บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

แมวผี


โดย 'นรา' 
http://narabondzai.blogspot.com/


‘แมวผี’ เป็นผลงานเรื่องสั้นขนาดกะทัดรัดเล่มล่าสุดของ แดนอรัญ แสงทอง

ยาว (หรือสั้น) ประมาณเกือบ ๆ 30 หน้า ราคาเล่มละ 50 บาท

อาจจะแพง หากเทียบผิวเผินว่ามันเป็นแค่การซื้อขายแผ่นกระดาษ แต่ถ้ามองในแง่ของ ‘ราคาทางความคิด’ และคุณค่าที่จะได้รับจากการอ่านแล้วล่ะก็ ราคานี้ถูกเหมือนได้เปล่าสำหรับผม

ปกติแล้ว ความยาว (หรือสั้น) ขนาดนี้ ผมควรจะใช้เวลาไม่เกินชั่วโมงในการอ่านให้จบ แต่ผมก็ต้องบวกเพิ่มไปอีกเท่าตัว ในการอ่านเรื่องสั้น (หรือยาว) เรื่อง ‘แมวผี’

เพื่อสุขภาพจิตอันดีงามของผู้อ่านและตัวผมเอง จะยาวหรือสั้นก็ช่างมันเถอะนะครับ

ทำไมต้องใช้เวลาอ่านมากกว่าปกติ? เป็นเพราะว่าอ่านยากหรือเปล่า?

คำตอบคือ ทั้งไม่ใช่และใช่

ไม่ใช่เพราะว่า เรื่องราวที่บอกเล่านั้น เพลิดเพลินรื่นรมย์ ชวนติดตาม และสนุกเหลือหลาย

และใช่...มันอ่านยาก เพราะว่า ความบันเทิงเริงใจส่วนหนึ่ง อยู่ที่วิธีการเขียนและวิธีการอ่าน

นี่เป็นหนึ่งในน้อยเรื่องน้อยเล่ม ที่ผมไม่สามารถพกพาติดตัวไปอ่านบนรถเมล์หรือตามที่สาธารณะ ต้องหลบอ่านในหลืบมุมมิดชิดเป็นส่วนตัว ราวกับเด็กนักเรียนวัยคึกคะนองฮอร์โมนพลุ่งพล่าน แอบอ่านหนังสือแนวปลุกใจเสือป่า

‘แมวผี’ ไม่ได้โป๊ดุเดือดเลือดพล่าน ถึงขนาดต้องอ่านด้วยกรรมวิธีกระมิดกระเมี้ยนหลบ ๆ ซ่อน ๆ หรอกนะครับ และเอาเข้าจริงก็สะอาดถูกสุขอนามัยตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย

แต่นี้เป็นงานเขียนที่เรียกร้องให้ต้อง ‘อ่านออกเสียง’ จึงจะสนุกได้อรรถรสเต็มพิกัด

เพื่อมิให้ผู้คนรอบข้างแตกตื่นตกใจ ผมก็เลยเลือกที่จะอ่านดัง ๆ ในบ้าน

มีคำชี้แจงสั้น ๆ ก่อนเริ่มเรื่องของ ‘พ้อนักประพันธ์โฉ่มเอ้ก’ บอกกล่าวตกลงกับผู้อ่านไว้ว่า “ข่อเรียนให้ซาบย้างนี้น่ะขะรับว้า ถ้าหากว้าย้ากจะอ้านเรื้องมะโน่ส่าเร้เรื้องนี้แล้วล่ะก้อ ข่อความกรุ่ณาอ้านให้เปนส่ำเนียงเหน้อ ๆ แบบสู้พรรณ ๆ ซักน่อยนึ่งเถิ้ดจ้า หรือถ้าไม่ย้างนั้นก๊อเชิญเอาเวล่ำเวลาไป่ทำอะไร ๆ ย้างอื่น ๆ เห่อะ แล้วก๊ออย่าอ้านในใจ อ้านในใจแล้วคือว่ามันจะตะกึ้กตะกั่กอยู้ซักกะน่อย”

ครับ ทุกหน้า ทุกบรรทัด ทุกประโยคของ ‘แมวผี’ เขียนด้วยสำเนียงเหน่อแบบสู้พรรณ

ดังนี้เอง จึงปรากฏในเรื่องว่า อ้ายวิลลีหมากรุงเทพฯ กลายเป็นอ้ายหวิ่นลี่ ก่อนจะเสี่ยหม่า เห่าเหน่อหลังจากไปอยู่บ้านนอกได้สักพัก

หลังจากอ่านออกเสียงจบแล้ว และทดลองอ่านเงียบ ๆ ในใจอีกรอบ ผมพบว่าวิธีแรก สนุกกว่าเยอะ ขณะที่วิธีหลังจืดชืดไม่เป็นรส

เหตุผล ที่มาที่ไป เกี่ยวกับการเลือกใช้เทคนิคสำเนียงสุพรรณตลอดทั้งเรื่อง ปรากฏอยู่ในคำชี้แจงของผู้เขียนตอนท้ายเล่ม (ซึ่งไม่ควรรู้ล่วงหน้าก่อนอ่าน)

นอกจากจะเป็นลูกเล่นในการทำให้แปลก สร้างรสระรื่นเสนาะหูระหว่างการอ่านแล้ว ผมคิดว่าสำเนียงเหน่อนี้ เมื่อบวกรวมกับสำนวนลูกทุ่งของนักเขียน- -ที่ผมนับถือและยกย่องว่าเป็น ‘นายแห่งภาษา’ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งส่งผลให้ ‘แมวผี’ กลายเป็นเรื่องเล่าที่ถึงแก่นวิญญาณความเป็นชนบท (ในอดีต) และเขียนได้เนียนหูเนียนตา เหมือนนั่งอยู่ต่อหน้าทิดโขดผู้เป็นตัวละคร ฟังแกเล่าอะไรต่อมิอะไรเป็นคุ้งเป็นแคว ในลีลา ‘เดี่ยวไมโครโฟน’ แบบไม่เสียบปลั๊ก (เนื่องจากยังไม่มีไฟฟ้าใช้) อย่างเพลิดเพลินลืมเวลา

พูดง่าย ๆ คือ มันทำให้ ‘แมวผี’ มีบรรยากาศแบบชนบทไทยแท้ ทั้งคำพูดคำจาและมุมมองความคิดของตัวละคร (นี้เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งที่แข็งแรงมากในผลงานระยะหลัง ๆ ของแดนอรัญ แสงทอง พูดแล้วก็ขอแนะนำ ‘ตำนานเสาไห้’ อีกสักเล่ม พร้อมคำยืนยันว่าดีเยี่ยมน่าอ่าน)

รวมทั้งได้อารมณ์ขันเสียดสีแบบน่ารักน่าเอ็นดูเป็นโบนัสแถมพก

เนื้อที่กว่าครึ่งหนึ่งของ ‘แมวผี’ เล่าไปเรื่อย ๆ เหมือนปราศจากเค้าโครงเหตุการณ์ (และเหมือนคนเล่านึกอันใดขึ้นมาได้ก่อนก็เล่าไปตามนั้น ไม่ได้เรียบเรียงวางลำดับของเนื้อหาให้มีต้น กลาง ปลายที่แน่ชัด) พูดถึงความทรงจำฝังใจในอดีต เกี่ยวกับการดูหนังกลางแปลง การเดินข้ามทุ่งข้ามหมู่บ้าน นานหลายชั่วโมงหลายสิบกิโลเมตร เพื่อไปเสพงานศิลป์มหรสพยังต่างถิ่น โดยไม่คิดว่านั้นเป็นอุปสรรคยากลำบาก ฉากประทับใจและภาพจำจากหนังไทยรุ่นเก่าหลาย ๆ เรื่อง ความพึงพอใจและขัดใจจากการปรุงรสให้แก่หนังโดยฝีปากนักพากย์ ความหลงใหลชื่นชมต่อบทบาทการแสดงของพระเอกยอดนิยม-มิตร ชัยบัญชา (หรือมิตร ไฉ่บัญชาในสำเนียงสุพรรณ)

อารมณ์และรสบันเทิงนั้น พอจะเทียบคร่าว ๆ ได้ว่า ใกล้เคียงกับหนังอิตาเลียนเรื่อง Cinema Paradiso

ไม่ได้เด่นที่การผูกเนื้อเรื่องให้ซับซ้อนย้อนยอก เป็นพล็อตเรียบง่ายธรรมดา แต่พิสดารโดยรสของถ้อยคำและการพรรณนารายละเอียดอันน่าตื่นตาตื่นใจ

ถึงแม้ ‘พ้อนักประพันธ์โฉ่มเอ้ก’ จะกล่าวไว้ท้ายเล่มหลังจบเรื่องว่า ‘แมวผี’ เป็นเรื่องมโนสาเร่ เป็นเรื่องอ่านเล่น จุดประสงค์ก็เพียงเพื่อหยอกเอินให้ได้หัวเราะหัวใคร่กันบ้างเท่านั้น

แต่ในท่ามกลางลีลาทีเล่นผ่อนคลาย ‘แมวผี’ ก็สะท้อนภาพรายละเอียดบางด้านของสังคมชนบทในอดีตเมื่อครั้งพายุแห่งความเจริญยังไม่พัดผ่าน, ความเปลี่ยนแปลงพ้นเลยในหลายสิ่งหลายอย่างชนิดไม่หวนย้อนกลับมาอีก, อารมณ์ถวิลถึงอดีตอันสวยเศร้าจับอกจับใจ, แถมยังเป็นพงศาวดารชาวบ้านจดจารจารึกถึงประวัติศาสตร์หนังไทยเสี้ยวเล็ก ๆ ได้อย่างมีชีวิตชีวา และเสน่ห์แรงเป็นบ้า

หนังไทยจำนวนมากที่กล่าวถึงในงานเขียนชิ้นนี้ บางเรื่องผมไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลย บางเรื่องก็แค่สดับรับฟังคำร่ำลือ แต่โตไม่ทันดู บางเรื่องเคยผ่านตา ทว่าก็เป็นความหลังรางเลือน ไม่แจ่มชัดเท่ากับที่ตัวละครสาธยาย

ทว่าทุกเรื่อง แดนอรัญ แสงทอง เขียนเล่าและเร้าโน้มน้าว กระทั่งผู้อ่านรู้สึกว่า น่าดูมากและเกิดความรู้สึกอยากเสาะหามาดูด้วยตนเอง

แต่ผมก็รู้อีกว่า ต่อให้ออกไล่ล่าหนังเหล่านั้นมาได้จริง ๆ การดูเองก็คงไม่สนุกและมีเสน่ห์เทียบเท่ากับที่ตัวละครทิดโขดเล่าให้ฟังใน ‘แมวผี’

มันเป็นเรื่องของมุมมองซื่อใสบางอย่าง ซึ่งผมไม่มีอยู่ในตัว และเป็นเรื่องของพรสวรรค์ความสามารถพิเศษเฉพาะตัวในการถ่ายทอดความบันเทิงดาด ๆ ให้กลายเป็นเรื่องกระทบความรู้สึกเร้าใจผู้อ่าน

ตัวละครทิดโขด โดยการพูดผ่านปลายปากกาของแดนอรัญ แสงทอง มีคุณสมบัติและพรสวรรค์ดังกล่าวอยู่เต็มเปี่ยม

ร้ายกาจกระทั่งว่า หนังบางเรื่องเช่น ‘สิ่งล้าสิ่งห์’ (สิงห์ล่าสิงห์) ที่ทิดโขดในเรื่องไม่มีโอกาสได้ดู และเห็นเพียงแค่ภาพวาดจากโป๊ดสะเต้อ ตะแกยังจินตนาการและนึกสงสัยเกี่ยวกับหนังไปได้ต่าง ๆ นานา จนผมคิดว่า อาจสนุกกว่าตัวหนังจริง ๆ เสียอีก

พูดอีกแบบนะครับ ตลอดทั้งเรื่องใน ‘แมวผี’ แทบจะมีทิดโขดเป็นตัวละครหลักที่แสดงบทบาทวาดลวดลายอยู่ตามลำพัง ทว่าในเรื่องเล่าผ่านท่วงทำนอง ‘พูดคนเดียว’ ตั้งแต่ต้นจนจบ อีกมุมหนึ่งก็เหมือนประกอบด้วยตัวละครเยอะแยะมากมาย และล้วนเป็นคนดังในอดีตที่ผู้อ่านรู้จักชื่อคุ้นหน้าค่าตากันอย่างดี เช่น มิตร ชัยบัญชา, สมบัติ เมทะนี, เพชรา เชาวราษฏร์, ล้อต๊อก และดาราดังรุ่นเก่าอีกหลายสิบชีวิต

ตลอดเวลาช่วงต้นจนถึงกึ่งกลางของการอ่าน ผมมีข้อสงสัยและคำถามหนึ่งอยู่ในใจ นั่นคือ เรื่องทั้งหมดที่เล่ามา ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับชื่อเรื่อง ‘แมวผี’ เลยสักนิด


ชื่อนั้นชวนให้คิดและคาดหวังล่วงหน้าไปว่า จะต้องเป็นเรื่องสยองขวัญ อาถรรพ์ลี้ลับ บรรยากาศน่าสะพรึงกลัว อ่านแล้วขนหัวลุก

จนอ่านจบแล้วนั่นแหละ ผมจึงถึงบางอ้อ Oh I See ทั้ง ๆ ที่เรื่องเกิดขึ้น ณ หมู่บ้านมาบสันตะวา ว่าทำไมจึงตั้งชื่อเรื่องเช่นนี้

เป็นชื่อที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงนะขะรับ

เหตุการณ์ในครึ่งเรื่องหลังไปจนกระทั่งจบ เป็นความลับที่ไม่สามารถเปิดเผย

ผม- -ในการเขียนเชิญชวนอย่างระแวดระวัง เพื่อรักษาอรรถรสเกี่ยวกับความลับของเรื่อง- -เล่าได้แค่ว่า ครึ่งท้ายของ ‘แมวผี’ มีเค้าโครงเหตุการณ์ให้จับต้องได้, มีการบรรยายฉากและอารมณ์ภายในของตัวละครที่ทรงพลังแบบวางไม่ลง (หลายจังหวะ เรื่องนั้นสะกดตรึงดึงดูดจนผมพลั้งเผลอ ทำสำเนียงสุพรรณตกหล่นหลงหายจากปลายลิ้นไปชั่วขณะ) และมีทั้งสิ่งที่ผู้อ่านคาดหวังไว้ก่อนอ่านควบคู่ไปกับเหตุการณ์นึกไม่ถึง

รวมถึงทีเด็ดสำคัญใน ‘เรื่องเล่าเช้าวันนั้น’

และเมื่อไล่สายตาอ่านออกเสียงจนถึงบรรทัดสุดท้าย ผมเผลอตัวปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกหนึ่งออกมาแบบสุดกลั้น ควบคู่ไปกับมีรสแห่งการอ่านอีกแบบ แผ่คลุมแน่นทึบภายในใจ ราวกับความกดอากาศต่ำพาดผ่านตอนหนึ่งตอนใดของประเทศไทย จนทำให้รู้สึกเยียบยะเยือกอยู่ลึก ๆ

เมื่ออ่าน ‘แมวผี’ จบลง ผมไม่อยากให้จบ ยังอยากอ่านต่ออีก ทั้งที่รู้ว่า เรื่องได้ยุติตรงจุดที่สวยสุดกำลังเหมาะเจาะลงตัว

งานเขียนชั้นเยี่ยม มักทำให้ผมรู้สึกเช่นนี้ คือ อิ่มแปล้แล้ว แต่ยังตะกละตะกลามอยากกินอีก ก็เพราะมันอร่อยเหาะเด็ดดวงนัก

อาจทิ้งท้ายเป็นสำเนียงสู้พรรณปลอม ๆ ได้ว่า “แหม่ หมั่นแหงแก๋อยู้ ข้าอ่านแล้ว ข้าช้อบ หมั่นชุ้มชื่นหั่วใจดีพี่ลึกล่ะ”

แต่ถ้าจะให้ตรงกับความเป็นจริง ผมต้องใช้สำเนียงจีนพูดไทยไม่ชัดว่า “โขงเค้าลีจิง ๆ นาค้าบ”

บทความชิ้นนี้จะอ่านออกเสียงหรืออ่านในใจก็ได้ตามอัธยาศัย แต่ที่แน่ ๆ ควรจะ ‘อ่านออกตังค์’ โดยซื้อ ‘แมวผี’ ไว้เป็นหนังสือดีประจำบ้าน

***************************************

หมายเหตุ : ในภาพคือแมวตัวจริงที่บ้านของคุณแดนอรัญ (ภาพประกอบโดย "ฟิล์มไวรัส")

ขอขอบคุณ คุณนรา 

สำหรับข้อมูล http://narabondzai.blogspot.com/2010/10/blog-post.html

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ10 ตุลาคม 2553 เวลา 00:41

    นับถือในฝีมือทางการเขียนของคุณแดนอรัญมากครับ แค่พูดสุพรรณผมก็ว่ายากแล้วนะครับ แต่นี่เขียนสำเนียงสุพรรณ โอ้ววว!!! สุดยอดครับ ชอบทั้งเรื่องสั้นและบทความวิจารณ์นี้ สนุกมากครับ

    / ปรีชา

    ตอบลบ
  2. อ่านเรื่องนี้สนุกกับการออกเสียงเหน่อๆมาก

    ตอบลบ
  3. ผมก็เห็นว่า ไม่แพงเลย ถ้าแลกกับสุนทรียภาพที่ได้รับ ^^

    ตอบลบ