บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2553

นานาทัศนะต่องานเขียนของแดนอรัญ แสงทอง

หมายเหตุ : กำลังทยอยความคึกคักเข้ามาเรื่อย ๆ ครับกับความอบอุ่นจากเพื่อนผองน้องพี่ รวมทั้ง นกป่า อุษาคเนย์, โดม วุฒิชัย และนักเขียนซีไรต์ อุทิศ เหมะมูล    

ตามที่ผมได้โพสต์คำถามเชิญชวนนักเขียน, คนในวงการหนังสือ, ศิลปะ, วงการภาพยนตร์ รวมทั้งคนอ่านทั่วไปร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับงานของแดนอรัญ แสงทอง ตามคำถามที่ตั้งไว้คร่าวๆ ดังนี้ 

1. คุณมีความคิดเห็นต่องานเขียนของ แดนอรัญ อย่างไร
2. อะไรที่ทำให้คุณชอบอ่านงานของแดนอรัญ
3. อะไรคือเสน่ห์ของงานแดนอรัญที่คุณติดใจ ที่คิดว่าไม่มีใครเหมือน
4. งานเขียนของแดนอรัญเล่มไหนที่คุณอยากเห็นเป็นหนังมากที่สุด และอยากเห็นเป็นหนังแบบใด ใครแสดง ใครกำกับ  
5. คุณคิดว่าสาเหตุใดที่ทำให้แดนอรัญ ไม่เคยได้รับรางวัลด้านวรรณกรรมใดๆ ในเมืองไทย ทั้งๆ ที่ผลงานของเขาได้รับการยกย่องมากมายในต่างประเทศ หรือ ใครอยากเพิ่มเติมความคิดเห็นอื่นๆ ก็ได้นั้น

ขณะนี้ผมได้รวบรวมความเห็นดังกล่าวลงบล็อกแล้วครับ

ผมเชื่อเสมอว่าแม้น้ำหยดเดียวก็สามารถทำให้คนคนหนึ่งสดชื่นได้
ในนามของผู้จัดทำบล็อกแดนอรัญ ขอขอบคุณทุกท่านจากหลากหลายอาชีพที่ร่วมแสดงความคิดเห็น ขอบคุณบรรณาธิการหนังสือ, นักเขียน, นักแปล, ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์, นักออกแบบอิสระ, นักวิจารณ์ภาพยนตร์, , นักแสดง, เจ้าของร้านหนังสือ , คนทำหนังสือ, รวมทั้งนักอ่าน ทุกความเห็นของท่านคือกำลังใจสำคัญ

ความเห็นต่างๆ นี้จะเรียงตามลำดับชื่ออักษรของคนเขียนดังนี้  เชิญอ่านตามอัธยาศัยครับ

1. กว่าชื่น บางคมบาง    2. กัลปพฤกษ์    3. ไกรวุฒิ จุลพงศธร    4. ไกรวรรณ สีดาฟอง    5. คัทลียา เผ่าศรีเจริญ    6. Sophieworld           7. ณรงค์ชัช กันสุข    8. โตมร ศุขปรีชา    9. ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง    10. ดวงธิดา มูซอ     11. โดม วุฒิชัย     12. ธนพล เคตะพราหมณ์         13. นกป่า อุษาคเนย์   14. นิวัต พุทธประสาท    15. เฟย์ Faylicity    16. วัลลภ รุ่งกำจัด    17. วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา    18. สนธยา ทรัพย์เย็น    19. โสฬส สุขุม  20. หนุ่ม ร้านหนังสือเดินทาง    21. อุทิศ เหมะมูล 
…………………………………………………………………………..

กว่าชื่น บางคมบาง
เจ้าของคอลัมน์ http://midorikwa.blogspot.com 
ส่วน มิโดริตัวจริง เขียนคอลัมน์ มาตาทัศนะ ในนิตยสาร VOTE รายปักษ์  
เว็บไซต์คมบาง www.combangweb.com / สำนักพิมพ์หวีกล้วย

งานของแดนอรัญ มีทั้งงานเขียนและงานแปล สิ่งที่ชอบคือความรุ่มรวยทางภาษา ความแปลก และรอคอยที่จะเห็นลูกเล่นของเขา

เสน่ห์ของงานแดนอรัญ คือภาษา ว่าไปแล้วบางคราออกจะยาวย้วยเยิ่นเย้อ แต่ก็มีเสน่ห์แปลกประหลาด ทั้งนี้เพราะแดนอรัญเป็น "นาย" ของภาษา มิใช่ว่าจับคำใดมาเรียบเรียบต่อเป้นเรื่องราวเท่านั้น หากแต่ แต่ละถ้อยคำนั้นมีความหมายในตัวที่ต่อเนื่อง

อยากเห็นงานของแดนอรัญ ในแบบของ หว่อง กาไว เราว่า มันมีอะไรคลับคลาคล้ายกันนา 
เอาล่ะ แต่สำหรับผู้กำกับไทย อยากให้ เป็นเอก รัตนเรือง ส่วนเรื่องไหน ไม่จำกัด จริงๆ แล้ว ดวงตาที่สามนี่นะ น่าลองนะว่าจะออกมาแบบไหน อันที่จริง เงาสีขาว ก็น่าลองนะ 

ส่วนสาเหตุที่แดนอรัญไม่ได้รับรางวัลในเมืองไทย ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากผลงานไม่ได้ตามรอบการประกวด ไม่ได่ส่งประกวด เพราะผลงานอยู่เหนือรางวัลไปแล้ว
…………………………………………………………………………..

‘กัลปพฤกษ์’ kalapapruek@hotmail.com 
นักวิจารณ์ภาพยนตร์รางวัลหม่อมหลวงบุญเหลือประจำปี 2547

หากจะมีใครถามว่าหนังสือเล่มโปรดของข้าพเจ้านั้นมีเล่มใดบ้าง? คำตอบเพียงหนึ่งเดียวสำหรับงานกลุ่มนวนิยายก็คือ “เงาสีขาว” ของ แดนอรัญ แสงทอง หนังสือเล่มนี้เองที่ทำให้ข้าพเจ้าได้ตระหนักซึ้งถึงพลังแห่งภาษาที่สามารถใช้ถ่ายทอดจินตนาการภายในอันลึกเร้นชนิดประสาทสัมผัสแห่งการมองเห็นใด ๆ ก็คงไม่อาจทะลวงถึง เนื้อหาและสำนวนอัน ดิบ กร้าว รุนแรง แต่แฝงไว้ด้วยความซื่อสัตย์จริงใจ แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่า แดนอรัญ แสงทอง เป็นศิลปินที่สามารถใช้ตัวอักษรระบายห้วงอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ออกมาได้อย่างหนักแน่นและทรงพลังจริง ๆ ซึ่งก็ยิ่งทำให้อยากรู้เหลือเกินว่าหาก แดนอรัญ แสงทอง มีโอกาสได้นำเสนอผลงานเรื่องนี้ผ่านสื่อภาพยนตร์ภายใต้การกำกับของเขาเอง มันจะออกมาวิจิตรอลังการและพิสดารพันลึกกันถึงขนาดไหน? ซึ่งก็เชื่อเหลือเกินว่ามันคงจะเฉียบร้ายได้ไม่แพ้งานเด่นอย่าง Johnny Got His Gun (1971) ที่นักเขียนดังอย่าง Dalton Trumbo ได้เคยลงมือกำกับเองมาแล้วเลยทีเดียว 
…………………………………………………………………………..

ไกรวุฒิ จุลพงศธร
นักวิจารณ์ภาพยนตร์ / บรรณาธิการนิตยสาร Bioscope

ผมจำได้ว่าเคยได้ยินชื่อของ เงาสีขาว มานานแล้ว และครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อนที่ได้เป็นเจ้าของมันก็ตื่นตระหนกเสียเหลือเกินกับความหมัศจรรย์ของหนังสือเล่มนี้ สารภาพตามตรงว่าผมอ่านมันไม่จบ แต่ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ของผมกับหนังสือเล่มนี้ก็เป็นไปในลักษณะพิเศษ คือเมื่อไรก็ตามที่ผมเขียนงานไม่ออก ขาดแรงบันดาลใจ หรือต้องการพลังของตัวอักษร ผมจะหยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา แล้วเปิดไปที่หน้าใดก็ได้ แล้วก็อ่านมันไปเรื่อยๆ แล้วผมก็จะได้พลังนั้นมา

ผมมาปะทะกับงานของคุณแดนอรัญอย่างจริงจังอีกทีก็เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เมื่อผมหยิบ เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ ติดมือไปด้วยขณะพักร้อน แล้วผมก็อ่านมันจบรวดเดียวโดยที่ยังกลับมาไม่ถึงกรุงเทพด้วยซ้ำ งานนี้ทำให้ผมรับรู้เลยว่าคุณแดนอรัญไม่ใช่นักเขียนอันมหัศจรรย์เท่านั้น แต่ยังเป็นนักแปลฝีมือฉกาจเทียบเท่ากับนักแปลคลาสสิคร่วมสมัยหลายๆ คนที่ผมเคารพอีกด้วย เวนดิโก้มิใช่นิยายที่เน้นเรื่องราว แต่มันเน้นบรรยากาศที่ค่อยๆ คืบคลาน ไม่ต่างจากหนังศิลปะแนวสยองขวัญที่ดูไปจนจบเรื่องเราก็แทบไม่เห็นอะไรนอกจากเงาของปีศาจ แต่เงานั้นก็มีพลังเพียงพอที่จะขยุ้มเราให้เราทั้งเป็นทั้งตายไปกับจินตนาการของเราเอง
…………………………………………………………………………..

 ไกรวรรณ สีดาฟอง
นักแปลวรรณกรรมเจ้าของนามปากกา ภูมิช อิสรานนท์ / ทราย ชยา ฯลฯ 

 ผมได้อ่าน "เสาไห้" และอ่านในฐานะเรื่องยาวขนาดสั้น ผมคิดว่าเรื่อง
นี้ก็น่าดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ เรื่องมันยาวมากนะ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมก็ได้ เกี่ยวกับความลึกลับก็ได้ หรือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของสามัญชน (หรือไพร่ในความหมายดั้งเดิมของมัน) ก็ได้
…………………………………………………………………………..

คัทลียา เผ่าศรีเจริญ 
นักออกแบบอิสระ

อยากเห็น “อสรพิษ” เป็นหนัง ใครกำกับก็ได้ค่ะ แต่ควรเป็นคนที่มีประสบการณ์ชีวิตมากพอ เหมือนนักบินอวกาศที่เวลาเขาให้สัมภาษณ์ เขาจะถามว่าคุณเคยเจอเรื่องดีที่สุดในชีวิตตอนไหนกับเรื่องร้ายที่สุดในชีวิต คือต้องมีทั้งสองด้าน เพราะเวลาที่ต้องตัดสินใจอะไรบางอย่าง ความอัตโนมัติตรงนี้มันจะช่วยได้

ตอนที่อ่าน “อสรพิษ” รู้สึกว่ามันเป็น ฟินโนมินอนของเหตุการณ์ที่เป็นปกติ มันค่อนข้างเรียลลิสติค คือเด็กที่ใช้ชีวิตแบบนี้ แล้วคุณแดนอรัญเขาก็เล่าเรื่องเรียลลิสติคจนเราเห็นเป็นภาพ รายละเอียดมันเยอะมากสามารถทำเป็นหนัง เป็นโมเมนท์ เป็นพล็อตที่ดี ทิ้งจังหวะ มี
สเปซในหนังเยอะๆ ได้เลย อ่านจบตอนท้ายรู้สึกว่ามันเป็นปัจเจก เป็นมนุษย์นิยม เหมือนแต่ก่อนที่เรามองคนไหนที่จะมีความโดดเด่นออกมา กับคนที่มีความราบเรียบ แต่จริงๆ แล้วถ้าไม่ต้องมอง คือใช้ชีวิตปกติไป ไอ้คนที่เรียบๆ นั่นน่ะเขาก็เป็นตัวของตัวเอง มันเหมือนกับตัวละครตัวนี้ เพียงแต่ว่าเราเล่าขยายในสิ่งที่คุณแดนอรัญเขาเล่า มันมีความรักชอบ คือเล่านิดเดียว มันมีตัวตน เขาตั้งชื่อควาย เราก็เห็นเลยว่าบุคลิกของเขาที่ซ่อนมา เขามีความน่ารัก เขามีความเป็นนักสู้ มันเกิดจากพ่อของเขาน่ะ พ่อแม่ครอบครัวของเขาต้องดีมากจริงๆ เลยนะ โดยที่ไม่ต้องไปเรียนหนังสือสูงๆ มันเป็นเรื่องความอ่อนโยน มีความเป็นมนุษย์เต็มที่ เหมือนพ่อแม่เขาเป็นชาวนามาก่อน ต้องอยู่กับฟ้าฝน ต้องเงียบ ต้องรอคอย อะไรแบบนี้ ไอ้สิ่งเหล่านี้มันไม่ต้องสอน มันไม่ต้องรุ่งอรุณโฮมสคูล คือเด็กซึมซับได้เอง มันสมบูรณ์ สิบขวบก็สมบูรณ์แล้ว

ส่วนงูในเรื่องมันเป็นความจริงที่บังเอิญว่าเกินจริง เป็นปรากฏการณ์ที่แบบว่าเหมือนกับไอแซค นิวตัน ที่แอปเปิ้ลตกอะไรประมาณนั้น จริงๆ แล้วมันเป็นเหตุการณ์ปกติ ถ้าเราไม่ได้ไปผูกกับเรื่องอัน
นี้ เหมือนกับที่เรารู้สึกตอนที่น้องเป๋เขาถืองู ตอนนั้นมันค่อนข้างเหนือจริง เนื่องจากเรามีประสบการณ์ดูหนังตอนที่อ่านทำให้รู้สึกว่า เอ๊ะ ! เขาพยายามจะบอกว่าคนนี้ตายไปแล้วหรือเปล่า แต่มันมีการต่อสู้บางอย่าง ที่อาจจะเป็นการต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์ พอไปเจอคนที่เป็นเหมือนคนที่ไปให้น้ำหนัก เขามีสี่คนนี่แหละ มีหลวงพ่อ มีป้าคนนี้ แล้วมันก็จะผ่านทุกอย่างไปได้ แล้วป้าก็ดันไปอยู่ในกลุ่มของคนทรงเจ้า ก็เลยรู้สึกว่า โฮ ! อันนี้มันเป็นเชิงสัญลักษณ์ ตอนนั้นมันอธิบายไม่ถูกนะ เป็นความรู้สึกที่ผิดหวังอย่างรุนแรง เหมือนผิดหวังในเชิงอุดมคติด้วย จริงๆ ตัวละครตัวนี้เขามีอุดมคติตรงนั้นอยู่ แต่เขาไม่รู้ แล้วพอไปเจอภาพตรงนี้ เขาเริ่มรู้สึกว่ามันเป็นมนุษย์น่ะ มันเคลื่อนไหวได้ แล้วมันไม่มีความหมายเขาถึงปล่อย ปล่อยถึงรู้ว่างูตาย มันปกตินะ สมัยก่อนเขาเรียกว่า ผิดหวังทางปัญญาหรือเปล่านะ เหมือนกับว่าความคาดหวังนี้ เราคิดว่าเราสัมพันธ์กับคนนี้ เขาสิบขวบ เขาสัมผัสกับหลวงตา ป้าคนนี้ จริงๆ ก็ง่ายๆ เด็กสิบขวบต้องการความมั่นคง ความรัก เรื่องชีวิตคนมันเป็นเรื่องมิติ มันมีมิติของวัฒนธรรมจารีต มันไม่มีใครดิ้นตรงนี้ออกไปได้เต็มที่ เป็นปัจเจก ตัวน้องนี้สิมันเป็นชีวิตคนปกติธรรมดามาก  

แล้วก็ชอบที่เป็นเรื่องพื้นถิ่น เป็นภาพที่เล่ารวมๆ ของพื้นถิ่น ผ่านเหตุการณ์มากกว่า แทนที่จะไปเล่าแบล็คกราวด์ทั้งหมด อย่างการยึดครองการมีอำนาจของคนทรงว่ามันเข้ามาอย่างไง เราว่าตอนนี้ต้องทำ เพราะมันเป็นเรื่องตรงนี้ด้วย มีเรื่องการเมือง มีมิติหลายเรื่องผสมปนเป ถ้าพูดถึงว่าควรจะทำเป็นหนังน่ะ รู้สึกว่าเราดูเป็นเรื่องเรียลลิสติคไปได้เลย ความสมจริงตรงนี้ยิ่งเหนือจริงเข้าไปใหญ่ มีบางส่วนที่รู้สึกว่ามันจะเล่าเรื่องได้ธรรมดา แล้วก็ไม่เป็นพล็อตมาก ทั้งๆ ที่มันมีไอ้การขึ้นลงของเหตุการณ์

“อสรพิษ” สามารถโยงกับการเมืองก็ได้ หรือต่อให้ไม่มีเหตุการณ์เหลืองแดง “อสรพิษ” ก็ยังร่วมสมัย เพราะเรื่องมันไม่มีเวลา พูดได้ว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ยืนตัวตรง พูดในสิ่งที่เชื่อ บางทีก็อยากจะเชื่อ ไว้วางใจในอีกคนหนึ่ง สิ่งที่เด็กสิบขวบคนนี้มองเห็นมันไม่ใช่ว่าเขา อัจฉริยะอะไร แต่มันเป็นเหตุเป็นผล นั่งมองกันดีๆ ผู้ใหญ่ทำอะไรกันอยู่กับคนที่มันกำลังจะโตขึ้น เขาเป็นตัวแทนของคน Young at Heart ตลอดเวลา มันไม่ได้กบฎ แต่เป็นวัยที่มันสุกงอมของคนนี้ตอนที่เขาค่อนข้างเด็กสำหรับสังคมไทย อยากให้มีแบบนี้เยอะๆ ขึ้นมาหน่อย เหมือนเวลาเราดู Final Score แล้วมีไอ้เปอร์ แล้วรู้สึกว่ามันเป็นเด็กที่ไบร์ท คนอย่างนี้กำลังพอดี ไม่หลุดกรอบเละเทะ แล้วค่อยกลับมาตอนอายุเยอะหรือเรียบร้อยจนไม่กล้าทำอะไร  

ตอนอ่าน “อสรพิษ” จบรู้สึกเห็นใจตัวละครเด็กคนนี้ว่าตอนที่ปล่อยงู แล้วคนๆ นี้จะ Dark ไปเลยไหม กลายเป็นว่าแทนที่จะเป็นคนอย่างนี้ตลอด แล้วพอไปเจอด้านมืดของชีวิตเขาจะเปลี่ยนไปไหม เพราะด้วยวัยของเขา เขาไม่รู้ว่าคนน่ะ เราอยากจะเชื่อเขา แต่เขายังอยู่ในกรอบความคิดของเราอยู่ดี สิ่งที่เราคิดว่าคนอื่นเป็น แต่ว่าเขาอาจจะไม่เป็นอย่างนั้นก็ได้ เราต้องเผื่อใจไว้ คือว่ามันอกหักแรงมากอันนี้ นึกออกเลย ชาวบ้านเต็มเลยที่ยืน คือเห็นเป็นฉาก แล้วยืนต่อสู้กับความคิดของตัวเองอยู่อะไรอย่างเนี่ย มันก็ยากน่ะ แต่ถ้าทำได้มันน่าทำมาก มันเป็นความเรียบที่มีพลัง

ยังคิดเลยว่าถ้าทำ “อสรพิษ” เป็นหนังแล้วเผลอๆ สมมุติทำเวอร์ชั่นไทยแล้วก็มีคนสเปนเอาไปทำ เหมือนพวกหนังผีที่ซื้อลิขสิทธิ์ที่เอาไปทำรีเมคใหม่ มันก็น่าสนใจน่ะ เพราะว่ามันเปลี่ยนไป แต่มี Subject ตรงนี้อยู่ เพราะหนังสือก็มีแปลหลายภาษาอยู่แล้ว ทำเป็นรีเมคเป็นโปรเจ็กที่เป็นเรื่อง “อสรพิษ 3 ชาติ” ผู้กำกับสเปนด้วยก็ยังได้ ก็มีความใกล้อยู่น่ะ แต่ไม่รู้ว่าที่แปลไปนั้นสากลหรือเปล่า ไม่รู้ว่าถ้าเป็นคนจีนจะอินกับเรื่องที่คุณแดนอรัญพูดไปหรือเปล่าว่ามัน Exotic มาก แต่มันมีความใกล้เคียงกับพวกหนังละตินบางอย่าง

ส่วน “เงาสีขาว” (ปกขาว) ตอนเห็นครั้งแรก ชอบ คำโปรยหน้าปกมาก “ภาพเหมือนในวัยระห่ำของศิลปิน” เพราะว่าสิ่งนี้มันมีในทุกคน ต่อให้จะเรียบร้อยแค่ไหนจะมีช่วงกบฎอะไรอย่างนี้ เนื้อหาของเรื่องร่วมสมัยมาก เหมือนกับเวลาเราอ่านนิยายคลาสสิคแปล แล้วรู้เลยว่ามันเป็นชั้นเชิงของการเขียน รู้สึกสนุก แต่หนังสือของชาติ กอบจิตติ กลับอ่านไม่ได้ ไม่รู้เป็นอะไร ของอาจินต์ ก็ไม่ได้ ต่อให้เป็นชีวิตของคนที่มันคึกคักขนาดไหน แต่พออ่านแล้วเนื้อเรื่องมันเปลี่ยนไปแล้ว  
…………………………………………………………………………..


Sophieworld
นักอ่าน

งานของคุณแดนอรัญที่อ่านจบจริง ๆ มีเล่มเดียวคือ อสรพิษ ส่วนเงาสีขาวนั้นอ่านได้ประมาณ 3 ใน 5 ส่วน ก็หยุดไปก่อน เพราะหมดเวลายืม (จากห้องสมุด) งานของแดนอรัญเหมือนฝันร้าย เรื่องราวดิ่งดุ่ม บางทีก็เตลิดไปในห้วงความทรมาน ลอยคอไปกับมัน ยิ่งเขาเขียน(พิมพ์) แบบไม่เว้นช่องไฟ(ในกรณีของอสรพิษ) ยิ่งให้รู้สึกถึงการหลากผ่านประดังของโหมประสบการณ์ 
 
โดยส่วนตัวยอมรับว่าอ่านงานของเขาเพราะมีเกียรติคุณในระดับนานาชาติของเขาเป็นเหยื่อล่อ แต่พอสัมผัสจริงก็คิดว่าผลงานของเขามีคุณค่าสมศักดิ์ศรีในตัวเอง
…………………………………………………………………………..

ณรงค์ชัช กันสุข  นามปากกา หยาบคาย
นักอ่าน นักเขียน นักดื่ม

งานเขียนของแดนอรัญ สวยงาม ทรงพลัง ตลกร้าย และไม่เคยผิดหวังเลยสักครั้งที่ได้อ่านงานของแก มันดีทุกเล่ม และสวยงามทุกเล่ม เสน่ห์ของงานแดนอรัญอยู่ที่การใช้ภาษา เอกลักษณ์ส่วนตัวของแก

เงาสีขาว ถ้าเป็นหนังคงเป็นดราม่าหนักๆ และอาจน่าเบื่อ ต้องเล่าเรื่อง เขียนบทให้เจ๋งๆ นักแสดงนำก็ เต๋า สมชาย ผู้กำกับก็ วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ส่วนสาเหตุที่ทำให้แดนอรัญไม่เคยได้รับรางวัลด้านวรรณกรรมในเมืองไทยนั้นคิดว่า ผลงานแกสูงส่งกว่ารางวัลเห่ยๆ พวกนั้นเยอะ

ขอเอ่ยถึงเงาสีขาวสักติ๊ด

เงาสีขาวเป็นหนังสือที่ข้าพเจ้าโคตรจะหลงใหลและชื่นชม เนื่องด้วยนวนิยายเล่มนี้อัดแน่นไปด้วยอารมณ์ที่คุกรุ่น และความรู้สึกที่หนักหน่วงทรงพลังอย่างยิ่งยวด โดยการเล่าเรื่องราวสอดแทรกอัตชีวประวัติอันเข้มข้นของผู้เขียน 

ซึ่งหมุนผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ผู้หญิง ความรัก กามารมณ์ มิตรภาพ คละเคล้าไปกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต 

เหมือนกระแสน้ำป่าแห่งความรวดร้าว ที่พัดผ่านหมู่บ้านแห่งความทรงจำ ทำให้อารมณ์ของผู้อ่านนั้นพลุ่งพล่านประทุประเดประดังออกมาไม่ขาดสาย

และการใช้ภาษาที่รุนแรงเกรี้ยวกราดจนแทงทะลุแก่นอักษรของผู้เขียนนั้น ก็ทำให้เกิดแผลฉกรรจ์บนศีลธรรมจอมปลอมที่สังคมสร้างขึ้นอย่างสาแก่ใจ 

อีกทั้งการเขียนในรูปแบบกระแสสำนึกที่ฉุดดึงผู้อ่าน ให้ก้าวล่วงไปในความคิดอันคึกคะนองและเพ้อคลั่งของผู้เขียน ก็ทำได้อย่างยอดเยี่ยมและคมคาย 
…………………………………………………………………………..

โตมร ศุขปรีชา
นักเขียน / บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร GM 

ความคิดเห็นที่เด่นมากในงานของแดนอรัญคือการทำความเป็นพื้นบ้านให้เป็นสากล ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของนักเขียนยิ่งใหญ่หลายคนในโลกตะวันตก 

งานถึงอารมณ์ บรรยากาศ และวิธีการของแดนอรัญจะโดดเด่นมากแค่ไหน แต่ที่ผมชอบมากที่สุดในงานของเขาก็คือภาษาที่ละเมียดและประณีตมาก

ส่วนงานเขียนของแดนอรัญเล่มไหนที่อยากเห็นเป็นหนังมากที่สุด 
ขอตอบอย่างนี้นะครับ เรื่องที่ผมหลงรักมากก็คือ เจ้าการะเกด เรื่องรักแต่เมื่อครั้งบรมสมกัปป์ แต่ไม่อยากให้ใครเอาไปทำหนังเลยครับ เหตุผลเชยๆ ก็คือ อยากให้ทุกคนได้อ่านรสวรรณกรรมในเรื่องมากกว่า ก็ใครจะถ่าย "ลมหนาวโบกโบยมาแล้วแต่ยังไม่ได้โหมกระหน่ำรุนแรง เพียงแต่ถะถั่งมาไม่รู้จบสิ้น เรื่อยรินมาสม่ำเสมอ แห้งผากและเงียบเชียบ ส่อเค้าแห่งความทารุณ มีความทมิฬหินชาติและความมุ่งร้ายหมายขวัญแอบแฝงอยู่ในความเยียบเย็นและอาการโบกโบยอันช้าเชือนของมันนั้น" ออกมาเป็นภาพได้สวยเท่าถ้อยคำเหล่านี้ล่ะครับ
…………………………………………………………………………..

ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง (grappa)
บรรณาธิการหนังสือ / เจ้าสำนัก ระหว่างบรรทัด
บล็อก http://www.bloggang.com/mainblog.php?id=a-wild-sheep-chase

สำหรับตัวเอง งานของแดนอรัญ แสงทอง ที่ชอบมากที่สุด น่าจะเป็นเรื่อง "เพลงรักคนพเนจร" 
เพราะให้ภาพตัวละครที่โรแมนติกและเศร้ามาก และมีความเป็นมาโช่ น้อยกว่าเรื่องอื่นๆ 
โดยภาพรวมแล้ว คิดว่ายากมากที่จะมีนักเขียนคนไหน เขียนหนังสือได้เหมือนแดนอรัญ 
เวลาอ่านงานของเขาแล้ว โดยเฉพาะงานมาสเตอร์พีชอย่าง "เงาสีขาว" เราจะพบว่าแดนอรัญมี passion ในงานเขียนสูงมาก พลังในการทำงานล้นเหลือ และมีความเป็นตัวของตัวเอง โดดเด่นออกมาจากนักเขียนไทยคนอื่นๆ 

ในด้านงานแปล พอเขาหยิบจับแปลงานเล่มไหนออกมา ก็มักจะ "มีความเป็นแดนอรัญ" อยู่ในงานแปล และทำให้ต้ฉบับนั้น สนุกแบบแดนอรัญขึ้นมาทันใด
…………………………………………………………………………..

ดวงธิดา มูซอ
นักอ่าน

แดนอรัญเป็นนักเขียนไทยหมายเลข 1 ที่ดิฉันมักแนะนำให้เพื่อนๆ อ่าน 
แดนอรัญเป็นพระป่าผู้มีวิชาสามารถปลุกเสกภาษาให้มีชีวิตสวยสดงดงามยิ่งกว่าอัญมณีล้ำค่า 
“ จวนจะเย็นย่ำแล้ว แดดอ่อนรอนแสงลงแล้ว ดวงตะวันเป็นสีแดงแก่ก่ำนุ่มนวลอ่อนโยนลง ท้องฟ้าโปร่งโล่งเหมือนโดมแก้วผลึก เสี้ยวเมฆบางเบาบนเส้นขอบฟ้า...”
ดิฉันหลงใหลทุกเรื่องราวที่เขาเขียน หวานพาฝันฉันชอบ “ดวงตาที่สาม”, เขย่าขวัญขนหัวลุกฉันชอบ “มาตานุสติ” , โรแมนติคกลางดง ฉันชอบ “เจ้าการะเกด” (แนะนำเป็นพิเศษ), สังคมอยุติธรรม ฉันชอบ “อสรพิษ”, น้ำตาหยดแหมะ สะเทือนใจ ฉันชอบ “ ตำนานเสาไห้ ”, กิเลสตัณหาจัด ฉันชอบ “เงาสีขาว” เรื่องหลังนี้แม้ระหว่างทางที่อ่านจะรู้สึกเหมือนเดินอยู่บนกองเศษแก้วที่แตกละเอียด แต่โดยความเห็นส่วนตัวคิดว่า “เงาสีขาว” นอกจากภาษาที่ประณีตบรรจงแล้ว "เงาสีขาว" ยังเป็นนิยายเล่มโตที่ฝากคำสอนเตือนสติสตรีได้ดีทีเดียวค่ะว่า "ความรักควรมอบให้กับคนที่รู้ค่า"่ 
…………………………………………………………………………..

โดม วุฒิชัย
นักเขียน คอลัมน์ ริมรั้วหัวใจ นิตยสาร ขวัญเรือน/ นักเดินทาง  
บล็อก http://porpayia.bloggang.com

ในฐานะเพื่อนเก่าซึ่งเคยรู้จักกันในวัยหนุ่ม และอีกในฐานะหนึ่งผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ชื่นชมงานเขียนของเขาอย่างไม่มีข้อสงสัยว่าเขาคือนักเขียนชั้นยอด

(ผมเรียกเขาว่ามายาจนติดปากมาถึงทุกวันนี้ เพื่อน ๆ ส่วนใหญ่เรียกเขาว่าเฟิ้ม)
และรู้สึกดีใจมากที่เขาได้รับรู้สิ่งที่ผมส่งไปถึง – ขอขอบคุณที่คุณนำไปบอกเขา เราไม่ได้พบกันนานมากและขาดการติดต่อกันไปโดยสิ้นเชิง (เขาส่ง เงาสีขาวฉบับแปลฝรั่งเศสตอนพิมพ์ใหม่ๆ มาให้ผม 1 เล่ม ) ครั้งล่าสุดผมส่งหนังสือของผมผ่าน "เงาจันทร์" ฝากไปให้เขา

โดยส่วนตัวผมก็ติดตามงานเขียนของแดนอรัญ ด้วยความนับถือและชื่นชมในความเห็นของผมนักเขียนมีอยู่สองชนิดคือนักเขียนอัจฉริยะกับนักเขียนธรรมดา สำหรับแดนอรัญนั้น เขาคือนักเขียนอัจฉริยะ ไม่ว่าจะว่ากันในด้านใดก็ตาม

เรื่อง "เงาสีขาว" นั้นไม่ต้องพูดถึง สุดยอดอยู่แล้ว

ในบรรดาเรื่องของแดนอรัญที่ได้อ่านแล้วผมอยากเห็นเป็นหนังมากที่สุดคือเรื่อง "มาตานุสติ" คงจะครบรส ตื่นเต้นระทึกขวัญและเต็มไปด้วยความรักอันลึกซึ้งยิ่ง ถ้าเป็นหนังจริงๆ อาจจะต้องเปลี่ยนชื่อใหม่ แต่ไม่รู้ว่าพอเป็นหนังจริงๆ แล้วจะรักษารสชาติของเรื่องไว้เหมือนในหนังสือหรือเปล่าก็ไม่รู้
…………………………………………………………………………..

ธนพล เศตะพราหมณ์
นักอ่าน

ที่ชอบงานของแดนอรัญและคิดว่าเป็นเอกลักษณ์ของเขาคือ สำนวน ภาษาเขียน และลีลาครับ รวมทั้งอารมณ์ที่แสดงออกนั้นหนักแน่นรุนแรง อ่านแล้วรู้สึกว่าตัวอักษรของเขานั้นขับเคลื่อนเราได้ สะเทือนเราได้ ในบทพร่ำพรรณนาก็ได้อารมณ์ ฉากเล่าเรื่องนั้นก็มีชั้นเชิง
เป็นนักเขียนไทยอันดับหนึ่งในดวงใจเลยครับ
…………………………………………………………………………..

นกป่า อุษาคเนย์
นักเขียน / บรรณาธิการนิตยสาร Vote 

แดนอรัญคืออัจฉริยะของวงการวรรณกรรม นับแค่ปริมาณ ผลงานแปลเกือบ 20 ปก นวนิยายอีก 4 เล่ม ยังมีเรื่องสั้น เรื่องสั้นสั้น เรื่องสั้นขนาดยาว กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ และร้อยแก้วอีก 2 เล่ม

อ่านงานแดนอรัญแล้วรู้สึกเท่เวลาเอาไปคุยในวงเหล้า

เสน่ห์ของงานที่ติดใจ คือ ความหลากหลายในกลวิธีการประพันธ์

ส่วนงานเขียนของแดนอรัญเล่มไหนที่อยากเห็นเป็นหนังมากที่สุด คือ ดวงตาที่สาม นำแสดง : ตาล-กัญญา รัตนเพ็ชร กำกับโดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

และสาเหตุใดที่ทำให้แดนอรัญ ไม่เคยได้รับรางวัลด้านวรรณกรรมใดๆ ในเมืองไทย ทั้งๆ ที่ผลงานของเขาได้รับการยกย่องมากมายในต่างประเทศ

 ถูกต้องแล้วที่แดนอรัญไม่ควรรับรางวัลวรรณกรรมไทย หากเรามองไปที่ตัวแบบ วรรณกรรมสมัยใหม่ของไทยรับอิทธิพลมาจากตะวันตก แต่คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมชุดแล้วชุดเล่า บางคนเป็นนักวิชาการวรรณกรรมแถวหน้า กลับมองไปคนละทางกับตะวันตก ถูกต้องแล้วที่แดนอรัญหลุดไปจากกรอบมายาคติต่างๆ ในเมืองไทย เสาหลักวรรณกรรม ช่างภาพมือวางอันดับต้นๆ สุดยอดนักสัมภาษณ์ นิตยสารคุณภาพที่หนึ่ง เกจิศิลปะ คอลัมนิสต์ระดับอรหันต์ นักวิจารณ์ขั้นเทพ ฮ่องเต้งานสารคดี ท่านอ๋องด้านจัดหน้า ฯลฯ
…………………………………………………………………………..

นิวัต พุทธประสาท
นักเขียน / ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์เม่นวรรณกรรม , Thaiwriter, Alternative writer

งานของแดนอรัญ มีภาษา รูปแบบงานเขียน กลวิธีเฉพาะตัวสูง อย่างเรื่อง "เงาสีขาว" เหมือนเขาพรั่งพรูความรู้สึกออกมาในแบบ Expressionist ซึ่งมีสีสันฉูดฉาด ส่วนงานช่วงหลัง ๆ มีความคมคายขึ้น ระมัดระวังและใช้สัญลักษณ์ทางวรรณกรรมมากขึ้น

เสน่ห์ในงานเขียนของแดนอรัญคือ เขามักจะลงลึกในจิตใจของตัวละคร ความคิดของตัวละครถูกนำเสนอได้อย่างเข้มข้น

สิ่งที่ทำให้งานของแดนอรัญแตกต่างจากนักเขียนไทยคือประสบการณ์ชีวิต โดยเฉพาะประสบการณ์ทางจิตวิญญาณของเขานั้นมีรูปแบบที่แตกต่างจากนักเขียนคนอื่นโดยสิ้นเชิง
อารมณ์ความรู้สึกในงานเขียนจึงทำให้จริตในงานเขียนแตกต่างจากนักเขียนอื่น มันเป็นรูปแบบที่น่าค้นหา

อยากเห็นเรื่องเงาสีขาวเป็นหนังมากที่สุด ใครกำกับใครแสดงคงบอกไม่ได้ แต่ถ้าให้เลือกผมขอเลือกนักแสดงในอดีตตอนที่เขายังหนุ่มอย่าง ลิขิต เอกมงคล เป็นพระเอก โดยมี ณอง จาร์ค บีนีกซ์ ผู้กำกับ 37 องศาฟาเรนไฮด์ หรือเบ็ตตี้บลู เป็นคนกำกับ

ส่วนสาเหตุใดที่ทำให้แดนอรัญ ไม่เคยได้รับรางวัลด้านวรรณกรรมใดๆ ในเมืองไทย ทั้งๆ ที่ผลงานของเขาได้รับการยกย่องมากมายในต่างประเทศนั้นคิดว่า  
มีนักเขียนดี ๆ เก่ง ๆ ในเมืองไทยที่ไม่ได้รับการยกย่องทางรางวัลมากมายอย่างเช่น รงค์ วงษ์สวรรค์, เสนีย์ เสาวพงษ์ (แม้จะเป็นศิลปินแห่งชาติ-รางวัลศรีบูรพา แต่ไม่เคยได้รางวัลจากหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่ง -ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด) ซึ่งผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะองค์กรที่มอบรางวัลก็เป็นองค์กรในระบบที่คล้ายระบบราชการ มติการให้รางวัลวรรณกรรมจึงเป็นมติเดียว รางวัลเป็นเพียงการปลอบประโลมทางหนึ่งของสังคม การยกย่องใครคนหนึ่งให้ได้รางวัลแม้เป็นหนทางที่ทำให้นักเขียนชุ่มชื่นใจ แต่ไม่มีรางวัลใดยิ่งใหญ่ไปกว่ามีคนอ่าน มีแฟนหนังสือ และนักเขียนดำรงตนในอาชีพงานเขียนอย่างแท้จริง
…………………………………………………………………………..

เฟย์ Faylicity
http://www.faylicity.com/
นักเขียน / นักอ่าน

ได้รู้จักงานเขียนของคุณแดนอรัญค่อนข้างช้า หนังสือของคุณแดนอรัญที่อ่านเล่มแรกคือ "เจ้าการะเกด" โชคดีที่ได้รู้จักเพราะไปอ่านเจอคำแนะนำจากนิตยสารฉบับหนึ่ง คิดว่าน่าจะเป็น Open ซึ่งพอได้อ่านแล้วก็ตกหลุมรักเลย ตกเป็นทาสของถ้อยคำคุณแดนอรัญชนิดถอนตัวไม่ขึ้น ภาษาของคุณแดนอรัญไพเราะมาก ๆ มีนักเขียนไม่กี่คนเลยที่พอเรารู้จักเขาแล้ว
 ถ้อยคำของเขาสิงสถิตในตัวเรา เราจดจำได้ว่าเราอ่านหนังสือของเขาแต่ละเล่มที่ไหน ฤดูกาลไหน สิ่งนี้คือความพิเศษและเป็นเสน่ห์ของหนังสือคุณแดนอรัญที่ทำให้ประทับใจ

"เจ้าการะเกด" เป็นเรื่องที่งดงาม ได้อ่านเรื่องนี้ในฤดูหนาว ทำให้ยิ่งรู้สึกตามไปกับหนังสือ เพราะปีนั้นอากาศเย็นมาก ใครอยากชื่นชม "อัญมณีแห่งภาษา" ต้องอ่านเล่มนี้ พอจับจิตจับใจแล้วก็ต้องทุกข์กับความรัก เพราะต้องไปตามหาหนังสืออื่นๆ ของคุณแดนอรัญ ซึ่งหาไม่ได้ง่ายๆ (แต่คุ้มค่ากับความพยายาม) "อสรพิษ" เป็นเรื่องสั้นดีมากๆ "ดวงตาที่สาม" ก็น่ารัก อารมณ์ขันเยอะ อ่านแล้วตลกมาก คนรักหนังสือพลาดเรื่องนี้ไม่ได้เป็นอันขาด เรื่องของคุณแดนอรัญมักจะมีความลึกลับ ธรรมชาติและโบราณกาลอยู่ด้วย ทำให้มีมนต์ขลังเฉพาะตัว แต่ที่อ่านแล้วน่ากลัวที่สุดคือเรื่อง "มาตานุสติ" ซึ่งหลอนมาก อ่านไปกลัวไปน่าใจหาย คืนนั้นฟ้าฝนครืนครั่นไม่ต่างจากบรรยากาศในเรื่อง ทำให้ขนลุกสุดชีวิต การอ่านหนังสือเล่มนี้ทรมานที่สุดเล่มหนึ่ง เพราะนอนไม่หลับถ้ายังอ่านไม่จบ (เดี๋ยวผียังไม่ตายแล้วจะมาหลอกตอนหลับ) แต่ไม่กล้าอ่านต่อไปอีกแล้วเพราะกลัวสุดขีด สุดท้ายต้องอ่านข้ามบางตอนไป รอให้สว่างก่อนค่อยมาอ่านตอนที่ข้ามไป เป็นประสบการณ์อ่านที่แปลกยิ่งยวดไม่เคยเจอมาก่อน และหวังว่าจะไม่ต้องเจออีก

ตอนเขียนถึงเรื่อง "มาตานุสติ" ไว้ในเว็บ Faylicity ทำให้มีผู้อ่านคนหนึ่งเขียนมาถามระดับความน่ากลัว เพราะเธอขวัญอ่อนแต่อยากอ่าน จึงแนะนำว่าอ่านเถอะ แต่พยายามอย่าอ่านตอนดึกๆ อย่าอ่านคืนที่มีพายุฝน และถ้าให้ดีก็อย่าอยู่คนเดียว

นี่ละ เสน่ห์การเขียนของคุณแดนอรัญที่ไม่เหมือนใคร แต่ว่าขออนุญาตคุณแดนอรัญเล่าเรื่องที่ได้รู้มาหน่อยเถิด ได้คุยถึงเรื่อง "มาตานุสติ" กับพี่เวียง-วชิระ พี่เวียงบอกว่าตอนคุณแดนอรัญเขียนเรื่องนี้ ได้ไปเขียนในบ้านซึ่งห่างไกลผู้คน หลังเดียวโดดๆ เหมือนในเรื่องไม่มีผิด ช่างเข้าใจหาโลเกชั่นจริงๆ คุณแดนอรัญเล่าให้พี่เวียงฟังว่าเขียนไปก็กลัวไปด้วย

ถ้างานเขียนของคุณแดนอรัญจะได้สร้างเป็นหนังก็คงดี คนจะได้รู้จักงานเขียนมากขึ้น แต่ส่วนตัวไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้นัก เพราะหนังสือดีไม่ได้แปลว่าจะเป็นหนังดีได้ แต่ถ้าจะมีฉบับหนังจริงๆ อยากเห็น คลินต์ อีสต์วูด กำกับ เพราะเชื่อว่าปู่คลินต์ต้องทำออกมาดีแน่นอน (แม้จะไม่ได้เป็นคนไทย) แถมจะได้เพลงประกอบไพเราะสุด ๆ

ส่วนคำถามว่าทำไมคุณแดนอรัญไม่เคยได้รางวัลด้านวรรณกรรมในไทยนั้น ตัวเองไม่เคยสงสัย แต่ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะมีนักเขียนและผู้คนอาชีพอื่นๆ มากมายที่ควรได้รับรางวัล แต่ไม่เคยได้รับ ทว่าคนเหล่านั้นได้รับความยกย่องและได้ที่ทางในหัวใจของนักอ่านและแฟนๆ ของเขา ซึ่งเหล่านี้มีค่ากว่ารางวัลใด ๆ

ยังรออ่านงานเขียนต่อๆ ไปของคุณแดนอรัญ


Faylicity เขียนถึงหนังสือของแดนอรัญ แสงทอง

เจ้าการะเกด
http://www.faylicity.com/book/book1/karaked.html

อสรพิษ
http://www.faylicity.com/book/book1/venom.html

ดวงตาที่สาม
http://www.faylicity.com/book/book1/thirdeye.html

มาตานุสติ
http://www.faylicity.com/book/book1/matanus.html.
…………………………………………………………………………..

วัลลภ รุ่งกำจัด 
นักแสดงนำชายจากภาพยนตร์เรื่อง “ที่รัก” (Eternity) / 
ผู้กำกับฝ่ายศิลป์ บริษัท Pop Pictures http://www.pop-pictures-ltd.com/


ยากแต่ต้องทำ
ผมว่ามันยากเหลือเกินในการที่เราจะเขียนอะไรซักอย่างถึง “นักเขียน” ที่เราชื่นชม ในแง่หนึ่งนั้นเราเองก็อยากให้เขาได้อ่านสิ่งที่เราเขียน แต่อีกด้านเหมือนการที่เราไม่ประสีประสาในการเขียนซึ่งได้รับโอกาสในการเขียนอะไรบางอย่าง คล้ายกับการที่เราเขียนเรียงความส่งศาสตราจารย์ในขณะที่เรากำลังศึกษาในระดับที่เพิ่งจะขยับจากอนุบาลมาเมื่อภาคเรียนที่แล้ว (และที่เลื่อนขึ้นชั้นมาได้ก็เพราะระยะเวลาของการศึกษาบังคับให้ขึ้นมา มิใช่เพราะว่าความสามารถที่พร้อมจะเลื่อนชั้นขึ้น) 

เราเองย่อมรู้ตัวว่ามัน ไร้เดียงสา อ่อนเยาว์ เหลือเกิน 

นับนิ้วในมือแล้วคงได้ไม่เกินห้า ที่ผมขยับการอ่านหันมาสนใจในวรรณกรรมทั้งไทยและต่างประเทศ และเมื่อผมได้รู้จักเอกลักษณ์ของสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่เลือกหนังสือมาพิมพ์ในสังกัด เหมือนกับว่าเราเชื่อใจกันไปครึ่งหนึ่ง

ถามว่างานเขียนของคุณแดนอรัญ จะ(ถูก) นำมาผลิตเป็นภาพยนตร์นั้น มีความเป็นไปได้ไหม ตอบได้เลยว่า “ ยาก (มาก)” ด้วยเหตุผลของเนื้อหาทั้งภายนอกและสิ่งที่ซ่อนเร้นอันจะเห็นในงานคุณแดนอรัญที่ออกมาในเชิงนัยยะและเปรียบเปรยตลอดเกือบทุกหน้ากระดาษ เมื่อนำมาเป็นบทภาพยนตร์ ทำออกมาเป็นภาพเพื่อเล่าเรื่องจำเป็นที่จะต้องใช้การตีความของเจ้าของผลงานเอง ผู้กำกับ ผู้กำกับภาพ ผู้กำกับศิลป์ ร่วมไปถึงทีมงาน เรียกได้ว่าทุกคนควรหล่อหลอมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจากงานของคุณแดนอรัญอย่างลึกซึ้งแนบแน่นมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

และถ้าหากสิ่งที่คิดจะเกิดขึ้นจริงจากงานเขียนเป็นภาพยนตร์ ?
ผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีทั้งหมดทั้งมวลในประเทศไทย การเลือกนั้นถือว่ายากมากที่จะมาเป็นคนถ่ายทอดงานของคุณแดนอรัญ หากให้เลือกจริง คงเป็น คุณอภิชาติพงษ์ วีระเศรษฐกุล และ คุณศิวโรจน์ คงสกุล ด้วยผลงานที่ผ่านมาของทั้งสองท่าน แนวทางหรือทิศทางภาพยนตร์ของทั้งสองท่าน เป็นภาพยนตร์ชนิดแบบเปิดอันจะเห็นได้จากการปล่อยให้ผู้รับ หรือ ผู้ชม เกิดการตีความสิ่งที่ได้รับเอง ใช้การผสมผสานประสบการณ์ร่วมของตัวเองและภาพยนตร์เข้าด้วยกัน โดยปราศจากการป้อนเช่นภาพยนตร์ทั่วๆ ไป

สำหรับนักแสดงนั้นเรียกว่า หาได้ยากยิ่งกว่าการเลือกผู้กำกับหลายเท่า ในความคิดผม คุณแดนอรัญคงต้องใช้เวลากับการคัดเลือกนักแสดงด้วยตนเอง ด้วยวิธีการของคุณแดนอรัญเองไม่ว่าจะด้วยวีธีใดก็ตาม แต่ที่ผมเชื่อว่ามันจะแตกต่างจากการคัดเลือกนักแสดงทั่วไปแน่นอน  

 เป็นสิ่งที่ยากครับ แต่ต้องทำครับ อย่างน้อยเอาไว้ให้พวกที่ชอบสร้างภาพแต่ด้านสวยงามได้เห็นอะไรที่เขารำคาญกันบ้าง
…………………………………………………………………………..

วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
นักเขียนรางวัลช่อการะเกด / นักวิจารณ์ภาพยนตร์เจ้าของนามปากกา Filmsick
http://filmsick.exteen.com/


กล่าวตามสัตย์ แดนอรัญ แสงทองน่าจะจัดเป็นหนึ่งใน นักเขียนไทยที่ดีที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่ และอยู่ในลำดับต้นๆ เสียด้วย ดังนั้นงานของแดนอรัญ (ทั้งเขียน และ แปล ) จึงย่อมจัดอยู่ในหนังสือไทยที่ควรอ่านก่อนตาย 

การอ่านงานของแดนอรัญ แสงทอง เปรียบประดุจการเดินอยู่บนขอบผาหมิ่นเหม่ทางศีลธรรม กระแสลมภาษากรรโชกปะทะใบหน้า เย็นรื่นและดึงดูดให้ผู้อ่านร่วงจมลงในหุบเหวของเรื่องเล่าซึ่งลึกและไร้ก้น เป็นการร่วงหล่นสู่ความมืดมิด ที่งดงาม และเข้มข้นราวกับความมืดนั้นมีเนื้อเยื่อ ไหลทะลักอาบร่างเรา 

เสน่ห์ของงานแดนอรัญที่ติดใจคือ ดูเหมือนในที่สุด แดนอรัญ ได้ค้นพบกลวิธีในการใช้ภาษาแบบพิเศษเพราะภาษาของแดนอรัญคือการดึงเอาภาษาดึกดำบรรพ์ มาปัดฝุ่นใหม่ เหยาะเนื้อนมไข่แบบหนังสือแปลฝรั่ง แล้วเขย่าจนเข้ากันเป็นภาษาเฉพาะ ที่เข้มข้นกลมกล่อม และร้ายกาจ การอ่านงานของแดนอรัญ แสงทอง ให้ความรู้สึกคล้ายกับการลักลอบเสพสังวาสแบบผิดศีลข้อสาม มันมีทั้งความสำนึกบาปแห่งความดำมืดในจิตใจ ระคนกับความสุขสุดยอดแห่งดำกฤษณา ความปรารถนาของนักเขียนผู้ล้มเหลว (อย่างผม) จ้องมองงานของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ ความฝันซึ่งไปไม่ถึงและไม่อาจเอื้อมคว้า

 งานเขียนของแดนอรัญเล่มไหนที่อยากเห็นเป็นหนังมากที่สุดนั้นนับว่าเลือกได้ยากยิ่ง ที่แท้แล้วงานของแดนอรัญ แสงทอง น่าจะมีผู้กำกับไทยไม่กี่คนที่หยิบมาทำได้โดยไม่ช้ำ ให้ระบุชื่อลงไปคงมีเพียง ความลึกลับดำมืด แบบเดียวกับที่อภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุลเคยให้ไว้เมื่อครั้งสัตว์ประหลาด! เท่านั้นจึงนับว่าสาสมกันกับการสรรค์สร้างงานอย่าง มาตานุสติ หรือ อสรพิษ หรือเจ้าการะเกด 

แต่ในอีกทางหนึ่งอยากเห็นพี่เจ้ยทำ ‘ดวงตาที่สาม’ สักครั้ง เอาให้สะเด็ดสะเด่าแบบเดียวกับ ‘หัวใจทรนง’นั่นปะไร 
 
ส่วนสาเหตุใดที่ทำให้แดนอรัญ ไม่เคยได้รับรางวัลด้านวรรณกรรมในเมืองไทย ทั้งๆ ที่ผลงานของเขาได้รับการยกย่องมากมายในต่างประเทศนั้น เป็นคำตอบที่ยากเข็ญและเสี่ยงต่อการเข้าตัวผู้ตอบเป็นอย่างยิ่ง แต่เข้าใจว่าสาเหตุเป็นเพราะงานของแดนอรัญนั้นเย่อหยิ่งต่อเพื่อนร่วมวงการอย่างยิ่ง ความสามารถและความกล้าหาญทำให้เขาไปไกลกว่าผู้อื่นอยู่ก้าวหนึ่งและไม่ทิ้งร่องรอยให้ตามทัน อาการดิ่งลึกลงในรอยปริแยกทางศีลธรรมใน ‘เงาสีขาว’ทำให้สังคมซึ่งเคลือบความดัดจริตไว้ทุกอณูไม่สามารถทนรับความจริงที่จริงเสียจนเจ็บนี้ได้ พวกเขาเลือกปฏิเสธและผลักไส (ไม่น่าแปลกใจ ศิลปินชั้นแนวหน้าล้วนถูกกระทำเช่นนี้หมดสิ้น) สิ่งซึ่งแดนอรัญได้ท้าทายพวกเขาไว้ และอาจต้องใช้เวลาทั้งชีวิตในการพิสูจน์สุดท้ายได้ย้อนกลับมาทิ่มแทงพวกเขาเอง กวาดตาไปสิ กระทั่งวันนี้ เรายังไม่แน่ใจว่าเรามีงานชิ้นใดที่จะเข้ามาแข่งขันกับ “เงาสีขาว” ที่เขียนขึ้นเมื่อยี่สิบปีก่อนได้บ้าง
…………………………………………………………………………..

สนธยา ทรัพย์เย็น
หนังสือ Bookvirus / Filmvirus (ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์)
บล็อกนิมิตวิกาล  http://twilightvirus.blogspot.com/

อ่านหนังสือของ แดนอรัญ แสงทอง คงเหมือนเดินฝ่าดงเขี้ยวขวาน มันมีพลังอันตรายแฝงอยู่ในทุกกอหญ้าที่เราก้าวไป ภาษาเขาอลังการมาก อ่านแล้วได้เรียนรู้คำโบราณ ๆ เก่าแก่ บรรยากาศแบบลูกทุ่งดี อ่านไปทั้งลุ้นทั้งเหนื่อย แต่ความเป็นแมนแมน และความดราม่าแบบ แดนอรัญ อาจไม่ใกล้รสนิยมผมเท่าไร เพราะผมชอบเรื่องเรียบ ๆ ร่วมสมัยที่เน้นตัวละคร หรือมีสัมผัสละเอียดอ่อนแบบผู้หญิงมากกว่า เพราะงั้นถ้าต้องเลือกว่าชอบเล่มไหน ผมคงโอนเอียงไปทาง “เงาสีขาว” มากกว่างานยุคหลัง ๆ ที่หันไปเน้นบรรยากาศสยองขวัญ ดูมีระยะห่าง เน้นความคิด เรื่องเล่าตำนานปรัมปราในเชิงสัญลักษณ์  

ดูคุณ แดนอรัญเป็นคนที่ทุ่มเทกับการเขียนหนังสือและใช้โวหารมาก เวลาเขียนหนังสือ เขาคงเป็นเหมือนคนเข้าทรงที่กล้าจะดิบหยาบ และพุ่งชนแรง ๆ กับทุกคนและทุกสถาบัน ถ้าเมื่อไหร่กรรมการซีไรต์มอบรางวัลให้หนังสือแบบ “เงาสีขาว” คงจะเป็นอะไรที่ประหลาดมหัศจรรย์ดี เพราะมันช่างต่างจาก “ความสุขของกะทิ” เหลือเกิน  

จริงอยู่ที่หนังดีหลายเรื่องสร้างจากงานวรรณกรรม แต่เอาเข้าจริง หนังชั้นเลิศมักเกิดจากบทภาพยนตร์ดั้งเดิม หรือหนังที่ไม่เน้นบท ที่จริงมีหนังสือดี ๆ เยอะ ที่ผมไม่อยากให้กลายเป็นหนัง แต่พักหลังบังเอิญได้คุยเรื่องหนังสือของ แดนอรัญ กับ คุณ สมเกียรติ์ วิทุรานิช (ผู้กำกับ October Sonata - รักที่รอคอย) ผมเลยลองคิดเล่น ๆ ว่าอย่าง “อสรพิษ” เนี่ย ถ้าทำจริง น่าจะทำเป็นหนังซ้อนหนังเล่าเรื่องคู่ขนานระหว่างเรื่องของตัวเอกที่เป็นเด็กเลี้ยงวัว กับเรื่องปัญหาการสร้างภาพยนตร์ของคนทำหนัง แล้วสื่อว่าทั้งสองเรื่องนี้เป็นความเดียวดายและเป็นอุดมคติไม่ย่อหย่อนกว่ากัน อดนึกไม่ได้ว่าตอนฉากจบ อุดมคติน่าผิดหวังหลังกล้องและหน้ากล้อง น่าจะช่วยคูณสองให้ความหมางเมินที่คนเรามีต่อกันมันเป็นโศกนาฏกรรมที่แรงยิ่งขึ้น

หรืออย่าง “เจ้าการะเกด” แทนที่จะมานั่งถ่ายเสือจริง กำกับยาก หรือไปนั่งทำเทคนิคซีจี เปลืองเงิน ดูหลอก ๆ ก็ไม่ลองถ่ายทุกอย่างให้มันเป็นแบบโรงถ่าย ทาสีฉาก ออกแบบกระท่อม ทำท้องฟ้า ทุ่งนาให้เป็นดูเทียมแบบเซอร์เรียลไปเลย เสร็จแล้วก็หาแดนเซอร์เก่ง ๆ ใส่ชุดรัดรูปลายเสือมาเต้น สลับกับภาพเสือจริงนิดหน่อย แต่ต้องดูอีโรติคแบบอันตรายน่ากลัวด้วยนะ จากนั้นก็เก็บประโยคบรรยายคมๆ ในหนังสือไว้ก็น่าจะหลอนดี 

คิดเล่นไปเรื่อยว่า “เจ้าการะเกด” ควรทำเป็นหนังสองภาค หรือหนังไตรภาค เผื่อหนังทำเงินถล่มทลายทำให้ไทยแลนด์ดังแบบ Lord of the Rings ของ นิวซีแลนด์ (บ้าไปแล้ว) ภาคแรกเป็นเรื่องเล่าสมัยพระธุดงค์สมัยหนุ่ม เพราะมีเรื่องสัตว์ป่า และเรื่องผจญภัยเยอะแยะ ส่วนภาคสองก็เล่าเรื่องเสือที่ตามมาล่าเจ้าการะเกด แต่ภาคสามนี่ไม่ต้องกลัว คุณ แดนอรัญ คงมีพล็อตที่เกี่ยวกับพระธุดงค์อีกเยอะที่แกรู้มา แต่ยังไม่ได้เขียน เราน่าจะลองไปให้แกเล่าเพิ่ม หรือไม่ก็ให้แกช่วยเขียนบทซะเลย 

แต่ถ้าทำเป็นหนังจริง “อสรพิษ” หรือ “เจ้าการะเกด” อาจจะง่ายไป ต้องเล่นของสูงไปเลย ทำ “เงาสีขาว” เลยดีกว่า ขนาดว่าแค่ประกาศสร้างนักอ่านก็รอรุมด่าล่วงหน้าแล้ว (ก็ที “บันทึกจากใต้ถุนสังคม” ของ ดอสโตเยฟสกี้ ที่ไม่น่าจะเหมาะทำหนัง ยังมีทำเป็นหนังอาร์เจนติน่า) ผมว่าแทนที่จะทำออกมาแบบเอ็กซ์เพรซชั่นนิสต์ดราม่า เล่าสำเนียงรุนแรงกราดเกรี้ยว มันเขี้ยวกัดไม่ปล่อยแบบ แดนอรัญ ก็น่าลองเปลี่ยนทำให้มันมืดดำแบบ poetic เรียบสุขุมแต่เข้มข้น เรื่องแรงแต่สไตล์นุ่มนวลลื่นไหล น่าจะเป็นส่วนผสมขัดแย้งที่น่าแปลก ดีกว่าที่จะไปทำให้เป็นหนังดราม่า เล่าเรื่องตรงไปตรงมา

ใครควรจะกำกับ อันนี้ไม่รู้ แต่น่าจะเป็นคนที่หัวใจเป็นคนลูกทุ่งเข้าใจชนบท แต่ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ฟูมฟาย คือมีความใจแข็ง เลือดเย็น กล้าหักหาญ ใจมารแบบคนเมือง และต้องมีหัวมีมุมมองทางภาพสูง เพราะเรื่องของคุณ แดนอรัญ มักจะเด่นที่ภาษา มากกว่าตัวเนื้อเรื่อง ถ้าไม่อยากโดนตัวอักษรกลืนมิด ต้องสร้างภาพที่ติดตา แต่ไม่ใช่ออกแบบเอาสวยฉูดฉาดแบบหนังโฆษณา คืออาจจะมีความเหนือจริงแบบเรียบง่ายสไตล์หนัง หลุยส์ บุนเยล แต่ถ้าทำ “เงาสีขาว” ก็ต้องมีความเรียลลิสติคแบบไม่รักษาน้ำใจในสไตล์ที่ ไมค์ ลีห์ หรือ จอห์น แคสซาเวททีส ทำ

เจ้ย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล อาจจะถ่ายป่าได้ดีกว่าใคร ๆ แต่ถ้า เจ้ย ทำ “อสรพิษ” หรือ “เจ้าการะเกด” จริงก็คงเปลี่ยนแปลงหลายอย่างจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม ซึ่งก็อาจจะได้หนังแปลกใหม่ดีไปอีกแบบ แต่คุณแดนอรัญกับแฟนหนังสือจะเซ็งหรือเปล่าล่ะ และที่สำคัญ เจ้ย คงมีโครงการหนังที่เขาคิดและเขียนบทเองเหลือเฟือ ส่วนผมชาตินี้ก็แค่โม้ไปเรื่อยเปื่อย คงไม่มีใครบ้าให้ทุนสร้าง เดี๋ยวไปทำให้หนังสือเขาเสียของ ชาตินี้ผมขอแค่ทำพล็อตหนังของตัวเองให้เสร็จแค่สองเรื่องก็บุญโขแล้ว
…………………………………………………………………………..

โสฬส สุขุม 
ผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องที่ได้รับทุนสร้างภาพยนตร์จากปูซานและรอตเตอร์ดัมติดต่อกันสามปีซ้อน สร้างหนังประสบความสำเร็จนานาชาติ เช่นหนังยอดเยี่ยมรางวัลสุพรรณหงส์ปี 2551 - Wonderful Town (อาทิตย์ อัสสรัตน์) และ “เจ้านกกระจอก” (อโนชา สุวิชากรพงษ์) ที่เพิ่งชนะรางวัลอันดับหนึ่งจากประเทศโรมาเนีย ผลงานอำนวยการสร้างเรื่องต่อไป คือ “ที่รัก” (ศิวโรจณ์ คงสกุล) และ “ไฮโซ (อาทิตย์ อัสสรัตน์)”  
 
ด้วยความที่เป็นคนทำอาชีพด้านหนัง ตอนอ่าน “อสรพิษ” เลยรู้สึกเหมือนได้ดูหนังสั้นที่สนุกเรื่องหนึ่งที่มันครบรส ทั้งตื่นเต้น เพลิดเพลิน พร้อมกับการบรรยายอักษรของคุณแดนอรัญน่าสนใจมาก ทำให้เห็นภาพของบรรยากาศของสถานที่แห่งนั้นได้อย่างชัดเจน เห็นภูมิหลังของตัวละครแต่ละคนชัดเจนมาก  

เกี่ยวกับงูในเรื่อง ตั้งแต่เด็กเจองูจนกระทั่งงูออกจากโพรงผมไม่ได้รู้สึกอะไร เพราะเรื่องได้อธิบายที่มาที่ไปของงูตัวนี้ จนกระทั่งมีการอธิบายลักษณะการรัด ขนาด และวิธีการรัด เฮ้ย ! เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่งูจริงๆ แล้วล่ะ ความรู้สึกของเรามันน่าจะเป็นสัญลักษณ์ หลังจากนั้นระหว่างที่อ่านก็ไม่ได้เป็นความรู้สึกเจ็บปวดของงูที่รัด แต่เห็นความเจ็บปวดของตัวเอง เป็นความเจ็บปวดของเราแบบที่อยู่บนโลกนี้ ที่คนเราก็มีความขัดแย้งมีโน้นนี่อยู่ตลอดเวลา รู้สึกว่างูตัวนั้นมันจับต้องไม่ได้ แต่มันอยู่ในตัวเรานี่แหละ รู้สึกว่าคนเขียนเหมือนคนทำหนังในแบบที่เราชอบดูคือเปิดกว้าง แล้วให้โอกาสเราไปคิดเอาเองว่างูตัวนั้นมันคืออะไร  

ถ้าเทียบหนังสือกับหนัง
ผมรู้สึกว่ามันลึกซึ้งคือถ้ามันเป็นหน้าหนัง ที่พูดเกี่ยวกับคน ชนบท เป็นเด็กกับงู มันก็ดูเป็นสตูดิโอมาก แต่วิธีเขียนของคุณแดนอรัญทำให้เราไปไกลกว่านั้น เวลาที่อ่านทำให้รู้สึกว่าตัวเราห่างไปจากความดาษ ความเยอะของหนังสือหรือหนังแบบสตูดิโอ คือตอนแรกถ้าเห็นเป็นหนัง “อสรพิษ” หรือ หนังสือ “อสรพิษ” ที่เกี่ยวกับงู เด็ก ชาวบ้าน ชนบท มีวัวควาย คือมันก็แบบศิลปินหรือคนทำงานศิลปะ ไม่ว่าคนทำหนังหรือคนทำหนังสือแบบนี้ก็มีเยอะแล้ว แต่ระหว่างที่อ่านงานของคุณแดนอรัญ ภาษาของเขาหรือวิธีการบรรยายของเขาโดดเด่นมาก โดยเฉพาะภาวะทางจิตใจของเด็ก ผมชอบมากที่สุดครับ
…………………………………………………………………………..

หนุ่ม  
ร้านหนังสือเดินทาง Passport Bangkok

งานของแดนอรัญที่ออกมาทั้งหมดนั้น ผมอ่านแค่เล่มเดียวเองคือเล่ม อสรพิษ อ่านแล้วก็รู้สึกทึ่งและสัมผัสได้ถึงเมือกงูอยู่ เคยแนะนำให้ลูกค้าฝรั่งอ่านหลายคนก็บอกว่าเรื่องนี้ "Unputdownable" คือวางไม่ลงครับ
…………………………………………………………………………..

อุทิศ เหมะมูล  
นักเขียนซีไรต์ปี 2552 จากนวนิยายเรื่อง ลับแล, แก่งคอย / รางวัลหนังสือดีเด่น ‘เซเว่นบุ๊คอวอร์ด’ ครั้งที่ 6 ปี 2552 / นักวิจารณ์ภาพยนตร์ Outsiders in Cinema และ 151 Cinema

ในฐานะผู้ติดตามผลงาน รวมถึงวัตรปฏิบัติอื่นๆ ของผู้สร้างสรรค์อย่างแดนอรัญ แสงทองแล้ว ผมเชิญเขามาเป็นอาจารย์ด้านวรรณกรรมของผมโดยไม่ลังเลเมื่อแรกได้อ่านอสรพิษกับเงาสีขาว จากนั้นผมก็เสนอ (หน้า) ผลงานตัวเอง มัดมือชกบอกเขาตรงๆ ให้มาเป็นอาจารย์ เขายอมรับและ ‘รับไว้ในฐานะญาติหรือเพื่อนพ้องน้องพี่’ ทางวรรณกรรม นั่นทำให้ผมเบิกบานอย่างบอกไม่ถูกเลย 

เขาเป็นครูของผมในทุกๆ ด้านทางวรรณกรรม ไม่เพียงเขียนหนังสืออย่างน่าลุ่มหลง แต่เขามีสังหรณ์ทางวรรณกรรมที่เข้มชัดอย่างยิ่งด้วย รวมถึงด้านการวางตัวอย่างน่านับถือ และอุปนิสัยใจคอ (แม้ได้พบเพียงน้อยนิด) เป็นคนเอื้ออารี จริงใจ และสุภาพอ่อนโยน ตัดกันอย่างชัดเจนกับพลังสำแดงอันโหมระห่ำในงานวรรณกรรมของเขา แต่เพราะเขามีความจริงใจ อารี และสุภาพอ่อนโยนนั่นเองที่เป็นหัวใจในการบรรยายทุกอย่างอย่างละเอียด ซอกซอน และลึกล้ำ 

เขาเป็นทาสที่แท้จริงของวรรณกรรม (แม้ช่วงหลังๆ เขาทำท่าว่าจะไปเป็นทาสทางศาสนาก็ตาม) แต่ผลงานเท่าที่ผ่านมา ยังคงรับใช้วรรณกรรมล้วนๆ (ผม ในฐานะลูกศิษย์มารหัวขนผู้มาทีหลัง หวังใจว่าเขาจะเป็นทาสวรรณกรรมต่อไป) เขาเป็นทาสวรรณกรรมผู้คล่องแคล่ว ล้ำหน้า เปี่ยมปฏิภาณไหวพริบยากใครเสมอเหมือน 

สำหรับผม เขาไม่ใช่นักเขียนที่ดีที่สุดของไทยเท่านั้น เพราะคุณภาพงานของเขา ค่อยๆ ส่งให้เขาเป็นนักเขียนที่ดีที่สุดคนหนึ่งของโลกด้วย (คอยดูกันต่อไปเถอะ!) 

ดังนั้น ในฐานะนักเขียนคนหนึ่ง เขามีของ และมีรางวัลอยู่แล้ว – ใช่ว่าจะไม่มี และที่มีอยู่นั้นนักเขียนคนอื่นๆ เขายังไม่มีและอยากจะมีเสียอีกด้วย (แม้จะยังไม่ได้ในเมืองไทยตอนนี้ แต่ตอนหน้าก็จะได้ คอยดูกันต่อไปเถอะ!) ที่สำคัญ เขาเป็นนักเขียนของนักอ่าน 

และที่สำคัญกว่านั้น แดนอรัญ แสงทอง เป็นนักเขียนของนักเขียนครับ

ด้วยรักและอยากอำ (ครู)
อุทิศ เหมะมูล  


9 ความคิดเห็น:

  1. เรียนทุกท่านในที่นี้ คุณแดนอรัญได้อ่านความคิดเห็นทั้งหมดแล้ว และฝากขอบคุณทุกท่านมากมายสำหรับกำลังใจที่มอบให้ครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ1 กรกฎาคม 2553 เวลา 03:22

    สวัสดีครับ,ผมจัดเป็นแฟนหนังสือมือใหม่ของพี่ครับอยากจะอ่านอีกหลายเล่มแต่หาไม่เจอหลายเรื่องอย่างเช่น เออร์เนสต์ เฮ็มมิงเวย์ ว่าด้วยการเขียน ,เพลงรักคนพเนจร ผลงานคัดสรรจาก ยามพราก / ปี 2545 สำนักพิมพ์ เส้นทางวรรณกรรม และอื่นๆ อยากอ่านจังเลยครับ
    สู้สู้นะครับรอติดตามงานเขียนของพี่อยู่เรื่อยๆ

    ตอบลบ
  3. ไม่ระบุชื่อ21 กรกฎาคม 2553 เวลา 02:14

    สวัสดีครับพี่,ผมหาเงาสีขาวอ่านยากจังครับพี่เหมือนชลบุรีเป็นมหาสมุทรเหมือนเงาสีขาวเป็นเข็มวิ่งหาเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขาเลยพี่ทั่นหายาก
    แล้วอีกอย่างเจอราคาถึงสะอึก อุทาน โอ้แม่จ้าว700!! แต่ก็เอาก็ซื้อมา
    อ่านแล้วมีความสุขที่ได้อ่านครับตอนนี้กำลังอ่านคนโซขอรับ รอผลงานใหม่เรื่อยๆครับ

    ตอบลบ
  4. โอ้ว..ขนาดอยู่ชลบุรียังหาซื้อได้เหรอครับ สุดยอดจริงๆ

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ2 ธันวาคม 2553 เวลา 20:32

    ตอนนี้ผมเรียนอยู่ที่อเมริกาครับ อยากกล่าวกับคุณแดนอรัญว่า หนังสือที่ผมพกติดตัวมาจากไทยนั้น คือหนังสือของคุณ คุณมอบแรงบันดาลใจให้ผม

    ถ้าผมเลือกทำหนังจากหนังสือของคุณได้หนึ่งเล่มผมอยากทำ มาตานุสติ แบบจริงจังครับ

    ของให้ท่านผู้อ่านโปรดรักษาสุขภาพ

    ตอบลบ
  6. ผมได้อ่านงานของ แดนอรัญครั้งแรกเป็นหนังสือแปลอารยชนคนเถื่อน
    อ่านแล้วมันรู้สึกติดใจอย่างบอกไม่ถูกกับเรื่องของสำนวนภาษา ควานแก่นแก้วของตัวละคร ศัพท์แสงที่บางครั้งผมต้องไปถามแม่ว่า ไอ้คำๆนี้มันมีความหมายประมาณว่าอย่างไร(โชคดีที่แม่ผมเป็นครูภาษาไทย)ขณะที่ในเล่มรู้สึกสำนักพิมพ์ก็จะอวยเหลือเกินอยู่ในทีว่าผู้แปลน่ะอย่างงู้นอย่างงี้ ส่วนตัวผมไม่ชอบการอวยนักก็เลยผ่านๆไปเอาแค่เราพอใจเรื่องนี้ละกัน

    ผ่านไปซักครู่ผมก็ได้เล่มบางๆงานแปลของแดนอรัญอีกครั้งในนามของเจนไรซ์มนุษย์หมาป่า อ่านง่ายอ่านเร็วราวกับอ่านหนังสือการ์ตูนพลิกๆจบ สรุปได้อรรถรสความเก่าๆแก่ๆอีกเล่ม คราวนี้ผมก็เริ่มติดตลาด

    ผมเริ่มตามหางานเขียนของแดนอรัญมาอ่านตามเค้าท์เตอร์ร้านค้า "เออโทษนะครับมีหนังสือของแดนอรัญหรือเปล่าครับ" "อะไรนะคะ" เดาว่าคงไม่ค่อยมีคนถาม "สะกดหน่อยค่ะ"

    ที่สุดผมได้คนโซมาอ่าน ผมรู้สึกแปลกไปเล็กน้อยเหมือนมันกลืนยากขึ้นพิกลไม่สนุกซาบซ่าเหมือนสองเรื่องแรก เรื่องนี้ผมไม่ติดใจอันใด แต่สำนักพิมพ์ก็อวยแดนอรัญให้ผมเห็นอีกครั้งจนผมจำคำว่า "เงาสีขาว" ไว้ในหัว ถ้าได้เห็นตามแผงเราได้เจอกัน...

    วันหนึ่งผมจะไปหาหนังสือดีซักเล่มมาประดับห้อง(ทำให้ตัวเองดูกลายเป็นคนมีรสนิยมวิไลโดยใช้หนังสือบังหน้า)ที่คิโนคูนิยะ(ฝรั่ง พิมพ์ีดีๆ อา์ร์ตเวิรค์สวยๆ)ผมเตรียมไปพันห้า ผมได้เล่มทีี่่ต้องการจำนวน1เล่้มราคาหนึ่งพันสองร้อยสามสิบบาท ทันใดหรือไม่ทันใดก็ตามแต่ผมเดินผ่านมุมหนังสือภาษาไทย ใบหน้าของชายวัยกลางคนหนวดเคราราวกับศิลปินเพื่อชีวิตก็ไม่ปานถูกย้อมฉาบสีน้ำเงินแกมๆด้วยโฟโต้ชอป เงาสีขาว...ราคา700บาท นั่นเป็นราคาที่ทำให้ผมต้องจัดระเบียบการตัดสินใจอีกครั้ง การเลือกหนังสือหนึ่งชั่วโมงก่อนหน้านั้นเป็นอันว่ายกเลิกไป ผมตัดใจวางหนังสือฝรั่งเล่มนั้นและักัดฟันเชื่อการอวยของสำนักพิมพ์ที่เค้าว่ามาซะหน่อยแม้จะแหยงๆกลัวจะกลายเป็นคนโซเล่มนั้น เอาเถอะผมหยิบไป(เหลือเล่มเดียวด้วย)คว้าการ์ตูนอิหร่านอีกเล่มห้าร้อยกว่าบาท เป็นอันว่าจำกัดพออยู่ในงบ

    พลิกไป พลิกมา ตาลุงนี่ขยันเขียนจริง ผมยืนอ่านคำนำมาบนรถไฟฟ้า
    เฮ้ยคำนำทำไมมันสนุกมากขนาดนี้ แค่คำนำเท่านั้นล่ะผมเชื่อที่ำสำนักพิมพ์เ้ค้าอวยกันมากี่เล่มต่อกี่เล่มทันที อ่านๆ อ่านๆ บทแรกๆก็กลืนยากเหมือนกันเแหะใช้สมาธิพอควร นี่มันตอนแกโตหรือตอนแกเด็กวะ อ่านไปนาฬิกาของเราก็ปรับเข้ากับเจ๊ตแลคของแดนอรัญได้ ผมลุ้นมากหลายครั้ง ทำไมได้เด็กนี่ัมันไปข่มขืนเค้าอีกแล้ววะ ผมอินผมรู้สึกได้ เค้าเขียนให้รู้สึกขนาดนี้ได้ยังไงกัน มันรู้สึกมาก กระแทกมาก ใจเต้นบางครั้ง เฮ้ย! อย่า! อย่า! ผมอ่านเล่มนี้จบผมต้องหาการ์ตูนของพิกซาร์มาดูให้มันสดใสขึ้นบ้าง ความหม่นมันหดหู่ติดอยู่ในใจ

    สุดท้ายผมคงต้องช่วยอวยแดนอรัญให้สำนักพิมพ์
    ตาลุงคนนี้ไม่ธรรมดา

    ชอบมากจึงขอพิมพ์
    ป.

    ตอบลบ
  7. ไม่ระบุชื่อ29 มกราคม 2554 เวลา 04:12

    ตาเคราคนนี้ตะแกเป็นคนแข็งแรง ตะแกเที่ยวแบกฆ้อนปอนด์มาตอกกบาลของพวกเราอย่างเต็มกำลังตามใจชอบของตะแก เงาสีขาวเป็นฆ้อนปอนด์ของตะแก ฉันอ่านงานของตาเคราคนนี้มาหลายเล่ม ตั้งแต่ผู้ถูกกระทำโน่นแหละ เงาสีขาวฉันตะบันอ่านตั้งสองรอบ อสรพิษ เจ้าการะเกด มาตานุสติ ตำนานเสาไห้ ในความเห็นของฉันมีว่า หากมีเกียรติยศใดๆในเมืองไทยก็อวยให้ตะแกไปเถิด แม้ตะแกจะไม่อยากได้ เหตุผลก็เพื่อล้างความขายหน้าของประเทศนี้ที่ทอดทิ้งนักเขียนอย่างตะแก ขอให้โชคดี

    ตอบลบ
  8. ผมมีงานของแดนอรัญเกือบครบแล้ว (เฉพาะงานเขียน) แต่ที่อ่านจนจบจริงๆ มีเพียงเงาสีขาว ซึ่งขอยกย่องให้เป็นหนึ่งในนวนิยายไทยร่วมสมัยที่อยากจะขโมยทุกกลเม็ดการเขียนจริงๆ

    เป็นกำลังใจให้สร้างสรรค์ผลงานที่ดีเยี่ยมต่อไป และจะติดตามผลงานสม่ำเสมอครับ

    ตอบลบ
  9. เทพ นักอ่านบ้านนอกคนหนึ่ง26 กรกฎาคม 2557 เวลา 03:12

    ได้อ่านงานของ แดนอรัญ แสงทอง เล่มแรกคือมาตานุสติ แต่เล่มนี้อ่านไม่จบและไม่ชอบ มีโอกาศได้อ่านอีกทีก็เงาสีขาวฉบับพิมพ์ครั้งที่สอง เล่มนี้สุดยอดอ่านก่อนวัยเบญจเพส ตามด้วย อสรพิษ ชอบมากที่สุด เจ้าการะเกดภาษาสวยกระชับ เสาให้และแมวผีเยี่ยมคับ อีกเรื่องทีชอบคือทุ่งร้างในเมืองละเมอ แต่ที่ชอบมากคือคำตามคับ อ่านทุกเล่มทุกบรรทัด โดยเฉพาะในเงาสีขาว อ่านจนเกือบจะบวชยาว ไปสวนโมกข์จนเลิกไปแล้ว...

    ตอบลบ