บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันอาทิตย์ที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เดอะ เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ : The Wendigo

อัลเจอร์นอน แบล็ควูด (Algernon Blackwood) – เขียน

แดนอรัญ แสงทอง – แปล   /  สำนักพิมพ์ Openbooks, 2553

เป็นความหลอกหลอน

สีสันในหนังสือ โดย ‘สุภาพ พิมพ์ชน’


เรื่องเล่าแนวสยองขวัญ (Gothic Novel) มักจะเป็นแค่เรื่องอ่านเล่นเร้าอารมณ์ชั่วครู่ยามที่ไม่ได้มีคุณค่าทางวรรณกรรมมากนัก กระนั้นก็มีเรื่องแนวนี้จำนวนไม่น้อยที่ปรุงขึ้นมาด้วยศิลปะการประพันธ์อันเฉียบขาด จนตราตรึงใจยากจะลืมเลือน หรือสะท้อนธรรมชาติความเป็นมนุษย์ออกมาอย่างถึงแก่น กระทั่งขึ้นชั้นเป็นวรรณกรรมคลาสสิกที่หยิบมาอ่านได้ไม่รู้เชยไปตามกาลเวลา  

ชื่อที่รู้จักกันดีก็เช่นเรื่อง “แดรกคิวลา” ของ แบรม สโตเกอร์, “แฟรงแกนสไตน์” ของ แมรี่ เชลลี หรือบทประพันธ์ของ เอ็ดการ์ อลันโป เป็นต้น

แดนอรัญ แสงทอง นักเขียนงานวรรณกรรมเข้มขลังคนสำคัญแห่งยุคสมัย แนะนำเรื่องสยองขวัญชิ้นเอกอีกเรื่องให้นักอ่านชาวไทยได้ลิ้มรสเดิมแท้ นั่นคือ “เดอะเว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ” (The Wendigo) ของ อัลเจอร์นอน แบล็ควูด (Algernon Blackwood) นักเขียนชาวอังกฤษในยุคต้นศตวรรษที่ยี่สิบ ซึ่งเขียนเรื่องนี้ขึ้นเมื่อ 100 ปีก่อน แม้วิธีการประพันธ์จะ “อืดอาด อ่อนด้อย วกวน เยิ่นเย้อ เต็มไปด้วยการใช้สำบัดสำนวน” อย่างที่ผู้แปลว่า เมื่อเทียบกับรูปแบบการประพันธ์สมัยใหม่ แต่ความยอดเยี่ยมที่แดนอรัญชี้ให้เห็นก็คือ  

“ความโดดเด่นในการสร้างสีสันบรรยากาศแห่งความพรั่นพรึงของเขา ซึ่งค่อยๆ ทบทวีขึ้นจนเข้มข้นถึงที่สุด ความกล้าหาญของเขาในการบอกกล่าวเล่าขานถึงความผิดปรกติของความเป็นจริง เพราะว่าความเป็นจริงนั้น ‘อปรกติ’ อยู่ในตัวของมันเอง” (หน้า 169)

แบล็ควูดเขียน “เดอะเว็นดิโก้” ขึ้นเมื่อปี 1910 ด้วยการนำตำนานอสูรกายในป่าลึกของชนเผ่าอินเดียนแดงทางตอนเหนือของทวีปอเมริกามาถ่ายทอดใหม่ เพื่อเล่าถึงเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติที่มนุษย์ต้องเผชิญ หรืออาจจะเป็นความปั่นป่วนวิปริตในจิตใจของมนุษย์เอง

ตัวเว็นดิโก้อาจจะมีชื่อเรียกและเล่าขานแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น และมีนักเขียนหยิบยกมาประพันธ์เป็นเรื่องแต่งกันอยู่บ้าง ลักษณะโดยทั่วไปก็เป็นสัตว์ประหลาดลึกลับ ไม่ปรากฏตัวให้เห็นชัด ร่างยักษ์คล้ายมนุษย์ เคลื่อนไหวว่องไว ตีนกุดทู่อย่างคนโดนหิมะกัดจนไหม้เกรียม มีกงเล็บแหลมคม และสามารถกระโดดได้สูงขึ้นไปบนฟ้า จนบางแห่งว่ามันมีปีกด้วย กลิ่นของมันมีสาบสางเฉพาะ เช่นเดียวกับเสียงร้องชวนประสาทเสีย เพราะฟังดูคล้ายเป็นการเอ่ยเรียกชื่อของคนเป็นเหยื่อให้กระโจนเข้าไปหามันเอง 

ความน่าสะพรึงของเว็นดิโก้อยู่ที่การหลอกหลอนเหยื่อให้หวาดกลัวจนสติวิปลาส เหมือนแมวที่เล่นกับเหยื่อด้วยการโยนขึ้นแล้วตะปบจนแหลกเหลวไปทั่วตัว แม้พฤติกรรมบางอย่างจะเกินจริงและชวนขันไปบ้าง แต่ตำนานของสัตว์ประหลาดในป่าลึกเช่นนี้ก็พบได้ทุกหนแห่ง มันสะท้อนความกลัวของคนที่มีต่อความลี้ลับและยิ่งใหญ่ของธรรมชาติมากกว่าที่จะหมายถึงตัวตนจริงๆ ของสิ่งนั้น นั่นคือความจริง เป็นความจริงที่จิตใจมนุษย์อ่อนแอเมื่อเผชิญกับสภาวะบางอย่าง เช่นเมื่อเปลือยเปล่าตัวตนอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันดิบเถื่อนตามลำพัง มนุษย์ก็ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เข้มแข็งอะไรเลย 

เนื้อเรื่องเล่าถึงการเล่ากวางมูสในป่าดงดิบของแคนาดาของพรานล่าสัตว์คณะหนึ่ง ประกอบด้วยนายแพทย์คัธคาร์ท – ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท ซิมป์สัน – หลานชายนักศึกษาด้านเทววิทยา แฮงค์ เดวิส กับ โยเซฟ เดอฟาโก้ – พรานนำทาง และอินเดียนแดงเฒ่า

เปิดเรื่องปูพื้นตั้งแต่ต้นแล้วว่าการล่ากวางมูสนั้นใช่ว่าจะสมหวังกันง่ายๆ นอกจากต้องกลับออกมาจากป่ามือเปล่าแล้ว อาจจะต้องเจอกับประสบการณ์แปลกประหลาดที่ยากจะลืมเลือนไปตลอดชีวิต ส่วนจะเป็นเรื่องจริงหรือเปล่านั้นคนอื่นย่อมไม่มีใครรู้ด้วยได้ 

เช่นเดียวกับคณะของนายแพทย์คัธคาร์ท ซึ่งตัวเรื่องก็ปูภูมิหลังของแต่ละคนให้สัมพันธ์กับความผิดปรกติที่จะพบเจออยู่แล้ว อย่างตัวคัธคาร์ทเองก็สนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับความแปรปรวนของจิต อาการประสาทหลอน หรือสัญญาวิปลาส จนเขียนเป็นตำรับตำราออกมา ซิมป์สันก็เรียนมาทางศาสนาเพื่อเตรียมตัวเป็นพระ แฮงค์ เดวิส เป็นพรานมานาน จนคุ้นเคยกับเรื่องราวในป่าเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับ โยเซฟ เดอฟาโก้ แต่เดอฟาโก้จะมีความอ่อนไหวในจิตใจมากกว่า ดังที่บรรยายว่า 

“เดอฟาโก้คนนี้ยังไหวเร็วดีนักกับที่บางแห่งหนในป่าดิบนั้น ว่าที่ทางในแถบถิ่นใดบ้างที่มันมีผีสางหรือ ‘เจ้าถิ่นเจ้าที่แรง’ และเป็นคนผู้ปฏิพัทธ์ลึกซึ้งต่อความเปล่าเปลี่ยวเงียบเหงาของป่าดงพงพีอย่างไม่อาจถ่ายถอน” (หน้า 23)

ส่วนเฒ่าอินเดียนแดงนั้นยังคงความดิบเถื่อนดั้งเดิม  

“เขาล่วงรู้ได้โดยแปลกประหลาดในสิ่งที่คนผิวขาวไม่อาจล่วงรู้ เขารู้สึกได้ในสิ่งที่คนผิวขาวไม่รู้สึก เขาเป็นคนทรหดบึกบึนอย่างเหลือเชื่อ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นคนเงียบขรึมอย่างยิ่ง และเชื่อไสยศาสตร์อย่างสุดจิตสุดใจ” (หน้า 24)

เรียงลำดับตามความเชื่อ นายแพทย์คัธคาร์ทย่อมเป็นตัวแทนของอารยธรรมสมัยใหม่ที่สามารถอธิบายทุกอย่างได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ รองลงมาคือซิมป์สันนักศึกษาผู้อ่อนด้อยประสบการณ์กลางแจ้ง แฮงค์ เดวิส ซึ่งเป็นผู้จัดการในคณะพราน เดอฟาโก้ผู้อ่อนไหวช่างรู้สึก และแน่นอนว่าเฒ่าอินเดียนย่อมเป็นตัวแทนของอนารยะ เขายังเป็นส่วนหนึ่งของความดิบเถื่อนนั้น 

เหยื่อของความลี้ลับอันน่าพรั่นพรึงเป็นคนที่มีความเปราะบางอยู่ระหว่างรอยต่อของความเชื่อ ขณะที่คนอื่นๆ ต่างรับมือกันไปตามพื้นฐานจิตใจของตน 

อย่างนายแพทย์คัธคาร์ทเห็นว่า “สีสันบรรยากาศอันชวนให้เงียบเหงาเดียวดายสุดขีดของป่าดิบอันกว้างใหญ่นี้ ... มันทำให้จิตใจของคนเราแปรปรวนรวนเรไปได้ต่างๆ นานาโดยไม่ต้องสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีจินตนาการมากสักหน่อย” (หน้า 113)

ส่วนเฒ่าอินเดียนแดงนั้นรับรู้ได้ด้วยสัมผัสพิเศษ “เขาได้กลิ่นอายของอะไรอย่างหนึ่งเข้าให้แล้ว เขารู้ชัดของเขาอยู่คนเดียวว่าจมูกของเขาไม่มีวันทรยศต่อเขา” (หน้า 38)

เสน่ห์ของเรื่องทำนองนี้อยู่ที่ความคลุมเครือว่าเป็นจริงหรือเปล่า หากชัดมากมนต์ก็อาจคลายหมด อันที่จริงไม่สำคัญหรอกว่าจะจริงหรือไม่จริง เพราะหน้าที่ของมันก็คือเปิดเผยสภาพจิตใจยามแตกซ่านกระเจิดกระเจิงของมนุษย์ออกมาให้เห็น และสะท้อนว่าผู้เขียนมีความเข้าใจโลกและชีวิตอย่างลึกซึ้งกว้างขวางเพียงใด ทั้งยังสามารถปรุงแต่งประสบการณ์ที่ตนผ่านพบออกมาเป็นเรื่องเล่าเร้าจินตนาการชวนระทึกและน่าตราตรึง 

อำนาจเหนือธรรมชาติอันยากพิสูจน์จึงเป็นตัวตนขึ้นมาได้ด้วยน้ำเนื้ออันมีชีวิตของเรื่องเล่า.

ข้อมูลจาก http://nokbook.com/book_wendigo.html
ขอบคุณเว็บไซต์ www.nokbook.com

1 ความคิดเห็น:

  1. อ่านแล้วครับเรื่องนี้ ชอบบรรยากาศ แล้วก็ช่วงท้ายๆเรื่องครับ

    รู้สึกสยอง พิศวง

    อีกเล่มอ่านแล้วอารมณ์คล้ายๆกันก็ The willows (คนเขียนคนเดียวกับเรื่องนี้ คุณแดนอรัญแปล วางแผงไล่เลี่ยกัน)

    อยากให้เอาเรื่องน้ำท่วมของ เอมิล โซล่า ที่คุณแดนอรัญแปลไว้ที่เว็บวรรณกรรม มาจัดพิมพ์ซักที อยากอ่านมากๆ

    http://www.wanakam.com/literature.asp?LiteratureID=22


    ...

    ตอบลบ