นตะเคียนทองอายุพันปีให้มาเป็น... “เสาหลักเมือง” ของเมืองใหม่แห่งความหวังแห่งนี้... หลังจากเมื่อไม่นานก่อนหน้านั้นแม่นางต้องสิ้นหวังและเสียน้ำตาให้แก่การสูญสิ้นกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า

“คราครั้งนั้น... ในป่าใหญ่ต้นแควแม่น้ำป่าสัก... ตะเคียนทองต้นนั้นยอดค้อมต่ำลงมาด้วยน้ำหนักแห่งความสิ้นหวัง ลำต้นบิดงอด้วยความรวดร้าวอันแทบจะทานทนมิได้... ยางสีแดงซึมเปรอะไปทั้งลำต้นและกิ่งก้านน้อยใหญ่ผุดพรายดังเหงื่อที่กลายเป็นเลือด... พรานป่าหลายต่อหลายคนเขาก็ได้เห็นแม่นางด้วย... บางทียืนอยู่โคนต้นตะเคียนทองด้วยร่างที่แทบทรงไว้มิได้ น้ำตาไหลพรากใบหน้า... เหม่อมองออกไปยังราวป่าเมื่อยามตะวันชิงพลบ บางทีคุดจับเจ่าอยู่บนคาคบ เกศายุ่งเหยิง เรือนกายผ่ายผอม ผิวพรรณซีดเซียว กำลังเอามือปิดหน้าตนเองสะอึกสะอื้นพิรี้พิไรอยู่ในแสงอันกระจ่างจ้าแห่งทิวาวาร”

“ตำนานเสาไห้” เป็นเรื่องเล่าของอะไรกันแน่ บนวิถีแห่งการสร้างสรรค์ของ ‘แดนอรัญ แสงทอง’  

มันคือความเปรียบที่เป็นภาพแสดงทางการเมืองที่ขมขื่นของอดีตที่ไม่อาจหวนคือกลับมาได้อีกแล้ว แต่กับปัจจุบันเหตุการณ์อันน่าขมขื่นใจและไร้สาระนั้นก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือนี่คือเรื่องราวอันงดงามแห่งพลังอำนาจของธรรมชาติ... ที่มักจะถูกทำลายความยิ่งใหญ่ด้วยน้ำมือและหัวใจอันพลิกผันของหมู่มวลมนุษย์... อยู่มิได้ขาด

“เขาริดกิ่งรอนก้านตะเคียนทองออกเสียจนสิ้น เขาบั่นปลายยอดของตะเคียนทองทิ้ง เขาเฉาะขวานเลาะเปลือกและกระพี้ของตะเคียนทองออกอยู่ฉับๆ แม่นางก็ให้ปวดร้าวไปทั่วสรรพางค์ แต่ก็มิได้หวีดร้อง ข่มกลั้นทุกขเวทนาทั้งหลายทั้งปวงไว้เยี่ยงมารดาในยามกำเนิดบุตร”

แม่นางยอมเสียสละด้วยความเจ็บปวดของตนเองเพื่อจะไปเป็นรากฐานของชีวิตใหม่แห่งแผ่นดิน ไปเป็นเสาหลักเมืองให้เป็นศรีเป็นศักดิ์แก่เมืองกรุงใหม่ที่เต็มไปด้วยความเจริญรุ่งเรือง แต่ท้ายที่สุดแม่นางและตะเคียนทองกลับไปไม่ถึง... คุณค่าที่ใครๆ เคยยกย่องกลับมิอาจรอคอยได้ โดยช่างผู้สร้างเมืองใหม่ เขาเลือกเสาต้นอื่นไปทำเสาหลักเมืองเสียแล้ว... นี่คือความวิปโยคแห่งชะตากรรมของการพลีกายถวายชีวิต ความวิปโยคจากความคิดฝันที่จะบำเพ็ญประโยชน์ แต่ก็ไม่อาจสมใจตามที่ได้ตั้งหวังไว้ ใจแม่นางก็รอนร้าว อกนี่เหมือนจะแตกออกเป็นเสี่ยง ทั้งหมดทั้งปวงนี้ลงเอยที่ความเปล่าดายเสียแล้วกระนั้นหรือ แต่จะโกรธใครเขาได้เล่า จะโทษใครเขาได้หรือ แล้วนี่ฉันจะทำฉันใดต่อไปดี จะกลับหรือก็ไม่ได้ จะไปหรือก็ไม่ถึงแล้ว แม่ก็ก่นแต่จะร้องไห้รำพันพิลาป มิรู้จะบอกกล่าวทุกข์โศกของตนให้ผู้ใดฟัง... แล้วซุงตะเคียนทองก็สำแดงปาฏิหาริย์สอยเวียนทวนน้ำและจ่มลงในลำน้ำป่าสักนั่นเอง

“ ตำนานเสาไห้” เป็นประพันธกรรมที่เต็มไปด้วยมิติสัญญะแห่งความเป็นพื้นถิ่น (Localdialect) ที่ ‘แดนอรัญ’ ได้ใช้ทักษะปรับแปลงมาเป็นนัยของเรื่องราวที่ทับซ้อนกันในจิตสำนึกอันน่าใคร่ครวญ ... บ้างเป็นความจริงในวิถีศรัทธาอันเร้นลับ... บ้างเป็นข้อเปรียบเทียบที่แสดงถึงผลึกแห่งอดีตที่ถูกมองข้ามมาเสมอและยังขบไม่แตก... ทั้งหมดทั้งสิ้นล้วนคงอยู่และตายไปในรากฐานแห่งความเป็นชีวิตของเราที่เป็นประหนึ่งเงาสะท้อนระหว่างมายาคติกับสิ่งที่อยู่เหนือจากสำนึกทั้งหลายทั้งปวง มันคือด้านที่สลับซับซ้อนแห่งลำดับขั้นในสถานะของความเป็นมนุษย์ที่แท้ นี่คือ... งานสร้างสรรค์อันชวนติดตาม... ทั้งด้วยภาษาและความคิดแห่งการประพันธ์ที่เปี่ยมไปด้วยประกายแห่งการพินิจพิเคราะห์ที่มิใช่เพียงการเล่าขานอย่างสามัญ แต่มันคือตำนานอันหยั่งลึกของสิ่งบางสิ่งที่อาจกลายมาเป็นเสาหลักแห่งแรงบันดาลใจ ตลอดจนความเชื่อและศรัทธาของผู้คนทุกคนในที่สุด

ว่ากันว่า เนิ่นนานนับร้อยปีต่อมาแม่นางจึงข่มใจได้สงบ วันหนึ่งเมื่อผู้คนเขาทำพิธีอัญเชิญ ซึ่งตะเคียนทองต้นนั้นขึ้นจากน้ำ แม่นางก็ยินยอมแต่โดยดี... เมื่อเขาเอาซุงขึ้นไปไว้ในบริเวณวัดแห่งหนึ่ง แม่นางก็ไม่ว่ากระไร... แม้ซุงตะเคียนทองต้นนี้จะซูบเรียวลง หดสั้นลงและแตกแยกร้าวรานไปทั่วด้วยอำนาจแห่งความตรอมตรม แต่ผู้คนทั้งจากใกล้และไกลก็ต่างพากันไปกราบไหว้อยู่เสมอมิได้ขาดสาย เขาเอาทองคำเปลวปิดประดับเสียเรืองอร่ามจากโคนจรดปลาย... ใจของเขาหม่นหมองเมื่อเขาก้มลงกราบ สะท้อนสะท้านเมื่อเขาหวนคะนึงถึงชะตากรรมที่แม่นางได้ประสบ แต่ในขณะเดียวกันขอบเขตความคิดฝันของเขาก็กว้างขวางขึ้น ดวงจิตของเขาลึกล้ำและใสกระจ่างขึ้น

สำหรับบางคนผู้มีสภาวะจิตอันประภัสสรและอ่อนไหว อันได้แก่ เด็ก นักฝัน กวี และศาสดาพยากรณ์เรื่องราวอันว่าด้วยตำนานของแม่นางก็เป็นประหนึ่งต้นธารแห่งแรงบันดาลใจที่ถั่งท้นล้นหลากด้วยพลังอันมหัศจรรย์ นั่นหมายถึงว่าลึกลงไปในความทรงจำ การก่อเกิดของตำนานย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อแท้แห่งศรัทธาที่ส่องสะท้อนถึงการน้อมคำนับต่อจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปรเป็นอื่นใด

“ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอร้องให้ท่านเดินอย่างแผ่วเบา พูดคุยแผ่วเบา สำรวมกิริยาอาการ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะขอร้องให้ท่านสำรวมกายวาจาใจ ประหนึ่งว่าท่านกำลังอยู่เฉพาะเบื้องพระพักตร์แห่งพระมหากษัตราธิราชเจ้าผู้ทรงมหิทธิเดชและเรืองรุ่งด้วยกฤษฎาภินิหาร”