บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ผู้ถูกกระทำ


คำนำโดย คุณวิรุณ ตั้งเจริญ

ทางผู้จัดทำบล็อกขอขอบคุณ 
ศ.ดร. วิรุณ ตั้งเจริญ : อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 
ที่ให้ความอนุเคราะห์บทความชิ้นนี้


*********************************************************
อ่านคำนำนี้ในหนังสือ “ผู้ถูกกระทำ” รวมงานเขียนขนาดสั้นของแดนอรัญ แสงทอง (นามปากกาขณะนั้น “มายา”) แล้ว อดไม่ได้ที่จะขอนำลงบล็อกแห่งนี้ เพราะเห็นว่าคำนำนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นว่าคุณแดนอรัญ เมื่อ 25 ปีก่อนโน้นเป็นคนอย่างไร... ความรักต่องานวรรณกรรมของเขาจะเข้มข้นแค่ไหน   เชิญอ่านได้ตามอัธยาศรัยครับ
********************************************************************************

ผมเขียนถึงมายา

ราวเดือนกันยายน 2521 เมื่อผมกลับจากต่างประเทศได้ไม่กี่วัน ก็กลับไปนั่งทำงานที่ภาควิชาศิลปะและวัฒนธรรม (มศว.ประสานมิตร) ผมนั่งทำงานอยู่ห้องเดียวกับท่านอาจารย์อารี สุทธิพันธุ์ วันนั้นมีนิสิตหนุ่มไปนั่งคุยอยู่กับอาจารย์อารี ชายคนหนุ่มนั้นร่างผอม โทรมผมยาว และดูเหมือนจะมีหนวดคราด้วย ผมเพียงแต่นึกในใจว่า “ไอ้หมอนี่แปลกดี... น่าสนใจ”

สักครู่... เสียงอาจารย์อารีบอกว่า... “นี่ไง อาจารย์วิรุณ ตั้งเจริญ” พร้อมกับบุ้ยใบ้มาทางผม ไอ้เจ้าหนุ่มคนนั้นหันมายกมือไหว้ พร้อมกับพูดทำนองว่ารู้จักชื่อเสียงเรียงนามของผม... “ เจ้าหมอคนนี้มีดวงตาครุ่นคิดดีทีเดียว” ผมได้แต่นึกในใจ

แล้วผมก็รู้จักเขา
และต่อมาเขาก็คือ “มายา”
ตลอดเวลาที่เขาเป็นนิสิต ผมมีโอกาสพูดคุยกับมายาบ่อยครั้งมาก มายาขึ้นมาคุยกับผมบ้าง เราคุยกันตามโคนต้นสนบ้าง

โดยบุคคิลของมายาแล้ว เขาเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนและขี้เกรงใจคนตัวฉกาจ ประเภทขี้เกรงใจจนทำให้โลกวุ่นวายสับสนได้ทีเดียว มายาต่างไปจากนิสิตส่วนใหญ่มากต่อมาก เขาเป็นคนช่างคิดสมกับแววตา แต่เป็นนักแสวงหาอย่างมากมายตัดกับบุคคิลซึมๆ ของเขาเอง

มายาเป็นเด็กหนุ่มที่แสวงหาความคิด สนใจวรรณกรรมต่างประเทศและไทย สนใจงานกวี และสนใจศิลปกรรม... เราก็เลยคุยกันได้ไม่รู้หมดสิ้น

ผมเองทึ่งในความสนใจและความรู้ในทางวรรณกรรมต่างประเทศของเขามาก... มายาเป็นหนอนหนังสือตัวที่คมคายทีเดียว

ผมได้แต่บอกตนเองว่า... “รูปแบบของนิสิตเช่นนี้กระมังที่ผมต้องการตลอดชีวิตการเป็นครูของผม... โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นนักแสวงหา”

ในช่วงแรกๆ ของการรู้จักนั้น ผมรู้สึกว่าเขามีอะไรที่ดูลึกลับอยู่บ้าง มีความกดดันอยู่บ้าง... ผมรู้สึกเหมือนกับว่าเขาหันไปยึดเหนี่ยวอะไรที่เลื่อนลอยสักอย่างตามประสาคนหนุ่มสาวหรือตามประสามนุษย์ที่พยายามค้นหาสิ่งยึดเหนี่ยวไม่มากก็น้อย

แต่ผมก็มั่นใจว่า... คนมีความคิดย่อมโง่ยาก
บ่อยครั้งที่มายาอ่านหนังสือ แล้วนำมาเล่าถ่ายทอดสู่กันฟังอย่างได้ความรู้สึกมาก เขามีแง่มุมความซาบซึ้งและแง่มุมความคิดอย่างได้อารมณ์สะใจ เขาจะเล่าด้วยลีลาและแววตาที่ตื่นเต้น เหมือนเด็กที่ตื่นเต้นและเมามันกับของเล่นชิ้นใหม่

เมื่อเขาคิดและมีอารมณ์กับความคิด เขาจะแสดงออกอย่างตรงๆ ดิบๆ และบริสุทธิ์ใจ หลายครั้งผมเห็นสีหน้าเขาจริงจังเหลือเกิน มือสั่น หรือน้ำตาคลอหน่วย... อารมณ์ศิลปินเช่นนี้คงมีใครไม่กี่คนบนแผ่นดินนี้ที่จะเข้าใจเขาอย่างจริงๆ 

หลังจากมายาจบการศึกษาแล้ว เขายังคงอยู่หอพักเดิมด้านหลังมหาลัย ซุ่มเขียนหนังสือและแปลหนังสืออยู่เงียบเชียบ งานเขียนของเขาเริ่มได้รับรางวัลหลายต่อหลายรางวัล งานแปลเริ่มได้รับการตีพิมพ์... ใครต่อใครก็เริ่มจับตาดูมายา ชายหนุ่มผู้มีหน่วยก้านทางถนนวรรณกรรมผู้นี้

พร้อมกันนั้นผมก็เชื่อว่า นิสิตรุ่นหลังๆ และอาจารย์ประเภทเพียงเกิดมาเพื่อสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร คงจะเฝ้าสงสัยว่า... ชายหนุ่มผมยาวหนวดเครารุงรัง (บางคนบอกว่าหน้าเหมือนยีซัส ไครสท์) แต่งเนื้อแต่งตัวตามสบายคนนี้... มันเป็นใครกันหวา... งานการไม่ทำ วนเวียนไปวนเวียนมา แล้วก็นั่งซึมๆ อยู่หน้าภาควิชาศิลปะฯ... ไม่บ้าก็เมา (อันนี้น่าจะเป็นผมว่า)

มายา เคยไปทำงานกับฝรั่งอยู่ต่างจังหวัดระยะหนึ่ง เงินเดือนก็ประมาณข้าราชการ ซี 11 แล้วมายาก็เลิกลาเอาเสียดื้อๆ ด้วยคำตอบทำนองว่า...

“ผมกำลังสูญเสีย”
ผมได้แต่คิดว่า มายามีความมุ่งมั่นต่องานวรรณกรรมมากมายถึงอย่างนี้เชียวหรือ และเคยพูดกับพรรคพวกหลายคนว่า... คนอย่างนี้เป็นหนึ่งในอีกหลายคนที่พร้อมจะอุทิศตัวเพื่องานสร้างสรรค์ รัฐบาลมันน่าฉลาด (มีคำว่า “มัน” ด้วย) และพร้อมที่จะอุปการะมนุษย์ประเภทนี้บ้าง

จนถึงวันนี้ชื่อ “มายา” เริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในวงวรรณกรรม

ผมเองเติบโตมาในวงการสร้างสรรค์ ย่อมชื่นชมกับคลื่นลูกหลังที่รักการสร้างสรรค์ และชื่นชมเป็นพิเศษกับคนทำงานสร้างสรรค์ผู้ยิ่งใหญ่ที่มีสมองและอ่อนน้อมถ่อมตน ตีนติดดิน ผมอาจจะเชื่อสุภาษิตจีนที่ว่า “รวงข้าวที่มีเมล็ดเต็มเต่งย่อมโน้มลงสู่ดิน แต่รวงข้าวที่มีเมล็ดลีบ ย่อมชูรวงสู่เบื้องบน” มากเกินไปก็ได้

และเมื่อผมเองใกล้ชิดกับมายา ก็อดจะชื่นชมใน “ความเป็นมายา” ไม่ได้ ตามความพึงพอใจของปุถุชน

ใครจะว่าอย่างไร
ผมก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร... เพราะผมรู้สึกเช่นนี้
พร้อมกันนั้น ก็มั่นใจว่า มายาคือความหวังอีกคนหนึ่งในอนาคต

สำหรับงานของมายา โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานแปลเช่น “คนสวน – The Gardener” ของรพินทรนาถ ฐากุรที่โด่งดัง มายากล้าหาญจับงานนิพนธ์ของปราชญ์อินเดียผู้ยิ่งใหญ่ เขาแปลได้งดงามไม่น้อยเลย ไม่สูญเสียความงดงามของภาษาและสาระทางความคิดที่สัมผัสกับชีวิต

หรือ “แพลทเทอโร – Platero and I ” ของ ฮวน รามอน จีมิเนซ กวีชาวสเปนนักเขียนรางวัลโนเบลในปี 1956 มายากล้าหาญอีกตามเคย เขาทำงานได้ดีไม่น้อยเช่นกัน แม้จะไม่ครบทั้งหมด งานแปลชิ้นนี้ มีความสมถะและมีความเป็นธรรมชาติ จนได้ความรู้สึกว่าถ้าใจไม่สงัดหรือใจไม่เป็นเอกภาพกับธรรมชาติแล้ว ก็ให้รอไว้ก่อนจนกว่าจะพร้อม... แล้วค่อยอ่าน “แพลทเทอโร”

รวมทั้งงาน “เมตามอร์โฟสิส- Metamorphosis” ของ ฟรานซ์ คาฟก้า นักเขียนยักษ์ใหญ่ชาวเยอรมันและงานแปลอีกหลายเล่มของเขา

งานแปลของมายาล้วนแสดงความกล้าหาญที่จะเลือกบทประพันธ์ของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของโลก แสดงความตั้งใจที่จะเลือกเสนอผลงานที่สมบูรณ์ด้วยคุณค่าไม่ใช่งาน “เบสท์ เซลเลอร์” เพียงชั่ววูบ แต่ได้เงินคุ้มค่า (แปล)

สำหรับงานแปลแล้ว ผมไม่เชื่อมั่นเพียงผู้แปลที่มีความสามารถทางภาษาเท่านั้น แต่ผมจะเชื่อมั่นในผู้แปลที่มีความสามารถทางภาษา มีความสามารถทางวรรณกรรมและมีรสนิยมทางวรรณกรรมด้วย

“มายา” จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่
ท่านและกาลเวลาจะเป็นผู้พิสูจน์
สำหรับงานเขียนของมายา รวมเรื่องสั้นและความเรียงชุดนี้ได้ท้าทายให้ท่านพิสูจน์คุณภาพหลายแง่หลายมุม มีทั้งงานที่เคยตีพิมพ์แล้วและยังไม่ตีพิมพ์ มีทั้งงานที่ได้รับรางวัลและไม่ได้รับรางวัล

ในความหลากหลายนั้น งานเขียนของมายามีธรรมชาติที่โดดเด่นอยู่อย่างหนึ่งคือ... การบรรยายความคิดที่ซับซ้อนเก็บกดอยู่ภายใต้อารมณ์และความจริงใจ

เช่น “ชีวิตและความหิวโหยที่เขาเคยมี” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นโครงเรื่องที่ใกล้ตัว ช่วงเวลาดำเนินเรื่องสั้นๆ แต่บรรยายได้หลายสิบหน้า เป็นการบรรยายความรู้สึกดิบๆ เหมือนภาพเขียนสีดิบๆ ที่ดูจริงใจ

“ทุกข์ กังวล และรำพึงรำพันของความตาย” มายาดึงเอาความตายมาบรรยายเรียกร้องอย่างประชดประชัน ด้วยเจตนาที่ต่อต้านความตายและต่อต้านสงคราม

“ยามพราก” มายาบรรยายถึงความรักและการจากพราก สอดประสานกับดอกไม้ใบหญ้า ดวงดาว ท้องฟ้า ได้กินใจ และก็หนีไม่พ้นความเจ็บปวดที่สะท้อนมิอะไรหลายอย่างเข้าไว้

“ทุ่งร้าง” เป็นภาพจากท้องทุ่งที่บรรยายได้เห็นภาพและกลิ่นไอ เขาจับ “ทราย – เจ้าวัวง่อย” มาเป็นตัวเอกได้อย่างเห็นเนื้อเห็นหนัง ทำให้นึกถึงบรรทัด... “คนกับควายความหมายมันลึกล้ำ” ของวงคาราวาน... “ชายชราบอกตัวเองว่า วันนี้จะยังไม่นวดข้าวก่อน ทรายอยู่กับแกมานานเหลือเกิน แกรู้สึกราวกับว่า ความตายของทราย เป็นความตายของลูกหลานหรือญาติมิตรของแก... อย่างไรก็ดีร่างของทรายก็ถูกชำแหละ และเนื้อก็ถูกแจกจ่ายไปยังกระท่อมข้างเคียง โดยที่สองตายายไม่ได้แตะต้องเลย เวลานี้ร่างของทรายเหลือเพียงกะโหลกเท่านั้นที่ยังตกเป็นสมบัติของสองตายาย”

และอีกหลายต่อหลายเรื่องที่ท่านต้องอ่าน มิใช่อ่านเพียงเพราะมันคือเรื่องสั้นหรือ บทละคร แต่เพราะมันคือผลงานของ “มายา” ที่ควรได้รับการศึกษาและติดตาม... แล้ววันหนึ่งท่านจะมีคำตอบให้ตัวท่านเอง

วิรุณ ตั้งเจริญ
20 สิงหาคม 2527
(3 วันก่อนเดินทางไกล)
ภาควิชาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

......................................................................

หมายเหตุ : ขอบคุณ คุณโดม วุฒิชัย สำหรับภาพประกอบ (หายาก) ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

แดนอรัญ แสงทอง ปีศาจผู้ชัดถ้อยชัดคำ


เงาสีขาว

บทความวิจารณ์แนะนำ โดย bookgarden 

http://www.blogazine.in.th/blogs/bookgarden/post/1549



ปกติฉันไม่นอนดึกหากไม่จำเป็น และหากจำเป็นก็เนื่องมาจากหนังสือบางเล่มที่อ่านค้างอยู่ 

มันเป็นเวรกรรมอย่างหนึ่งที่ดุนหลังฉันให้หยิบ เงาสีขาว ขึ้นมาอ่าน เวรกรรมแท้ ๆ เชียว เราไม่น่าพบกันอีกเลย คุณแดนอรัญ แสงทอง ฉันควรรู้จักเขาจาก เรื่องสั้นขนาดยาวนาม อสรพิษ และ นวนิยายสุดโรแมนติกในนามของ เจ้าการะเกด เท่านั้น แต่กับเงาสีขาว มันทำให้ซาบซึ้งว่า กระบือย่อมเป็นกระบืออยู่วันยังค่ำ (เขาชอบประโยคนี้นะ เพราะมันปรากฏอยู่ในหนังสือของเขาตั้งหลายครั้ง) ต่อให้กระบือตัวนั้นจะท่องสูตรคูณแม่ 137 ได้แม่นยำปานใดก็ตาม

หกทุ่มตรงเผงนั่นเองที่ฉันปิดเงาสีขาววางไว้บนโต๊ะ วางอย่างที่หนังสือเล่มหนากว่าแปดร้อยหน้าควรจะถูกวาง วางอย่างไม่อยากตอแยกับมันอีก 

อันที่จริงฉันนึกอยากขอโทษมันอยู่หรอกนะ โทษฐานที่เคยเขวี้ยงมันกระเด็นกระดอนอย่างสะใจไปสองครั้งเมื่อตอนที่ยังอ่านมันไม่จบ อยากขอโทษในฐานที่เคยเหยียบมันทั้งอย่างกล้า ๆ กลัว ๆ และเหยียบมันด้วยเต็มแรง บางทีอาจถึงขั้นกระทืบด้วยหลายครั้งเมื่อที่ฉันยังอ่านมันไม่จบเล่มเหมือนอย่างในคืนนี้

มาคิดอีกที ก็สาสมแล้วที่ฉันไม่เอ่ยปากขอโทษมัน ทั้งที่ตามมารยาทฉันควรทำอย่างยิ่ง ที่หมิ่นหยามมันได้เพียงนั้น เพราะชั่วชีวิตฉันไม่เคยกระทำการอันป่าเถื่อน ไร้อารยธรรมกับหนังสือเล่มใดมาก่อน อย่างร้ายสุดก็แค่ฉีกมันเป็นเศษกระดาษ อย่างร้ายกว่านิดก็จัดการฉีกและเผามันทิ้งซะ แต่ฉันไม่เคยเขวี้ยงมันเลย และไม่เคยเหยียบมันจนเต็มฝ่าเท้าเหมือนอย่างที่ทำกับเงาสีขาว 

มาคิดอีกทีก็สาสมแล้วล่ะ เพราะมันเป็นหนังสือที่ผ่านการพิสูจน์อักษรอย่างประมาท และแทนที่จะระบุจังหวัดอันเป็นชื่อสถานที่ของเหตุการณ์ในเรื่องอย่างที่มันสมควรจะเป็นอย่างท้าทาย มันกลับถมดอกจันเรียงกันไว้ห้าดอก ซึ่งเป็นการกระทำที่ “ซิ่ง” ชะมัดเลย (ไม่รู้อะไรทำให้ฉันนึกถึงคำนี้ขึ้นมา) 

เงาสีขาว เป็นนวนิยายที่มีสมัญญานามในทางโอหังอยู่เยอะ ทั้งชื่นชมบูชา ทั้งวิพากษ์สาดเสียเทเสีย 

ถ้าจะชื่นชมบูชากันอย่างสมเหตุสมผล ฉันเห็นว่าเราควรพูดถึงเรื่องของศิลปะในแง่ที่เป็นสากลเสียทีหนึ่ง และพูดกันอย่างใจกว้างที่สุดด้วย แต่หากมันจะถูกดูหมิ่นประณามหยามเหยียดแล้วล่ะก็ เป็นเพราะเรื่องราวในตัวมันนั่นแหละ 

อย่างที่เคยเตือนว่า มันไม่เหมาะสำหรับผู้ที่เส้นศีลธรรมเปราะบาง ถ้าจะดัดจริตหน่อยฉันอาจพูดว่า ช่างเลวทรามต่ำช้าอะไรเช่นนี้ ไอ้บ้ากาม ไอ้สารเลวสุดขั้ว เลวมาแต่ชาติปางก่อน หรืออะไรทำนองนั้น ไม่ผิดเลย เพราะมันเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ซึ่งเราผู้อ่านก็มีอำนาจที่จะวางมันลงกลางคัน ไม่ทนอ่านจนจบแปดร้อยกว่าหน้านั่นหรอก ไม่เช่นนั้นอาจใช้วิธีเดียวกับฉันคือ กระทืบมันทิ้งเสียเลย แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ฉันเปลี่ยนใจกลับมาอ่านมันต่อจนจบคือ วิธีการเขียนของแดนอรัญ ภาษาของเขา และทัศนะที่มีต่อโลก

หาก เงาสีขาว เป็นงานศิลปะ มันก็เป็นงานศิลปะประเภทที่ต้อนให้ผู้เสพต้องจนมุมในสุนทรียรส ดังนั้นเราจะรู้สึกเหมือนถูกอัดยัดทะนานด้วยทัศนะคติเชิงปฏิปักษ์ต่อหลักการทั้งมวล ด้วยพฤติกรรมแบบแอนตี้ฮีโร่ของตัวละคร (ฉัน) สิ่งเดียวที่ประคองอรรถรสของเรื่องราวอันยาวเหยียดล้นหลามคือภาษา เครื่องมืออันแสนวิเศษ แล้วนี่ฉันตกกระไดลัทธิศิลปะเพื่อศิลปะเข้าให้แล้ว 

เราควรกล่าวถึงข้อดีงามของเงาสีขาวได้แล้วล่ะ ไม่ว่าฉันจะชิงชังมันปานใด แต่มันก็มีข้อดีงามอยู่ในตัว ฉันจะขอแยกเป็น 2 ด้าน แรกเลยคือเรื่องของภาษาที่แดนอรัญใช้ในการประพันธ์ ส่วนข้อ 2 เป็นทัศนะเชิงสุนทรียภาพ ซึ่งขอใช้หลักการว่าด้วยความน่าเกลียด ใช้ความน่าเกลียดมาบรรยายคุณลักษณะของสุนทรียภาพ ซึ่งไม่ใช่เป็นในฐานะคู่ปฏิปักษ์ แต่เป็นการระเหิดทางอารมณ์ ประมาณว่าเมื่อความน่าเกลียดถูกทำให้สูงส่งขึ้นเป็นสุนทรียภาพ เป็นปฏิกิริยาทางศิลปะ ซึ่งหัวข้อที่ 2 นี้ ขอยกไปเป็นเอกเทศในตอนหน้าดีกว่า 

เอาล่ะ มาดูเสียทีว่า ภาษาวรรณศิลป์ของแดนอรัญ แสงทอง เป็นอย่างไรบ้าง (อา..เขียนถึงคุณความดีของเงาสีขาวแล้วฉันยังอดคันในหัวใจไม่ได้) 

แดนอรัญเขียนเงาสีขาวอย่างมุ่งหวังเต็มเปี่ยม เขาพยายามเพื่อจะเข้าไปให้ถึง ทะลวงเข้าไปในห้วงลึกล้ำของสภาวะอารมณ์ของมนุษย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่หยาบช้าที่สุด เขาหยาบช้า โฉดยิ่งกว่า ดอสโตเยฟสกี้ เสียอีก โชคดีที่ฉันไม่ได้ทำความรู้จักกับวรรณกรรมแนวนี้มากมายนัก จินตนาการของฉันจึงสะดุดลงที่ ดอสโตเยฟสกี้ แดนอรัญเขียนเงาสีขาวด้วยท่าทีราวกับกำลังควักเอาก้นบึ้งหัวใจมนุษย์ออกมาสำแดงต่อหน้าเหล่ามนุษย์ด้วยกันเอง ให้ประจักษ์กันไปเลยว่า แท้จริงแล้ว หัวใจของเรานั้นมีสีแดงสดเพียงไร มีกลิ่นคาวยิ่งกว่าคาวเลือดสัตว์ใดในโลก อ่อนนุ่มหยุ่นเหลวเพียงไรในอุ้งมือของผู้ที่คว้ามันขึ้นมาพิจารณา โดยเขาใช้ภาษาเป็นตัวขับเคลื่อน และภาษาก็มีวิธีการแสดงออกที่จำเพาะ

รูปประโยคที่ใช้ เป็นประโยคความเดียว บางทีเป็นวลี แต่เขานำมาเรียงต่อกันเพื่อพอกพูนความซับซ้อนของความเข้าไป เพื่อยืดเยื้ออารมณ์เอาไว้ เพื่อดึงดูดเราให้ตามดมกลิ่นความบัดซบนั่นต่อไปราวกับทาสที่ไม่ยอมเป็นอิสระเสียที ทีละนิด ทีละนิด ของประโยคเหมือนลมหายใจชั่วขณะ ที่สืบเนื่องเป็นชีวิต เพื่อสอดคล้องกับเอกภาพของเรื่อง เป็นการเขียนถึงเหตุการณ์ที่ซุกซ่อนอยู่ในความทรงจำ ในบาดแผลของชีวิต ในความตาย ในอดีต ในอนาคต ในความฝัน ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป มาจัดเรียงเสียใหม่ให้บรรลุถึงเจตนารมณ์ของเขา เป็นกระบวนท่าของภาษาที่เร้าอารมณ์อย่างร้ายกาจ เป็นการแสดงให้เห็นว่า นักเขียนใช้ภาษาเป็นเครื่องมือแสดงทัศนะของเขาอย่างแท้จริง

และเขามักมีประโยคเด็ด ๆ ที่กระตุกอารมณ์เราตลอดเวลา บ่อยครั้งมันดูถ่อยระยำ บ่อยครั้งก็โคตรจะ โรแมนติก อ่อนหวานปานบทกวี แต่ขณะเดียวกันก็น่าขยะแขยง บางครั้งก็น่าใช้เท้าผลักกระเด็นเพราะมันช่างแดกดันผิดมนุษย์ บ่อยครั้งมันน่าหมั่นไส้จนคันในหัวยิก ๆ ฉันจะยกตัวอย่างประโยคที่แสนสามัญ ไร้พิษสงมาให้อ่านก่อน เพราะเพื่อจะกล่าวถึงความไม่ธรรมดา เราควรกล่าวถึงความธรรมดาก่อน

มันเป็นเพียงประโยคที่ต้องการกระตุ้นผู้อ่านอย่างตื้น ๆ เขาเขียนไว้ในหน้า 80

ฉันไม่อยากมีความสุขมากนัก มีความสุข ๆ ทีไร แล้วอยากจะฆ่าตัวตาย

หากเราจะกล่าวว่าภาษาของเขาบาดลึกอย่างไม่บันยะบันยังแล้วล่ะก็ ฉันประเมินเอาเองว่า การที่นักเขียนสักคนเลือกใช้ภาษาเฉพาะในแบบของเขานั้น นอกจากเพื่อสนองเจตนารมณ์ส่วนบุคคลแล้ว ยังมีเหตุผลที่มาจากบรรยากาศรอบตัวด้วย ยกตัวอย่าง หากบรรยากาศทางวรรณกรรมในยุคของเขานิยมใช้ถ้อยคำสูงส่งอย่างที่เขารู้สึกว่ามันฉาบฉวย เขาก็จะมุทะลุให้ภาษาของตัวเองเป็นอีกอย่างในทางตรงกันข้าม ถือเป็นปฏิกิริยาแบบคู่ปฏิปักษ์อีกอย่างหนึ่ง ดังนั้นแล้ว เรื่องของภาษาจึงไม่ใช่เรื่องเชิงปัจเจกแต่อย่างใด เพราะภาษาก็มีสังคมของมันอยู่ ดังนั้นภาษาจึงพัฒนาไปเรื่อย ๆ ตามวิถีทางของสังคม 

ในเงาสีขาวนี้ก็เช่นกัน 

วิธีการเขียนที่ถือกำเนิดจากความด้านชาของมนุษย์คือการสร้างให้ทุกสิ่งมีชีวิต คือ การมอบชีวิตให้ทุกสิ่งที่ไม่เคยได้ลิ้มรสชาติแห่งชีวิต เราเรียกว่า บุคลาธิษฐาน เพื่อดึงดูดเอาอารมณ์ของผู้อ่านออกมาร่วมกับตัวละครให้ได้มากที่สุด อย่างที่แดนอรัญได้มอบชีวิตให้กับ “ความตาย” นั่นไงล่ะ 

ตอนที่ 2 ความตายมาดูละคร 

เขาสมมุติเกมหนึ่งขึ้นมาว่า ตัวแกกำลังจะตายในบ้านร้างหลังนี้ และเมื่อความตายมาเยือน แกจะสัมภาษณ์มันสักหน่อย (อันนี้เป็นการแดกดันด้วยเลือดเลยทีเดียว เพราะเรามักคุ้นเคยกับคำว่า ผู้มาเยือน เมื่อความตายมาเยือน หรืออะไรก็แล้วแต่ แดนอรัญก็เลยสวาปามนักเขียนที่นิยมใช้คำอย่างมักง่ายไปเสีย) หน้า 123 เขาเขียนไว้ว่า

และที่มันสนใจมากที่สุดก็คือ การพาแกเดินทางไปสู่ดินแดนของมัน แกในฐานะผู้ต้องหา มันในฐานะผู้ทำหน้าที่ควบคุมผู้ต้องหา มันเท่ มันเป็นพระเอก แกไม่เท่ แกเป็นแต่เพียงตัวประกอบกะเลวกะราด อามันนั่งอยู่นั่นแน่ะ ในบรรยากาศเยือกเย็นรายรอบตัว ยิ่งดูก็ยิ่งเหมือนอีแร้งแก่ ๆ ไม่มีผิด เมื่อแกถามมันว่า 

ได้สูจิบัตรหรือยัง มันเฉย ดังนั้น ในระหว่างการแสดง แกจะด่าแม่มันบ้างก็ได้ หงายส้นเท้าให้มันบ้างก็ได้ ... แกจะเชือดเฉือนมันเล่นบ้างก็ได้ด้วยคำถามทำนองว่า ตัวมันนั้นเป็นตัวผู้หรือตัวเมียหรือกระเทย (ท้ายประโยคควรจะใส่คำว่า ขอรับ ด้วยหรือเปล่า) และไหนลองถามมันซิถึงสถานภาพทางการสมรสของมันอาชีพของมันรายได้แต่ละเดือนของมัน ฯลฯ 

ใครเคยอ่าน เงาสีขาว อาจรู้สึกต่างจากฉันบ้างไปตามสัดส่วนรสนิยม แต่เชื่อแน่ว่า เราอาจรู้สึกไม่ต่างกันตรงที่ แดนอรัญเขียนเงาสีขาวขึ้นราวกับเขากำลัง “สุมสุนทรียภาพ” เพื่อให้มันสำแดงตัวตนออกมาชัดเจนที่สุดเท่าที่มนุษย์จะทำได้ เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องของภาษาอันถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการประพันธ์เท่านั้น หากแต่เป็นความพรั่งพร้อมในแง่ของศิลปะ ซึ่งไม่ใช่ติดอยู่กับแง่ของเรื่องจริงหรือเรื่องแต่ง แม้นว่าเขาจะใช้วิธีการเล่าผ่านกระแสสำนึกของตัวละคร ใช้สรรพนามบุรุษที่ 1 “ฉัน” ทำราวกับว่ากำลังเขียนอัตชีวประวัติของตัวเองอย่างนั้นแหละ และในบางบทเขาใช้สรรพนามบุรุษที่ 2 “แก” ก็ตามที

การเล่าผ่านกระแสสำนึกนี้มีหลายวิธี เช่น กระแสสำนึกที่ถูกกระตุ้นเมื่อได้เห็นวัตถุในความทรงจำ หรือเล่าโดยไม่ได้ผ่านวัตถุใด ๆ หรือปล่อยให้รินออกมาเป็นสายน้ำ เมื่อนึกถึงตัวเองแล้วย่อมไปเกี่ยวพันกับชีวิตอื่น เหตุการณ์ที่จมอยู่ก็ลอยขึ้นมา ลอยขึ้นมา โดยปกติมันจะมีจังหวะจะโคนของมันเอง แต่สำหรับ แดนอรัญ เขาเล่ามันออกมาโดยที่ไร้ตัวกระตุ้นในเชิงรูปธรรม ราวกับคำสารภาพของปีศาจซึ่งแม้นจะสารภาพผิดมันก็ยังอดร่ายมนตราไม่ได้ แม้นในวาระสุดท้ายของมันก็ตาม เด็ดขาดเลยไหมล่ะ

ท่านผู้อ่านที่นับถือทุกท่าน หากอ่านมาถึงตอนนี้ และยิ่งหากใครได้อ่าน เงาสีขาว เสียแล้ว อาจกำลังหัวเราะหึ ๆ และอาจจับรู้สึกได้ว่า ฉันกำลังตกเป็นทาสผู้ซื่อสัตย์ของ เงาสีขาว เสียแล้ว ก็จะอะไรล่ะ ถ้าไม่ใช่ทาสทางภาษา ดูซี ภาษาของฉัน ล้วนแล้วแต่หยิบยืมมาจากเขาแทบทั้งนั้น ไม่เฉพาะคำหยาบ คำสบถ แดกดันเท่านั้น (คำสบถหยาบคายเป็นไวรัสชนิดที่ไม่ทำให้คนตายอย่างเฉียบพลัน แต่มันจะทำให้เรากลับไปเป็นสุภาพชนดังเดิมไม่ได้ บางทีก็จำแลงเป็นยาเสพติดที่เสพวันละนิดติดไปชั่วลูกชั่วหลาน) 

หากแต่เป็นสำนวนโวหารอันคมคาย ให้ภาพพจน์ชัดเจนโจ่งแจ้งเสียจนความชั่วช้าสามานย์ทั้งหลายแหล่ ความรักลุ่มหลงทั้งหลายแหล่กำลังดิ้นเร่าอยู่ตรงหน้า กระทั่งเราผู้อ่านต้องเบือนหน้าหนี ขอยกตัวอย่างสักนิดหน่อย

ฉันผู้เป็นกวีชั้นสวะผู้มีความจริงใจต่อตนเองสูงและเป็นผู้เชี่ยวชาญโยนีกสิณ 

หรือในตอนที่ “แก” เพิ่งพรากพรหมจรรย์ของเด็กสาวข้างบ้าน ที่พี่ชายของหล่อนเคยเป็นผู้อุปการะแกในช่วงหนึ่งที่แกเรียนมัธยม ใช่..เขามีบุญคุณกับแก แต่สิ่งที่แกกระทำลงไปนั้นมิใช่เพราะความรักฉันท์หนุ่มสาว หากแต่เป็นเพียงความหื่นระห่ำในมังสาเท่านั้น แกไม่ได้รักนาตยา ผู้หญิงคนนั้น และเมื่อแกได้สังวาสกับเธอแล้ว (แม้เขาจะบรรยายฉากสังวาสอย่างงดงามเพียงไรก็ตาม) แกเขียนไว้ในหน้า 210 ว่า

แกเป็นหนอนที่เจาะไชผลไม้หวงห้ามได้สำเร็จแล้วเป็นแมลงที่ขยี้ดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์ได้สำเร็จแล้ว แกยังแทบจะไม่รู้เสียด้วยซ้ำไปว่านับจากคืนนั้นเองหล่อนตกอยู่ในอำนาจของแกอย่างสิ้นเชิง และเมื่อแกได้รับรู้ถึงข้อเท็จจริงนี้เข้าในเวลาต่อมาแกก็แทบไม่อยากจะเชื่อว่าจากเด็กสาวผู้ลึกลับและวางตัวสูงด้วยความยะโสประดุจนกยูง หล่อนกลับกลายเป็นสุนัขที่ซื่อสัตย์ไปได้อย่างไร 

ฉันยกตัวอย่างมาน้อยนิดเมื่อเทียบกับความมหาศาลของมัน เพราะตระหนักดีว่า หนังสือทุกเล่มมีราคาขายแปะอยู่ไม่ส่วนใดก็ส่วนหนึ่ง แต่หากมันจะมีราคาค่างวดหนักหนา มันจะทำให้เรารู้สึกราวกับว่าราคาของมันดันมาแปะอยู่บนหน้าผากของเรา ฉะนั้นสำนักพิมพ์ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่นักบุญใจเพชร และหนังสือไม่ใช่เป็นการพิมพ์เพื่อเป็นวิทยาทาน ฉันควรรู้จักมารยาทเสียบ้าง หากว่าจะนำเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของหนังสือในนามของสินค้ามาแผ่หลาในเนื้อที่ต่าง ๆ 

ทิ้งท้ายบทความตอนนี้ไว้ด้วยคำจั่วหัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่า

แดนอรัญ เป็นนักเขียนที่โดยใช้ภาพของความชั่วช้าสามานย์บรรดามีเพื่อถ่ายทอดและบรรยายแง่มุมของศีลธรรมออกมาอย่างกล้าหาญ 

และหากจะกล่าวว่า เงาสีขาว เป็นการฆาตกรรมความดีงามอย่างเลือดเย็นที่สุด

คงไม่ผิด และฉันก็พอขอหยิบยืมหลักการของนักคิดมาอ้างอิงให้เป็นเหตุเป็นผลได้ ให้ตายเถอะ... มันมาอีกแล้ว ไอ้เจ้าเงาสีขาว ฉันสัญญาว่าจะไม่อ่านมันซ้ำเป็นรอบที่สอง มันทำราวกับขู่ตะคอกฉันให้พูดจาภาษาเดียวกับมันอย่างนั้นแหละ 

อา..

แดนอรัญ แสงทอง ปีศาจร้ายผู้ฟุ่มเฟือยโวหาร ผู้ประณีตกับความสามานย์ บัดซบ นักเขียนผู้สามารถเป็นเอกบรมเอกอุโฆษที่ชำแหละความนับถือตัวเองของผู้อ่านออกมาเป็นกลิ่นสุดโสมม

เขาจงใจสุดพลังความสามารถอีกเช่นกันที่จะสร้างเรื่องราวอันอัปลักษณ์เพื่อเทิดทูนบูชาความดีงามที่พวกเราเคร่งครัด เขาเป็นมนุษย์ที่ล่อลวงให้ศตวรรษที่ 20 ต้องละล้าละลังและขมขื่น ไม่แน่ว่า หากพระเยซูหรือพระพุทธเจ้าต้องลอบถอนหายใจเมื่อได้อ่าน เงาสีขาว เล่มนี้

หน้า 606 เขาเขียนไว้ว่า ฉันเป็นพจนานุกรมแห่งคำสบถ ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้นแหละ 

ถ้อยคำใหญ่โตโก้หรูบรรดามีถูกนำมาใช้ให้กระจอกงอกง่อยด้วยอารมณ์ชั่ววูบของเขาจนแทบสิ้นเนื้อประดาตัว แต่ฉันไม่เป็นพวกนิยมคำสบถจึงรู้สึกได้ถึงอาการของคนที่เรียกรู้มามากแต่ใช้ความรู้ที่มีอย่างฟุ่มเฟื่อยเรื่อยเจื้อย 


หนำซ้ำตอนจบเรื่อง เขาก็ทำราวกับเป็นปีศาจวิปริตตนหนึ่ง ที่ถูกศีลธรรมซึ่งซ่อนอยู่ในตัวมันเล่นงานอย่างหนักจนกระอักโลหิตปางตาย แล้วยังมีหน้าร้องหาความตายราวกับนักบุญผู้ไขว่คว้านิพพานอย่างสิ้นหวัง 


นี่คือบางส่วนของ เงาสีขาว ในแง่มุมที่เกือบจะเรียกได้ว่ากระจัดกระจาย และหากจะกล่าวถึงทัศนะเชิงสุนทรียภาพซึ่งจะเขียนเป็นตอนจบนั้น ไม่ใช่จะเขียนขึ้นเพื่อยกย่องสรรเสริญนักเขียนแต่อย่างใด แต่มันเป็นเพราะฉันรู้สึกเช่นนั้นอย่างแท้จริง แม้ในขณะที่ความงามกำลังระเหยกลายเป็นไอ ความถ่อยต่ำทรามก็ยังคุกรุ่นอยู่ในใจฉันอย่างหักห้ามไม่ได้เลย.


.............................................................................................................
การระเหิดขึ้นของเงาสีขาว
26 ธันวาคม, 2008 - 00:00 | โดย bookgarden

น้ำเน่าในคลองต่อให้เน่าเหม็นปานใดย่อมระเหยกลายเป็นไออยู่นั่นเอง แต่การระเหิด ไม่ได้เกิดขึ้นเหมือนกับการระเหย 
 
ระเหย คือ การกลายเป็นไอ จากสถานภาพของของเหลวเปลี่ยนสถานภาพกลายเป็นก๊าซ

ระเหิด คือ การเปลี่ยนสถานภาพเป็นก๊าซโดยตรงจากของแข็งเป็นก๊าซ โดยไม่ต้องพักเปลี่ยนเป็นสถานภาพของเหลวก่อน ต่างจากการระเหย แต่เหมือนตรงที่ทั้งสองกระบวนการมีปลายทางอยู่ที่สถานภาพของก๊าซ

สอดคล้องกับความน่าเกลียดที่ระเหิดกลายเป็นไอแห่งความงามได้

ฉันเป็นคนประเภทงมงายในวรรณกรรมอย่างฉุดไม่อยู่ ไร้สติ และคลุ้มคลั่ง อย่างที่บอก ถ้าฉันไม่ได้อ่านอสรพิษ หรือ เจ้าการะเกด ฉันมีอันต้องสาปส่ง แดนอรัญ แสงทอง ไปจากรสนิยมของตัวเองเป็นแน่ 

แต่อย่างน้อยฉันต้องสำนึกในบุญคุณของ เงาสีขาว ของ แดนอรัญ แสงสอง เนื่องจากทำให้ฉันหวนนึกถึง เจมส์ จอยซ์ ในคนสำเริงคืนสำราญ (แม้นสำนวนแปลจะประดักประเดิดไปบ้างก็เถอะ) นักเขียนผู้สร้างศตวรรษแห่งวรรณคดีขึ้นใหม่ด้วยเสียงหัวเราะอย่างแสนสุภาพ มันทำให้ฉันรักเจมส์ จอยซ์ และจงใจปวารณาตัวปฏิเสธงานศิลปะที่พยายามจะสร้างนิยามของสุนทรียภาพด้วยมุมมอง ด้วยทัศนะคติเชิงปฏิปักษ์ ด้วยมุมมองที่พยายามจะสำแดงความอุจาด ความโสมม เล่นแร่แปรธาตุให้ลุกโพลงขึ้นด้วยแสงสีแห่งสุนทรียภาพ ฉันจะไม่อ่านหนังสือแนวนี้อีก จนกว่าความคิดของฉันจะเปลี่ยนไปจากตอนนี้ และนอกเสียจากความอ่อนแอในฐานะผู้อ่านวรรณกรรมจะพัฒนาขึ้นได้

แม้นว่าการปฏิเสธ เงาสีขาว เป็นเพียงทัศนะคติส่วนบุคคล 

หากแต่ในมุมมองของสุนทรียศาสตร์นั้นได้คำอธิบายถึงความงามในความน่าเกลียดได้อย่างซับซ้อนอลังการ ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบระหว่างความน่าเกลียดกับความไร้ประโยชน์ ความงามและความน่าเกลียดเป็นคุณค่าเชิงบวกหรือเชิงลบ และอีกหลายข้อเปรียบเทียบซึ่งผ่านการถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างละเอียดลออมาเนิ่นนานแล้ว โดยเฉพาะเมื่อยิ่งนำความงาม และความน่าเกลียด ไปพ่วงเข้ากับศีลธรรม มันยิ่งยุ่งยาก ทฤษฎีตะวันตกเหล่านี้มีประวัติศาสตร์ของมัน และควรศึกษาโดยไม่ด่วนสรุป แต่ฉันจะเลือกหยิบแง่มุมจำเพาะเพื่ออธิบายว่า ความน่าเกลียดในเงาสีขาวจะเหิดไปเป็นความงามได้อย่างไร 

แม้ตระหนักว่า ความงามเป็นเรื่องของความพึงพอใจและความน่าเกลียดเป็นเรื่องของความเจ็บปวด ซึ่งความเจ็บปวดของมนุษย์มักจะเชื่อมต่อเข้ากับต่อมศีลธรรมอยู่เสมอ โดยเฉพาะความเจ็บปวดที่แสดงออกในนวนิยาย เงาสีขาว ของ แดนอรัญ แสงทอง เล่มนี้ และความเข้มข้นของศีลธรรมจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับผู้อ่าน ยิ่งผู้อ่านยึดถือศีลธรรมมากเท่าไหร่ ปรากฏของสุนทรียภาพอาจยิ่งลางเลือน 

เหตุใดฉันจึงกล่าวว่า เงาสีขาว เป็นการแสดงลักษณาการของความน่าเกลียด 

ใครที่อ่านเงาสีขาวคงตอบได้ เนื่องจากมันเป็นเรื่องราวโศกนาฏกรรมของชายผู้หนึ่ง ชายโฉดชั่วที่ถือสถานภาพผู้ทำลาย เขาผู้พรากสาวพรหมจรรย์ไปจากความงดงามหอมหวานของชีวิต เคยบังคับให้เธอไปทำแท้งจนป่วยเรื้อรัง สุดท้ายเธอก็ตายลง ไม่เท่านั้นเขายังอกตัญญู เขาหื่นกระหายจะสังวาสกับสตรีเพศ ระห่ำกับชีวิตของตนเองและผู้อื่น เขาเกือบได้ชื่อว่าเป็นอาชญากร เป็นอาชญากรผู้สำนึกผิดและเรียกหาความตาย ขณะเดียวกันเขาได้สารภาพผิดด้วยสำนึกหมายจะลงทัณฑ์ตัวเอง และความเจ็บปวดจากการสำนึกผิดเหล่านั้นกำลังรุมเร้าจนกระทั่งเขาไม่อาจทนทานกับลมหายใจแห่งชีวิตต่อไปได้ 

พฤติกรรมไม่เกรงกลัวบาปของตัวละครในเรื่อง ถือเป็นความน่าเกลียด

การสำนึกผิดของเขาด้วยการปรารถนาความตายอย่างอนาถา ถือเป็นโศกนาฏกรรม 

ฉันจะหยิบเอาบางส่วนของ เงาสีขาว ที่มันแสดงออกถึงความเจ็บปวด ซึ่งผูกโยงอยู่กับศีลธรรม

ในตอน เพลงศพ ซึ่งเป็นตอนแรกของเรื่อง (หน้า 35) ตอนที่ “ฉัน” ได้ตัดสินใจแล้วว่าจะจบชีวิตตัวเอง

ฉันตัดสินใจแล้วกัง กังสดาล ฉันพูดกับเธอในฐานะที่ฉันเป็นคนตาย ฉันจัดงานศพของฉันเงียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่มีพิธีรีตอง ฉันตายเงียบ ๆ ง่าย ๆ ไม่มีพิธีรีตอง มีคนมาในงานศพของฉันเพียงไม่กี่คน เธอเป็นคนหนึ่งในจำนวนนั้น เป็นงานศพที่มีบรรยากาศอ้างว้าง ไม่มีพิธีกรรมทางศาสนา ฉันไม่ควรนอนกับยายขวัญ ฉันรู้ แต่ฉันอยาก ฉันรู้ว่าถ้านอนกับหล่อนแล้วฉันจะเศร้า ฟุ้งซ่าน วิตกกังวล ละอาย ละอายเพราะฉันหลอกลวงหล่อนเพราะฉันไม่ใช่ผู้ชายที่มีค่ามากพอที่หล่อนจะนอนด้วย ละอายเพราะฉันหลอกลวงหล่อน ละอายเพราะจริง ๆ แล้วฉันไม่ได้รักหล่อน แต่ทำราวกับรักหล่อน และเป็นคนดีมากพอที่หล่อนจะยอมนอนด้วยได้ 

...หน้า 37 ฉันนอนกับยายขวัญทั้งที่อิตถีเพิ่งตายไปไม่นาน เธอคงอยากรู้รายละเอียดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายของอิตถี ภูวดล ... หน้า 39 หล่อนไม่รู้เลยว่าฉันเสื่อมโทรมปานใดเน่าเฟะปานใดทุกข์ทรมานปานใดกักขฬะปานใด หล่อนคิดแต่เพียงว่าฉันเป็นคนแปลก ๆ ที่มีสุขภาพจิตดีเป็นพิเศษ โง่บัดซบ ผู้หญิงเป็นเพศที่ยิ่งใหญ่และโง่บัดซบ 

นี่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของความเจ็บปวด ยังมีสิ่งที่เขากระทำอย่างสามานย์กับนาตยา เด็กสาวที่เขาย่ำยีพรหมจรรย์ของเธอแล้วก็เบื่อหน่ายเธอ ขู่เข็ญเธอให้ไปทำแท้ง เมื่อเขาหนีจากเธอได้สำเร็จ และขณะที่เธอกำลังจะลืมเลือนความเจ็บปวดนี้ได้ เขากลับเขียนจดหมายไปหาเธอ เมื่อเธอตอบมาเล่าถึงอาการเจ็บป่วยเรื้อรังอันเกิดจากการทำแท้งคราวนั้น และนัดหมายจะไปพบเขาเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อจะตายไปอย่างสุขสงบ เขากลับปฏิเสธ หน้า 163 เขียนไว้ว่า

จดหมายฉบับท้าย ๆ ของเธอเต็มไปด้วยถ้อยคำที่หนักอึ้ง เปียกชื้นด้วยเสียงคร่ำครวญและความวิโยค เธอเขียนจดหมายมาจากบ้านเกิดของเธอ เมืองใหญ่เมืองหนึ่งของภาคใต้ ขณะที่ฉันอ่านมันอยู่ที่ห้องพักในกรุงเทพฯ เธอวิงวอนและขอร้องที่จะได้พบกับฉันเป็นครั้งสุดท้าย อีเดียท มันฟังเสแสร้งเหมือนถ้อยคำที่หล่นจากปากของนางละคร นั่นอาจเป็นเพราะว่าเธอกำลังจะตายจริง ๆ ก็ได้ ฉันอ่านมันไปสาปแช่งมันไป โกรธเกรี้ยวและหวาดแสยง และด้วยความกักขฬะอย่างสัตว์ ฉันเอาไฟจากปลายบุหรี่จี้ลงไปบนบรรทัดที่ฉันอ่านไปแล้ว ... 

หรือในตอนที่นาตยารู้ตัวว่าตั้งท้องและเขาไม่แยแส ไม่แม้จะกล้าคิดว่าเด็กในท้องเป็นสิ่งมีชีวิต หน้า 292 

นิสัยประหลาดอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นก็คือหล่อนเอาดินน้ำมันมาจากไหนก็ไม่รู้มาถือไว้ในกำมือแทบตลอดเวลาและบีบมันเล่นอยู่อย่างนั้นราวกับว่านั่นคือหัวใจของหล่อนเอง 

นี่เป็นเพียงเสี้ยวเศษของความเจ็บปวดที่เขาได้กระทำกับนาตยา ยังมีหญิงสาวคนอื่นที่เขาไม่บันยะบันยังที่จะกระทำอย่างสามานย์ เป็นเพียงเสี้ยวเดียวจริง ๆ เพราะแม้กระทั่งตอนที่นาตยาใกล้ตายเต็มที่แล้ว เขียนจดหมายบอกเขาว่า ต้องการจะใช้ชีวิตร่วมกันอีกสักครั้ง ด้วยเงินเก็บที่มากที่สุดในชีวิต เขายังอุตส่าห์คิดกับคำร้องขอของนาตยาได้ว่า (หน้า 428) 

เมื่อพ่ายแพ้หล่อนควรจะยอมรับในความพ่ายแพ้เสียแต่โดยดีสิและน่าจะมีจิตใจสูงส่งพอที่จะรู้ว่ามันเป็นการกระทำที่น่าเหยียดหยามถ้าหากว่าหล่อนจะร้องอุทธรณ์ แต่นี่หล่อนกลับติดตามมาหาแกเหมือนวิญญาณพยาบาทและพยายามจะฉุดดึงแกให้จมลงไปสู่ปลักแห่งหายนะเช่นเดียวกันหล่อนด้วย (เขาเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย และมีแฟนสาวคนใหม่แล้วล่ะตอนนั้น) เงินจำนวนมากที่สุดในชีวิตหล่อนที่เคยมี เท่าไหร่แน่ กี่พันบาท ถึงหมื่นบาทไหม ... อย่างดีที่สุดก็ไม่เกินสามเดือนหรือสี่เดือนด้วยเอ้าที่เงินของหล่อนจะหมดลง ... นี่หล่อนคิดจะให้แกไปปรนนิบัติรับใช้หล่อนในยามเจ็บไข้ได้ป่วยอย่างนั้นหรือถึงได้ถ่อสังขารขึ้นมาจนถึงกรุงเทพฯ ... หรือว่าหล่อนตามขึ้นมา “ส่งส่วย” คือต้องการให้แกนอนกับหล่นอีกเพราะยังอาลัยอาวรณ์อยู่ในรสสวาท โอ ไม่ล่ะครับ ขอบคุณมาก ไม่ คือ ผมอิ่มแล้วครับ จะให้แกนอนกับหล่อนได้อย่างไร ป่านนี้มดลูกของหล่อนไม่เน่าเฟอะหมดแล้วหรือ ... 

นี่เป็นเพียงเสี้ยวส่วนเดียวเท่านั้น ที่เป็นความน่าเกลียดอันปวดร้าวในเงาสีขาว ยังมีความน่าเกลียดที่แสดงออกอย่างดื้อด้าน รุนแรงอีกหลายอย่าง ยกตัวอย่างในหน้า 627 ที่เขาแสดงทัศนะเกี่ยวกับบาปบุญคุณโทษทั้งหลายแหล่

พวกคนมีศาสนาทั้งหลายต่างภูมิใจเหลือเกินว่าศาสนาของตนมีส่วนในการค้ำจุนโลกและนำสันติสุขมาสู่มนุษย์ ไม่จริง ที่มนุษย์ไม่กล้าทำอะไรเลว ๆ นั่นก็เพราะว่าเขากลัวกฎหมายต่างหาก ไม่ใช่เพราะมโนธรรมของเขา คุกและการยิงเป้าเป็นแส้ที่ดีสำหรับมนุษย์ มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องถูกขู่หรือกำหราบด้วยแส้และโซ่ตรวนตลอดกาล นรกเป็นแส้เด็กเล่นและเป็นโซ่ตรวนที่ใช้การไม่ได้ สวรรค์เป็นแต่เพียงขนมหวานที่พยายามเปลี่ยนสูตรบ่อย ๆ เพื่อความทันสมัย 

ฉันยืนยันว่า หากใครได้อ่าน เงาสีขาว สิ่งที่เราปฏิเสธไม่ได้คือ ความเจ็บปวดรวดร้าวแสนสาหัส จิตวิญญาณของเราเหมือนถูกล้อเล่นอย่างหยาบคาย ความศรัทธาต่อชีวิตของเราจะถูกหัวเราะเยาะด้วยริมฝีปากของคนบาป แต่คำถามก็คือ ทำไมเราจึงพึงพอใจและยกย่องสรรเสริญเรื่องราวที่บรรยายถึงความชั่วช้าสามานย์และความเจ็บปวดทุกข์ทรมานเหล่านี้

ก่อนจะหาคำตอบ เราควรมาดูกันว่า โศกนาฏกรรมในเงาสีขาว ถือกำเนิดขึ้นเพื่อจะเป็นโศกนาฏกรรมสามัญหรือเพื่อสิ่งอื่น

เรื่องโศกนาฏกรรมสามัญ (paradox of tragedy) ทั่วไปล้วนมีเจตนาจะช็อคหรือสร้างความตกอกตกใจต่ออารมณ์เท่านั้น แต่ในเงาสีขาว มันถูกกล่าวถึงเพื่อสิ่งอื่นที่อยู่สูงขึ้นไปจากอารมณ์ดังกล่าว ซึ่งทำให้โศกนาฏกรรมอันปวดร้าวนั้นลอยเหนือไปจากความปวดร้าว ความน่าเกลียดที่มีอยู่

แล้วไอ้สิ่งที่อยู่สูงขึ้นไปจากอารมณ์ช็อคหรือตกอกตกใจนั้นคืออะไร อันนี้เป็นคำถามที่ตั้งหน้าตั้งตารอคำตอบอยู่ในใจผู้อ่านเอง ซึ่งฉันถือว่ามันเป็นกระบวนการทำงานระหว่างสองขั้ว คือจิตสำนึกในด้านดีงามที่มีต่อความชั่ว มันก่อให้เกิดคำถามว่า แท้จริงแล้วเป็นความดีหรือความชั่วกันแน่ที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่กำเนิด ความชั่วถูกกระตุ้นได้โดยสัญชาติญาณ หรือถูกกระตุ้นได้โดยปราการของความดีที่สูงส่ง เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่แตกหน่อขึ้นมาจากโศกนาฏกรรมอันนี้

และเนื่องจากมันได้ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวอย่างรุนแรงต่อมวลค่าทางศีลธรรมที่ได้ปูพื้นฐานไว้ก่อนแล้วในจิตใจมนุษย์ มันก่อให้เกิดความอลหม่านถึงขั้ว ด้วยว่ามันได้พูดถึงประวัติศาสตร์แห่งศีลธรรมอย่างดื้อด้าน อย่างหมิ่นเหม่ และความเคลื่อนไหวรุนแรงนั้นทำให้เราเกิดการจำได้หมายรู้ ติดตราตรึงใจอยู่กับมัน และยังกระตุ้นความสนใจทางด้านสติปัญญาด้วยความคำถามเชิงปรัชญาเกี่ยวกับการถือกำเนิดของความดีและความชั่ว ราวกับมันได้บอกเล่าประวัติศาสตร์แห่งความปวดร้าว ความทุกข์ทรมาน และความสุข จุดนี้เองอาจกล่าวได้ว่า เงาสีขาว เป็นวรรณกรรมที่น่ายกย่องก็เพราะมันระเหิดขึ้นมาจากความน่าเกลียดเพื่อจะจรรโลงใจผู้อ่านด้วยมูลค่าเชิงปฏิปักษ์

หากเราตั้งคำถามว่า เหตุใดแดนอรัญ แสงทอง จึงเลือกวิธีจรรโลงใจด้วยความน่าเกลียด ความปวดร้าวบรรดามีในเงาสีขาวนั้น ทำไมเขาไม่เขียนถึงความดีงาม สวยงามในแบบดั้งเดิม อันแสดงถึงความพึงพอใจแบบสุขนาฏกรรม คำตอบได้ปรากฏอยู่ในเงาสีขาว ราวกับเขาได้สารภาพกับเราไว้ล่วงหน้า ราวกับเขาคาดเดาความแคลงใจของผุ้อ่านไว้ตั้งแต่ต้น มันปรากฏอยู่ในคำพูดแสดงทัศนะของตัวละคร คือ สิงโตเฒ่าอาจารย์ที่เขานับถือ ในหน้า 341 

พูดถึงไมเคิลแองเจลโลว่าเป็นคนที่ไม่ใช่โค่นต้นไม้เพื่อทำเก้าอี้เพียงตัวเดียวหรอก เพราะในความเป็นจริงแล้วเขาทำเก้าอี้ไม่ได้เลยด้วยซ้ำแม้แต่ขาสักข้างหนึ่งของมัน ทั้งหมดเท่าที่เขาทำก็คือการล่ามโซ่ศิลปะและจูงมันไปสู่กรงขังของศีลธรรม

นี่กระมังที่เราจะเรียกได้ว่า เป็นงานสร้างสรรค์ เพราะหากไม่มีความคิดต่างในสิ่งที่มีอยู่แล้ว ความเบื่อหน่าย ความกบฏในหลักการ เราคงรู้จักแต่ศิลปะในยุคคลาสสิค ไม่มีความงามอย่างอื่นอีกแล้วนอกจากสัดส่วนอันงดงาม ที่พระเจ้าประทานให้มนุษย์ และวิชาสุนทรียศาสตร์อาจมีใจความเพียงบรรทัดเดียว

.........................................................

ขอขอบคุณ คุณ bookgarden  

สำหรับบทความวิจารณ์แนะนำหนังสือเล่มนี้  http://www.blogazine.in.th/blogs/bookgarden/post/1549

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เจ้าการะเกด


บทความวิจารณ์ / แนะนำโดย เฟย์ Faylicity
http://www.faylicity.com



เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นในค่ำคืนที่หนาวเฉียบเยียบเย็นของต้นเดือนธันวาคม ปี 2510 คืนหนาวคืนนั้นของแพรกหนามแดง แฝงไปด้วยความขมขื่นของภัยพิบัติจากอุทกภัย ที่ทิ้งความเศร้าหมองสิ้นหวังให้ผู้คนที่นั่น 

ผู้เขียนได้พาคนอ่านกลับไปสู่ยุคสมัยนั้นโดยบอกเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้น เช่น สุรพล สมบัติเจริญยังโด่งดัง มิตร ชัยบัญชาเป็นพระเอกเรื่องแล้วเรื่องเล่า คนอ่านได้ทราบถึงนวนิยายที่ได้รับความนิยม นักมวยที่คนกำลังผูกใจ แต่ผู้เขียนไม่ได้เล่าความแต่อดีตเท่านั้น ยังกล่าวถึงอนาคตที่จะเกิดต่อไปจากคืนนั้น บางคนต้องระเห็จหายจากบ้านช่อง บ้างก็ตายจากไป แต่เรื่องที่จะเกิดขึ้นนี้คือเรื่องในคืนนั้น ในจังหวะเวลาอันไร้เดียงสาที่ไม่มีใครรู้ได้ถึงเหตุการณ์ภายหน้า มีแต่อดีตเท่านั้น กับผู้คนปัจจุบันที่ยังเป็นชีวิตชีวาอยู่ในโลก 

ที่แพรกหนามแดงนั้น เมื่อเสร็จจากงานการในท้องนา พวกผู้ชายก็จะมาชุมนุมกันที่ลานดินใต้ต้นมะขามใหญ่ และคุยจิปาถะ พวกเด็กๆ ตามผู้ใหญ่มาร่วมวงด้วย และพากันเล่นหัวไปตามทางของตน หลวงพ่อเทียนที่เป็นที่เคารพรักของผู้คนที่นี่มาร่วมวงด้วยเสมอ หลวงพ่ออายุเก้าสิบสามปีแล้ว หลวงพ่อเป็นพระที่หนังสือบรรยายไว้ได้น่ารักมาก ท่านเป็นพระที่ไม่สู้สำรวมนัก ออกวิ่งตามคันนาบ่อยๆ เพื่อช่วยเด็กผู้ชายเอาว่าวขึ้น และยังสอนเด็กผู้หญิงจักสานสุดแต่ฝีมือที่ตัวเองจะพอรู้มา หลวงพ่อเทียนชอบฟังรายการวิทยุ โดยเฉพาะเรื่องที่อ่านจากงานวรรณกรรมอย่าง ผู้ชนะสิบทิศ ของยาขอบ หลวงพ่อมีความสุขกับการฟังเพลงไทย เชียร์มวยไทย แต่สิ่งที่ทำให้เด็กๆ แห่งแพรกหนามแดงติดใจท่านมากก็เพราะหลวงพ่อเป็นนักเล่าเรื่องที่มหัศจรรย์นัก 
"นกยูงเป็นอัญมณีแห่งป่าโดยแท้ ถ้าหากป่าคือสรวงสวรรค์ นกยูงก็คือดารานักร้องและนักแสดงแห่งสรวงสวรรค์ ... นกยูงตัวผู้สวยกว่านกยูงตัวเมีย นกยูงตัวผู้จะฟ้องรำแพนหางบนลานดินอวดนางตัวเมีย นั่นเป็นนาฏกรรมสำหรับเทพเจ้าโดยแท้ แต่ก่อนที่จะฟ้อนรำแพนหาง นกยูงตัวผู้ก็จะทำลานดินให้โล่งเตียนเสียก่อน ใช้ลำคออันงอนงามของมันม้วนรัดต้นหญ้าสูงๆ และทึ้งถอนออก ม้วนรัดและทึ้งถอนออก เยี่ยงเดียวกับผู้เชี่ยวชาญนาฏกรรมที่ตรวจตราดูเวทีก่อนทำการแสดง และพรานก็ฆ่ามันโดยดอดเอาไม้รวกผ่าซีกไปปักไว้บนลานดินนั้น และนกยูงตัวผู้ก็เพียรพยายามอยู่นั่นแล้วที่จะทึ้งถอนไม้รวกอันนั้นให้หลุดขึ้นมาจากผืนดินให้จงได้ ใช้ลำคออันงอนงามของมันม้วนรัดและทึ้งถอนออก ม้วนรัดและทึ้งถอนออก และยังคงวิริยะอุตสาหะกระทำการเช่นนั้นอยู่แม้ว่าคอของมันจะมีบาดแผลเหวอะหวะ นาฏกรรมแห่งความรักกลับกลายเป็นนาฏกรรมแห่งความตาย" 

เด็กๆ จำเรื่องที่หลวงพ่อเทียนเล่าให้ฟังได้จนขึ้นใจ แต่ก็ยังอยากฟังอีกบ่อยๆ หลวงพ่อเล่าเรื่องที่มีความอัศจรรย์อยู่ในเรื่องเสมอ เช่นจอมขมังเวทย์ มนต์คาถา เสือสมิง ขุมสมบัติ ในคืนนี้ หลวงพ่อเริ่มต้นเล่าเรื่องต่างๆ นานาอีกครั้ง เป็นเรื่องเล่าจากอดีตสมัยที่ป่าไม้ยังอุดม สัตว์ป่ายังสมบูรณ์ และหลวงพ่อได้ย้อนกลับไปเล่าเรื่องของหลวงพ่อเมื่อยังหนุ่ม ก่อนจะบวช หลวงพ่อเมื่อเป็นฆราวาสชื่อว่าควันเทียน เมื่ออายุยี่สิบปี มีภรรยาชื่อเจ้าการะเกด หญิงสาววัยสิบเจ็ดที่อ่อนหวานช่างฝัน 

เรื่องของเจ้าการะเกดคือเรื่องความรักในวัยเยาว์ ทั้งคู่ต่างมีความฝันจะเริ่มต้นครอบครัว โดยได้หักร้างถางพงมาเป็นผืนดินทำนา แต่แล้วจุดเริ่มต้นแห่งความวิบัติก็บังเกิดขึ้น เมื่อมีเสือตัวหนึ่งลากเอาวัวไปกิน เหตุการณ์นี้กระทบใจหนุ่มควันเทียนอย่างยิ่ง เพราะแม่ของเขาก็ถูกเสือฆ่าตาย ซึ่งเขาได้เป็นพยานเห็นโศกนาฏกรรมนี้ด้วยตนเอง 

หนังสือเล่มนี้อ่านสนุก แต่รสอย่างแรกที่ทำให้อ่านได้จับจิตจับใจอย่างเพลิดเพลินนั้น อยู่ที่ภาษาที่งามงดน่าประทับใจอย่างยิ่ง ภาษาของแดนอรัญสวยอย่างลึกซึ้งนัก การบรรยายบรรยากาศของป่า ของแพรกหนามแดง ของแสงหิ่งห้อยระยิบ ของลมหนาวบาดผิว ของท้องฟ้าหลากสีต่างเวลา ผู้เขียนทำได้หมดจดสวยงาม หนังสือเล่มนี้ทำให้ผู้อ่านต้องตกเป็นเชลยทางตัวอักษรอย่างสิ้นเชิง เพราะภาษาถ้อยความและเนื้อเรื่องดึงดูดใจอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ 

นอกจากความจับใจในภาษาแล้ว เรื่องในนี้ยังมีทั้งอารมณ์ขันที่น่ารัก มีอารมณ์ตื่นเต้นใคร่รู้ และมีความเศร้าโศกเหลือแสน มีทั้งความรักและชัง เศร้าและสุข ใครที่ชอบเรื่องผจญภัยตามแบบล่องไพร หรือเพชรพระอุมา ก็น่าจะอ่านได้สนุก เพราะในเรื่องรวมเอาความลึกลับแสนเสน่ห์ไว้ได้เช่นนั้น 

เนื้อหาส่วนใหญ่ในเล่มเป็นเรื่องเล่าจากหลวงพ่อเทียน ซึ่งเหมาะเจาะกับวิธีการเขียนของแดนอรัญ ที่ไม่ค่อยขึ้นย่อหน้าใหม่ มีแต่ตัวหนังสือเรียงรายยาวเหยียด ทำให้ผู้อ่านเสมือนเป็นผู้ร่วมวงชุมนุมที่ลานดินรอบกองไฟในค่ำคืนเหน็บหนาวเงียบงันนั้น เราได้กลายเป็นผู้ฟังหลวงพ่อเทียนเล่าเรื่อง ซึ่งภาษาของแดนอรัญเป็นมนต์ขลังอย่างใหญ่หลวง ผู้อ่านอาจจะอ่านไปด้วยดวงตาแวววาวอย่างเด็กๆ ที่ฟังอยู่รอบกองไฟนั้น 

การเขียนแบบต่อเนื่องของแดนอรัญเช่นนี้จะน่าอ่านได้ ก็ต่อเมื่อผู้เขียนต้องมีฝีมืออย่างยิ่งที่จะผูกใจคนอ่านไว้กับตัวหนังสือ ซึ่งแดนอรัญเขียนดีได้อย่างนั้น จนการไม่มีย่อหน้าไม่ได้สร้างอุปสรรคแต่อย่างใด หากแต่เป็นเสน่ห์ที่ทำให้เราไม่อยากหยุดอ่าน หากภาษาและการเล่าเรื่องของเขาไม่ดีอย่างเหลือร้ายแล้ว เขาย่อมไม่อาจผูกใจคนอ่านให้ติดตามกับถ้อยความอันเหยียดยาวนี้ได้ แต่แดนอรัญทำให้เราดื่มด่ำในถ้อยคำของเขา การอ่านจึงเป็นเสมือนความรักที่ไถ่ถอนตัวไม่ขึ้น 

แม้ "เจ้าการะเกด" จะเป็นชื่อเรื่อง และชื่อรองบนปกเขียนไว้ว่า "เรื่องรักแต่เมื่อครั้งบรมสมกัปป์" แต่ตัวละครที่มีบทบาทเด่นที่สุดไม่ใช่เจ้าการะเกด แต่เป็นธรรมชาติและป่าในอดีต หากจะจัดเรื่องนี้เป็นเรื่องรักในอดีต ก็เป็นรักของธรรมชาติในสมัยที่ผืนป่ายังไม่ถูกทำลาย 

หากพบหนังสือเล่มนี้ก็อยากให้ลองอ่านดู เนื่องจากเป็นไปได้ว่าเราจะตกอยู่ในอาการอย่างเดียวกัน อันที่จริงแล้ว การเขียนแนะนำถึงหนังสือที่เราชอบอย่างสุดจิตสุดใจนั้นทำได้ยากมาก เนื่องจากแทนที่จะใช้สมองไตร่ตรอง เรากลับใช้แต่หัวใจ และดูเหมือนการใช้เหตุผลใดๆ จะหยุดทำงานอย่างสิ้นเชิง เวลาเขียนแนะนำเรื่องแนวนี้จึงมีแต่ข้อความที่แปลได้เพียงคำเดียวว่า อยากแนะนำให้อ่านจริงๆ แต่บทแนะนำนั้นจะเขียนได้ไม่น่าอ่านเอาอย่างยิ่ง ผู้แนะนำสังเกตตัวเองมาเป็นหลายหนแล้วว่า เรื่องที่รักที่สุดนั้น กลับเขียนแนะนำได้ไม่เป็นภาษาคนเอาเสียเลย 

เจ้าการะเกดเป็นหนังสือดีที่รักเล่มหนึ่งที่อยากแนะนำอย่างยิ่งเช่นนั้น หากเมื่อได้อ่านคำแนะนำนี้แล้วจะไม่เห็นเนื้อหาสาระอ้นใด นั่นก็เป็นเพราะความรักทำให้เรามืดบอดไปเสียแล้ว และหากจะกล่าวคำใดที่จะฟังรู้เรื่องราวแม้แต่คำเดียว คำนั้นก็อยากจะบอกคุณว่าให้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดู แม้ว่าคุณอาจจะไม่ได้ชอบได้รักอย่างที่ผู้แนะนำรัก แต่หนังสือเล่มนี้ก็พิเศษและไม่น่ามองผ่านไปด้วยประการใดๆ 

ดังที่หลวงพ่อเทียนเล่าว่านกยูงเป็นอัญมณีแห่งป่า การเขียนในเล่มของแดนอรัญเป็นอัญมณีแห่งภาษา 
 
เกี่ยวกับผู้เขียน แดนอรัญ แสงทอง นามปากกาของ เสน่ห์ สังข์สุข เกิดที่เพชรบุรี สำเร็จการศึกษาทางวรรณคดีต่างประเทศจากม.ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เป็นนักเขียน นักแปล กวี และเจ้าของสำนักพิมพ์ปาปิรัส, อรุโณทัย ผลงานเขียนเรื่องแรกคือเรื่องสั้น "เพลงศพ" พิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ผลงานเรื่องสั้น "ทุ่งร้าง" ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นจาก ฟ้าเมืองทอง 

ผลงานเขียนรวมเล่มคือ ผู้ถูกกระทำ (๒๕๒๘ ในนามปากกา มายา), ยามพราก (๒๕๓๓), เงาสีขาว (๒๕๓๖), อสรพิษ (๒๕๔๕), เพลงรักคนพเนจร (๒๕๔๕), เจ้าการะเกด (๒๕๔๖) เงาสีขาวและอสรพิษได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศด้วย นอกจากนั้นยังมีงานแปลที่ใช้นามปากกา มายา เช่น ทุ่งดอกหญ้าถึงดวงดาว ของ ออสการ์ ไวลด์, เมตามอร์ฟอร์ซิส ของคาฟก้า, คนสวน ของ รพินทรนารถ ฐากูร, คนโซ ของ คนุท เฮ็มซุน ใช้นามปากกา เชน จรัสเวียง กับงานแปลเช่น กระแสลมในฤดูใบไม้ผลิ, แล้วดวงตะวันก็ฉายแสง, สวนสวรรค์แห่งความรัก ของเฮ็มมิงเวย์ และ คนจมน้ำตายที่รูปหล่อที่สุดในโลก ของ การ์เซีย มาร์เกซ ปัจจุบันพำนักที่อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี 

เจ้าการะเกด : แดนอรัญ แสงทอง 
ISBN 974-916-22-5-0 แมวคราว ๑๙๗ หน้า ราคา ๑๕๐ บาท 

Copyright © 2003 faylicity.com 

บางค่ำคืนหลังจากฝนตกหรือในขณะที่ฝนสร่างซาเบาบางลงเหลือแต่เพียงอาการพร่างพรำ ป่าทั้งป่ากลายเป็นสีน้ำเงินพร่างพราวระยิบระยับและสว่างไสวราวกับมีงานนักขัตฤกษ์เพราะแสงหิ่งห้อยนับหมื่นนับแสนตัว แสงของหิ่งห้อยมากมายเหลือคณาเยี่ยงนั้นข้าคงไม่มีโอกาสได้เห็นอีกแล้วในชั่วชีวิตนี้ แสงนั้นและการกะพริบพร่างพรายของมันเย้ยแสงจันทร์และแสงดาว แสงนั้นและการกะพริบพร่างพรายของมันทำให้โลกงดงามกว่าสรวงสวรรค์ 
-- แดนอรัญ แสงทอง, เจ้าการะเกด 

หยิบมาปัดฝุ่นล่าสุด ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๖
.................................................................................

ขอขอบคุณ คุณเฟย์ Faylicty

สำหรับบทความวิจารณ์แนะนำหนังสือเล่มนี้ http://www.faylicity.com/book/book1/karaked.html

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

อสรพิษ


บทความวิจารณ์ /แนะนำโดย  เฟย์ Faylicity
http://www.faylicity.com

อสรพิษ เป็นเรื่องสั้นความยาว 47 หน้า ที่ปรากฏสู่สาธารณชนครั้งแรกในภาษาที่ไม่ใช่ภาษาไทย แต่เป็นฉบับแปลภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษ ที่ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในบางกอกโพสต์ หลังจากนั้นได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ รวม 6 ภาษา 

ผู้เขียนและมาแซล บารังส์ ผู้แปล กล่าวในคำนำหนังสือว่าอสรพิษฉบับภาษาไทยได้รับการปฏิเสธตีพิมพ์ในนิตยสารชั้นนำต่างๆ ในไทยเรื่อยมา จนกระทั่งได้ตีพิมพ์ในไทยในฉบับนี้เป็นครั้งแรก เมื่อได้อ่านเรื่องสั้นนี้แล้วก็ยากจะเชื่อว่านิตยสารไทยหลายฉบับจะเพิกเฉยต่อต้นฉบับเรื่องนี้ นับเป็นเรื่องดีใจและน่าเศร้าพร้อมกันไป น่าดีใจที่มาแซล บารังส์อ่านภาษาไทยออกและได้อ่านอสรพิษ แต่น่าเศร้าที่ผู้มองเห็นคุณค่าเรื่องสั้นชั้นเอกเรื่องนี้กลับเป็นชาวต่างประเทศ ที่ภาษาไทยไม่ใช่ภาษาแม่ แต่เขากลับรู้สึกได้ว่างานเขียนเรื่องนี้เป็นดังเพชรน้ำหนึ่ง และกระตือรือร้นจะนำเสนอต่อชาวโลกในภาษาสากล 

อสรพิษ เป็นเรื่องสั้นที่ดีอย่างเพชรน้ำเอก เนื้อเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับงู ฉากของเรื่องนี้อยู่ที่แพรกหนามแดง เช่นเดียวกับเรื่อง เจ้าการะเกด แต่การจะบอกเล่าเรื่องใดๆ มากไปกว่านี้ จะเป็นการทำลายความสนุกที่ผู้อ่านจะไปค้นพบเองได้ (ซึ่งผู้เล่าเรื่องที่ดีที่สุดคือ แดนอรัญ แสงทอง) แต่สิ่งที่คนอ่านบอกได้ก็คืออยากให้คุณได้ลองอ่านเรื่องนี้ดู เรื่องสั้นๆ เรื่องนี้มีพลังและจับจิตจับใจได้มากนัก เป็นเรื่องสั้นที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย ที่ภาษาการเขียนงดงาม และมีมนต์ขลังด้วยการเล่าเรื่องตรึงอารมณ์ เมื่อเรื่องได้ดำเนินไปแล้ว แดนอรัญก็ทำให้เรื่องนั้นมีชีวิตชีวา ให้ผู้อ่านได้หัวเราะ ร้องไห้ ตื่นเต้น ระทึกใจ ไปตามแต่ที่เขาจะบันดาลให้เป็นไป แดนอรัญตรึงคนอ่านด้วยอำนาจการเขียนได้อย่างที่เราต้องยอมจำนน 

เรื่องสั้นๆ เรื่องนี้ยังสะท้อนเรื่องราวของมนุษย์ได้อย่างน่าทึ่ง มนุษย์เราจะเป็นเช่นไรหากศิโรราบต่อชะตากรรมด้วยหมดสิ้นความหวัง หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยมีทั้งอสรพิษภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกัน 

ภาษาของแดนอรัญสวยนักจนการอ่านนี้เป็นประสบการณ์แรกที่ทำให้คนอ่านได้นึกชื่นใจอีกครั้งว่า ภาษาของเรานั้น สวยจนแปลเป็นภาษาไหนๆ ก็จะไม่ได้รสไม่ได้ความรุ่มรวยอย่างภาษาไทยเลย ดูอย่างประโยคแรกในหนังสือที่ว่า "จวนจะเย็นย่ำแล้ว แดดอ่อนรอนแสงลงแล้ว ดวงตะวันเป็นสีแดงแก่ก่ำนุ่มนวลอ่อนโยนลง" ที่แปลได้ว่า "The afternoon was coming to an end. The light was softening, and the dark-red sheen of the sun was fading." แม้ว่าราคาหนังสือ 100 บาทอาจจะแพงสำหรับการอ่านเรื่องสั้นเพียง 47 หน้า แต่ประสบการณ์บางอย่างนั้นประมาณค่าไม่ได้ การอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็เป็นประสบการณ์เช่นนั้นที่ตีราคาค่างวดให้สมคุณค่าไม่ได้เลย 

อสรพิษเป็นเรื่องสั้นที่ดีทั้งภาษาและเนื้อเรื่อง และผู้ที่ได้อ่านอสรพิษ ก็น่าจะพบว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้สิงสู่พำนักในตัวเราแล้วอย่างถาวร 
  
อสรพิษ : แดนอรัญ แสงทอง 
ISBN 974-90102-9-9 แมวคราว ๑๒๗ หน้า ราคา ๑๐๐ บาท 

Copyright © 2003 faylicity.com 

เจ้างูยักษ์อยู่ใกล้เขามาก เขาไม่เคยคิดฝันมาก่อนเลยว่าเขาจะได้ใกล้ชิดกับมันมากมายถึงปานนี้ ไม่มีลางบอกเหตุผลอันใดทั้งในความจริงและความฝัน 
-- แดนอรัญ แสงทอง, อสรพิษ 

หยิบมาปัดฝุ่นล่าสุด ๑๖ มกราคม ๒๕๔๗

****************************************
ขอขอบคุณ คุณเฟย์ Faylicty สำหรับบทความวิจารณ์แนะนำหนังสือเล่มนี้  
http://www.faylicity.com/book/book1/venom.html

วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บุ๊คไวรัส / ฟิล์มไวรัส



ฝากประชาสัมพันธ์หนังสือในเครือ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)  
ท่านใดที่สนใจหนังสือวรรณกรรมเข้มข้นนอกสายตา หรือหนังสือที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ไว้เก็บเป็นคู่มือประจำบ้านในเครือฟิล์มไวรัสคอเลทชั่น สามารถหาซื้อได้ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติครั้งที่ 15  
ที่ บูธ ออเตอร์เนทีฟ ไรเตอร์ (Alternative Writer) M12 โซน C 
ระหว่างวันที่ 21 – 31 ตุลาคม 2553 ตั้งแต่เวลา 10.30 น. – 20.30 น. ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต

บุ๊คไวรัส เล่ม 1 : A-Z หนังวรรณกรรม
(รวม 262 หนังนานาชาติ จากนักเขียน 129 คน เขียนคำนิยมโดยสองชาติ คือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล)

บุ๊คไวรัส เล่ม 2 (รวมเรื่องสั้นทั้งจากนักเขียนไทยและเทศ)  

เรื่องสั้นไทยประกอบด้วย
“จินตนาการไร้บรรทัด” : Visual Art Novel โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
“ในท่ามกลางแสงแห่งเดือนอันฉายฉาน” โดย แดนอรัญ แสงทอง
“ความตายกับศิลปิน” โดย อุทิศ เหมะมูล
“สุมลกับสุมลรัตน์” โดย เอื้อ อัญชลี
“ความเงียบแห่งจักรวาล” โดย ฟ้า พูลวรลักษณ์

และเรื่องสั้นต่างประเทศ
“โทรเลขสองฉบับ” (มิเกลอันเจโล่ อันโตนีโอนี่- เขียน) แปลโดย ไอดา อรุณวงศ์
“พื้นที่ทางใจ” (แซม เชพพาร์ด - เขียน) แปลโดย ไอดา อรุณวงศ์
“แดนใต้” (ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส – เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
“กาลอวสาน” (ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส – เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
“ เกม” (โดนัลด์ บาร์เทลมี่ – เขียน) แปลโดย จิตติ พัวสุทธิ
“หูล้างเลือด” (อีแธน โคน – เขียน) แปลโดย ชนิดา ศักดิ์สิริสัมพันธ์
“บทสัมภาษณ์ ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส โดย อามาเลีย บาริลี่” แปลโดย กรกิจ ดิษฐาน
และอื่นๆ 

บุ๊คไวรัส เล่ม 3 : กาจับโลง (2 เรื่องสั้นแปลจากนักเขียนระดับโลก)
“เลือดสามหยาด” (Sadeq Hedayat - เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
“สารานุกรมชีวิตผู้ตาย” (Danilo Kis – เขียน) แปลโดย ธิติยา ชีรานนท์

บุ๊คไวรัส เล่ม 4 : สนธิสัญญาอสูร (3 เรื่องสั้นแปลที่สังสรรค์โลกมืดกับความขันขื่น)
ประเดิมเรื่องสั้นจาก Felisberto Hernandez (ครูใหญ่ของนักเขียนอย่าง Gabriel Garcia Marquez, Julio Cortazar และ Italo Calvino)

“จรลีร่ำไห้” (Felisberto Hernandez – เขียน) แปลโดย ชัยวัฒน์ ทองรัตน์
“บุญผ่อนบาป” (Slawomir Mrozek – เขียน) แปลโดย ชาญชนะ หอมทรัพย์
“หน้าต่างกลางไพร” (Jonathan Baumbach – เขียน) แปลโดย ณิชา อู่ดาราศักดิ์

บุ๊คไวรัส เล่ม 5 : นางเพลิง
รวมเรื่องสั้นแปลสาวแสบเอเชียปะทะยุโรป 
บาซูก้าของจูเลีย ผลงานของ แอนนา คาแวน (อังกฤษ)
ภูเขาอุกกาบาต ของ ฉาน เสว่ (จีน) 
ช้างคืนเรือน ของ โจ คียุง รัน (เกาหลี) 

บุ๊คไวรัส เล่ม 6 : เดอะ เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ (ฉบับครบรอบ 100 ปี)
Algernon Blackwood – เขียน  
แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง (ที่เจ้าตัวออกปากว่าเป็นงานแปลที่โหดหินที่สุดในชีวิต)
ตัวเรื่องนั้นมีที่มาจากตำนานปรัมปราที่เล่าขานกันมานานเกี่ยวกับอสูรร้ายโฉบกระชากวิญญาณในป่าหิมะ ซึ่งชาวป่าต่างคุ้นเคยกันดี แต่แทบไม่เคยมีใครได้เห็นหน้าตาแล้วรอดชีวิตกลับมาเล่าสู่กันฟัง

บุ๊คไวรัส เล่ม 7 : นารีนิยาม (เบิกม่านเรื่องสั้นผู้หญิงเกินนิยาม)
“นักว่ายน้ำ” (มิแรนดา จูลาย – เขียน) แปลโดย ไกรวุฒิ จุลพงศธร
“เกมที่ค้างคา” (โกลี ทารากี - เขียน) แปลโดย ชลเทพ ณ บางช้าง
“ม้าน้ำ” (ฮิโรมิ คาวาคามิ – เขียน) แปลโดย โดยมัทนา จาตุรแสงไพโรจน์
“ลอกลายกุหลาบ” (แคลริซ ลิสเปคเตอร์ – เขียน) แปลโดย ดิษพล ศิวะรัตนธำรงค์
“จบให้สวย” (มาร์กาเร็ท แอ็ตวูด – เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง  
อ่านเพิ่มเติม http://www.onopen.com/filmvirus/10-07-25/5494

ฟิล์มไวรัส เล่ม 3 : อีสาวกายสิทธิ์ 
 รวมบทความ + บทสัมภาษณ์ พร้อมวีดีโอหนังสามัญประจำบ้าน

ฟิล์มไวรัส เล่ม 4 : สางสำแดง 
(รวมหนัง cult และหนังสยองขวัญระดับอุบาทว์คลาสสิก

ฟิล์มไวรัส 5 : ปฏิบัติการหนังทุนน้อย
รวม 5 บทความจากนิตยสาร Filmview และอีก 18 บทความเขียนใหม่แนะนำผู้กำกับหนังทุนสมอง ลงทุนประหยัด (ไม่เน้นทุ่มทุนขว้างเหวี่ยงทุนเสนอ) 

The 8 Masters  
แนะนำ 8 ผู้กำกับหนังระดับโลก โดยกลุ่ม Filmvirus

151 Cinema 
151 หนังนานาชาติที่อยากชวนชม แนะนำโดยกลุ่ม filmvirus

Unknown Forces ( สัตว์วิกาล : ภาพเรืองแสงของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ) - ตุลาคม 2550
รวมบทความและข้อเขียนเกี่ยวกับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล - คนทำหนังไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับการยอมรับสูงสุดจากทั่วโลก ด้วยผลงาน สุดเสน่หา, สัตว์ประหลาด และ แสงศตวรรษ (จัดทำโดยกลุ่ม filmvirus)

ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ : ตำรับชีวิตสามัญโกอินเตอร์
รวมบทสัมภาษณ์คนทำหนังอิสระไทย 13 ราย ที่ได้รับการสนับสนุนทุนสร้างภาพยนตร์จากต่างประเทศ ชัยชนะเล็ก ๆ ของคนทำหนังไทยนอกระบบสตูดิโอ ร่วมด้วยบทความแนะนำการติดต่อแหล่งทุนจากต่างประเทศ ลักษณะเฉพาะของแหล่งทุนแต่ละแห่ง พร้อมแนะนำตัวอย่างหนังนานาชาติที่ได้รับทุน

สำหรับท่านที่อยู่ต่างจังหวัด สามารถสั่งซื้อทางไปรษณีย์ ติดต่อสอบถามได้ที่ email:filmvirus@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

แมวผี


โดย 'นรา' 
http://narabondzai.blogspot.com/


‘แมวผี’ เป็นผลงานเรื่องสั้นขนาดกะทัดรัดเล่มล่าสุดของ แดนอรัญ แสงทอง

ยาว (หรือสั้น) ประมาณเกือบ ๆ 30 หน้า ราคาเล่มละ 50 บาท

อาจจะแพง หากเทียบผิวเผินว่ามันเป็นแค่การซื้อขายแผ่นกระดาษ แต่ถ้ามองในแง่ของ ‘ราคาทางความคิด’ และคุณค่าที่จะได้รับจากการอ่านแล้วล่ะก็ ราคานี้ถูกเหมือนได้เปล่าสำหรับผม

ปกติแล้ว ความยาว (หรือสั้น) ขนาดนี้ ผมควรจะใช้เวลาไม่เกินชั่วโมงในการอ่านให้จบ แต่ผมก็ต้องบวกเพิ่มไปอีกเท่าตัว ในการอ่านเรื่องสั้น (หรือยาว) เรื่อง ‘แมวผี’

เพื่อสุขภาพจิตอันดีงามของผู้อ่านและตัวผมเอง จะยาวหรือสั้นก็ช่างมันเถอะนะครับ

ทำไมต้องใช้เวลาอ่านมากกว่าปกติ? เป็นเพราะว่าอ่านยากหรือเปล่า?

คำตอบคือ ทั้งไม่ใช่และใช่

ไม่ใช่เพราะว่า เรื่องราวที่บอกเล่านั้น เพลิดเพลินรื่นรมย์ ชวนติดตาม และสนุกเหลือหลาย

และใช่...มันอ่านยาก เพราะว่า ความบันเทิงเริงใจส่วนหนึ่ง อยู่ที่วิธีการเขียนและวิธีการอ่าน

นี่เป็นหนึ่งในน้อยเรื่องน้อยเล่ม ที่ผมไม่สามารถพกพาติดตัวไปอ่านบนรถเมล์หรือตามที่สาธารณะ ต้องหลบอ่านในหลืบมุมมิดชิดเป็นส่วนตัว ราวกับเด็กนักเรียนวัยคึกคะนองฮอร์โมนพลุ่งพล่าน แอบอ่านหนังสือแนวปลุกใจเสือป่า

‘แมวผี’ ไม่ได้โป๊ดุเดือดเลือดพล่าน ถึงขนาดต้องอ่านด้วยกรรมวิธีกระมิดกระเมี้ยนหลบ ๆ ซ่อน ๆ หรอกนะครับ และเอาเข้าจริงก็สะอาดถูกสุขอนามัยตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย

แต่นี้เป็นงานเขียนที่เรียกร้องให้ต้อง ‘อ่านออกเสียง’ จึงจะสนุกได้อรรถรสเต็มพิกัด

เพื่อมิให้ผู้คนรอบข้างแตกตื่นตกใจ ผมก็เลยเลือกที่จะอ่านดัง ๆ ในบ้าน

มีคำชี้แจงสั้น ๆ ก่อนเริ่มเรื่องของ ‘พ้อนักประพันธ์โฉ่มเอ้ก’ บอกกล่าวตกลงกับผู้อ่านไว้ว่า “ข่อเรียนให้ซาบย้างนี้น่ะขะรับว้า ถ้าหากว้าย้ากจะอ้านเรื้องมะโน่ส่าเร้เรื้องนี้แล้วล่ะก้อ ข่อความกรุ่ณาอ้านให้เปนส่ำเนียงเหน้อ ๆ แบบสู้พรรณ ๆ ซักน่อยนึ่งเถิ้ดจ้า หรือถ้าไม่ย้างนั้นก๊อเชิญเอาเวล่ำเวลาไป่ทำอะไร ๆ ย้างอื่น ๆ เห่อะ แล้วก๊ออย่าอ้านในใจ อ้านในใจแล้วคือว่ามันจะตะกึ้กตะกั่กอยู้ซักกะน่อย”

ครับ ทุกหน้า ทุกบรรทัด ทุกประโยคของ ‘แมวผี’ เขียนด้วยสำเนียงเหน่อแบบสู้พรรณ

ดังนี้เอง จึงปรากฏในเรื่องว่า อ้ายวิลลีหมากรุงเทพฯ กลายเป็นอ้ายหวิ่นลี่ ก่อนจะเสี่ยหม่า เห่าเหน่อหลังจากไปอยู่บ้านนอกได้สักพัก

หลังจากอ่านออกเสียงจบแล้ว และทดลองอ่านเงียบ ๆ ในใจอีกรอบ ผมพบว่าวิธีแรก สนุกกว่าเยอะ ขณะที่วิธีหลังจืดชืดไม่เป็นรส

เหตุผล ที่มาที่ไป เกี่ยวกับการเลือกใช้เทคนิคสำเนียงสุพรรณตลอดทั้งเรื่อง ปรากฏอยู่ในคำชี้แจงของผู้เขียนตอนท้ายเล่ม (ซึ่งไม่ควรรู้ล่วงหน้าก่อนอ่าน)

นอกจากจะเป็นลูกเล่นในการทำให้แปลก สร้างรสระรื่นเสนาะหูระหว่างการอ่านแล้ว ผมคิดว่าสำเนียงเหน่อนี้ เมื่อบวกรวมกับสำนวนลูกทุ่งของนักเขียน- -ที่ผมนับถือและยกย่องว่าเป็น ‘นายแห่งภาษา’ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งส่งผลให้ ‘แมวผี’ กลายเป็นเรื่องเล่าที่ถึงแก่นวิญญาณความเป็นชนบท (ในอดีต) และเขียนได้เนียนหูเนียนตา เหมือนนั่งอยู่ต่อหน้าทิดโขดผู้เป็นตัวละคร ฟังแกเล่าอะไรต่อมิอะไรเป็นคุ้งเป็นแคว ในลีลา ‘เดี่ยวไมโครโฟน’ แบบไม่เสียบปลั๊ก (เนื่องจากยังไม่มีไฟฟ้าใช้) อย่างเพลิดเพลินลืมเวลา

พูดง่าย ๆ คือ มันทำให้ ‘แมวผี’ มีบรรยากาศแบบชนบทไทยแท้ ทั้งคำพูดคำจาและมุมมองความคิดของตัวละคร (นี้เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งที่แข็งแรงมากในผลงานระยะหลัง ๆ ของแดนอรัญ แสงทอง พูดแล้วก็ขอแนะนำ ‘ตำนานเสาไห้’ อีกสักเล่ม พร้อมคำยืนยันว่าดีเยี่ยมน่าอ่าน)

รวมทั้งได้อารมณ์ขันเสียดสีแบบน่ารักน่าเอ็นดูเป็นโบนัสแถมพก

เนื้อที่กว่าครึ่งหนึ่งของ ‘แมวผี’ เล่าไปเรื่อย ๆ เหมือนปราศจากเค้าโครงเหตุการณ์ (และเหมือนคนเล่านึกอันใดขึ้นมาได้ก่อนก็เล่าไปตามนั้น ไม่ได้เรียบเรียงวางลำดับของเนื้อหาให้มีต้น กลาง ปลายที่แน่ชัด) พูดถึงความทรงจำฝังใจในอดีต เกี่ยวกับการดูหนังกลางแปลง การเดินข้ามทุ่งข้ามหมู่บ้าน นานหลายชั่วโมงหลายสิบกิโลเมตร เพื่อไปเสพงานศิลป์มหรสพยังต่างถิ่น โดยไม่คิดว่านั้นเป็นอุปสรรคยากลำบาก ฉากประทับใจและภาพจำจากหนังไทยรุ่นเก่าหลาย ๆ เรื่อง ความพึงพอใจและขัดใจจากการปรุงรสให้แก่หนังโดยฝีปากนักพากย์ ความหลงใหลชื่นชมต่อบทบาทการแสดงของพระเอกยอดนิยม-มิตร ชัยบัญชา (หรือมิตร ไฉ่บัญชาในสำเนียงสุพรรณ)

อารมณ์และรสบันเทิงนั้น พอจะเทียบคร่าว ๆ ได้ว่า ใกล้เคียงกับหนังอิตาเลียนเรื่อง Cinema Paradiso

ไม่ได้เด่นที่การผูกเนื้อเรื่องให้ซับซ้อนย้อนยอก เป็นพล็อตเรียบง่ายธรรมดา แต่พิสดารโดยรสของถ้อยคำและการพรรณนารายละเอียดอันน่าตื่นตาตื่นใจ

ถึงแม้ ‘พ้อนักประพันธ์โฉ่มเอ้ก’ จะกล่าวไว้ท้ายเล่มหลังจบเรื่องว่า ‘แมวผี’ เป็นเรื่องมโนสาเร่ เป็นเรื่องอ่านเล่น จุดประสงค์ก็เพียงเพื่อหยอกเอินให้ได้หัวเราะหัวใคร่กันบ้างเท่านั้น

แต่ในท่ามกลางลีลาทีเล่นผ่อนคลาย ‘แมวผี’ ก็สะท้อนภาพรายละเอียดบางด้านของสังคมชนบทในอดีตเมื่อครั้งพายุแห่งความเจริญยังไม่พัดผ่าน, ความเปลี่ยนแปลงพ้นเลยในหลายสิ่งหลายอย่างชนิดไม่หวนย้อนกลับมาอีก, อารมณ์ถวิลถึงอดีตอันสวยเศร้าจับอกจับใจ, แถมยังเป็นพงศาวดารชาวบ้านจดจารจารึกถึงประวัติศาสตร์หนังไทยเสี้ยวเล็ก ๆ ได้อย่างมีชีวิตชีวา และเสน่ห์แรงเป็นบ้า

หนังไทยจำนวนมากที่กล่าวถึงในงานเขียนชิ้นนี้ บางเรื่องผมไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลย บางเรื่องก็แค่สดับรับฟังคำร่ำลือ แต่โตไม่ทันดู บางเรื่องเคยผ่านตา ทว่าก็เป็นความหลังรางเลือน ไม่แจ่มชัดเท่ากับที่ตัวละครสาธยาย

ทว่าทุกเรื่อง แดนอรัญ แสงทอง เขียนเล่าและเร้าโน้มน้าว กระทั่งผู้อ่านรู้สึกว่า น่าดูมากและเกิดความรู้สึกอยากเสาะหามาดูด้วยตนเอง

แต่ผมก็รู้อีกว่า ต่อให้ออกไล่ล่าหนังเหล่านั้นมาได้จริง ๆ การดูเองก็คงไม่สนุกและมีเสน่ห์เทียบเท่ากับที่ตัวละครทิดโขดเล่าให้ฟังใน ‘แมวผี’

มันเป็นเรื่องของมุมมองซื่อใสบางอย่าง ซึ่งผมไม่มีอยู่ในตัว และเป็นเรื่องของพรสวรรค์ความสามารถพิเศษเฉพาะตัวในการถ่ายทอดความบันเทิงดาด ๆ ให้กลายเป็นเรื่องกระทบความรู้สึกเร้าใจผู้อ่าน

ตัวละครทิดโขด โดยการพูดผ่านปลายปากกาของแดนอรัญ แสงทอง มีคุณสมบัติและพรสวรรค์ดังกล่าวอยู่เต็มเปี่ยม

ร้ายกาจกระทั่งว่า หนังบางเรื่องเช่น ‘สิ่งล้าสิ่งห์’ (สิงห์ล่าสิงห์) ที่ทิดโขดในเรื่องไม่มีโอกาสได้ดู และเห็นเพียงแค่ภาพวาดจากโป๊ดสะเต้อ ตะแกยังจินตนาการและนึกสงสัยเกี่ยวกับหนังไปได้ต่าง ๆ นานา จนผมคิดว่า อาจสนุกกว่าตัวหนังจริง ๆ เสียอีก

พูดอีกแบบนะครับ ตลอดทั้งเรื่องใน ‘แมวผี’ แทบจะมีทิดโขดเป็นตัวละครหลักที่แสดงบทบาทวาดลวดลายอยู่ตามลำพัง ทว่าในเรื่องเล่าผ่านท่วงทำนอง ‘พูดคนเดียว’ ตั้งแต่ต้นจนจบ อีกมุมหนึ่งก็เหมือนประกอบด้วยตัวละครเยอะแยะมากมาย และล้วนเป็นคนดังในอดีตที่ผู้อ่านรู้จักชื่อคุ้นหน้าค่าตากันอย่างดี เช่น มิตร ชัยบัญชา, สมบัติ เมทะนี, เพชรา เชาวราษฏร์, ล้อต๊อก และดาราดังรุ่นเก่าอีกหลายสิบชีวิต

ตลอดเวลาช่วงต้นจนถึงกึ่งกลางของการอ่าน ผมมีข้อสงสัยและคำถามหนึ่งอยู่ในใจ นั่นคือ เรื่องทั้งหมดที่เล่ามา ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับชื่อเรื่อง ‘แมวผี’ เลยสักนิด


ชื่อนั้นชวนให้คิดและคาดหวังล่วงหน้าไปว่า จะต้องเป็นเรื่องสยองขวัญ อาถรรพ์ลี้ลับ บรรยากาศน่าสะพรึงกลัว อ่านแล้วขนหัวลุก

จนอ่านจบแล้วนั่นแหละ ผมจึงถึงบางอ้อ Oh I See ทั้ง ๆ ที่เรื่องเกิดขึ้น ณ หมู่บ้านมาบสันตะวา ว่าทำไมจึงตั้งชื่อเรื่องเช่นนี้

เป็นชื่อที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงนะขะรับ

เหตุการณ์ในครึ่งเรื่องหลังไปจนกระทั่งจบ เป็นความลับที่ไม่สามารถเปิดเผย

ผม- -ในการเขียนเชิญชวนอย่างระแวดระวัง เพื่อรักษาอรรถรสเกี่ยวกับความลับของเรื่อง- -เล่าได้แค่ว่า ครึ่งท้ายของ ‘แมวผี’ มีเค้าโครงเหตุการณ์ให้จับต้องได้, มีการบรรยายฉากและอารมณ์ภายในของตัวละครที่ทรงพลังแบบวางไม่ลง (หลายจังหวะ เรื่องนั้นสะกดตรึงดึงดูดจนผมพลั้งเผลอ ทำสำเนียงสุพรรณตกหล่นหลงหายจากปลายลิ้นไปชั่วขณะ) และมีทั้งสิ่งที่ผู้อ่านคาดหวังไว้ก่อนอ่านควบคู่ไปกับเหตุการณ์นึกไม่ถึง

รวมถึงทีเด็ดสำคัญใน ‘เรื่องเล่าเช้าวันนั้น’

และเมื่อไล่สายตาอ่านออกเสียงจนถึงบรรทัดสุดท้าย ผมเผลอตัวปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกหนึ่งออกมาแบบสุดกลั้น ควบคู่ไปกับมีรสแห่งการอ่านอีกแบบ แผ่คลุมแน่นทึบภายในใจ ราวกับความกดอากาศต่ำพาดผ่านตอนหนึ่งตอนใดของประเทศไทย จนทำให้รู้สึกเยียบยะเยือกอยู่ลึก ๆ

เมื่ออ่าน ‘แมวผี’ จบลง ผมไม่อยากให้จบ ยังอยากอ่านต่ออีก ทั้งที่รู้ว่า เรื่องได้ยุติตรงจุดที่สวยสุดกำลังเหมาะเจาะลงตัว

งานเขียนชั้นเยี่ยม มักทำให้ผมรู้สึกเช่นนี้ คือ อิ่มแปล้แล้ว แต่ยังตะกละตะกลามอยากกินอีก ก็เพราะมันอร่อยเหาะเด็ดดวงนัก

อาจทิ้งท้ายเป็นสำเนียงสู้พรรณปลอม ๆ ได้ว่า “แหม่ หมั่นแหงแก๋อยู้ ข้าอ่านแล้ว ข้าช้อบ หมั่นชุ้มชื่นหั่วใจดีพี่ลึกล่ะ”

แต่ถ้าจะให้ตรงกับความเป็นจริง ผมต้องใช้สำเนียงจีนพูดไทยไม่ชัดว่า “โขงเค้าลีจิง ๆ นาค้าบ”

บทความชิ้นนี้จะอ่านออกเสียงหรืออ่านในใจก็ได้ตามอัธยาศัย แต่ที่แน่ ๆ ควรจะ ‘อ่านออกตังค์’ โดยซื้อ ‘แมวผี’ ไว้เป็นหนังสือดีประจำบ้าน

***************************************

หมายเหตุ : ในภาพคือแมวตัวจริงที่บ้านของคุณแดนอรัญ (ภาพประกอบโดย "ฟิล์มไวรัส")

ขอขอบคุณ คุณนรา 

สำหรับข้อมูล http://narabondzai.blogspot.com/2010/10/blog-post.html

หนังตัวอย่าง True Grit (อารยชนคนเถื่อน) แดนอรัญ แสงทอง แปล

 True Grit ฉบับสร้างใหม่  (อารยชนคนเถื่อน - สำนักพิมพ์สามัญชน)

Jeff Bridges นักแสดงรางวัลออสการ์ในบทเดิมของ John Wayne ผลงานกำกับของพี่น้อง Coen (No Country for Old Men, Fargo, Barton Fink)

วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มาตานุสติ


โดย เฟย์ Faylicity
http://www.faylicity.com/


ก่อนอื่นจำต้องบอกว่านิยายเล่มนี้น่ากลัวที่สุด คนขวัญอ่อนอย่าอ่านหนังสือตอนกลางคืนเวลาอยู่คนเดียว ควรวางแผนเวลาในการอ่าน ไม่ให้อ่านเรื่องนี้จบตอนกลางคืนเวลาที่อยู่คนเดียว ด้วยอาจกลัวจนถึงแก่เสียสติ 

นิยายเล่าถึงชึวิตคนหาเช้ากินค่ำสองคน เป็นแม่กับลูกสาววัยสิบห้าปี เพิ่งย้ายข้าวของไปอยู่บ้านสองชั้นเก่าแก่ทรุดโทรมกลางทุ่งเปลี่ยว เพื่อนบ้านใกล้ที่สุดอยู่ห่างไปเกือบสามกิโลเมตร ในคืนแรกนั้นฝนตกหนัก ฟ้าคำราม ลมกรรโชก สายฟ้าแปลบปลาบ ในคืนแรกที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ด้วยยังไม่ได้ไปติดต่อทางการ ความมืดจึงยิ่ง "เข้มข้นอย่างอำมหิต" ในคืนแรกนั้นมีเสียงผิดปกติบ่งบอกการบุกรุกจากชั้นล่าง แม่จึงถือมีดลงไปดูและสั่งลูกสาวว่า อย่าเปิดไฟฉาย อย่าจุดเทียน อย่าเคลื่อนไหว อย่าส่งเสียงเป็นอันขาด "แม่จะรีบกลับมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้" 

เรื่องนี้เล่าโดยลูกสาว เด็กหญิงจิตใจเปราะบางที่ต้องรอแม่อยู่เพียงเดียวดายในความมืดท่ามกลางพายุฝน ขณะเงี่ยหูฟังสรรพเสียงต่างๆ จากชั้นล่าง จิตใจของเธอมีแต่ความหวาดกลัว ความกลัวนั้นมีอำนาจทำให้จินตนาการตนเองเพริดไปต่างๆ นานา ผู้บุกรุกนั้นจะเป็นสัตว์ร้าย หรือเป็นคน หรือเป็นภูตผีปีศาจกันแน่หนอ 

นี่ฉันกำลังหวาดกลัวมากเกินไปหรือเปล่า ในค่ำคืนที่มืดดำเข้มข้นขึ้นทุกทีๆ นี้ ในท่ามกลางเสียงแห่งสายฝน สายฟ้าและสายลมที่กำลังรุนแรงยิ่งขึ้นทุกทีๆ นี้ ฉันได้ปล่อยความคิดให้เพริดกระเจิงไปและสั่นระทึกหวาดกลัวต่อสิ่งที่ตนได้จินตนาการขึ้นมาหรือเปล่า 

ผู้เขียนเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งและใช้ภาษาไพเราะแสนเสน่ห์ เรื่องของเขาจึงน่าติดตามยิ่งนัก ตัวละครเด่นของเรื่องคือ แม่ ซึ่งมีบุคลิกชัดเจนติดตรึงใจ เธอเป็นผู้หญิงกล้า เฉียบขาด สู้ชีวิต เป็นคนที่น่ายำเกรง ในเรื่องนี้เล่าทำให้ความสมัยใหม่ของเมืองและความโบร่ำโบราณของป่าและตำนานดึกดำบรรพ์ มาอยู่ด้วยกันได้ลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์ใจ เรื่องของแดนอรัญล้วนเป็นมนต์ขลัง สะกดให้หัวใจผู้อ่านศิโรราบกับการเล่าเรื่องของเขา 

เนื่องจากลูกสาวเป็นผู้เล่าเรื่อง คนอ่านจึงได้เห็นโลกนี้จากมุมมองของเด็กหญิงจิตใจพรั่นหวั่นหวาด ฉากที่ทำให้ตัวละครอยู่ในภาวะต้อง "รอคอย" ชะตากรรม ทำให้คนอ่านยิ่งใจแกว่งไปกับเธอ แรกๆ นั้นเนื้อเรื่องเล่าชีวิตที่ผ่านมาของเธอและแม่ แต่แล้วยิ่งนานไปเรื่องยิ่งน่าขนพองสยองเกล้าขึ้นทุกขณะ จนกระทั่งเมื่อถึงบทที่เด็กหญิงบอกว่า "แม่จ๋า นั่นแม่ใช่ไหมจ๊ะ หนูกลัวจนทนไม่ไหวแล้ว" ผู้อ่านหลายคนน่าจะรู้สึกอย่างเดียวกัน คือกลัวจนจะทนอ่านต่อไปไม่ไหวแล้ว เมื่อเด็กหญิงคำนึงว่า "จิตใจของโชคเคราะห์ทำด้วยอะไรนะ" ผู้อ่านอาจคิดว่า "จิตใจของแดนอรัญทำด้วยอะไรนะ" 

เวลาผู้เขียนเล่าเรื่องน่ากลัวก็ทำให้ขวัญกระเจิดกระเจิงได้จริงๆ แต่เรื่องยังมีอารมณ์ขันร้ายกาจ เช่นบทประพันธ์เรื่องรักระหว่างสาวไทยกับทหารญี่ปุ่น อังกาบกับโนโบรุ ที่ผู้เขียนบรรยายว่า "บทประพันธ์ที่ถือกำเนิดขึ้นจากวิญญาณแห่งความเป็นทาสและความเป็นโสเภณีนี้ จับอกจับใจผู้คนมาตั้งแต่ครั้งแรกที่มันได้รับการตีพิมพ์" 

ในเเรื่องนี้ยังมีเหตุฆาตกรรมแปลกประหลาด ชีวิตคนหาเช้ากินค่ำ หญิงโสเภณีที่บอกว่า "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ของเราก็คือโยนีอย่างไรเล่าคะ" บทเพลงที่แสนสวยและแสนเศร้า นกขุนทองช่างเจรจาผู้สามารถพูดจาสองแง่สองง่าม ชอบบอกผู้คนที่เดินผ่านกรงว่า อยากลงหม้อแกงว่ะ มีบทวิพากษ์สังคมไทยที่แสบสันต์ และที่สำคัญคือเด็กหญิงที่กำลังรอคอยชะตากรรม ที่เฝ้าคิดว่า "เดี๋ยว-แม่-ก็-คง-จะ-มา" 

วลีข้างต้นชวนให้ขนลุกเกรียว และชวนนึกถึงเรื่องผีที่โด่งดังมากของฝรั่ง ที่มีชื่อจับจิตจับใจมากกว่า Wait Till Helen Comes เพียงแต่อ่านชื่อเรื่องก็น่ากลัวอย่างยิ่งเสียแล้ว ถ้าเฮเลนมาแล้วจะเป็นอย่างไรละหรือ ทั้งสองเรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกัน เพียงแต่ทำให้เกิดความรู้สึกหลอนหลอกได้ดุจเดียวกัน 

อยากชวนไปอ่านหนังสือดีเล่มนี้ ไปรู้ว่าสุดท้ายแล้วชะตากรรมของเด็กหญิงและแม่ของเธอจะจบลงอย่างไร ความหมายของชื่อเรื่องจะปรากฏชัดเจนและเย็นยะเยือกในใจเมื่อคุณอ่านหนังสือจบลง 


เกี่ยวกับผู้เขียน แดนอรัญ แสงทอง 

ดวงตาที่สาม : แดนอรัญ แสงทอง 
ISBN 974-9748-25-5 แมวคราว 224 หน้า ราคา 190 บาท ปกอ่อน ปีที่พิมพ์ ๒๕๔๙ 

Copyright © 2006 faylicity.com 
นี่เป็นการกระทำเยี่ยงสัตว์ และในเมื่อมันเป็นการกระทำเยี่ยงสัตว์เช่นนี้ มันก็น่าจะต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของคนเท่านั้น 

-- แดนอรัญ แสงทอง มาตานุสติ

************************************

ขอขอบคุณ คุณเฟย์ Faylicity  

สำหรับข้อมูล http://www.faylicity.com/book/book1/matanus.html.

วันพฤหัสบดีที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2553

10 ปากกาหน้าเลนส์ : “ตำนานเสาไห้”


ไทย เธียเตอร์ : 10 ปากกาหน้าเลนส์… หน้าที่พลเมือง : 26 ก.ย. 53

  “ตำนานเสาไห้” โดย 'แดนอรัญ แสงทอง” นักเขียนที่คนไทยอาจรู้จักกันน้อยมากแต่ว่าโด่งดังและมีชื่อเสียงอย่างมากในยุโรป โดยเฉพาะผลงาน เงาสีขาว, อสรพิษ เป็นต้น ถูกถ่ายทอดเป็นหนังสั้น โดย “ภวัต พนังคศิริ” ผู้กำกับฝีมือดีมากประสบการณ์


แดนอรัญ แสงทอง หรือชื่อจริง เสน่ห์ สังข์สุข นักเขียนชาวเพชรบุรี ผลงานนวนิยายเรื่องแรกของเขาคือ เงาสีขาว ได้รับการคัดเลือกจากหนังสือ The 20 Best Novels of Thailand ของ Marcel Barang ให้เป็น 1 ใน 20 นวนิยายที่ดีที่สุดของไทย และยังได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส, สเปนและอังกฤษ อีกทั้งเรื่องสั้น อสรพิษ และ เจ้าการะเกด ต่างก็ได้รับการถ่ายทอดเป็นภาษาอื่น ๆ เช่นกัน ต่อมารัฐบาลฝรั่งเศสได้มอบเครื่องอิสริยาภรณ์ในลำดับชั้น Chevalier du Arts et Lettre ให้แก่เขาในปี พ.ศ. 2551 

ภวัต พนังคศิริ มีผลงานกำกับมากมายในวงการบันเทิงอาทิ กำกับมิวสิควิดีโอ รายการโทรทัศน์ ภาพยนตร์โฆษณา ละครโทรทัศน์ โดยงานด้านการกำกับภาพยนตร์ประกอบด้วย ภาพยนตร์เรื่อง SIX หกตาย ท้าตาย, ภาพยนตร์เรื่อง นาคปรก, ภาพยนตร์เรื่องอรหันต์ซัมเมอร์ เป็นต้น

ตำนานเสาไห้

ขอพระมหาเทพผู้พระวรกายไล้เลปด้วยถ่านเถ้าผู้สวมสร้อยกะโหลกศรีษะมนุษย์ต่างลูกประคำ
จงอภิบาลข้า
ขอพระมหาเทพผู้มีคชพักตร์
มีพระกรรณแผ่ใหญ่ดังกระด้ง
และประทับบนมุสิกวาหะ
กวาดเสียด้วยงวงของท่าน
อุปสรรคที่ขวางครรลองความคิดข้า

ข้าพเจ้าใคร่จะขอร้องให้ท่านเดินแผ่วเบา พูดคุยแผ่วเบา สำรวมกิริยาอาการ ท่านผู้เจริญ
ทั้งหลายข้าพเจ้าใคร่จะขอร้องให้ท่านสำรวมกาย วาจาและใจประหนึ่งว่าท่านกำลังอยู่เฉพาะเบื้องพระพักตร์แห่งพระมหากษัตราธิราชเจ้า ผู้ทรงมหิทธิเดชและเรืองรุ่งด้วยกฤษฎาภินิหาร ข้าพเจ้าใคร่จะขอร้องให้ท่านถอดหมวกและรองเท้าของท่านออกและเก็บร่มของท่านเสีย และต่อจากนั้น จงยอบกายลงจุดธูปเทียน ปักดอกไม้ลงในแจกัน และหมอบกราบเบญจางคประดิษฐ์ลงสามครา ณ เบื้องหน้า…

“ตำนานเสาไห้” จะปรากฏต่อสายตาผู้ชมทั่วประเทศในวันอาทิตย์ที่ 26 ก.ย. 53 นี้ เวลา 4 ทุ่ม 5 นาที


และโปรดติดตามชมรายการ "สิบปากกาหน้าเลนส์" ตอนอื่นๆ ทุกวันอาทิตย์เวลา 22.05 น. ทางทีวีไทย  
......................................................................................

ขอขอบคุณทางรายการไทยเธียเตอร์ 10 ปากกาหน้าเลนส์ ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบ

วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

ตำนานเสาไห้ “ต้นธารแห่งแรงบันดาลใจ... ที่ถั่งท้นล้นหลากด้วยพลังอันมหัศจรรย์”

บทความวิจารณ์โดย สกุล  บุญยทัต

Email: blue-theatre@hotmail.com

จากสยามรัฐ สัปดาห์วิจารณ์ ฉบับที่ 43 : 16-22 ก.ค.53
............................................................................

ขอขอบคุณ คุณสกุล บุญยทัต ที่ให้ความอนุเคราะห์เผยแพร่บทความชิ้นนี้

............................................................................

“ณ ดินแดนต่างๆ ของโลกแห่งชีวิต มักมีบันทึกแห่งความทรงจำของการเล่าขานเรื่องราวต่างๆ อันเป็นที่มาที่ไปอันเร้นลึก ซ่อนอยู่กับเบื้องหลังแห่งความมีความเป็นของสิ่งนั้น... เป็นที่มาแห่งความหมายและเป็นสัญลักษณ์แห่งการตีความอันน่าครุ่นคิดและท้าทายสำนึกแห่งความเป็นจริง... บริบทโดยรวมของนัยดังกล่าวล้วนมีที่มาที่ไปอันสลับซับซ้อน ผูกติดเป็นเบื้องหลังที่เต็มไปด้วยอัศจรรย์และปาฏิหาริย์อันเหลือเชื่อ กระทั่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของมิติแห่งศรัทธาในความฝังจำของผู้อยู่ร่วม... ในฐานะของผู้รับรู้และเฝ้ามองปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างเพ่งพินิจ... มีบางสิ่งที่ก้าวขึ้นสู่บทบาทสูงสุดในทิศทางของประวัติศาสตร์ แต่ก็มีบางสิ่งที่จมลึกอยู่กับก้นบึ้งของความเปล่าดายแห่งวันเวลาที่ไม่ได้รับการเหลียวแล... นี่คือภาพแสดงอันเคลือบแคลงของสิ่งที่เรียกว่าตำนานที่ผ่านข้ามทั้ง “ความจริงลวง” และ “ความลวงจริง” จนยากที่จะเหลือสัมผัสแห่งความจริงหรือความลวงที่แท้เอาไว้เป็นที่ประจักษ์อันชัดแจ้งได้ วิถีแห่งความเป็นไปทั้งหมดนี้จึงขึ้นอยู่กับปัจเจกของผู้สัมผัสนั้นๆ ว่าจะเลือกเชื่อมันและผูกพันอยู่กับสิ่งที่เป็นดั่งปริศนานี้เช่นไร ?... ซึ่งตรงนี้คือทางออกของคำตอบอันจริงจังผู้เล่าเรื่องในแต่ละบุคคล...”


“ตำนานเสาไห้”... ตำนานบทเศร้าแห่งชีวิตที่นับเนื่องและเกี่ยวพันกับธรรมชาติอันศักดิ์สิทธิ์... วิถีอันยิ่งใหญ่ของสิ่งอันยืนยงข้ามยุคข้ามสมัยผ่านลีลาแห่งศรัทธาและความเชื่อมั่นอันไม่รู้จบ... ที่ต้องสูญสิ้นค่าความหมายแห่งตนเองลงทั้งด้วยอคติ และมิจฉาทิฐิที่ถูกครอบครองโดยมนุษย์... มันคือเรื่องราวแห่งโศกนาฏกรรมที่น่าขมขื่นใจ... ซึ่งนอกเหนือจากการคร่ำครวญหวนไห้แล้ว... ก็ไม่มีสิ่งใดที่สามารถสนองตอบกับวังวนแห่งบาปเคราะห์อันเกิดขึ้น ณ ที่ตรงนี้ได้...

“แดนอรัญ แสงทอง” นักเขียนรางวัล “ศิลปาธร” คนล่าสุดได้ร้อยเรียงเรื่องราวแห่งตำนานที่สั่นสะท้านอารมณ์นี้ด้วยเจตจำนงที่มุ่งเน้นและสร้างสรรค์ในส่วนผสานของความเป็นจริงแห่งความรู้สึกจริง กับสภาวะแห่งจินตนาการ ที่ผุดพรายขึ้นมาจากห้วงของการรับรู้ และตีความบนพื้นฐานแห่งความเป็นจิตวิญญาณที่ลึกซึ้ง

“ถ้าหากมีใครถามฉันว่า... ในฐานะนักเขียน... คุณได้เขียนเรื่องอะไรมาบ้าง ฉันก็จะตอบว่า “ตำนานเสาไห้” ถ้าเขาถามอีกว่า “เรื่องเดียวเท่านั้นรึ” ฉันก็จะตอบว่า “เรื่องเดียวเท่านั้น”

“แดนอรัญ” ได้เน้นย้ำถึงปณิธานในการเขียนงานชิ้นนี้ของเขา ซึ่งเป็นดั่งผลงานสร้างสรรค์พิเศษ ที่ถูกกลั่นออกมาจากสำนึกแห่งการร่วมรับรู้จากสัมผัสด้านในที่เต็มไปด้วยความตั้งใจและการน้อมรับภาวะอันควรยกย่องต่อสิ่งที่ถือเป็นตัวละครสำคัญที่ได้เขียนถึง... บทตอนแรกคือการคารวะต่อตำนานปรัมปราที่ดูเหมือนจะมีรากฐานมาจากสถานะอันต้อยต่ำ หากจะมองจากสายตาของคนที่อยู่ ณ เบื้องสูง ที่พร้อมจะเหยียบย่ำความเป็นพื้นถิ่นและสถานะแห่งความเป็นคติชนของชาวบ้านธรรมดาที่สืบเนื่องความเป็นศรัทธากันมาชั่วกัปชั่วกัลป์...

“ข้าพเจ้าใคร่ของร้องให้ท่านเดินแผ่วเบา พูดคุยแผ่วเบา สำรวมกิริยาอาการ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าใคร่จะขอร้องให้ท่านสำรวมกาย วาจา และใจ ประหนึ่งว่าท่านกำลังอยู่เฉพาะเบื้องพระพักตร์แห่งพระมหากษัตราธิราชเจ้าผู้ทรงมหิทธิเดช และเรืองรุ่งด้วยกฤษฎาภินิหาร ข้าพเจ้าใคร่จะขอร้องให้ท่านถอดหมวกและรองเท้าของท่านออกและเก็บร่มของท่านเสีย และต่อจากนั้นจงยอบกายลงจุดธูปเทียน ปักดอกไม้ลงในแจกัน และหมอบกราบเบญจางคประดิษฐ์ลงสามครา ณ เบื้องหน้าแท่นบูชาอันต่ำต้อยและแปลกประหลาดนี้”

ทำไมสิ่งที่ต่ำต้อยและแปลกประหลาดถึงได้รับการย้ำเตือนให้ผู้คนต้องแสดงถึงความคารวะอันยิ่งใหญ่... นั่นคือเจตจำนงอันบริสุทธิ์ของการเล่าเรื่องราวเรื่องนี้หลังจากปูมประวัติแห่งสิ่งที่ดูเหมือนจะต่ำต้อย ณ เวลานี้ ได้ถูกขยายความออกไปในลักษณะของการเป็นที่พึ่งในมิติแห่งการเซ่นสรวงบวงพลี เพื่อประโยชน์เฉพาะตนมากกว่าการที่จะน้อมรำลึกถึงอดีตกาลอันล้ำค่าที่เคยเป็นตราความหมายอันยาวนานนับพันปีของสิ่งๆ นั้น... มนุษย์เราต่างพากันหลงลืมอดีตอันศักดิ์สิทธิ์ และพากันหมกมุ่นอยู่กับปัจจุบันอันฉาบฉวยเปราะบางกันอย่างไม่ลืมหูลืมตา ดวงจิตของมนุษย์ส่วนใหญ่ในโลกของวันนี้ จึงจมดิ่งอยู่กับแรงปรารถนาในชั่วครู่ยามของตนเพียงเท่านั้น

“เพราะท่านมาสู่ที่แห่งนี้ เพื่อแสวงหาสิริมงคลคุ้มครองตนเพื่อเสริมสร้างพลังใจของท่านให้แข็งกล้า เพื่อขยายขอบเขตแห่งความคิดฝันและจินตนาการของท่านให้กว้างขวางลึกล้ำและมีสีสันขึ้น เพื่อยกระดับจิตใจของท่านให้สูงส่งขึ้น และเพื่อเป็นประจักษ์พยานต่อสิ่งที่หลงเหลืออยู่จากความมลังเมลืองของตำนานอันยิ่งใหญ่ที่กำลังถูกลืมเลือนและถูกบิดเบือนให้เฉไฉไปมิใช่หรือ”

แท้จริงสิ่งที่ผู้คนหลั่งไหลกันมาบูชานั้นคืออะไร ? แน่นอนว่าทุกสิ่งอาจเคยเป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ แต่ด้วยหัวใจของมนุษย์ สิ่งอันเป็นทั้งความยิ่งใหญ่และไม่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายอาจมีค่าเสมอกัน หากการยอมรับนับถือของชีวิตไม่ได้ถูกดึงออกมาจากเบ้าหลอมอันหม่นไหม้ของอวิชชา... อะไรก็เป็นอะไรได้... ท่ามกลางมโนธรรมสำนึกอันผุกร่อนและความเป็นไปแห่งเจตนาที่ถูกห่มคลุมด้วยความเห็นแก่ตัว ซึ่งปราศจากเป้าหมายของความดีงาม... นี่อาจเป็นบรรทัดฐานแห่งความผิดบาปของชีวิต ที่ปรากฏร่างขึ้นโดยไม่หวั่นเกรงต่อคุณธรรมอันหมายถึงตัวแทนที่ล้ำลึกของคุณธรรม “บนแท่นบูชามิใช่พระพุทธรูปมิใช่ประติมากรรมรูปทวยเทพหรือรูปปั้นของวีรบุรุษ หรือรูปปั้นสิงสาราสัตว์อันมีอยู่เพียงในจินตนาการจากเทพนิยายใดๆ หากแต่เป็นเสาไม้ต้นหนึ่ง โคนกว้างเพียงหนึ่งคนโอบกลมกลึงประหนึ่งสลักเสลา ค่อยๆ รีเรียวด้วยลีลาวิจิตร บรรจงจากโคนไปจรดปลาย ประหนึ่งนายช่างเอกเขาแกล้งหล่อคำนวณความยาวราวสิบวาเศษ ทุกหนทุกแห่งแหล่งที่บนเสาต้นนี้เหลืองอร่ามไปด้วยแผ่นทองคำเปลว เสาต้นนี้เป็นสิ่งที่สิงสถิตของดวงวิญญาณอันเจิดจรัสดวงหนึ่งท่ามกลางดวงวิญญาณอันเจิดจรัสทั้งสากลจักรวาล ความเป็นมาของเสาต้นนี้ และวิญญาณดวงนี้ ผู้คนเขาเล่าขานสืบต่อกันมาเป็นตำนานปรัมปรา”

“แดนอรัญ” ได้สร้างตัวละคร (Character) ในงานประพันธ์ของเขาที่ไม่ได้เป็นมนุษย์ ด้วยการบรรยายจนรับรู้และรู้สึกในความมีชีวิตชีวาที่สมจริงและผูกมัดไว้ด้วยความน่าเชื่อถือด้วยวิถีแห่งการอาศัยจินตนาการที่ประมวลเอาจากสิ่งที่เห็นจากภายนอกทั้งหมดให้เข้ากับสิ่งที่เป็นแก่นสารอันสลับซับซ้อนภายใน... ที่มาที่ไปของตัวละครสำคัญได้เชื่อมโยงเข้ากับสภาวะของความเป็นอดีต... ได้หลอมรวมเข้ากับความเป็นนิรันดร์ ซึ่งประเด็นตรงส่วนนี้คือการนำเสนอในด้านประพันธกรรมที่นับว่าเป็นการอวดฝีมือของผู้เขียน โดยเฉพาะกับการนับเชิงเปรียบเทียบที่สื่อออกมาด้วยการพรรณนาถึงคุณสมบัติอันโดดเด่น จนเห็นได้ถึงเอกลักษณ์ของสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่สามารถแทนความหมายได้ทั้งหมด (Synecdoche) การเขียนในลักษณะนี้นี่เองที่ทำให้ “ตำนานเสาไห้” หนังสือเล่มบางๆ เพียงสามสิบกว่าหน้าได้กลายเป็นดั่งมหาสมุทรแห่งความงามในแง่มุมที่เป็นทั้งสุนทรียศาสตร์และความคิดในเชิงประวัติศาสตร์และสังคมที่กระจ่างชัด... ความชัดเจนของเรื่องเล่าเรื่องนี้อยู่ที่ความสามารถของผู้เล่าด้วยภาษาอันสละสลวย... และด้วยเนื้อในของความรู้สึกที่สามารถขับขานอารมณ์ของภาษาในช่วงตอนต่างๆ ของเรื่องราวให้ปรากฏออกมา ดั่งบทเพลงของจิตวิญญาณ... ท่วงทำนองและลีลาจังหวะของถ้อยคำต่างเคลื่อนไหวไปบนเส้นเสียงแห่งสรรพสิ่งของธารสำนึก... มันคือภาพแสดงทางวรรณกรรมที่เต็มไปด้วยสีสันแห่งความจริงและภาวะไหวสะท้านทางความตระหนักรู้...

“ดวงวิญญาณนี้... แต่ก่อนร่อนชะไรครองรูปลักษณ์เป็นอิตถีเพศสะคราญโฉมเยี่ยงอัปสรสวรรค์ แลแม่นางนั้นไร้ชื่อ แม่นางดำรงอายุขัยมาเนิ่นนานนับสิบศตวรรษ แต่ด้วยบุญญาภินิหาร แม่นางจึงครอบครองความเป็นสาวสวยนะแน่งไว้ชั่วกาลนาน มีเกศายาวสลวยดำขลับวะวาวดั่งขนแห่งนกกาน้ำ ตางามดั่งตาทราย คิ้วโก่งดั่งคันศรแห่งกามเทพ ริมฝีปากแดงดั่งดอกกุหลาบ ฟันขาวดั่งไข่มุก หูดั่งหอยสังข์ แขนสละสลวยดั่งต้นอ้อย ขากลมกลึงเรียวงามดั่งต้นกัทลีในป่าสีมรกตแห่งแดนหิมพานต์ เท้าอวบอิ่มอ่อนนุ่มเหมาะสำหรับจะเหยียบย่างลงบนตฤณชาติเขียวขจีอันพร่างพราวด้วยหยาดน้ำค้างในอุทยานแห่งแดนสรวง ทรวงเต่งตูมดั่งดอกบัวตูมสองดอกที่อยู่เคียงกัน จมูกงามเหมือนดอกไม้ไร้ชื่อ มือทั้งสองงามเหมือนช่อดอกไม้อีกอย่างหนึ่งซึ่งไร้ชื่อเช่นกัน กาลเวลาไม่อาจระคายรูปโฉมของแม่นางได้ เพราะแม่นางมีชีวิตอันเป็นนิรันดร์ (โอ้แม่นางได้สร้างความผิดบาปใดไว้ตั้งแต่เมื่อหนใดหนอ จึงได้ถูกสาปให้มีชีวิตอันเป็นนิรันดร์) โลหิตทุกหยาดในกายแม่นางเป็นคนไทยบริสุทธิ์ และหยาดอสุชลของแม่นางก็เช่นกัน”

บทพรรณนาที่เต็มไปด้วยความวิจิตรตระการนี้ นับเป็นภาวะที่บ่งชี้ให้เห็นถึงรูปโฉมของจินตนาการที่บันทึกอยู่ในห้วงคิดของผู้เขียน... ‘แดนอรัญ’ ให้การยกย่องตัวละครตัวนี้ในฐานะปฐมบทของตำนาน ซึ่งสร้างความหมายต่อสัมผัสแห่งจิตใจได้อย่างแยบยล... ขณะที่มนุษย์ต้องตกอยู่ในวงกรอบของโชคชะตา ซึ่งเราต่างมีสิ่งที่รักใคร่บูชาและสิ่งที่เราอาจถือว่าเป็นความเกลียดชั่งล้ำลึก

ชีวิตมักมีสิ่งที่เราจดจำและพึงใจ เพียงแต่ว่าเราจะสามารถบอกกล่าวเล่าขานถึงสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์อย่างเต็มที่สักเพียงไหนเท่านั้น... ดูเหมือนว่าขณะที่เราก่นด่าสาปแช่งอะไรสักอย่าง แรงขับด้านในของเรากลับส่งเสียงได้ก้องกังวานมากยิ่งกว่าความดีงาม นี่เป็นบรรทัดฐานแห่งการก้าวย่างของตำนานว่า... จะดำรงอยู่ด้วยความรักหรือความเกลียดชังกันแน่... บนโลกที่ศรัทธาอันบริสุทธิ์กำลังจะถูกลืมเลือนและปิดตายด้วยพันธนาการของความว่างเปล่า...

‘แดนอรัญ’ ได้ชี้ให้เห็นว่าความเป็นมาและนิวาสสถานของความเป็นอดีตนั้นยิ่งใหญ่และมีค่าเสมอ... แม้ว่ามันจะถูกทำลายลงอย่างโหดร้ายจากสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่ไม่เคยเห็นค่าของมันก็ตาม... อดีตก็คืออดีต... ความงามของมันสถิตอยู่ในก้นบึ้งของหัวใจสำหรับผู้รับรู้เป็นสัมพันธภาพทางจิตวิญญาณที่ก่อเกิดและไม่มีวันจบสิ้น... มีอยู่หลายครั้งหลายหนที่ความเป็นอดีตของโลกนี้ถูกทิ้งขว้างไปอย่างไม่ไยดี โดยเฉพาะอดีตที่อาจหาค่าไม่ได้ด้วยทัศนคติของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน... การทำลายล้างในบริบทของความไม่รู้... ยังคงเดินเคียงคู่ไปกับเส้นทางของทรรศนะเชิงอคติที่ไม่เคยให้ค่าต่อสิ่งใด นอกจากค่านิยมเชิงผลประโยชน์นี้ที่ถูกกำหนดขึ้นมาด้วยมายาคติที่เห็นแก่ได้อันเป็นเหตุผลเฉพาะที่ยิ่งใหญ่ของตนเองเพียงเท่านั้น... เหตุนี้... อดีตจึงถูกทำลายลงครั้งแล้วครั้งเล่า และความเป็นอดีตก็เป็นเพียงภาพบรรยายที่เหลืออยู่ในความทรงจำเฉพาะบุคคลเพียงเท่านั้น...

“นิวาสสถานของแม่นางนั้นงามจับตานัก เป็นตะเคียนทองอายุขับหนึ่งพันปี สูงลิบลิ่วตระหง่านเงื้อมอยู่เหนือป่าดิบ ต้นแม่น้ำป่าสักลำต้นเป็นเปลาระหงกลมกลึง แผ่กิ่งก้านรกครึ้มเขียวขจีออกเป็นเชิงเป็นชั้นดั่งร่มฉัตร... มีกล้วยไม้ ป่าหลากสีประดับประดา ร่มเงาเคหาสน์นางไม้นี้แผ่ขยายเป็นวงกว้าง เหนือผืนดินบริเวณโคนต้นคือพงหญ้าเขียวและดงดอกไม้หลากสี ส่งกลิ่นหอมตลบอบอวล ณ ที่แห่งนี้หมู่กวางก็เคยมาเยื้องชำเลืองเดินและเล็มหญ้า กระทำให้ฝูงผึ้งแมลงภู่และผีเสื้อบินว่อนกระจัดกระจาย แต่พยัคฆาและเสือสีห์อันร้ายกาจมิเคยเลียบเคียงดุ่มด้อมเข้ามาเลย ณ ที่แห่งนี้ปักษาสีสดใสเสียงไพเราะที่ยังชีพด้วยธัญพืชและไม้ผลต่างก็เข้ามาเกาะพักเหนื่อยและขับขานบทเพลง แต่ปักษาล่าเหยื่อสีคล้ำทะมึนมีเสียงชวนหวาดแสยงที่ยังชีพด้วยชีวิตสัตว์อื่นมิเคยย่างกรายเข้ามาเลย ตะเคียนทองต้นนี้งามเลิศล้ำอำไพยิ่งนัก และแม่นางก็ดื่มด่ำปีติสุขภาคภูมิใจในอหังการ์แห่งเรือนงามของตนเสมอมา อันว่าแม่นางครองสถานภาพสูงส่ง เป็นราชินีแห่งนางไม้ทั้งหลายฉันใด ตะเคียนทองของแม่นางก็ครองสถานภาพสูงส่งเป็นราชินีแห่งมวลพฤกษาในป่าฉันนั้น”

แน่นอนว่าโครงเรื่องของชีวิตไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็ตามย่อมมีภาวะที่ต้องถูกเบี่ยงเบน... “ไม้งามย่อมมีคนจอง” กิตติศัพท์ของตะเคียนทองต้นนี้บันลือไกล เป็นเหตุให้มีคนเข้ามาเชิญวิญญาณของแม่นางผู้สิงสถิตไปอยู่ ณ ศาลเพียงตาแทน...ด้วยความหวังจะนำตะเคียนทองต้นนี้ไปเป็นเสาเอกของวัง เจ้าเมืองก็มี... ไปเป็นเสาเอกเคหาสน์ ของคหบดีผู้มั่งคั่งหรือขุนนางยศใหญ่ก็มี... จะเอาไปต่อเป็นเรือใหญ่สำหรับแข่งขันในฤดูน้ำหลาก จะเอาไปทำเป็นเสาเมรุมาศให้ท้าวพระยามหากษัตริย์องค์นั้นองค์นี้บ้างล่ะ “แต่แม่นางก็ยืนกรานปฏิเสธเสมอมา”... ครั้นพอมีคนหักหาญดันทุรังจะโค่นตะเคียนทองลง แม่นางก็สำแดงเดช ขู่ขวัญเขาต่างๆ นานา...

บริบทแห่งตะเคียนทองต้นนี้กับเงาร่างของแม่นางผู้เป็นเจ้าของอันสืบเนื่องอยู่ร่วมกันมานับพันปี... ถือเป็นบทตอนที่สื่อแสดงถึงภาวะอันยิ่งใหญ่ของโลกธรรมชาติที่ธำรงอยู่ด้วยสิ่งแวดล้อมอันให้คุณค่าแก่กันและกันเสมอมา แม้ว่าจะถูกรุกรานหรือคุกคามจากปัจจัยภายนอกสักเพียงใดก็ตาม... โดยเฉพาะจากค่านิยมแห่งสัญลักษณ์ทางชนชั้นที่คอยบีบบังคับและรังแกขู่เข็ญอยู่เสมอ... ‘แดนอรัญ’ ได้นำมิติทางประวัติศาสตร์ของชาติไทย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ในช่วงแห่งความรุ่งโรจน์และสูญเสียแทรกไว้ในการประพันธ์อย่างมีชั้นเชิง... ผ่าน “ทิพยจักษุ” แห่งแม่นางผู้มีญาณวิเศษและอำนาจเหนือธรรมชาติในช่วงชีวิตอันยาวนาน... สิ่งนี้คือมิติแห่งอุทาหรณ์เชิงเปรียบเทียบที่ทั้งเป็นสุขและทุกข์อันเนื่องมาแต่ปรากฏการณ์ของแผ่นดิน “แม่นางได้รับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในดินแดนสุวรรณภูมินี้มาตั้งแต่บรมสมกัป ทั้งที่เกิดในเวียงวังของท้าวพระยามหากษัตริย์ ทั้งที่เกิดในเรือนชานบ้านช่องและกระท่อมทับของสามัญชน” นับจากพระยาพานคลุ้มคลั่งอยู่ในท้องพระโรงเมื่อรู้ว่าตนได้ฆ่าบิดาด้วยมือแห่งตนและเสพสังวาสกับมารดาแห่งตนเข้าให้เสียแล้ว

แต่แม้กระนั้นก็ยังสั่นประกาศิตสั่งฆ่ายายหอมผู้เลี้ยงดูตนมา... ได้เคยเห็นพ่อขุนผาเมืองเจ้า เมืองราดขึ้นช้างทรงกลับไปยังเมืองของพระองค์ หลังจากช่วยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ กำราบขอมโดยไม่แยแสกับบัลลังก์กษัตริย์สุโขทัยอันว่างเปล่าซึ่งรอคอยพระองค์อยู่ เพราะทรงมีความรักในเทวตาธรรมยิ่งกว่าความรักในเศวตฉัตร... ได้เคยเห็นพระมหินทราธิราชหมอบกราบลงแทบบาทบุเรงนอง ยอมยกกรุงศรีอยุธยาให้เป็นข้าขอบขัณฑสีมาแก่กรุงหงสาวดี... ได้เคยเห็นพระนเรศวรผู้ฉกาจกล้าคร้ำเคร่งฝึกปรือพาหุยุทธ์คิดการซ่องสุมผู้คนจะสลัดแอกพม่า... และแม่นางก็ได้เห็นพระเจ้าเอกทัศน์ร่ำน้ำจัณฑ์เมามาย... ยังหมกไหม้ใฝ่ฝันอยู่กับกามรส แม้ในยามเสียงปืนใหญ่ของกองทัพพม่าจะคำรนคำราม “แม่นางได้เห็นมาทั้งหมดทั้งสิ้น ประดาชนเผ่าไทยเมื่อยามเขามีสุข เมื่อยามบ้านเมืองปราศจากสงคราม... แม่นางได้เห็นอีกเช่นกัน ประดาชนเผ่าไทยเมื่อคราที่ เขาอกไหม้ไส้ขม... แตกสานซ่านเซ็นเพราะถูกกองทัพศัตรูรุกราน... แม่นางอิ่มสุข เมื่อเห็นเขาอิ่มสุข แม่นางร่ำไห้ เมื่อเห็นเขาร่ำไห้... เขาเหล่านั้นเป็น ชนเผ่าเดียวกันกับแม่นางทั้งหนุ่มสาวลูกเล็กเด็กแดงและเฒ่าชแรแก่ชราเหล่านั้น... เขาเป็นส่วนหนึ่งของแม่นาง แม่นางเป็นส่วนหนึ่งของเขา มันเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร มันเกิดขึ้นแต่ครั้งไหน แม่นางไม่รู้เลย รู้แต่เพียงว่ามันจะเป็นเช่นนั้นไปอีกนานเท่านาน”

เบ้าหลอมแห่งสำนึกที่ผ่านผัสสะของดวงตาภายในของ ‘แดนอรัญ’ ตรงส่วนนี้สื่อสำนึกถึงความจริงแท้แห่งภาพแสดงที่ตราตรึงอยู่กับความหมายทางประวัติศาสตร์ มันคือบทวิพากษ์ทางความคิดต่อสิ่งที่เห็นและสิ่งที่แสดงอยู่เบี้องหน้าของการรับรู้... ประวัติศาสตร์ผ่านไปแล้ว... มันไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงและพลิกกลับเหตุการณ์ใดๆ ได้อีก แต่มันก็ยังสามารถตีความใหม่ด้วยมุมมองใหม่ได้ สุดแต่ว่าสำนึกคิดของผู้อยู่ร่วมในแผ่นดินจะตระหนักถึงผลลัพธ์แห่งการรับรู้ดังกล่าวนี้กันมากน้อยเพียงไหนเท่านั้น...

‘แดนอรัญ’ มองเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยสายตาที่คมกริบ มันเต็มไปด้วยโจทย์แห่งคำถามที่เน้นย้ำให้ต้องขบคิดและไม่อาจมองข้ามผ่าน เช่นเดียวกับประเด็นอันสำคัญที่สุดของเรื่องเล่าเรื่องนี้... ที่นับเป็นอุบัติการณ์แห่งการสร้างบ้านแบ่งเมืองใหม่หลังจากล่มสลายอันน่าสมเพชเวทนา... จากภาวะแห่งการขาดสติและไร้ความรับผิดชอบของผู้นำ

เมื่อสิ้นอยุธยา... ผ่านกรุงธนบุรี จนล่วงเข้าสู่การสถาปนาเมืองหลวงใหม่ขึ้น อันหมายถึงกรุงเทพมหานคร... เมืองใหม่... ที่ถูกสร้างขึ้นจากจิตอันรับผิดชอบและความหวังแห่งความเป็นอนาคต... นั่นคือเจตนารมณ์อันสูงส่งที่ทำให้แม่นางตัดสินใจสละเรือนรังอันหมายถึงต้นตะเคียนทองอายุพันปีให้มาเป็น... “เสาหลักเมือง” ของเมืองใหม่แห่งความหวังแห่งนี้... หลังจากเมื่อไม่นานก่อนหน้านั้นแม่นางต้องสิ้นหวังและเสียน้ำตาให้แก่การสูญสิ้นกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า

“คราครั้งนั้น... ในป่าใหญ่ต้นแควแม่น้ำป่าสัก... ตะเคียนทองต้นนั้นยอดค้อมต่ำลงมาด้วยน้ำหนักแห่งความสิ้นหวัง ลำต้นบิดงอด้วยความรวดร้าวอันแทบจะทานทนมิได้... ยางสีแดงซึมเปรอะไปทั้งลำต้นและกิ่งก้านน้อยใหญ่ผุดพรายดังเหงื่อที่กลายเป็นเลือด... พรานป่าหลายต่อหลายคนเขาก็ได้เห็นแม่นางด้วย... บางทียืนอยู่โคนต้นตะเคียนทองด้วยร่างที่แทบทรงไว้มิได้ น้ำตาไหลพรากใบหน้า... เหม่อมองออกไปยังราวป่าเมื่อยามตะวันชิงพลบ บางทีคุดจับเจ่าอยู่บนคาคบ เกศายุ่งเหยิง เรือนกายผ่ายผอม ผิวพรรณซีดเซียว กำลังเอามือปิดหน้าตนเองสะอึกสะอื้นพิรี้พิไรอยู่ในแสงอันกระจ่างจ้าแห่งทิวาวาร”

“ตำนานเสาไห้” เป็นเรื่องเล่าของอะไรกันแน่ บนวิถีแห่งการสร้างสรรค์ของ ‘แดนอรัญ แสงทอง’  

มันคือความเปรียบที่เป็นภาพแสดงทางการเมืองที่ขมขื่นของอดีตที่ไม่อาจหวนคือกลับมาได้อีกแล้ว แต่กับปัจจุบันเหตุการณ์อันน่าขมขื่นใจและไร้สาระนั้นก็ยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า หรือนี่คือเรื่องราวอันงดงามแห่งพลังอำนาจของธรรมชาติ... ที่มักจะถูกทำลายความยิ่งใหญ่ด้วยน้ำมือและหัวใจอันพลิกผันของหมู่มวลมนุษย์... อยู่มิได้ขาด

“เขาริดกิ่งรอนก้านตะเคียนทองออกเสียจนสิ้น เขาบั่นปลายยอดของตะเคียนทองทิ้ง เขาเฉาะขวานเลาะเปลือกและกระพี้ของตะเคียนทองออกอยู่ฉับๆ แม่นางก็ให้ปวดร้าวไปทั่วสรรพางค์ แต่ก็มิได้หวีดร้อง ข่มกลั้นทุกขเวทนาทั้งหลายทั้งปวงไว้เยี่ยงมารดาในยามกำเนิดบุตร”

แม่นางยอมเสียสละด้วยความเจ็บปวดของตนเองเพื่อจะไปเป็นรากฐานของชีวิตใหม่แห่งแผ่นดิน ไปเป็นเสาหลักเมืองให้เป็นศรีเป็นศักดิ์แก่เมืองกรุงใหม่ที่เต็มไปด้วยความเจริญรุ่งเรือง แต่ท้ายที่สุดแม่นางและตะเคียนทองกลับไปไม่ถึง... คุณค่าที่ใครๆ เคยยกย่องกลับมิอาจรอคอยได้ โดยช่างผู้สร้างเมืองใหม่ เขาเลือกเสาต้นอื่นไปทำเสาหลักเมืองเสียแล้ว... นี่คือความวิปโยคแห่งชะตากรรมของการพลีกายถวายชีวิต ความวิปโยคจากความคิดฝันที่จะบำเพ็ญประโยชน์ แต่ก็ไม่อาจสมใจตามที่ได้ตั้งหวังไว้ ใจแม่นางก็รอนร้าว อกนี่เหมือนจะแตกออกเป็นเสี่ยง ทั้งหมดทั้งปวงนี้ลงเอยที่ความเปล่าดายเสียแล้วกระนั้นหรือ แต่จะโกรธใครเขาได้เล่า จะโทษใครเขาได้หรือ แล้วนี่ฉันจะทำฉันใดต่อไปดี จะกลับหรือก็ไม่ได้ จะไปหรือก็ไม่ถึงแล้ว แม่ก็ก่นแต่จะร้องไห้รำพันพิลาป มิรู้จะบอกกล่าวทุกข์โศกของตนให้ผู้ใดฟัง... แล้วซุงตะเคียนทองก็สำแดงปาฏิหาริย์สอยเวียนทวนน้ำและจ่มลงในลำน้ำป่าสักนั่นเอง

“ ตำนานเสาไห้” เป็นประพันธกรรมที่เต็มไปด้วยมิติสัญญะแห่งความเป็นพื้นถิ่น (Localdialect) ที่ ‘แดนอรัญ’ ได้ใช้ทักษะปรับแปลงมาเป็นนัยของเรื่องราวที่ทับซ้อนกันในจิตสำนึกอันน่าใคร่ครวญ ... บ้างเป็นความจริงในวิถีศรัทธาอันเร้นลับ... บ้างเป็นข้อเปรียบเทียบที่แสดงถึงผลึกแห่งอดีตที่ถูกมองข้ามมาเสมอและยังขบไม่แตก... ทั้งหมดทั้งสิ้นล้วนคงอยู่และตายไปในรากฐานแห่งความเป็นชีวิตของเราที่เป็นประหนึ่งเงาสะท้อนระหว่างมายาคติกับสิ่งที่อยู่เหนือจากสำนึกทั้งหลายทั้งปวง มันคือด้านที่สลับซับซ้อนแห่งลำดับขั้นในสถานะของความเป็นมนุษย์ที่แท้ นี่คือ... งานสร้างสรรค์อันชวนติดตาม... ทั้งด้วยภาษาและความคิดแห่งการประพันธ์ที่เปี่ยมไปด้วยประกายแห่งการพินิจพิเคราะห์ที่มิใช่เพียงการเล่าขานอย่างสามัญ แต่มันคือตำนานอันหยั่งลึกของสิ่งบางสิ่งที่อาจกลายมาเป็นเสาหลักแห่งแรงบันดาลใจ ตลอดจนความเชื่อและศรัทธาของผู้คนทุกคนในที่สุด

ว่ากันว่า เนิ่นนานนับร้อยปีต่อมาแม่นางจึงข่มใจได้สงบ วันหนึ่งเมื่อผู้คนเขาทำพิธีอัญเชิญ ซึ่งตะเคียนทองต้นนั้นขึ้นจากน้ำ แม่นางก็ยินยอมแต่โดยดี... เมื่อเขาเอาซุงขึ้นไปไว้ในบริเวณวัดแห่งหนึ่ง แม่นางก็ไม่ว่ากระไร... แม้ซุงตะเคียนทองต้นนี้จะซูบเรียวลง หดสั้นลงและแตกแยกร้าวรานไปทั่วด้วยอำนาจแห่งความตรอมตรม แต่ผู้คนทั้งจากใกล้และไกลก็ต่างพากันไปกราบไหว้อยู่เสมอมิได้ขาดสาย เขาเอาทองคำเปลวปิดประดับเสียเรืองอร่ามจากโคนจรดปลาย... ใจของเขาหม่นหมองเมื่อเขาก้มลงกราบ สะท้อนสะท้านเมื่อเขาหวนคะนึงถึงชะตากรรมที่แม่นางได้ประสบ แต่ในขณะเดียวกันขอบเขตความคิดฝันของเขาก็กว้างขวางขึ้น ดวงจิตของเขาลึกล้ำและใสกระจ่างขึ้น

สำหรับบางคนผู้มีสภาวะจิตอันประภัสสรและอ่อนไหว อันได้แก่ เด็ก นักฝัน กวี และศาสดาพยากรณ์เรื่องราวอันว่าด้วยตำนานของแม่นางก็เป็นประหนึ่งต้นธารแห่งแรงบันดาลใจที่ถั่งท้นล้นหลากด้วยพลังอันมหัศจรรย์ นั่นหมายถึงว่าลึกลงไปในความทรงจำ การก่อเกิดของตำนานย่อมขึ้นอยู่กับเนื้อแท้แห่งศรัทธาที่ส่องสะท้อนถึงการน้อมคำนับต่อจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ที่ไม่เคยเปลี่ยนแปรเป็นอื่นใด

“ด้วยเหตุนี้ข้าพเจ้าจึงใคร่ขอร้องให้ท่านเดินอย่างแผ่วเบา พูดคุยแผ่วเบา สำรวมกิริยาอาการ ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าจะขอร้องให้ท่านสำรวมกายวาจาใจ ประหนึ่งว่าท่านกำลังอยู่เฉพาะเบื้องพระพักตร์แห่งพระมหากษัตราธิราชเจ้าผู้ทรงมหิทธิเดชและเรืองรุ่งด้วยกฤษฎาภินิหาร”


วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แม็ตตี้ รอสส์ และพลพรรคคนเถื่อนผู้มีหัวใจอารยะ

บทความวิจารณ์โดย ทวีศักดิ์ แก้วเข้ม
ขอบคุณนิตยสาร ฅ.คน ที่ให้ความอนุเคราะห์บทความชิ้นนี้ 

เรื่องราวของอีเด็กสาวอายุเพียง 14 ปีคนหนึ่ง ทิ้งบ้านทิ้งช่องออกไปในวันหนึ่งของฤดูหนาว รอนแรมไปบนหลังม้ากับมือปราบห้าวๆ 2 คน เพื่อไล่ล่าโจรที่ฆ่าพ่อของตนอย่างเอาเป็นเอาตาย ประทับตรึงใจข้าเหลือประมาณจนอดรนทนไม่ไหวต้องมาบอกเล่าสู่กันฟัง...


อีเด็กสาวใจเด็ดเดี่ยวผู้นี้มีนามกรว่า แม็ตตี้ รอสส์ เป็นคนพูดจาโผงผางตรงไปตรงมา ติดจะเอาจริงเอาจังเกินเด็ก ไม่มีจริตจะก้านเป็นผู้ลากมากดีแบบอีเด็กสาวติ๋มๆ อย่างที่เราเห็นอยู่เกลื่อนกล่นในปัจจุบันนี้หรอก ลองว่าแม็ตตี้มันอยากจะได้อะไรขึ้นมาแล้วล่ะก็เป็นกัดไม่ปล่อย ในความไร้เดียงสาของมันซ่อนซุกความมุ่งมั่นในจุดหมายเอาไว้เต็มเปี่ยม ในความแก่นแก้วของมันแฝงสัมมาคารวะเอาไว้ในจังหวะที่ควรมีสัมมาคารวะ ความห้าวหาญบวกมานะของอีเด็กสาวชาวไรคนนี้ทำให้มือปราบอ้วนตาเดียว – รุสเตอร์ ค็อกเบอร์น และมือปราบเจ้าสำอางผมวัวเลีย – ลาบีฟ ยอมใจให้มันร่วมขบวนพลพรรคไปด้วยจนบรรลุภารกิจ กระนั้นตอนท้ายๆ ก็เล่นเอาใจหายใจคว่ำสะบักสะบอมไปตามๆ กัน

พี่ลาบีฟหัวแตก น้ารุสเตอร์โดนปืนที่หน้าและไหล่ สำหรับอีแม็ตตี้กลายเป็นเดชอีด้วนไป

พลันที่แม็ตตี้ทราบข่าวสายฟ้าฟาดว่าพ่อของมันโดนไอ้ทอม เชนีย์ ลูกจ้างในไร่ยิงกลางแสกหน้า ปล้นเอาเงิน ทองคำ และม้าไป ระหว่างเดินทางมาซื้อม้ากับผู้พันสโตนฮิลล์ ที่ฟอร์ทสมิธ มันก็รีบจับรถไฟขึ้นมาขอรับศพ มันจัดแจงทุกสิ่งทุกอย่างเสร็จสรรพเป็นอันดีแล้วก็ส่งศพพ่อของมันกลับบ้านโดยไม่ยอมกลับมาร่วมพิธีศพ มันต้องการให้ไอ้คนที่ฆ่าพ่อชดใช้การกระทำของมันด้วยชีวิตเท่านั้น มันเช่าโรงแรมอยู่เพียงลำพัง จัดการขายม้าคืนกลังให้ผู้พันสโตนฮิลล์ ตาแก่คนนี้แม็ตตี้ต้องชิงไหวชิงพริบอยู่นานครันจนได้เงินมาก้อนหนึ่ง จากนั้นมันจึงไปติดต่อทาบทามรุสเตอร์ ค็อกเบอร์น มือปราบอ้วนตาเดียวผู้มาดหมายว่า “ถ้าได้ตายตอนยิงกะใครสักคนก็คงจะสุขบรม”

มันเจรจาธุรกิจไล่ล่าโจรใกล้สำเร็จอยู่รอมร่อ พี่ลาบีฟมือปราบเจ้าสำอางผมวัวเลียแห่งเทกซัสก็ดันมาขัดขวางได้เสียนี่ ลาบีฟกำลังตามจับไอ้ทอม เชนีย์เหมือนกัน มันเห็นเป็นการสมควรว่ารุสเตอร์กับมันควรจับมือกันในภารกิจนี้ แต่ถ้าต้องกะเตงอีเด็กแก่แดดคนหนึ่งเดินทางไปด้วยนี่ก็จะเป็นเรื่องโง่บรม แม็ตตี้โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงที่รุสเตอร์เห็นดีเห็นงามตามลาบีฟ แต่มันก็ไม่ยอมแพ้หรอก มันจัดการหาม้ามาตัวหนึ่ง ขี่ติดตามสองมือปราบไปอย่างไม่ลดละความเพียร จนสุดท้ายทั้งสองต้องยอมในความเด็ดเดี่ยวของมัน แม็ตตี้ รอสส์ และพลพรรคจึงพากันร่วมรอนแรมไปบนหลังม้า มีปืนผาครบครัน ฝ่าความหนาวเยือกเพื่อออกตามล่าตัวไอ้โจรห้าร้อย

รุสเตอร์ขี่ไอ้โบม้าคู่ทุกข์คู่ยากบัญชาการ ลาบีฟขี่ไอ้แกลบตัวเล็ก ส่วนแม็ตตี้ขี่ลิตเติ้ลแบล็คกี้ – ม้าที่จะช่วยชีวิตแม็ตตี้ด้วยชีวิตของมันเอง!

สามพระหน่อระหองระแหงกันไปตลอดทาง คอยคุยข่มคุยทับกันไม่หยุดไม่หย่อน กว่าจะสามัคคีคาวบอยกันได้ บ้างก็ล่วงเข้าเขตแดนกบดานของไอ้ลัคกี้เน็ด เป็ปเปอร์ กับสมุนของมัน (มีไอ้ทอม เชนีย์ตัวร้ายรวมอยู่ด้วย) ไอ้หัวหน้าโจรร่างเล็กคนนี้เคยโดนรุสเตอร์ยิงปากแหว่งมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ก่อนที่จะได้ฉะกันให้ฝุ่นตลบอบอวลเป็นศึกตัดสินว่าใครจะอยู่ใครจะไป แม็ตตี้ก็มามีอันได้ปะหน้ากับไอ้ทอม เชนีย์ตัวต่อตัว ตอนที่มันไปตักน้ำเพื่อจะเอามาล้างหน้าล้างตา มันจัดการยิงไอ้โจรหนึ่งโป้งด้วยปืนรุ่นโบราณของพ่อมันจนไอ้โจรซี่โครงหัก ตอนนี้เองที่ไอ้ทอม เชนีย์เอ่ยปากขอโทษว่ามันเสียใจที่ยิงพ่อของแม็ตตี้ บอกว่ามันเมา มันไม่ตั้งใจ จากนั้นมันก็ใช้ชั้นเชิงโจรรวบตัวแม็ตตี้เอาไว้จนได้ ร้อนถึงรุสเตอร์กับลาบีฟต้องมาช่วยแก้ไข

สองมือปราบแบ่งหน้าที่กันโดยลาบีฟปืนเขาขึ้นมาช่วยแม็ตตี้ส่องไอ้ทอม เชนีย์ด้วยปืนควายประจำตัวหนึ่งโป้งจนมันบาดเจ็บ แต่ก็เผลอโดนมันเอาหินทุบหัวแตกจนได้ขณะช่วยยิงสกัด ระหว่างที่รุสเตอร์บุกเดี่ยวตะลุมบอนกับไอ้เน็ด เป็ปเปอร์และลูกสมุน กว่ามือปราบอ้วนตาเดียวจะเสร็จศึกมาช่วยอีกแรง แม็ตตี้ก็ดันตกลงไปติดแหง็กในโพรงงูหางกระดิ่งเพราะแรงถีบของปืนควายที่มันยิงใส่ไอ้ทอม เชนีย์ แม็ตตี้แขนซ้ายหักและโดนงูหางกระดิ่งกัดเอาขณะยักแย่ยักยันช่วยตัวเองอยู่เพียงลำพันในโพรง หลังรุสเตอร์จัดการไอ้ทอมจอมอึดให้ไปพบกับยมบาลแล้วจึงเอาเชือกผูกเอวลงมาช่วยแม็ตตี้ออกจากโพรงหินได้ในที่สุด ทั้งนี้ก็ด้วยการช่วยเหลืออันทุลักทุเลของลาบีฟ

แม็ตตี้อาการเป็นตายเท่ากัน รุสเตอร์จึงจัดแจงควบขี่ลิตเติ้ลแบล็คกี้รีบพาแม็ตตี้ไปหาหมอ (ไอ้โบตายเสียแล้วตอนรุสเตอร์บุกตะลุยเดี่ยว) รุสเตอร์เฆี่ยนแล้วเฆี่ยนอีก ม้าเผ่นโผนไปข้างหน้า ห้อเต็มฝีเท้าเพื่อยื้อยุดชีวิตเจ้านายของมันเอาไว้ ระยะทางแสนไกล ม้า 1 ตัวกับคน 2 คน คนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ คนหนึ่งร่อแร่ใกล้ตาย มันคือช่วงเวลาแห่งการพิสูจน์จิตใจ ในที่สุดลิตเติ้ลแบล็คกี้ก็ทรุดฮวบลงขาดใจตาย รุสเตอร์จัดการแบกแม็ตตี้ขึ้นหลังวิ่งต่อไป ระหว่างทางแกจำใจต้องปล้นเกวียน ยืมรถม้าชาวนาอินเดียน พาแม็ตตี้มาหาหมอที่ฟอร์ทสมิธได้สำเร็จ

วีรกรรมแห่งการไล่ล่าครั้งนี้จึงเอวังลง

แม็ตตี้รอดตายกลับบ้าน แต่ก็ต้องแลกกับแขนหนึ่งข้าง รุสเตอร์ได้รับการแคะเอากระสุนลูกปรายออกจากหน้าและไหล่ แล้วก็ดำเนินชีวิตมือปราบอ้วนตาเดียวของแกต่อไป ส่วนลาบีฟหลังจากพักรักษาอาการบาดเจ็บที่หัวแล้วก็จัดการนำศพไอ้ทอม เชนีย์ไปยังเทกซัสโน่น

หลังแยกย้ายจากกัน เรื่องราวของแม็ตตี้ รอสส์ และพลพรรค ก็หาได้ยุติแต่เพียงเท่านี้ไม่ พวกเขายังคงใช้ชีวิตไปตามวิถีของแต่ละคนอีกนานครัน จนกระทั่งชราภาพไปตามๆ กัน แม่แม็ตตี้ รอสส์ ครองตัวเป็นสาวทึนทึกดูแลแม่อยู่ที่บ้านไร่และเป็นเจ้าของธนาคาร ไม่มีโอกาสได้พบเจอรุสเตอร์และลาบีฟอีกเลย แกได้ยินเพียงข่าวคราวกระเส็นกระสายมาเท่านั้น จนกระทั่งมือปราบอ้วนตาเดียวมาตายจากไปแบบศพไม่มีญาติ แม็ตตี้แกจึงเดินทางไปขุดศพมาฝังไว้เสียใหม่ที่สุสานประจำตระกูลและทำหินจารึกชื่อไว้อย่างดิบดี

แม้แม็ตตี้ รอสส์มันจะเป็นเพียงเด็กสาวอายุ 14 มีอุปนิสัยเค็ม งกเกินตัว หัวหมอ ดื้อ และแก่แดด แต่ข้าก็เผลอรักมันให้เข้าแล้ว (อย่างยากแก่การต้านทาน) โดยรูปการณ์แล้วคนอย่างแม็ตตี้ รอสส์, รุสเตอร์ ค็อกบอร์น, ลาบีฟ, ป้าฟลอยด์, ผู้พันสโตนฮิลล์ กระทั่งโจรห้าร้อยอย่างไอ้ทอม เชนีย์, ไอ้ลัคกี้เน็ด เป็ปเปอร์ กับสมุนของมัน อาจถูกมองว่าเป็นคนเถื่อนในสายตาของบรรดาอารยชนในโลกปัจจุบัน ทว่าข้ากลับรู้สึกว่าคนเถื่อนเหล่านี้มีหัวใจที่มีอารยะ ในความดิบ – เถื่อน – ถ่อย ข้ามองเห็นความเป็น “คนจริง” ของพวกเขา และในทัศนะของข้า “คนจริง” นั้นมี “ความเป็นอารยะ” ซ่อนซุกอยู่ในหัวใจเสมอไม่มากก็น้อย ชนิดที่ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเจริญแล้วแอบอิจฉาตาร้อนและนับถืออยู่ลึกๆ

ถ้าท่านอยากรู้จักแม็ตตี้ รอสส์ และเหล่าคนเถื่อนคนอื่นๆ มากกว่าที่ข้าได้บอกเล่าไปแล้วล่ะก็ ลองหาอ่านเอาเต็มๆ จากหนังสือที่แม่แม็ตตี้ในวัยชราแกเล่าไว้ก็แล้วกัน นายชาร์ลส์ ปอร์ติส เขาบันทึกไว้เสียอย่างละเอียดลออ และมีคนแปลเป็นภาษาไทยไว้แล้วอย่างฉกาจฉกรรจ์ ใช้ความพยายามสักหน่อยก็หาอ่านได้ไม่ยากหรอก

เห็นจะต้องจบเสียทีละ

.......................................................................

อารยชนคนเถื่อน (True Grit)
ชาร์ลส์ ปอร์ติส : เขียน
แดนอรัญ แสงทอง : แปล
พิมพ์ครั้งที่ 2 : สำนักพิมพ์สามัญชน  


วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แฟ้มภาพ แดนอรัญ แสงทอง ในงานแสดงนิทรรศการรางวัลศิลปาธร ประจำปี 2553

ระหว่างวันที่ 30 ก.ค. – 10 ส.ค.53 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  ถ.ราชดำเนินกลาง เขตพระนคร กรุงเทพ



เพราะรู้มาว่าทางผู้จัดจะนำผลงานของแดนอรัญ แสงทองที่ได้รับการแปลจากต่างประเทศทั้งหมดมาร่วมจัดแสดงในงานนี้ด้วย

ในฐานะแฟนคลับที่จัดทำบล็อกแดนอรัญ ขอขอบคุณ คุณเวียง-วชิระ บัวสนธ์ ผู้เป็นเจ้าของหนังสือสุดหายากเหล่านี้ไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ ที่ทำให้ผมและคนอื่นๆ ได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด  


นอกจากประทับใจกับหนังสือทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาต่างประเทศแล้ว สิ่งที่ชอบเป็นพิเศษอีกคือหนังสือที่ระลึก (เล่มโต), สมุดโน๊ต และสูจิบัตร (ขนาดยาว) ซึ่งล้วนจัดพิมพ์อย่างประณีตบรรจงเหมาะแก่การเก็บสะสมอย่างยิ่ง



ส่วนรายชื่อศิลปินที่ได้รับรางวัลศิลปาธรปี 53 มีดังนี้ครับ 

สาขาทัศนศิลป์ นายนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล
สาขาวรรณศิลป์ นายเสน่ห์ สังข์สุข
สาขาดนตรี นายชัยยุทธ โตสง่า
สาขาศิลปะการแสดง นายนิกร แซ่ตั้ง
สาขาภาพยนตร์ นายอาทิตย์ อัสสรัตน์
สาขาสถาปัตยกรรม นางสาวปฐมา หรุ่นรักวิทย์
สาขามัณฑนศิลป์ นายวิฑูรย์ คุณาลังการ
สาขาเรขศิลป์ นายประชา สุวีรานนท์
สาขาการออกแบบ นายวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์


ที่มาที่ไป : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเล็งเห็นความสำคัญที่ต้องส่งเสริมสนับสนุนศิลปินรุ่นกลางให้ก้าวไปในเส้นทางสายอาชีพได้อย่างมั่นคงและมีกำลังใจในการสร้างสรรค์งานได้อย่างอิสระ จึงได้จัดให้มีการยกย่องให้รางวัลกับศิลปินร่วมสมัยขึ้น ในฐานะเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งศิลปะภายใต้รางวัลที่ชื่อว่า “ศิลปาธร” ซึ่งมาจากคำว่า ศิลปะ + ธร (ธร ที่แปลว่าผู้รักษาไว้, ผู้ทรงไว้)

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้จัดทำโครงการสรรหาศิลปินร่วมสมัยดีเด่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในช่วงปี พ.ศ.2547-2550 ได้มีการจัดสรรรางวัล 5 สาขา คือ สาขาทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ ดนตรี ศิลปะการแสดง และภาพยนตร์  

ในปี พ.ศ.2551- 2552 ได้เพิ่มอีก 1 สาขา คือการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ รวมเป็น 6 สาขา  
และในปี 2553 “ศิลปาธร” ครั้งที่ 7 ได้เพิ่มอีก 3 สาขา คือ สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ และเรขศิลป์ รวมเป็น 9 สาขา  


ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ศิลปินศิลปาธรที่ทุ่มเทชีวิตจิตใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะในสาขาต่างๆ มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพให้ออกสู่สังคมกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนากระบวนการสร้างสรรค์อย่างไม่หยุดนิ่ง อันเป็นประโยชน์ต่อวงการศิลปะของชาติต่อไป