บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แม็ตตี้ รอสส์ และพลพรรคคนเถื่อนผู้มีหัวใจอารยะ

บทความวิจารณ์โดย ทวีศักดิ์ แก้วเข้ม
ขอบคุณนิตยสาร ฅ.คน ที่ให้ความอนุเคราะห์บทความชิ้นนี้ 

เรื่องราวของอีเด็กสาวอายุเพียง 14 ปีคนหนึ่ง ทิ้งบ้านทิ้งช่องออกไปในวันหนึ่งของฤดูหนาว รอนแรมไปบนหลังม้ากับมือปราบห้าวๆ 2 คน เพื่อไล่ล่าโจรที่ฆ่าพ่อของตนอย่างเอาเป็นเอาตาย ประทับตรึงใจข้าเหลือประมาณจนอดรนทนไม่ไหวต้องมาบอกเล่าสู่กันฟัง...


อีเด็กสาวใจเด็ดเดี่ยวผู้นี้มีนามกรว่า แม็ตตี้ รอสส์ เป็นคนพูดจาโผงผางตรงไปตรงมา ติดจะเอาจริงเอาจังเกินเด็ก ไม่มีจริตจะก้านเป็นผู้ลากมากดีแบบอีเด็กสาวติ๋มๆ อย่างที่เราเห็นอยู่เกลื่อนกล่นในปัจจุบันนี้หรอก ลองว่าแม็ตตี้มันอยากจะได้อะไรขึ้นมาแล้วล่ะก็เป็นกัดไม่ปล่อย ในความไร้เดียงสาของมันซ่อนซุกความมุ่งมั่นในจุดหมายเอาไว้เต็มเปี่ยม ในความแก่นแก้วของมันแฝงสัมมาคารวะเอาไว้ในจังหวะที่ควรมีสัมมาคารวะ ความห้าวหาญบวกมานะของอีเด็กสาวชาวไรคนนี้ทำให้มือปราบอ้วนตาเดียว – รุสเตอร์ ค็อกเบอร์น และมือปราบเจ้าสำอางผมวัวเลีย – ลาบีฟ ยอมใจให้มันร่วมขบวนพลพรรคไปด้วยจนบรรลุภารกิจ กระนั้นตอนท้ายๆ ก็เล่นเอาใจหายใจคว่ำสะบักสะบอมไปตามๆ กัน

พี่ลาบีฟหัวแตก น้ารุสเตอร์โดนปืนที่หน้าและไหล่ สำหรับอีแม็ตตี้กลายเป็นเดชอีด้วนไป

พลันที่แม็ตตี้ทราบข่าวสายฟ้าฟาดว่าพ่อของมันโดนไอ้ทอม เชนีย์ ลูกจ้างในไร่ยิงกลางแสกหน้า ปล้นเอาเงิน ทองคำ และม้าไป ระหว่างเดินทางมาซื้อม้ากับผู้พันสโตนฮิลล์ ที่ฟอร์ทสมิธ มันก็รีบจับรถไฟขึ้นมาขอรับศพ มันจัดแจงทุกสิ่งทุกอย่างเสร็จสรรพเป็นอันดีแล้วก็ส่งศพพ่อของมันกลับบ้านโดยไม่ยอมกลับมาร่วมพิธีศพ มันต้องการให้ไอ้คนที่ฆ่าพ่อชดใช้การกระทำของมันด้วยชีวิตเท่านั้น มันเช่าโรงแรมอยู่เพียงลำพัง จัดการขายม้าคืนกลังให้ผู้พันสโตนฮิลล์ ตาแก่คนนี้แม็ตตี้ต้องชิงไหวชิงพริบอยู่นานครันจนได้เงินมาก้อนหนึ่ง จากนั้นมันจึงไปติดต่อทาบทามรุสเตอร์ ค็อกเบอร์น มือปราบอ้วนตาเดียวผู้มาดหมายว่า “ถ้าได้ตายตอนยิงกะใครสักคนก็คงจะสุขบรม”

มันเจรจาธุรกิจไล่ล่าโจรใกล้สำเร็จอยู่รอมร่อ พี่ลาบีฟมือปราบเจ้าสำอางผมวัวเลียแห่งเทกซัสก็ดันมาขัดขวางได้เสียนี่ ลาบีฟกำลังตามจับไอ้ทอม เชนีย์เหมือนกัน มันเห็นเป็นการสมควรว่ารุสเตอร์กับมันควรจับมือกันในภารกิจนี้ แต่ถ้าต้องกะเตงอีเด็กแก่แดดคนหนึ่งเดินทางไปด้วยนี่ก็จะเป็นเรื่องโง่บรม แม็ตตี้โกรธหัวฟัดหัวเหวี่ยงที่รุสเตอร์เห็นดีเห็นงามตามลาบีฟ แต่มันก็ไม่ยอมแพ้หรอก มันจัดการหาม้ามาตัวหนึ่ง ขี่ติดตามสองมือปราบไปอย่างไม่ลดละความเพียร จนสุดท้ายทั้งสองต้องยอมในความเด็ดเดี่ยวของมัน แม็ตตี้ รอสส์ และพลพรรคจึงพากันร่วมรอนแรมไปบนหลังม้า มีปืนผาครบครัน ฝ่าความหนาวเยือกเพื่อออกตามล่าตัวไอ้โจรห้าร้อย

รุสเตอร์ขี่ไอ้โบม้าคู่ทุกข์คู่ยากบัญชาการ ลาบีฟขี่ไอ้แกลบตัวเล็ก ส่วนแม็ตตี้ขี่ลิตเติ้ลแบล็คกี้ – ม้าที่จะช่วยชีวิตแม็ตตี้ด้วยชีวิตของมันเอง!

สามพระหน่อระหองระแหงกันไปตลอดทาง คอยคุยข่มคุยทับกันไม่หยุดไม่หย่อน กว่าจะสามัคคีคาวบอยกันได้ บ้างก็ล่วงเข้าเขตแดนกบดานของไอ้ลัคกี้เน็ด เป็ปเปอร์ กับสมุนของมัน (มีไอ้ทอม เชนีย์ตัวร้ายรวมอยู่ด้วย) ไอ้หัวหน้าโจรร่างเล็กคนนี้เคยโดนรุสเตอร์ยิงปากแหว่งมาครั้งหนึ่งแล้ว แต่ก่อนที่จะได้ฉะกันให้ฝุ่นตลบอบอวลเป็นศึกตัดสินว่าใครจะอยู่ใครจะไป แม็ตตี้ก็มามีอันได้ปะหน้ากับไอ้ทอม เชนีย์ตัวต่อตัว ตอนที่มันไปตักน้ำเพื่อจะเอามาล้างหน้าล้างตา มันจัดการยิงไอ้โจรหนึ่งโป้งด้วยปืนรุ่นโบราณของพ่อมันจนไอ้โจรซี่โครงหัก ตอนนี้เองที่ไอ้ทอม เชนีย์เอ่ยปากขอโทษว่ามันเสียใจที่ยิงพ่อของแม็ตตี้ บอกว่ามันเมา มันไม่ตั้งใจ จากนั้นมันก็ใช้ชั้นเชิงโจรรวบตัวแม็ตตี้เอาไว้จนได้ ร้อนถึงรุสเตอร์กับลาบีฟต้องมาช่วยแก้ไข

สองมือปราบแบ่งหน้าที่กันโดยลาบีฟปืนเขาขึ้นมาช่วยแม็ตตี้ส่องไอ้ทอม เชนีย์ด้วยปืนควายประจำตัวหนึ่งโป้งจนมันบาดเจ็บ แต่ก็เผลอโดนมันเอาหินทุบหัวแตกจนได้ขณะช่วยยิงสกัด ระหว่างที่รุสเตอร์บุกเดี่ยวตะลุมบอนกับไอ้เน็ด เป็ปเปอร์และลูกสมุน กว่ามือปราบอ้วนตาเดียวจะเสร็จศึกมาช่วยอีกแรง แม็ตตี้ก็ดันตกลงไปติดแหง็กในโพรงงูหางกระดิ่งเพราะแรงถีบของปืนควายที่มันยิงใส่ไอ้ทอม เชนีย์ แม็ตตี้แขนซ้ายหักและโดนงูหางกระดิ่งกัดเอาขณะยักแย่ยักยันช่วยตัวเองอยู่เพียงลำพันในโพรง หลังรุสเตอร์จัดการไอ้ทอมจอมอึดให้ไปพบกับยมบาลแล้วจึงเอาเชือกผูกเอวลงมาช่วยแม็ตตี้ออกจากโพรงหินได้ในที่สุด ทั้งนี้ก็ด้วยการช่วยเหลืออันทุลักทุเลของลาบีฟ

แม็ตตี้อาการเป็นตายเท่ากัน รุสเตอร์จึงจัดแจงควบขี่ลิตเติ้ลแบล็คกี้รีบพาแม็ตตี้ไปหาหมอ (ไอ้โบตายเสียแล้วตอนรุสเตอร์บุกตะลุยเดี่ยว) รุสเตอร์เฆี่ยนแล้วเฆี่ยนอีก ม้าเผ่นโผนไปข้างหน้า ห้อเต็มฝีเท้าเพื่อยื้อยุดชีวิตเจ้านายของมันเอาไว้ ระยะทางแสนไกล ม้า 1 ตัวกับคน 2 คน คนหนึ่งได้รับบาดเจ็บ คนหนึ่งร่อแร่ใกล้ตาย มันคือช่วงเวลาแห่งการพิสูจน์จิตใจ ในที่สุดลิตเติ้ลแบล็คกี้ก็ทรุดฮวบลงขาดใจตาย รุสเตอร์จัดการแบกแม็ตตี้ขึ้นหลังวิ่งต่อไป ระหว่างทางแกจำใจต้องปล้นเกวียน ยืมรถม้าชาวนาอินเดียน พาแม็ตตี้มาหาหมอที่ฟอร์ทสมิธได้สำเร็จ

วีรกรรมแห่งการไล่ล่าครั้งนี้จึงเอวังลง

แม็ตตี้รอดตายกลับบ้าน แต่ก็ต้องแลกกับแขนหนึ่งข้าง รุสเตอร์ได้รับการแคะเอากระสุนลูกปรายออกจากหน้าและไหล่ แล้วก็ดำเนินชีวิตมือปราบอ้วนตาเดียวของแกต่อไป ส่วนลาบีฟหลังจากพักรักษาอาการบาดเจ็บที่หัวแล้วก็จัดการนำศพไอ้ทอม เชนีย์ไปยังเทกซัสโน่น

หลังแยกย้ายจากกัน เรื่องราวของแม็ตตี้ รอสส์ และพลพรรค ก็หาได้ยุติแต่เพียงเท่านี้ไม่ พวกเขายังคงใช้ชีวิตไปตามวิถีของแต่ละคนอีกนานครัน จนกระทั่งชราภาพไปตามๆ กัน แม่แม็ตตี้ รอสส์ ครองตัวเป็นสาวทึนทึกดูแลแม่อยู่ที่บ้านไร่และเป็นเจ้าของธนาคาร ไม่มีโอกาสได้พบเจอรุสเตอร์และลาบีฟอีกเลย แกได้ยินเพียงข่าวคราวกระเส็นกระสายมาเท่านั้น จนกระทั่งมือปราบอ้วนตาเดียวมาตายจากไปแบบศพไม่มีญาติ แม็ตตี้แกจึงเดินทางไปขุดศพมาฝังไว้เสียใหม่ที่สุสานประจำตระกูลและทำหินจารึกชื่อไว้อย่างดิบดี

แม้แม็ตตี้ รอสส์มันจะเป็นเพียงเด็กสาวอายุ 14 มีอุปนิสัยเค็ม งกเกินตัว หัวหมอ ดื้อ และแก่แดด แต่ข้าก็เผลอรักมันให้เข้าแล้ว (อย่างยากแก่การต้านทาน) โดยรูปการณ์แล้วคนอย่างแม็ตตี้ รอสส์, รุสเตอร์ ค็อกบอร์น, ลาบีฟ, ป้าฟลอยด์, ผู้พันสโตนฮิลล์ กระทั่งโจรห้าร้อยอย่างไอ้ทอม เชนีย์, ไอ้ลัคกี้เน็ด เป็ปเปอร์ กับสมุนของมัน อาจถูกมองว่าเป็นคนเถื่อนในสายตาของบรรดาอารยชนในโลกปัจจุบัน ทว่าข้ากลับรู้สึกว่าคนเถื่อนเหล่านี้มีหัวใจที่มีอารยะ ในความดิบ – เถื่อน – ถ่อย ข้ามองเห็นความเป็น “คนจริง” ของพวกเขา และในทัศนะของข้า “คนจริง” นั้นมี “ความเป็นอารยะ” ซ่อนซุกอยู่ในหัวใจเสมอไม่มากก็น้อย ชนิดที่ผู้ที่เรียกตัวเองว่าเจริญแล้วแอบอิจฉาตาร้อนและนับถืออยู่ลึกๆ

ถ้าท่านอยากรู้จักแม็ตตี้ รอสส์ และเหล่าคนเถื่อนคนอื่นๆ มากกว่าที่ข้าได้บอกเล่าไปแล้วล่ะก็ ลองหาอ่านเอาเต็มๆ จากหนังสือที่แม่แม็ตตี้ในวัยชราแกเล่าไว้ก็แล้วกัน นายชาร์ลส์ ปอร์ติส เขาบันทึกไว้เสียอย่างละเอียดลออ และมีคนแปลเป็นภาษาไทยไว้แล้วอย่างฉกาจฉกรรจ์ ใช้ความพยายามสักหน่อยก็หาอ่านได้ไม่ยากหรอก

เห็นจะต้องจบเสียทีละ

.......................................................................

อารยชนคนเถื่อน (True Grit)
ชาร์ลส์ ปอร์ติส : เขียน
แดนอรัญ แสงทอง : แปล
พิมพ์ครั้งที่ 2 : สำนักพิมพ์สามัญชน  


วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แฟ้มภาพ แดนอรัญ แสงทอง ในงานแสดงนิทรรศการรางวัลศิลปาธร ประจำปี 2553

ระหว่างวันที่ 30 ก.ค. – 10 ส.ค.53 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  ถ.ราชดำเนินกลาง เขตพระนคร กรุงเทพ



เพราะรู้มาว่าทางผู้จัดจะนำผลงานของแดนอรัญ แสงทองที่ได้รับการแปลจากต่างประเทศทั้งหมดมาร่วมจัดแสดงในงานนี้ด้วย

ในฐานะแฟนคลับที่จัดทำบล็อกแดนอรัญ ขอขอบคุณ คุณเวียง-วชิระ บัวสนธ์ ผู้เป็นเจ้าของหนังสือสุดหายากเหล่านี้ไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ ที่ทำให้ผมและคนอื่นๆ ได้สัมผัสอย่างใกล้ชิด  


นอกจากประทับใจกับหนังสือทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาต่างประเทศแล้ว สิ่งที่ชอบเป็นพิเศษอีกคือหนังสือที่ระลึก (เล่มโต), สมุดโน๊ต และสูจิบัตร (ขนาดยาว) ซึ่งล้วนจัดพิมพ์อย่างประณีตบรรจงเหมาะแก่การเก็บสะสมอย่างยิ่ง



ส่วนรายชื่อศิลปินที่ได้รับรางวัลศิลปาธรปี 53 มีดังนี้ครับ 

สาขาทัศนศิลป์ นายนาวิน ลาวัลย์ชัยกุล
สาขาวรรณศิลป์ นายเสน่ห์ สังข์สุข
สาขาดนตรี นายชัยยุทธ โตสง่า
สาขาศิลปะการแสดง นายนิกร แซ่ตั้ง
สาขาภาพยนตร์ นายอาทิตย์ อัสสรัตน์
สาขาสถาปัตยกรรม นางสาวปฐมา หรุ่นรักวิทย์
สาขามัณฑนศิลป์ นายวิฑูรย์ คุณาลังการ
สาขาเรขศิลป์ นายประชา สุวีรานนท์
สาขาการออกแบบ นายวศินบุรี สุพานิชวรภาชน์


ที่มาที่ไป : สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเล็งเห็นความสำคัญที่ต้องส่งเสริมสนับสนุนศิลปินรุ่นกลางให้ก้าวไปในเส้นทางสายอาชีพได้อย่างมั่นคงและมีกำลังใจในการสร้างสรรค์งานได้อย่างอิสระ จึงได้จัดให้มีการยกย่องให้รางวัลกับศิลปินร่วมสมัยขึ้น ในฐานะเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งศิลปะภายใต้รางวัลที่ชื่อว่า “ศิลปาธร” ซึ่งมาจากคำว่า ศิลปะ + ธร (ธร ที่แปลว่าผู้รักษาไว้, ผู้ทรงไว้)

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้จัดทำโครงการสรรหาศิลปินร่วมสมัยดีเด่นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งในช่วงปี พ.ศ.2547-2550 ได้มีการจัดสรรรางวัล 5 สาขา คือ สาขาทัศนศิลป์ วรรณศิลป์ ดนตรี ศิลปะการแสดง และภาพยนตร์  

ในปี พ.ศ.2551- 2552 ได้เพิ่มอีก 1 สาขา คือการออกแบบเชิงสร้างสรรค์ รวมเป็น 6 สาขา  
และในปี 2553 “ศิลปาธร” ครั้งที่ 7 ได้เพิ่มอีก 3 สาขา คือ สถาปัตยกรรม มัณฑนศิลป์ และเรขศิลป์ รวมเป็น 9 สาขา  


ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ศิลปินศิลปาธรที่ทุ่มเทชีวิตจิตใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะในสาขาต่างๆ มีกำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณภาพให้ออกสู่สังคมกันอย่างต่อเนื่อง โดยมีการพัฒนากระบวนการสร้างสรรค์อย่างไม่หยุดนิ่ง อันเป็นประโยชน์ต่อวงการศิลปะของชาติต่อไป


วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เตรียมพบกับ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ เร็วๆ นี้

อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (วิมุตติคีตาหมายเลขหนึ่ง)

แดนอรัญ แสงทอง บรรจงเขียน

สำนักพิมพ์คนสรวล บรรจงพิมพ์



“…ในบรรดานกตีรทัสสีทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นนกตีรทัสสีที่เลิศล้ำที่สุดเพราะพระองค์ได้ทรงบอกกล่าวถึงวิธีการข้ามโอฆสงสารไว้เป็นอเนกปริยาย ทรงบอกกล่าวโดยพิสดารถึงกระแสน้ำ กระแสลม ห้วงวังวน มัจฉาร้าย เกาะแก่ง อสูรแห่งห้วงสมุทร และทรงย้ำเตือนเสมอว่าการบรรลุถึงฝั่งให้จงได้เท่านั้น คือจุดมุ่งหมายหลักของชาวเรือ…”

อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (วิมุตติคีตาหมายเลขหนึ่ง) คือผลงานเขียนชิ้นสำคัญอีกครั้งของ แดนอรัญ แสงทอง นักเขียนรางวัลศิลปาธรคนล่าสุด (๒๕๕๓) เป็นการหักเหเข้าสู่โลกุตตรศิลป์ครั้งแรกสุดของเขา ผู้อ่านที่เคยติดตามผลงานของแดนอรัญมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ถูกกระทำ (๒๕๒๘), ยามพราก (๒๕๓๔), เงาสีขาว (๒๕๓๖), อสรพิษ (๒๕๔๕), เจ้าการะเกด (๒๕๔๖), ดวงตาที่สาม (๒๕๔๙), มาตานุสติ (๒๕๔๙), ตำนานเสาไห้ (๒๕๕๒), แมวผี (๒๕๕๓) จะต้องแปลกประหลาดใจแน่นอนเมื่อได้อ่านผลงานชิ้นสำคัญนี้

อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (วิมุตติคีตาหมายเลขหนึ่ง) เคยตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร สานแสงอรุณ ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๒ มีนาคม-เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่มี ทวีศักดิ์ แก้วเข้ม เป็นบรรณาธิการ และกำลังจะจัดพิมพ์เป็นเล่มโดยสำนักพิมพ์คนสรวล (laughing gardener book house) เร็วๆ นี้ 

อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (วิมุตติคีตาหมายเลขหนึ่ง) ใช้ฉากในสมัยพุทธกาล บอกเล่าเรื่องราวของวาสวเนสินหนุ่ม ผู้เที่ยวเสาะแสวงหาความหลุดพ้นด้วยสารพัดวิถี แต่กลับพบเพียงความหมายอันจอมปลอม กระทั่งวันหนึ่ง… วาสวเนสินหนุ่มจึงได้พบวิถีแห่งความหลุดพ้นที่แท้จริง แดนอรัญ แสงทอง ยังคงใช้ภาษาเขียนที่ประณีตบรรจงเช่นเดิม เรื่องราวที่อวลด้วยกระแสธรรมในรูปลักษณ์วรรณกรรม รูปประโยคซ้ำๆ อย่างตั้งใจ อาจทำให้ผู้อ่านดิ่งลึกลงในภวังค์ของสมาธิอย่างไม่รู้ตัว และบางทีอาจประสบภาวะสงบสงัดสักชั่วขณะหนึ่งของดวงจิตที่กำลังเสาะแสวงหาหนทางแห่งความหลุดพ้นที่แท้จริง ดุจเดียวกับวาสวเนสินหนุ่มก็เป็นได้

วาสวเนสินระลึกได้เลือนๆ รางๆ ถึงคำพรรณนาในตำรามหาปุริสลักษณะ ซึ่งเขาเล่าท่องได้เจนใจมาตั้งแต่เขายังอยู่ในวัยหนุ่ม เขาเพ่งมองสมณะรูปงามนั้นด้วยสายตาของสัตว์ที่ถูกกักขังจ้องมองดูผู้ที่จะมาปลดปล่อยตน เขาฉงนฉงายด้วยซ้ำไป ว่าผู้ปลดปล่อยเขานั้น จะใช้วิธีการกับเขาเยี่ยงไร จะกล่าววาจากับเขาด้วยถ้อยคำเช่นใด และด้วยอาการอย่างใด

..................................................................................
หมายเหตุ: สอบรายละเอียดเพิ่มเติมที่ konsuan12@yahoo.com

วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ความหมายที่แท้จริงของศิลปิน : แดนอรัญ แสงทอง


จาก หนังสือที่ระลึก รางวัลศิลปาธร 2553 (Silpathorn Awards 2010) (บางส่วน) 

คน “ชั้นแนวหน้า” คนผู้มีความคิดก่อ คิดสร้างสิ่งใหม่สิ่งแปลกไปเรื่อยๆ ก่อนคนอื่น ให้เป็นของยาก ของแรง ของจัด ของยังไม่ถึงยุคถึงสมัย มันยังไกลเวลาอยู่ มันยังไม่จำเป็น มันยังไม่ใช่ของสมเหมาะสมควร ให้ออกมาก่อนคนอื่น โดยผู้คิดนั้น เขาหลงตนเอง ว่าเป็น “นักคิด – นักสร้างสรรค์ ” นักนำหน้า แท้จริงนั้น เขาเป็น นักผลิตความเฟ้อ เพราะ เขาสมมุติสิ่งใหม่ เขาบัญญัติตัวตนอันใหม่ขึ้น ประเดประดังมาให้แก่โลกอีก ให้โลกหลง ให้คนในโลกเพิ่มบัญญัติมาก สมมุติเข้าไปอีก ไม่ว่าจะเป็น “ศิลปิน” แขนงใดก็ตาม จิตรกร ปฏิมากร สถาปัตยกร มัณฑนากร วิภูสนัฏฐานกร กวีกร คีตกร วาทิตกร นาฏกร หรือ นัจจกร ฯลฯ  

ถ้าการคิดสร้าง การประดิษฐ์ใหม่นั้นเน้นไปในทางฟุ้งเฟ้อ สุรุ่ยสุร่าย เปลืองเปล่า เลื่อนลอย ไร้ประโยชน์ ไม่รับใช้เศรษฐกิจปัจจุบัน แต่มากเกินไปด้วย สวยงามไพเราะ หอมหวาน ซาบซ่านใจแบบวัตถุธรรมชัดๆ ก็ดี (กามตัณหา) หรือ เพลิดเพลินใจอยู่ด้วยการเสี่ยงทาย การเดา การคิด การมี แต่ “อัตภาพ” ที่ตนสร้างตนสมมุติยึดไว้แบบอรูปธรรม ก็ดี (ภวตัณหา) ก็เป็นเพียงอารมณ์ประโลม เป็นเพียงปฏิกิริยา ซึ่งไม่ใช่สารัตถะแท้ แถมจะห่างสารัตถะแท้ของประโยชน์ ที่เป็นไปเพื่อความตั้งอยู่แห่งชีวิตจริงๆ มากขึ้นๆ ด้วย “ศิลปิน” นั้นๆ ก็คือ ผู้ทับถมโลกด้วย การก่อ การสร้าง การจูงดึง การโน้มน้าวที่เตลิดเพริศ (กัมมรตา = การงานอันเป็นกิเลส) คือ ผู้มอมเมาปวงชนให้หนักยิ่งขึ้นด้วย “ศิลปะ” ของผู้นั้นเอง ศิลปินผู้นี้ จึงเป็นผู้ลดค่าสัจธรรมในโลก เป็น “นักทำลายเศรษฐกิจ” คนสำคัญที่รู้กันได้ยากอยู่จริงๆ 

หมายเหตุ : คัดจากหนังสือ “ทางเอก” ของท่านพุทธทาสภิกขุ