บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันเสาร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2553

แดนอรัญ แสงทองกับผลงานแปลอีก 3 ปกในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ มี.ค.53

นอกจากหนังสือ 2 ปกที่ประชาสัมพันธ์ไปแล้ว ได้ข่าวว่ายังมีหนังสือแปลของคุณแดนอรัญที่เพิ่งออกมาอีก 3 ปก คือ  
2 ปก จากสำนักพิมพ์สามัญชน (เข้าใจว่ามีงานแปลของ Jorge Luis Borges ด้วยหนึ่งเล่ม) บูธอยู่โซน Main Foyer และอีกหนึ่งปกจากสำนักพิมพ์น้องใหม่   แฟนนักอ่านท่านใดที่ทราบชื่อหนังสือ หรือทางสำนักพิมพ์มีข้อมูลเพิ่มเติมช่วยแจ้งข้อมูลด้วยนะครับ ทุกท่านจะได้สะดวกในการหาซื้อ

วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

แดนอรัญ แสงทอง ในอักษรสาร


นิตยสารอักษรสาร สื่อกลางคนสร้างอักษร ฉบับที่ 17 ปีที่ 2 มีนาคม 2553 ในคอลัมน์ ถอดรหัสความคิด หน้าปกคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา มีบทสัมภาษณ์ของคุณแดนอรัญ แสงทอง หน้าถัดจากสาวซีไรต์คนสวย (นักแสดงรับเชิญ “บ้านฉัน ตลกไว้ก่อนพ่อสอนไว้”) แม้จะเป็นบทสัมภาษณ์เก่าที่เรียบเรียงใหม่จากจุดประกายวรรณกรรม กรุงเทพธุรกิจ และ หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน แต่ก็เหมาะกับคนที่เพิ่งจะทำความรู้จักกับคุณแดนอรัญ


หมายเหตุ : 

1.  คุณแดนอรัญ ขอแก้ไขที่มาที่ถูกต้องของบางประโยคในบทสัมภาษณ์เล่มนี้ คือ “ผมเป็นนักเขียนระดับโลกที่ไม่มีใครรู้จัก” ที่จริงประโยคนี้เป็นคำพูดของ คุณมาร์แซล บารังส์ ที่เขาพูดถึงคุณแดนอรัญในบทวิจารณ์เจ้าการะเกดว่า      “แดนอรัญเป็นนักเขียนระดับโลกที่ไม่มีใครรู้จัก” ประโยคดังกล่าวจึงไม่ใช่ประโยคจากปากคำของคุณ แดนอรัญ เองอย่างที่ตีพิมพ์ไปแต่ประการใด

2. ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์พิเศษชุดใหม่ของคุณแดนอรัญ แสงทอง โดย “ฟิล์มไวรัส” ในนิตยสาร Open Review เดือนมิถุนายน 2553 

วันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2553

เว็นดิโก้ ฉบับครบรอบ 100 ปี

เว็นดิโก้ ฉบับครบรอบ 100 ปี - หนังสือแปลเล่มใหม่ของ แดนอรัญ แสงทอง ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2553

ปกสุดท้าย bookvirus ฟุ้ง 06 “เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ” ในโอกาสครบรอบ 100 ปีของเรื่องสั้นขนาดยาวเรื่องนี้ 

“เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ” เป็นหนังสือของ แอลเจอร์นอน แบล็ควูด ที่ แดนอรัญ แสงทอง ชื่นชมและอยากแปลมานาน จนเมื่อได้แปลแล้วก็เห็นว่าเป็นงานแปลที่โหดหินที่สุดในชีวิต บัดนี้สำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊คส์และ bookvirus ได้ร่วมใจกันนำเสนอในโอกาสครบรอบ 100 ปีของหนังสือเล่มนี้ (1910-2010)

ตัวเรื่องนั้นมีที่มาจากตำนานปรัมปราที่เล่าขานกันมานานเกี่ยวกับอสูรร้ายโฉบกระชากวิญญาณในป่าหิมะ ซึ่งชาวป่าต่างคุ้นเคยกันดี แต่แทบไม่เคยมีใครได้เห็นหน้าตาแล้วรอดชีวิตกลับมาเล่าสู่กันฟัง 

กำหนดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ คือ 26 มีนาคม-6 เมษายน 2553 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
(เฉพาะวันที่ 26 มีนา เปิด 18.00-21.00 ส่วนวันต่อ ๆ ไปเปิด 10.00-21.00)

ซื้อหาได้ที่บู้ทของ โอเพ่นบุ๊คส์ - โซน C1 บู้ท 009
วารสารหนังสือใต้ดิน อันเดอร์กราวด์ (โซน C2 บู้ท T27)
บู้ทอัลเทอร์เนทีฟไรเตอร์ (โซน C1 บู้ท M12)
ฟ้าเดียวกัน / อ่าน (โซน C1 บู้ท N39)
และระหว่างบรรทัด (โซน Atrium บู้ท W 08)

วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

วิจารณ์หนังสือ - เพชฌฆาตข้างถนน

พชฌฆาตข้างถนน
ปี 2551, สำนักพิมพ์สามัญชน

แดนอรัญ แสงทอง : ถอดหัวใจแปล
วิจารณ์โดย สุภาพ พิมพ์ชน
จากคอลัมน์ “อ่านในใจ” นิตยสาร Vote ปักษ์แรก มิถุนายน 2551

ความจริงเป็นสิ่งที่อธิบายยาก หรือกล่าวอย่างสุดโต่งคือความจริงเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้เลย กระนั้น มนุษย์ก็ยังพยายามจะพูดถึงความจริงผ่านทางภาษา แต่ภาษาก็ไม่ใช่ความจริง เหมือนเช่นว่านิ้วที่ชี้ไปยังดวงจันทร์ย่อมไม่ใช่ดวงจันทร์ และยังคงเป็นนิ้วอยู่นั่นเอง

มนุษย์พยายามเข้าใจชีวิตผ่านทางเรื่องเล่า แต่เรื่องเล่าก็ไม่ใช่ชีวิต และในการเล่าเรื่องย่อมมีการตัดเพิ่มเติมแต่งอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นต่างคนจึงต่างเล่าถึงเหตุการณ์เดียวกันไม่เหมือนกัน กล่าวอย่างสุดโต่งคือเรื่องเล่าโกหกเสมอ มากบ้างน้อยบ้างแต่ย่อมไม่ใช่ความจริงทั้งหมด กระนั้นมนุษย์ก็ยังหลงใหลในเรื่องเล่า

ฆอร์เก ลูอิซ บอร์เจส (Jorge Luis Borges, 1899-1986) นักเขียนผู้ยิ่งยงชาวอาร์เจนตินาได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่หลงใหลในกลเกมแห่งภาษาและเรื่องเล่าอย่างยิ่ง จนภาพลักษณ์ของชาติอยู่กับความเป็นปัญญาชน หอสมุด และเขาวงกต ด้วยความที่เป็นนักอ่านจนดวงตาใช้การแทบไม่ได้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต เขาแสดงความหลงรักและระแวดระวังในเล่ห์กลของเรื่องเล่า ผ่านงานเขียนที่ถอดรื้อกระบวนการเล่าเรื่อง และเล่นกับตรรกะของเรื่องเล่าจนเป็นเหมือนรหัสลับ แต่ก็ทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงเสน่ห์อันน่าตราตรึง แม้ว่าจะอ่านไม่เข้าใจหรือไม่รู้เรื่องด้วยก็ตาม กระทั่งวรรคที่เขาบอกความหมายออกมาโต้งๆ ตรงไปตรงมา

ศตวรรษที่ 20 มีนักเขียนยักษ์ใหญ่ระดับโลกอยู่หลายคน ส่วนใครจะเป็น “ที่สุด” นั้นขึ้นอยู่กับจริตของผู้ประเมิน อย่างพวกที่ชอบศึกษาโครงสร้างของเรื่องเล่า โครงสร้างของภาษา หรือพวกที่ชอบถอดรื้อโครงสร้างของภาษา และเปิดโปงโครงสร้างของความหมาย มักจะยกบอร์เจสเป็นอันดับหนึ่ง เพราะงานของเขาชอบเล่นล้อกับความยอกย้อนของความจริงในภาษาและเรื่องเล่า เขาจึงเป็นขวัญใจของพวก “โพสต์โมเดิร์น” ไปโดยปริยาย

รวมเรื่องสั้นชุด “เพชฌฆาตข้างถนน” ของบอร์เจส คล้ายว่าจะไม่ได้เล่นกับวิธีการเล่าเรื่องซับซ้อนนัก เพราะเขาเขียนถึงชีวิตของคนสามัญที่อยู่ในวิถีของความดิบเถื่อน อย่างพวกโคบาลเกาโจ – นักเลงพื้นบ้านของอาร์เจนตินา ซึ่งยึดถือเอาความกล้าหาญเป็นสรณะ และชอบพิสูจน์กันด้วยการดวลมีด แต่ตำนานอันน่าตื่นเต้นและชวนหลงใหลของนักเลงมีดเหล่านี้เองที่บอร์เจสหยิบมาพลิกเหลี่ยมมุมไปมาเป็น 15 เรื่องสั้น

เริ่มจากเรื่องแรกเป็นเรื่องสั้นหักมุมว่าด้วยความกล้าหาญอันเป็นอุดมคติที่ชวนให้คุยโม้โอ้อวดในวิถีของชายเถื่อนทั้งหลาย แต่เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีตัวแปรซับซ้อนมากกว่าที่จะจำแนกได้ชัดเจน ความยอกย้อนก็ปรากฏออกมาท้าทายความหมายของอุดมคตินั้น ด้วยแก่นสารที่จริงจนอุจาดตา และทั้งไร้แก่นสารชวนเคว้งคว้างไปพร้อมกัน

เพียงเรื่องต่อมาบอร์เจสก็พลิกไปอีกมุมด้วยปากคำให้การของตัวละครสำคัญในเรื่องแรก จากนั้น เขาก็ใช้เสียงเล่าของผู้เขียน บอกถึงที่มาของตำนานการดวลมีดอันสง่างามประหนึ่งนาฏกรรมศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจในนิยายหรือบทละครจนเป็นที่นิยมในยุคหนึ่ง เปรียบกับบ้านเราคงคล้ายตัวละครประเภทนักเลงลูกทุ่งของ ไม้ เมืองเดิม ซึ่งพอจะเห็นเค้าโครงความเป็นจริงตามสังคมชนบทอยู่เหมือนกัน

แล้วเขาก็เขียนเรื่องเล่าถึงวีรบุรุษนักดวลมีด ซึ่งกลายมาเป็นตัวเอกในงานเขียนประเภทนั้น และด้วยประสบการณ์การอ่านอันจัดเจน เขาย่อมอดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งเคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ดังปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าหรือวรรณกรรมมากมาย

จากนั้น เขาก็เขียนเรื่องเกี่ยวกับควาแปลกประหลาดของความทรงจำ และเขียนเกี่ยวกับการอุบัติซ้ำของเค้าโครงชะตากรรมบางอย่าง

ประเด็นเรื่องเหตุการณ์อุบัติซ้ำอัน “แปลกพิลึก” นี่เองที่เขานำมาเขียนเป็นเรื่องลี้ลับชวนพิศวงเกี่ยวกับการโคจรมาดวลกันของมีดสองเล่ม

หนังสือเล่มนี้ควรจะอ่านเรื่องเรียงตามลำดับ เพื่อจะได้เข้าใจประเด็นที่นักเขียนวางไว้ให้ติดตาม อย่างอิทธิพลของเรื่องเล่าซึ่งมีผลต่อชีวิตในลักษณะต่างๆ เป็นสิ่งที่เขาขบคิดในอีกหลายเรื่องต่อมา ตั้งแต่เรื่องเล่าที่เล่าซ้ำบ่อยจนไม่แน่ใจว่าเป็นความทรงจำในอดีตหรือเป็นการผลิตซ้ำอย่างชำนิชำนาญของตัวมันเองกันแน่ หรือเรื่องเล่าที่กล่อมคนเสียจนกระทำบางอย่างแทนมันเสมือนเป็นเรื่องลี้ลับ หรือคนที่หลงระเริงทะเยอทะยานอยู่ในเรื่องเล่าของตัวเอง จนไม่รู้ตัวว่าสภาพแท้จริงของตนเองนั้นเป็นเหมือนกับ “คนผู้ซึ่งได้ตายไปแล้ว”

เช่นเดียวกับปัญญาชนที่ได้แต่แสวงหาความรู้จากการศึกษาและใช้ความคิด หากขาดประสบการณ์จากการปฏิบัติในชีวิตจริง น้ำเสียงของบอร์เจสจึงออกไปทางสดุดียกย่องความดิบหยาบของประสบการณ์ชีวิตอันจริงแท้อยู่นั่นเอง อย่างเรื่องของชายชาตรีที่ยอมหักแม้แต่ความรักที่ผ่านเข้ามาในวิถีแห่งลูกผู้ชายของพวกตน หรือสัญชาตญาณของคุณธรรมบริสุทธิ์ ซึ่งจะมีในผู้ที่เป็นตัวของตัวเองเท่านั้น

อย่างก็ตาม บอร์เจสยังคงสะกิดเตือนเป็นระยะว่า ความประทับใจนั้นผ่านมาทางเรื่องเล่านั่นเอง เช่น เรื่องในตำนานหรือนิยายเกี่ยวกับวีรกรรมของพวกโคบาลเกาโจทั้งหลายก็ล้วนผ่านการตัดแต่งมาแล้วทั้งนั้น และชนชั้นกลางเองก็บริโภคเรื่องเล่าเหล่านี้เพื่อทดแทนเสียงเพรียกแห่งชีวิต ความดิบหยาบของคนเถื่อนจริงๆ ย่อมไม่ได้สง่างามอย่างในสายตาปัญญาชน แต่เต็มไปด้วยริ้วรอยของความยากไร้และความไม่รู้อันหยาบกระด้าง

กระนั้นเรื่องเล่าก็ยังคงน่าหลงใหลเสมอ บอร์เจสจึงเขียนฉากดวลมีดครั้งสุดท้ายของวีรบุรุษคนสำคัญขึ้นใหม่ให้อยู่ในสายตาของชายผู้เป็นอัมพาต ซึ่งเป็นทั้งการคารวะและหักล้างไปพร้อมกัน เช่นเดียวกับ การสดุดีทั้งเรื่องเล่าและชีวิตในเรื่องสุดท้าย ด้วยการดวลมีดกันระหว่างชายหนุ่มชาวเมืองผู้มีเหตุให้ต้องเดินทางมายังบ้านไร่กลางท้องทุ่งตามปรารถนา กับนักเลงเจ้าถิ่นผู้มีเค้าหน้าเป็นคนจีน ภายใต้สายตาของเกาโจพันธุ์แท้แก่หง่อม

แดนอรัญ แสงทอง แปลหนังสือเล่มนี้ด้วยภาษาวิลาสวิไลของเขา แฝงด้วยสำเนียงนักเลงลูกทุ่งเมืองเพชร อ่านได้เพลิดเพลินราบรื่นคล่องคอ นับเป็นวรรณกรรมเอกอีกเรื่องที่ผ่านมือของเขาสู่ภาษาไทย หลังจากที่แปลงานดีๆ มาแล้วหลายต่อหลายเล่ม ขณะที่งานเขียนของเขาเองก็ได้รับการแปลไปหลายภาษา เรียกได้ว่าไม่เสียดุลทางวรรณกรรมก็แล้วกัน

หมายเหตุ: เรื่องสั้นสองเรื่องใน “เพชฌฆาตข้างถนน” คือ “กาลอวสาน” (The End) และ “แดนใต้” (The South) เคยตีพิมพ์ในหนังสือ bookvirus เล่ม 2 (ปี 2547)

วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553

เว็นดิโก้ และ แมวผี หนังสือใหม่ของ แดนอรัญ แสงทอง ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ 2553

แนะนำหนังสือใหม่ของ แดนอรัญ แสงทอง

เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ
bookvirus ฟุ้ง 06
แอลเจอร์นอน แบล็ควูด แต่ง
แดนอรัญ แสงทอง แปล
จัดพิมพ์โดย openbooks และ bookvirus

ท่ามกลางป่าทึบริมทะเลสาบห้าสิบเกาะ ไม่เคยปรากฏว่ามีมนุษย์หน้าไหนได้ย่างกราย ต้นไม้ใหญ่กับธรรมชาติที่แสนงดงามเกินบรรยายนี้ซ่อนไว้ด้วยอสุรกาย เว็นดิโก้ ซึ่งมีพลังเหนือมนุษย์ในการโฉบกระชากวิญญาณ เรียกได้ว่าถ้าใครได้ยินเพียงมันเรียกชื่อ ต้องมีอันเตรียมตัวกลับบ้านเก่าเลยทีเดียว

เรื่องสั้นเรื่องนี้ แดนอรัญบอกว่าเป็นการแปลที่ยากและท้าทายที่สุดในชีวิต

แมวผี
ประเภท: เรื่องสั้น
แดนอรัญ แสงทอง แต่ง
จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์หนึ่ง
(ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร ค.คน ฉบับที่ 13 พ.ย. 49)

เรื่องของคนต่างจังหวัดพูดเหน่อที่ชอบดูหนังกลางแปลงเป็นชีวิตจิตใจ หากรู้ว่ามีฉายหนังที่ไหนเป็นต้องรีบเสนอตัวที่หน้าจอ แต่แล้ววันหนึ่งระหว่างทางกลับบ้านหลังจากที่ดูหนังจบ เงาตะคุ่มชนิดหนึ่งได้รอเผชิญหน้าเขาอยู่ ...

ชุมนุมผลงานยุคปัจจุบันของ แดนอรัญ แสงทอง

* ผลงานเขียนและผลงานแปลของ ของ แดนอรัญ แสงทอง ระหว่างปี 2552-2553 *

กาจับโลง

เรื่องสั้นแปล bookvirus ฟุ้ง 03 / กรกฎาคม 2552 (มี 2 ปก - พิมพ์จำนวนจำกัด)
สำนักพิมพ์ - ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)
จำหน่ายเฉพาะที่ร้านคิโนคูนิยะ สาขาพารากอน และ สาขาอิเซตัน

2 เรื่องสั้นแปลของ 2 นักเขียนระดับโลกใน "กาจับโลง" คือ
1. “เลือดสามหยาด”
ผลงานว่าด้วยดนตรีและแมวดำหลอนจิตของ ซาเดก เฮดายัต จากประเทศอิหร่าน (ผู้แต่ง “ฝันสีดำ”) ผ่านสำนวนแปลเด็ดดวงของ แดนอรัญ แสงทอง
2. “สารานุกรมชีวิตผู้ตาย” ของนักเขียนชาวยูโกสลาเวีย- ดานิโล คิช (แปลโดย ธิติยา ชีรานนท์)


ตำนานเสาไห้
เรื่องสั้น โดย แดนอรัญ แสงทอง
สิงหาคม 2552 / สำนักพิมพ์หนึ่ง
บ.อมรินทร์ บุ๊คเซ็นเตอร์ จัดจำหน่าย

เรื่องราวของเสาต้นหนึ่งที่มีอายุอยู่ยืนยาวมาเป็นพันปี ได้ดูทุกข์สุขของแผ่นดินที่ตัวเองได้ยืนอยู่ ทั้งหัวเราะในยามที่แผ่นดินมีสุข และร้องไห้ในครั้งที่คนรอบข้างทุกข์ใจ แล้วเรื่องก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เมืองหลวงต้องการเสาไปเป็นเสาเอกของการสร้างราชธานี เรื่องเกิดขึ้นตรงนั้น การฝันเฟื่องของเสาต้นหนึ่ง ความหวัง และความรักที่มีต่อแผ่นดินเกิดของตัวเอง..เกิดขึ้นที่ตรงนั้น



มนุษย์หมาป่า
เรื่องสั้นแปล / สิงหาคม 2552 / สำนักพิมพ์หนึ่ง
บ.อมรินทร์ บุ๊คเซ็นเตอร์ จัดจำหน่าย

เรื่องเล่าเล็ก ๆ เกี่ยวกับสตรีอ้อนแอ้นอรชรนางหนึ่ง ซึ่งมีความคิดความอ่านอันฟุ้งซ่านดีพิลึก เป็นเรื่องเกี่ยวกับปารีสขณะตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกองทัพนาซี



ดามอน รันยอน เดชอ้ายโย่งเย่งจอมเขมือบผจญฤทธิ์นางพญากุญชร
เรื่องสั้นแปล / มกราคม 2553 / สำนักพิมพ์หนึ่ง
สายส่ง ศึกษิต บริษัท เคล็ดไทย จัดจำหน่าย

ดามอน รันยอน ประพันธกรเอกผู้คร่ำหวอดในชีวิตเชิงโลกียะ เขาได้เพียรใช้วันเวลาของเขาแสวงหาความเร้าใจในพาชีกีฬาบัตรต่างๆ นาๆ มาเสียจนออกจะเอือมๆ และได้ค้นพบความจริงอย่างหนึ่งเข้าว่าอ้ายการประชันขันแข่งกันในเชิงชั้นการเขมือบนี่มันก็ชวนให้ใจหายใจคว่ำได้เหมือนกัน เป็นตำนานอันชวนขันเขพิโยกพิเกไปสารพัด สุกสกาวด้วยระทึกใจ

เจ้าการะเกด : เรื่องราวว่าด้วยการสร้างความมัวหมองต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์

บทความวิจารณ์โดย มาร์แซล บารังส์ / พ.ศ. 2545
แมน เมืองสิงห์ แปล

นักเขียนบางคนนั้นอิ่มเอมสมบูรณ์อยู่เฉพาะเพียงในโลกของตนเสียเหลือหลายจนถึงขนาดที่ว่าเขาเพียรแต่ใช้ชีวิตในการเขียนส่วนใหญ่ของเขา หรือใช้ชีวิตในการเขียนทั้งหมดของเขา สรรค์สร้างรูปลักษณ์และขนานนามกรให้แก่โลกที่ว่านั้น จนกระทั่งโลกที่ว่าของเขานั้นได้กลายเป็นสัญลักษณ์พิเศษทางวรรณกรรมไป ย็อกนาปาทอว์ฟา หมายถึงโลกเฉพาะของวิลเลียม โฟล์คเนอร์, มัลกูดี้ หมายถึงโลกเฉพาะของ ร.ก.นารายัน และมาทีนี้แพรกหนามแดงก็หมายถึง แดนอรัญ แสงทอง นักเขียนไทยที่ชาวยุโรปรู้จักเขาเป็นอย่างดีภายใต้ชื่อจริงของเขา คือ เสน่ห์ สังข์สุข ไม่ว่ามันจะมีอยู่จริงหรือเพียงแต่ถูกเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นก็ตาม โลกที่กล่าวถึงนั้นก็คือโลกที่สิงสู่อยู่ในความคิด เป็นตัวแทนของภูมิประเทศและวิถีชีวิตทั้งมวล หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ มันคือปัจจัยต่างๆ นานาที่แวดล้อมมนุษย์อยู่นั่นเอง ก็ที่แพรกหนามแดงนี่อย่างไรล่ะที่ “เงาสีขาว” ได้เกิดขึ้น แล้วก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า “อสรพิษ” ก็ด้วย แม้ว่าจะไม่ได้ระบุออกมาตรงๆ ก็ตามที และก็ที่นี่แหละคือฉากของ เจ้าการะเกด ท่านควรจะรู้ไว้เสียหน่อยว่าแพรกหนามแดงนั้นไม่ใช่ชื่อของดาวนพเคราะห์ดวงพิเศษในแกแล็คซีของเราหรอก หากแต่คือชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี เป็นหมู่บ้านที่นักเขียนผู้มีฝีไม้ลายมือระดับโลกผู้นี้อาศัยอยู่โดยที่เพื่อนร่วมชาติของเขาไม่ได้แยแสแม้แต่น้อย

ไอ้เจ้างานชิ้นใหม่นี้ประทับตราอันเป็นที่รู้จักกันดีด้วยลีลาการเขียนอันแหวกแนวและอร่อยเหาะ : แต่ละพารากราฟยาวเกินกว่าสิบสองหน้ากระดาษหรือมากกว่านั้นเสียอีก แต่ละประโยคยาวย้วยเคี้ยวคดเชื่อมต่อใจความเข้าด้วยกันด้วยคำว่า “และ” ซึ่งเริ่มต้นอย่างหนึ่งแล้วก็กลับโอละพ่อไปเสียอีกอย่างหนึ่งชนิดคาดไม่ถึง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยศัพท์สะแลง ภาษาที่ไพเราะดุจกวีนิพนธ์ ศัพท์เทคนิคและสำบัดสำนวนของชาวพุทธซึ่งใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวในทางคติชนวิทยาและมุมมองอันแหลมคมในเชิงสังคมวิทยา ด้วยน้ำเสียงเนิบนาบที่ลอยชายเชือนแชอันระคนปนเปไปด้วยอารี้อารมณ์อันขันเข ความเมตตาการุณย์ การเย้ยหยันไยไพ และความสมเพชเวทนาต่อเพื่อนมนุษย์

ตัวของหนังสือเองยังท้าทายกฎเกณฑ์ของดุลยภาพทางวรรณกรรม (Literary Balance) เข้าเสียอีกด้วยอย่างมีชั้นเชิง ค่าที่หนึ่งในสามของหนังสือเป็นการจัดแจงตระเตรียมเหตุการณ์ต่างๆ ให้แก่เรื่องจริง ๆ ที่จะถูกบอกเล่าเสียฉิบ ส่วนที่เป็นท่อนอินโทรดักชั่นอันยาวเหยียด อุดมสมบูรณ์และประสานสัมพันธ์กันอย่างสมบูรณ์แบบนี้ทำให้เราได้เห็นฉากและได้รู้กาลเวลา (คืนวันหนึ่งในปี 2510 ฤดูหนาว) และสถานที่ (ที่ชุมนุมของชาวบ้านและเด็กๆ ขณะอยู่รอบกองไฟ) และในทันทีนั่นเองก็ชี้ให้เห็นมิติที่สาม ซึ่งนั่นก็คือเรื่องของประวัติศาสตร์ ทั้งด้วยการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นและการกล่าวถึงเหตุการณ์ในขวบปีก่อนๆ หน้านั้น จริงๆ แล้ว เรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงที่ชื่อเจ้าการะเกดนั้นเกิดขึ้นย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2431 โน่น (และยังย้อนลึกไปมากยิ่งกว่านั้นอีก เมื่อเหตุการณ์อันรุนแรงร้ายกาจของเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2421) ส่วนที่เป็นบทกล่าวนำนี้ยังบอกใบ้เป็นนัยๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอถึงแนวคิดหลักในเรื่อง ซึ่งนั่นก็คืออำนาจของมนต์ดำ (ไสยศาสตร์) ซึ่งจะมีอยู่อย่างหนักหน่วงในตัวเรื่องจริงๆ ที่จะได้รับการบอกเล่าในโอกาสต่อมา

มุมมองผ่านกาลเวลานานนับศตวรรษทำให้งานเขียนชิ้นนี้ลึกล้ำกว่าปรกติ จากมุมมองนี้ เราจึงสำนึกได้อย่างแจ่มชัดว่าสิ่งต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด – การสร้างความมัวหมองต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายเพียงใด – ที่ได้เกิดขึ้นในแพรกหนามแดง ในชนบทไทย จริงๆ แล้วก็รวมถึงประเทศนี้ทั้งประเทศด้วย ไม่ใช่แค่เพียงการสาบสูญของป่าดงพงไพรและสิ่งที่อาศัยอยู่ในนั้น อันได้แก่สัตว์และพรานเท่านั้น หากแต่หมายถึงความเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกนึกคิด ทั้งยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่ามนุษย์สมัยใหม่นั้นตกเป็นหนี้ของค่านิยมและความเชื่อเก่าแก่มากมายเพียงใด

ต้องต่อเมื่อเราคุ้นกับสิ่งแวดล้อมของเมื่อสามสิบห้าปีก่อนดีแล้วนั่นแหละ หลวงพ่อเทียนผู้มีอายุเก้าสิบสามปีถึงจะได้บอกเล่าเรื่องราวของแกได้เต็มสุ้มเต็มเสียง

เรื่องที่แกบอกแก่เราก็คือเหตุการณ์ที่ทำให้แกต้องบวชเป็นพระและละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่แกใฝ่ฝันและหวงแหนยิ่งชีวิตไปโดยสิ้นเชิง

ข้าพเจ้าอยากให้ท่านผู้อ่านค้นพบด้วยตัวท่านเองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและท้ายที่สุดแล้วลงเอยเช่นใด ข้าพเจ้าคงกล่าวได้แต่เพียงว่ามีการตามล่าเสือสางอันร้ายกาจตัวหนึ่ง เรื่องเล่านี้ก่อให้เกิดความเจ็บปวดรวดร้าวและดึงดูดความสนใจของเราไว้จนแน่วแน่ เต็มไปด้วยอันตราย ความตื่นตระหนก และเหตุการณ์เหนือธรรมชาติเฉียดกรายมาอยู่เนืองๆ

ผู้อ่านบางท่านอาจจะพบว่าการจบเรื่องแบบหักมุมนั้นไม่น่าพึงใจเลย (ข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น) จุดจบเช่นนั้นแทนที่จะยกชูเรื่องให้ขึ้นสู่ระดับชั้นที่กว้างขวางขึ้นอย่างเช่นในกรณีของ “อสรพิษ” กลับทำให้เรื่องลดต่ำลง ไม่น่าเชื่อถือ และกลายเป็นแอนตี้ไคลแม็กซ์ไปอย่างน่าเสียดาย – ข้าพเจ้าขอสารภาพความในใจไว้ ณ ที่นี้

ข้าพเจ้าได้อ่านต้นฉบับงานชิ้นนี้เมื่อหนึ่งปีก่อน หลังจากที่ผู้เขียนเขาได้เขียนจบลง และข้าพเจ้าก็ไม่พอใจอย่างยิ่งยวดต่อตอนจบของเรื่องจนทำให้ข้าพเจ้าปฏิเสธที่จะแปลมัน ในการอ่านเรื่องนี้เป็นครั้งที่สอง เมื่อมันได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือเรียบร้อยแล้ว คือเมื่อสามสัปดาห์ที่แล้วนี้เอง ข้าพเจ้าตื่นตะลึงกับสไตล์ในการเขียนเสียจนข้าพเจ้าคิดว่าบางทีข้าพเจ้าควรที่จะเปลี่ยนใจเสียใหม่ ข้าพเจ้าจึงแปลสองย่อหน้าแรก (15 หน้า) และสรุปย่อเนื้อเรื่องส่วนที่เหลือ โดยไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เลย และส่งมันไปให้เลอเซย (Leseuil) เลอเซยนี้ก็คือสำนักพิมพ์และผู้จัดพิมพ์งานของนักเขียนผู้นี้ในประเทศฝรั่งเศสที่ซึ่ง “อสรพิษ” ขายได้มากกว่า 20,000 เล่ม เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของสถาบันการศึกษาหลายแห่ง และถูกแปลเป็นภาษาอื่นๆ ในยุโรปอีกหกภาษานั่นเอง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ข้าพเจ้าเพิ่งได้รับข่าวว่าคณะกรรมการการอ่าน (The Readers Committee) ของเลอเซยซึ่งประชุมกันเป็นประจำทุกเดือนได้ลงความเห็นว่าหนังสือเรื่องนี้ควรได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสด้วยคะแนนอันเป็นเอกฉันท์ และเลอเซยก็ยังบอกมาอีกด้วยว่าอีกสักประเดี๋ยวจะส่งสัญญามาให้อีตาเสน่ห์กับอีตามาร์แซลเซ็น

โครงการหนังในฝัน "เจ้าการะเกด"


สัมภาษณ์ 6 ผู้กำกับถึงวรรณกรรมที่อยากนำมาสร้างเป็นหนัง


โสรยา นาคะสุวรรณ ผู้กำกับฯ ‘Final Score 365 วันตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์’
ภาพ : สารัตน์ น้อยคล้าย /อิทธิพล ผลงาม


ชอบนิยายเรื่อง‘เจ้าการะเกด’ ของแดนอรัญ แสงทอง เป็นเรื่องเกี่ยวกับหมู่บ้านหนึ่ง ในชนบทของเมืองไทย เป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยได้ฟังมาก่อน ทั้งเรื่องเล่าพิสดารของคนใน ชุมชน โลกพิศวง และวิถีชีวิตที่หายไปในทุกวันนี้ มีกลิ่นอายของการผจญภัยเล็กๆ ภาษาที่ ใช้ก็ดี วิธีการบรรยายภาพค่อนช้างชัด ถ้าสร้างเป็นหนังก็อยากได้พระจริงๆ มาแสดงนำค่ะ

ขอบคุณ ข้อมูลจากเว็บ Image: http://image.gmember.com/all_monthly/all_monthly_inner.php?id=658&group_id=5&page=12&group=7

"เงาสีขาว" วิจารณ์โดย นพพร ประชากุล

เงาสีขาว (ภาพเหมือนในวัยระห่ำของศิลปิน)
พิมพ์ครั้งแรก ธันวาคม 2536 / สำนักพิมพ์อรุโณทัย
พิมพ์ครั้งที่สอง ตุลาคม 2552 / สำนักพิมพ์สามัญชน

คัดลอกบางส่วนจากบทความวิจารณ์โดย นพพร ประชากุล ในหนังสือ ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่ม 1 : ว่าด้วยวรรณกรรม มีนาคม 2552 / สำนักพิมพ์อ่าน และ วิภาษา

เงาสีขาว โดย แดนอรัญ แสงทอง (2536) เป็นนวนิยายไทยที่แปลกใหม่น่าสนใจยิ่ง โดยรวมแล้ว ความแปลกใหม่ของหนังสือเล่มนี้เกิดจากความพยายามที่จะทดสอบศักยภาพของ “นวนิยาย ” ว่าจะสามารถเล่าอะไรได้บ้างแค่ไหน และอย่างไร ทั้งนี้แน่นอนว่าความพยายามดังกล่าวย่อมนำไปสู่การท้าทาย “ กฎ – กติกา – มารยาท ” ที่เคยชินกันในวรรณกรรมประเภทนิยายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้…….

เงาสีขาว อาจจัดอยู่ในประเภทย่อยของนวนิยายที่เรียกว่า อัตชีวประวัติสมมุติ แบบเดียวกับ ละครแห่งชีวิต ของ ม.จ. อากาศดำเกิง รพีพัฒน์ หรือ A la Recherche du temps perdu (การค้นหาวันเวลาที่สูญหาย) ของ มาร์แซ็ล พรุสต์ กล่าวคือ เป็นเรื่องสมมุติของคนคนหนึ่งซึ่งนำเอาชีวิตของตนเองจากอดีตถึงปัจจุบันมาเล่า โดยที่ใน เงาสีขาว นั้นจะเน้นชีวิตในด้านที่ออกจะ “ เลวทราม ” มากเป็นพิเศษ ความเลวทรามส่วนใหญ่ที่ชายหนุ่มผู้เล่าเรื่อง (ซึ่งเราต้องแยกแยะจากผู้แต่ง) นำเสนอ เป็นเรื่องความสัมพันธ์ของเขากับผู้หญิง…….

สำหรับผู้วิจารณ์แล้วสิ่งที่สะดุดตาสะดุดใจมากที่สุดก็คือ นวนิยายเล่มนี้นำเอาปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงเรื่องของภาษา การพูด คำพูด จุดยืนของผู้พูด ฯลฯ ซึ่งเรียกรวมๆ ว่า “ วาทกรรม ” มาทำให้กลายเป็นปัญหาน่าขบคิด ปัญหาเกี่ยวกับการพูด คำพูด ในเงาสีขาว นี้ พบได้ทั้งในระดับวาทกรรมของผู้เล่าเรื่องและในระดับวาทกรรมของตัวละคร…….

โปรดอ่านต่อในหนังสือ ยอกอักษร ย้อนความคิด เล่ม 1 : ว่าด้วยวรรณกรรม สำนักพิมพ์อ่าน และ วิภาษา สั่งซื้อได้ที่: http://www.readjournal.org/

วันพฤหัสบดีที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2553

แดนอรัญ แสงทอง นักเขียนโปรด ของ อุทิศ เหมะมูล : นักเขียนซีไรต์ ปี 2552

อุทิศ เหมะมูล แชมป์ซีไรต์แห่งลับแล, แก่งคอย แสดงความชื่นชมอาจารย์
สัมภาษณ์ : ปารัณ, ศิริน
ภาพ : รัฐพล ศิริจิรสุข และเพื่อน
จาก นิตยสาร แพรว 25 ก.ย.52

ผมได้อ่านหนังสือของคุณแดนอรัญเรื่อง “อสรพิษ” แล้วรู้สึกว่า โอ้โฮ นี่คือภูผาวรณกรรมชิ้นหนึ่งเลย ชอบมาก อยากได้คำแนะนำจากคนนี้ ใช้วิธีแบบในหนังจีนที่ศิษย์ไปนั่งคุกเข่าหน้าบ้านอาจารย์ ถ้าไม่ยอมจะนั่งไปตลอด เผอิญมีที่อยู่ที่เขาเผลอลงไว้ในหนังสือ “อสรพิษ” .......ผมจึงส่งต้นฉบับไปให้พร้อมแนบจดหมายว่า อยากให้ช่วยวิจารณ์ สักพักได้รับไปรษณียบัตรกลับมาแผ่นหนึ่งว่า “อย่าทำเลย งานเขียนมีไว้สำหรับผู้ที่อดทนเท่านั้น คุณไปใช้ชีวิตให้เต็มที่ก่อน ถ้ารวยแล้วก็รวยไปเลย มีชื่อเสียงไป สิบปีหลังจากนั้นค่อยถามตัวเองว่ายังมีความรู้สึกอยากเขียนหนังสืออยู่หรือเปล่า ถ้ามีค่อยกลับมาทำ”

ผมอ่านจบ ความรู้สึกแรกคือดีใจที่ตอบกลับ แสดงว่าต้นฉบับถึงมือแล้ว ถัดมาคือ ดีใจที่ได้เห็นลายมือของนักเขียนที่ชื่นชม และสุดท้ายคือ ไม่ยอม เขียนขู่มาอย่างนี้ ยิ่งไม่ยอมจึงเขียนจดหมายกลับไปว่า เลือกทางนี้แล้ว จะพิสูจน์ตัวเองต่อไปให้เขารู้ว่าเราไม่ยอมแพ้

ทิ้งหายไปสักสามเดือน ได้รับจดหมายประมาณสี่หน้าขึ้นต้นว่า “จดหมายถึงนักเขียนหนุ่ม ผมอ่านจบแล้ว มีส่วนที่ดีอยู่เยอะ มีความน่าสนใจ แต่ข้อเสียเบ้อเริ่ม คือนิยายเรื่องนี้ยังไม่จบ ตัวละครจะเป็นอย่างไรต่อ คุณเริ่มไว้แล้ว กัดฟันทำให้จบจะดีมาก แล้วผมยินดีจะเขียนคำนิยมให้”

อ่านจบใจผมเต็มตื้นไปหมด เขียนตอนต่ออีกสามตอน ระหว่างนั้นคุณแดนอรัญส่งไปรษณียบัตรมาตลอด เหมือนเป็นพี่เลี้ยงจริง ๆ เลยว่า เสร็จหรือยัง ถึงไหนแล้ว เป็นกำลังใจให้ ถ้าคุณล้มเลิกเสียตอนนี้ผมจะผิดหวังในตัวคุณมาก ฯลฯ จนในที่สุดผมเขียน “ระบำเมถุน” เสร็จสมบูรณ์

หลังจากส่งต้นฉบับไปให้ ได้รับไปรษณียบัตรตอบว่า ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับนิยายจากคุณ ผมจะอ่านอย่างละเอียดลออ แต่ประเมินโดยรวมคุณน่าจะได้คะแนนจากผมในระดับที่ดีมาก ข้อติติงจุกจิกมีเป็นธรรมดา ขออย่าถือสา ผ่านไปสักพักก็เขียนมาบอกว่า ตอนแรกอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง น่าเบื่อ อึดอัดนิดหน่อย แต่ยิ่งอ่านยิ่งสนุก น่าติดตาม พอถึงตอนจบยิ่งดีมาก คุณพยายามสำเร็จแล้ว อนุญาตให้ฉลอง ทำตัวเสเพลได้หนึ่งวัน

ต้นฉบับที่เขียนวิจารณ์ได้กลายเป็นสมบัติล้ำค่าของผมเพราะเต็มไปด้วยลายมือที่แก้คำผิด เว้นวรรคให้ ขีดเส้นใต้ว่าอธิบายความไม่ชัด ตรงไหนเขียนดีก็มีข้อความว่า ผมต้องจำของคุณไปใช้บ้างแล้ว เป็นเรื่องที่คิดขึ้นมาทีไรรู้สึกดีทุกครั้ง

วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

ยินดีต้อนรับสู่พื้นที่ของ แดนอรัญ แสงทอง

แม้เจ้าตัวจะพูดเสมอว่า “คนไทยไม่ค่อยอ่านหนังสือที่ผมเขียน โชคร้ายของผมจริงๆ” เราอยากคัดค้าน “ไม่จริง” เป็นไปได้ไง

ในฐานะที่ติดตามอ่านงานของคุณแดนอรัญเรื่อยมา หากเปรียบเขาเป็นนักรบ เขาก็เป็นนักรบผู้ยิ่งใหญ่ที่ไม่กลัวต่อสิ่งใดๆ เป็นนักต่อสู้ทางความคิดที่แน่วแน่เป็นตัวของตัวเอง และยืนหยัดที่จะรักษาจุดยืนของความคิดเห็นนั้น และเขาก็กล้าพอที่จะชี้ข้อบกพร่องต่างๆ ของสังคม จะว่าไปแล้วเขาเป็นผู้เสียสละคนหนึ่งก็คงไม่ผิดนัก เพราะใครก็ตามที่ริอาจหาญสร้างวรรณกรรมอมตะอย่าง “เงาสีขาว” คนผู้นั้นจะต้องคำสาปจากผู้มีศีลธรรมชั้นสูง (ที่เปิดโอกาส แต่ปิดหูปิดตาปิดประตูหัวใจทุกบาน) ต่อให้ผลงานดีเลิศประเสริฐศรีเพียงใด คุณก็จะโดนอับเปหิออกนอกสารบท โทษฐานสร้างผลงานที่หมิ่นเหม่ต่อศีลธรรม

แต่เรากล้ายืนยันว่าหากคุณเปิดหนังสือเล่มใดเล่มหนึ่งของเขามาอ่านคุณจะรู้สึกได้ถึงพลัง ทั้งงานเขียนงานแปลของเขาล้วนบ่งบอกถึงความสามารถอย่างยิ่งทางการเขียน ที่เต็มเปี่ยมด้วยความงดงามของภาษา และเขาก็เป็นคนหนึ่งที่มีความสามารถสูงสุดในการสร้างบรรยากาศ

เราขอเวลาคุณสักนิดหยิบหนังสือเขามาอ่าน แล้วคุณจะพบความจริงที่เราพูดถึง  และอีกหนึ่งความรู้สึกที่เราได้รับคือเสน่ห์ของภาษาไทย เพราะภาษาของคุณแดนอรัญนั้นสละสลวยประณีตบรรจงติดตรึงใจมาก


แม้ว่าผลงานเขียนของคุณแดนอรัญจะมีชื่อเสียงโด่งดังในต่างประเทศ ได้รับการแปลหลายภาษา กลายเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในหลายสถาบันการศึกษาของยุโรป แต่ในประเทศแทบไม่มีใครทราบข่าวคราวเกี่ยวกับเขาเลย

ด้วยเหตุนี้เราจึงขออนุญาตจากคุณแดนอรัญ แสงทอง จัดทำบล็อกนี้ขึ้นมาเพื่อให้นักอ่านทุกท่านได้ช่วยกันอัพเดตข้อมูลและแสดงความเห็นต่างๆ เกี่ยวกับเขา หากท่านใดต้องการแสดงความคิดเห็น จะชมหรือติเตียนก็ส่งมาได้ที่บล็อกแห่งนี้ เรายินดีเป็นสื่อกลางระหว่างนักเขียนนักอ่าน หรือส่งอีเมล์ได้ที่ daenaran@gmail.com

ด้วยความขอบคุณ

ผู้ดูแลบล็อก