บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ผู้ถูกกระทำ


คำนำโดย คุณวิรุณ ตั้งเจริญ

ทางผู้จัดทำบล็อกขอขอบคุณ 
ศ.ดร. วิรุณ ตั้งเจริญ : อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ 
ที่ให้ความอนุเคราะห์บทความชิ้นนี้


*********************************************************
อ่านคำนำนี้ในหนังสือ “ผู้ถูกกระทำ” รวมงานเขียนขนาดสั้นของแดนอรัญ แสงทอง (นามปากกาขณะนั้น “มายา”) แล้ว อดไม่ได้ที่จะขอนำลงบล็อกแห่งนี้ เพราะเห็นว่าคำนำนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งที่บ่งชี้ให้เห็นว่าคุณแดนอรัญ เมื่อ 25 ปีก่อนโน้นเป็นคนอย่างไร... ความรักต่องานวรรณกรรมของเขาจะเข้มข้นแค่ไหน   เชิญอ่านได้ตามอัธยาศรัยครับ
********************************************************************************

ผมเขียนถึงมายา

ราวเดือนกันยายน 2521 เมื่อผมกลับจากต่างประเทศได้ไม่กี่วัน ก็กลับไปนั่งทำงานที่ภาควิชาศิลปะและวัฒนธรรม (มศว.ประสานมิตร) ผมนั่งทำงานอยู่ห้องเดียวกับท่านอาจารย์อารี สุทธิพันธุ์ วันนั้นมีนิสิตหนุ่มไปนั่งคุยอยู่กับอาจารย์อารี ชายคนหนุ่มนั้นร่างผอม โทรมผมยาว และดูเหมือนจะมีหนวดคราด้วย ผมเพียงแต่นึกในใจว่า “ไอ้หมอนี่แปลกดี... น่าสนใจ”

สักครู่... เสียงอาจารย์อารีบอกว่า... “นี่ไง อาจารย์วิรุณ ตั้งเจริญ” พร้อมกับบุ้ยใบ้มาทางผม ไอ้เจ้าหนุ่มคนนั้นหันมายกมือไหว้ พร้อมกับพูดทำนองว่ารู้จักชื่อเสียงเรียงนามของผม... “ เจ้าหมอคนนี้มีดวงตาครุ่นคิดดีทีเดียว” ผมได้แต่นึกในใจ

แล้วผมก็รู้จักเขา
และต่อมาเขาก็คือ “มายา”
ตลอดเวลาที่เขาเป็นนิสิต ผมมีโอกาสพูดคุยกับมายาบ่อยครั้งมาก มายาขึ้นมาคุยกับผมบ้าง เราคุยกันตามโคนต้นสนบ้าง

โดยบุคคิลของมายาแล้ว เขาเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนและขี้เกรงใจคนตัวฉกาจ ประเภทขี้เกรงใจจนทำให้โลกวุ่นวายสับสนได้ทีเดียว มายาต่างไปจากนิสิตส่วนใหญ่มากต่อมาก เขาเป็นคนช่างคิดสมกับแววตา แต่เป็นนักแสวงหาอย่างมากมายตัดกับบุคคิลซึมๆ ของเขาเอง

มายาเป็นเด็กหนุ่มที่แสวงหาความคิด สนใจวรรณกรรมต่างประเทศและไทย สนใจงานกวี และสนใจศิลปกรรม... เราก็เลยคุยกันได้ไม่รู้หมดสิ้น

ผมเองทึ่งในความสนใจและความรู้ในทางวรรณกรรมต่างประเทศของเขามาก... มายาเป็นหนอนหนังสือตัวที่คมคายทีเดียว

ผมได้แต่บอกตนเองว่า... “รูปแบบของนิสิตเช่นนี้กระมังที่ผมต้องการตลอดชีวิตการเป็นครูของผม... โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นนักแสวงหา”

ในช่วงแรกๆ ของการรู้จักนั้น ผมรู้สึกว่าเขามีอะไรที่ดูลึกลับอยู่บ้าง มีความกดดันอยู่บ้าง... ผมรู้สึกเหมือนกับว่าเขาหันไปยึดเหนี่ยวอะไรที่เลื่อนลอยสักอย่างตามประสาคนหนุ่มสาวหรือตามประสามนุษย์ที่พยายามค้นหาสิ่งยึดเหนี่ยวไม่มากก็น้อย

แต่ผมก็มั่นใจว่า... คนมีความคิดย่อมโง่ยาก
บ่อยครั้งที่มายาอ่านหนังสือ แล้วนำมาเล่าถ่ายทอดสู่กันฟังอย่างได้ความรู้สึกมาก เขามีแง่มุมความซาบซึ้งและแง่มุมความคิดอย่างได้อารมณ์สะใจ เขาจะเล่าด้วยลีลาและแววตาที่ตื่นเต้น เหมือนเด็กที่ตื่นเต้นและเมามันกับของเล่นชิ้นใหม่

เมื่อเขาคิดและมีอารมณ์กับความคิด เขาจะแสดงออกอย่างตรงๆ ดิบๆ และบริสุทธิ์ใจ หลายครั้งผมเห็นสีหน้าเขาจริงจังเหลือเกิน มือสั่น หรือน้ำตาคลอหน่วย... อารมณ์ศิลปินเช่นนี้คงมีใครไม่กี่คนบนแผ่นดินนี้ที่จะเข้าใจเขาอย่างจริงๆ 

หลังจากมายาจบการศึกษาแล้ว เขายังคงอยู่หอพักเดิมด้านหลังมหาลัย ซุ่มเขียนหนังสือและแปลหนังสืออยู่เงียบเชียบ งานเขียนของเขาเริ่มได้รับรางวัลหลายต่อหลายรางวัล งานแปลเริ่มได้รับการตีพิมพ์... ใครต่อใครก็เริ่มจับตาดูมายา ชายหนุ่มผู้มีหน่วยก้านทางถนนวรรณกรรมผู้นี้

พร้อมกันนั้นผมก็เชื่อว่า นิสิตรุ่นหลังๆ และอาจารย์ประเภทเพียงเกิดมาเพื่อสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร คงจะเฝ้าสงสัยว่า... ชายหนุ่มผมยาวหนวดเครารุงรัง (บางคนบอกว่าหน้าเหมือนยีซัส ไครสท์) แต่งเนื้อแต่งตัวตามสบายคนนี้... มันเป็นใครกันหวา... งานการไม่ทำ วนเวียนไปวนเวียนมา แล้วก็นั่งซึมๆ อยู่หน้าภาควิชาศิลปะฯ... ไม่บ้าก็เมา (อันนี้น่าจะเป็นผมว่า)

มายา เคยไปทำงานกับฝรั่งอยู่ต่างจังหวัดระยะหนึ่ง เงินเดือนก็ประมาณข้าราชการ ซี 11 แล้วมายาก็เลิกลาเอาเสียดื้อๆ ด้วยคำตอบทำนองว่า...

“ผมกำลังสูญเสีย”
ผมได้แต่คิดว่า มายามีความมุ่งมั่นต่องานวรรณกรรมมากมายถึงอย่างนี้เชียวหรือ และเคยพูดกับพรรคพวกหลายคนว่า... คนอย่างนี้เป็นหนึ่งในอีกหลายคนที่พร้อมจะอุทิศตัวเพื่องานสร้างสรรค์ รัฐบาลมันน่าฉลาด (มีคำว่า “มัน” ด้วย) และพร้อมที่จะอุปการะมนุษย์ประเภทนี้บ้าง

จนถึงวันนี้ชื่อ “มายา” เริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในวงวรรณกรรม

ผมเองเติบโตมาในวงการสร้างสรรค์ ย่อมชื่นชมกับคลื่นลูกหลังที่รักการสร้างสรรค์ และชื่นชมเป็นพิเศษกับคนทำงานสร้างสรรค์ผู้ยิ่งใหญ่ที่มีสมองและอ่อนน้อมถ่อมตน ตีนติดดิน ผมอาจจะเชื่อสุภาษิตจีนที่ว่า “รวงข้าวที่มีเมล็ดเต็มเต่งย่อมโน้มลงสู่ดิน แต่รวงข้าวที่มีเมล็ดลีบ ย่อมชูรวงสู่เบื้องบน” มากเกินไปก็ได้

และเมื่อผมเองใกล้ชิดกับมายา ก็อดจะชื่นชมใน “ความเป็นมายา” ไม่ได้ ตามความพึงพอใจของปุถุชน

ใครจะว่าอย่างไร
ผมก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร... เพราะผมรู้สึกเช่นนี้
พร้อมกันนั้น ก็มั่นใจว่า มายาคือความหวังอีกคนหนึ่งในอนาคต

สำหรับงานของมายา โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานแปลเช่น “คนสวน – The Gardener” ของรพินทรนาถ ฐากุรที่โด่งดัง มายากล้าหาญจับงานนิพนธ์ของปราชญ์อินเดียผู้ยิ่งใหญ่ เขาแปลได้งดงามไม่น้อยเลย ไม่สูญเสียความงดงามของภาษาและสาระทางความคิดที่สัมผัสกับชีวิต

หรือ “แพลทเทอโร – Platero and I ” ของ ฮวน รามอน จีมิเนซ กวีชาวสเปนนักเขียนรางวัลโนเบลในปี 1956 มายากล้าหาญอีกตามเคย เขาทำงานได้ดีไม่น้อยเช่นกัน แม้จะไม่ครบทั้งหมด งานแปลชิ้นนี้ มีความสมถะและมีความเป็นธรรมชาติ จนได้ความรู้สึกว่าถ้าใจไม่สงัดหรือใจไม่เป็นเอกภาพกับธรรมชาติแล้ว ก็ให้รอไว้ก่อนจนกว่าจะพร้อม... แล้วค่อยอ่าน “แพลทเทอโร”

รวมทั้งงาน “เมตามอร์โฟสิส- Metamorphosis” ของ ฟรานซ์ คาฟก้า นักเขียนยักษ์ใหญ่ชาวเยอรมันและงานแปลอีกหลายเล่มของเขา

งานแปลของมายาล้วนแสดงความกล้าหาญที่จะเลือกบทประพันธ์ของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของโลก แสดงความตั้งใจที่จะเลือกเสนอผลงานที่สมบูรณ์ด้วยคุณค่าไม่ใช่งาน “เบสท์ เซลเลอร์” เพียงชั่ววูบ แต่ได้เงินคุ้มค่า (แปล)

สำหรับงานแปลแล้ว ผมไม่เชื่อมั่นเพียงผู้แปลที่มีความสามารถทางภาษาเท่านั้น แต่ผมจะเชื่อมั่นในผู้แปลที่มีความสามารถทางภาษา มีความสามารถทางวรรณกรรมและมีรสนิยมทางวรรณกรรมด้วย

“มายา” จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่
ท่านและกาลเวลาจะเป็นผู้พิสูจน์
สำหรับงานเขียนของมายา รวมเรื่องสั้นและความเรียงชุดนี้ได้ท้าทายให้ท่านพิสูจน์คุณภาพหลายแง่หลายมุม มีทั้งงานที่เคยตีพิมพ์แล้วและยังไม่ตีพิมพ์ มีทั้งงานที่ได้รับรางวัลและไม่ได้รับรางวัล

ในความหลากหลายนั้น งานเขียนของมายามีธรรมชาติที่โดดเด่นอยู่อย่างหนึ่งคือ... การบรรยายความคิดที่ซับซ้อนเก็บกดอยู่ภายใต้อารมณ์และความจริงใจ

เช่น “ชีวิตและความหิวโหยที่เขาเคยมี” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นโครงเรื่องที่ใกล้ตัว ช่วงเวลาดำเนินเรื่องสั้นๆ แต่บรรยายได้หลายสิบหน้า เป็นการบรรยายความรู้สึกดิบๆ เหมือนภาพเขียนสีดิบๆ ที่ดูจริงใจ

“ทุกข์ กังวล และรำพึงรำพันของความตาย” มายาดึงเอาความตายมาบรรยายเรียกร้องอย่างประชดประชัน ด้วยเจตนาที่ต่อต้านความตายและต่อต้านสงคราม

“ยามพราก” มายาบรรยายถึงความรักและการจากพราก สอดประสานกับดอกไม้ใบหญ้า ดวงดาว ท้องฟ้า ได้กินใจ และก็หนีไม่พ้นความเจ็บปวดที่สะท้อนมิอะไรหลายอย่างเข้าไว้

“ทุ่งร้าง” เป็นภาพจากท้องทุ่งที่บรรยายได้เห็นภาพและกลิ่นไอ เขาจับ “ทราย – เจ้าวัวง่อย” มาเป็นตัวเอกได้อย่างเห็นเนื้อเห็นหนัง ทำให้นึกถึงบรรทัด... “คนกับควายความหมายมันลึกล้ำ” ของวงคาราวาน... “ชายชราบอกตัวเองว่า วันนี้จะยังไม่นวดข้าวก่อน ทรายอยู่กับแกมานานเหลือเกิน แกรู้สึกราวกับว่า ความตายของทราย เป็นความตายของลูกหลานหรือญาติมิตรของแก... อย่างไรก็ดีร่างของทรายก็ถูกชำแหละ และเนื้อก็ถูกแจกจ่ายไปยังกระท่อมข้างเคียง โดยที่สองตายายไม่ได้แตะต้องเลย เวลานี้ร่างของทรายเหลือเพียงกะโหลกเท่านั้นที่ยังตกเป็นสมบัติของสองตายาย”

และอีกหลายต่อหลายเรื่องที่ท่านต้องอ่าน มิใช่อ่านเพียงเพราะมันคือเรื่องสั้นหรือ บทละคร แต่เพราะมันคือผลงานของ “มายา” ที่ควรได้รับการศึกษาและติดตาม... แล้ววันหนึ่งท่านจะมีคำตอบให้ตัวท่านเอง

วิรุณ ตั้งเจริญ
20 สิงหาคม 2527
(3 วันก่อนเดินทางไกล)
ภาควิชาศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร

......................................................................

หมายเหตุ : ขอบคุณ คุณโดม วุฒิชัย สำหรับภาพประกอบ (หายาก) ครับ