บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เจ้าการะเกด


บทความวิจารณ์ / แนะนำโดย เฟย์ Faylicity
http://www.faylicity.com



เรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นในค่ำคืนที่หนาวเฉียบเยียบเย็นของต้นเดือนธันวาคม ปี 2510 คืนหนาวคืนนั้นของแพรกหนามแดง แฝงไปด้วยความขมขื่นของภัยพิบัติจากอุทกภัย ที่ทิ้งความเศร้าหมองสิ้นหวังให้ผู้คนที่นั่น 

ผู้เขียนได้พาคนอ่านกลับไปสู่ยุคสมัยนั้นโดยบอกเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงนั้น เช่น สุรพล สมบัติเจริญยังโด่งดัง มิตร ชัยบัญชาเป็นพระเอกเรื่องแล้วเรื่องเล่า คนอ่านได้ทราบถึงนวนิยายที่ได้รับความนิยม นักมวยที่คนกำลังผูกใจ แต่ผู้เขียนไม่ได้เล่าความแต่อดีตเท่านั้น ยังกล่าวถึงอนาคตที่จะเกิดต่อไปจากคืนนั้น บางคนต้องระเห็จหายจากบ้านช่อง บ้างก็ตายจากไป แต่เรื่องที่จะเกิดขึ้นนี้คือเรื่องในคืนนั้น ในจังหวะเวลาอันไร้เดียงสาที่ไม่มีใครรู้ได้ถึงเหตุการณ์ภายหน้า มีแต่อดีตเท่านั้น กับผู้คนปัจจุบันที่ยังเป็นชีวิตชีวาอยู่ในโลก 

ที่แพรกหนามแดงนั้น เมื่อเสร็จจากงานการในท้องนา พวกผู้ชายก็จะมาชุมนุมกันที่ลานดินใต้ต้นมะขามใหญ่ และคุยจิปาถะ พวกเด็กๆ ตามผู้ใหญ่มาร่วมวงด้วย และพากันเล่นหัวไปตามทางของตน หลวงพ่อเทียนที่เป็นที่เคารพรักของผู้คนที่นี่มาร่วมวงด้วยเสมอ หลวงพ่ออายุเก้าสิบสามปีแล้ว หลวงพ่อเป็นพระที่หนังสือบรรยายไว้ได้น่ารักมาก ท่านเป็นพระที่ไม่สู้สำรวมนัก ออกวิ่งตามคันนาบ่อยๆ เพื่อช่วยเด็กผู้ชายเอาว่าวขึ้น และยังสอนเด็กผู้หญิงจักสานสุดแต่ฝีมือที่ตัวเองจะพอรู้มา หลวงพ่อเทียนชอบฟังรายการวิทยุ โดยเฉพาะเรื่องที่อ่านจากงานวรรณกรรมอย่าง ผู้ชนะสิบทิศ ของยาขอบ หลวงพ่อมีความสุขกับการฟังเพลงไทย เชียร์มวยไทย แต่สิ่งที่ทำให้เด็กๆ แห่งแพรกหนามแดงติดใจท่านมากก็เพราะหลวงพ่อเป็นนักเล่าเรื่องที่มหัศจรรย์นัก 
"นกยูงเป็นอัญมณีแห่งป่าโดยแท้ ถ้าหากป่าคือสรวงสวรรค์ นกยูงก็คือดารานักร้องและนักแสดงแห่งสรวงสวรรค์ ... นกยูงตัวผู้สวยกว่านกยูงตัวเมีย นกยูงตัวผู้จะฟ้องรำแพนหางบนลานดินอวดนางตัวเมีย นั่นเป็นนาฏกรรมสำหรับเทพเจ้าโดยแท้ แต่ก่อนที่จะฟ้อนรำแพนหาง นกยูงตัวผู้ก็จะทำลานดินให้โล่งเตียนเสียก่อน ใช้ลำคออันงอนงามของมันม้วนรัดต้นหญ้าสูงๆ และทึ้งถอนออก ม้วนรัดและทึ้งถอนออก เยี่ยงเดียวกับผู้เชี่ยวชาญนาฏกรรมที่ตรวจตราดูเวทีก่อนทำการแสดง และพรานก็ฆ่ามันโดยดอดเอาไม้รวกผ่าซีกไปปักไว้บนลานดินนั้น และนกยูงตัวผู้ก็เพียรพยายามอยู่นั่นแล้วที่จะทึ้งถอนไม้รวกอันนั้นให้หลุดขึ้นมาจากผืนดินให้จงได้ ใช้ลำคออันงอนงามของมันม้วนรัดและทึ้งถอนออก ม้วนรัดและทึ้งถอนออก และยังคงวิริยะอุตสาหะกระทำการเช่นนั้นอยู่แม้ว่าคอของมันจะมีบาดแผลเหวอะหวะ นาฏกรรมแห่งความรักกลับกลายเป็นนาฏกรรมแห่งความตาย" 

เด็กๆ จำเรื่องที่หลวงพ่อเทียนเล่าให้ฟังได้จนขึ้นใจ แต่ก็ยังอยากฟังอีกบ่อยๆ หลวงพ่อเล่าเรื่องที่มีความอัศจรรย์อยู่ในเรื่องเสมอ เช่นจอมขมังเวทย์ มนต์คาถา เสือสมิง ขุมสมบัติ ในคืนนี้ หลวงพ่อเริ่มต้นเล่าเรื่องต่างๆ นานาอีกครั้ง เป็นเรื่องเล่าจากอดีตสมัยที่ป่าไม้ยังอุดม สัตว์ป่ายังสมบูรณ์ และหลวงพ่อได้ย้อนกลับไปเล่าเรื่องของหลวงพ่อเมื่อยังหนุ่ม ก่อนจะบวช หลวงพ่อเมื่อเป็นฆราวาสชื่อว่าควันเทียน เมื่ออายุยี่สิบปี มีภรรยาชื่อเจ้าการะเกด หญิงสาววัยสิบเจ็ดที่อ่อนหวานช่างฝัน 

เรื่องของเจ้าการะเกดคือเรื่องความรักในวัยเยาว์ ทั้งคู่ต่างมีความฝันจะเริ่มต้นครอบครัว โดยได้หักร้างถางพงมาเป็นผืนดินทำนา แต่แล้วจุดเริ่มต้นแห่งความวิบัติก็บังเกิดขึ้น เมื่อมีเสือตัวหนึ่งลากเอาวัวไปกิน เหตุการณ์นี้กระทบใจหนุ่มควันเทียนอย่างยิ่ง เพราะแม่ของเขาก็ถูกเสือฆ่าตาย ซึ่งเขาได้เป็นพยานเห็นโศกนาฏกรรมนี้ด้วยตนเอง 

หนังสือเล่มนี้อ่านสนุก แต่รสอย่างแรกที่ทำให้อ่านได้จับจิตจับใจอย่างเพลิดเพลินนั้น อยู่ที่ภาษาที่งามงดน่าประทับใจอย่างยิ่ง ภาษาของแดนอรัญสวยอย่างลึกซึ้งนัก การบรรยายบรรยากาศของป่า ของแพรกหนามแดง ของแสงหิ่งห้อยระยิบ ของลมหนาวบาดผิว ของท้องฟ้าหลากสีต่างเวลา ผู้เขียนทำได้หมดจดสวยงาม หนังสือเล่มนี้ทำให้ผู้อ่านต้องตกเป็นเชลยทางตัวอักษรอย่างสิ้นเชิง เพราะภาษาถ้อยความและเนื้อเรื่องดึงดูดใจอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ 

นอกจากความจับใจในภาษาแล้ว เรื่องในนี้ยังมีทั้งอารมณ์ขันที่น่ารัก มีอารมณ์ตื่นเต้นใคร่รู้ และมีความเศร้าโศกเหลือแสน มีทั้งความรักและชัง เศร้าและสุข ใครที่ชอบเรื่องผจญภัยตามแบบล่องไพร หรือเพชรพระอุมา ก็น่าจะอ่านได้สนุก เพราะในเรื่องรวมเอาความลึกลับแสนเสน่ห์ไว้ได้เช่นนั้น 

เนื้อหาส่วนใหญ่ในเล่มเป็นเรื่องเล่าจากหลวงพ่อเทียน ซึ่งเหมาะเจาะกับวิธีการเขียนของแดนอรัญ ที่ไม่ค่อยขึ้นย่อหน้าใหม่ มีแต่ตัวหนังสือเรียงรายยาวเหยียด ทำให้ผู้อ่านเสมือนเป็นผู้ร่วมวงชุมนุมที่ลานดินรอบกองไฟในค่ำคืนเหน็บหนาวเงียบงันนั้น เราได้กลายเป็นผู้ฟังหลวงพ่อเทียนเล่าเรื่อง ซึ่งภาษาของแดนอรัญเป็นมนต์ขลังอย่างใหญ่หลวง ผู้อ่านอาจจะอ่านไปด้วยดวงตาแวววาวอย่างเด็กๆ ที่ฟังอยู่รอบกองไฟนั้น 

การเขียนแบบต่อเนื่องของแดนอรัญเช่นนี้จะน่าอ่านได้ ก็ต่อเมื่อผู้เขียนต้องมีฝีมืออย่างยิ่งที่จะผูกใจคนอ่านไว้กับตัวหนังสือ ซึ่งแดนอรัญเขียนดีได้อย่างนั้น จนการไม่มีย่อหน้าไม่ได้สร้างอุปสรรคแต่อย่างใด หากแต่เป็นเสน่ห์ที่ทำให้เราไม่อยากหยุดอ่าน หากภาษาและการเล่าเรื่องของเขาไม่ดีอย่างเหลือร้ายแล้ว เขาย่อมไม่อาจผูกใจคนอ่านให้ติดตามกับถ้อยความอันเหยียดยาวนี้ได้ แต่แดนอรัญทำให้เราดื่มด่ำในถ้อยคำของเขา การอ่านจึงเป็นเสมือนความรักที่ไถ่ถอนตัวไม่ขึ้น 

แม้ "เจ้าการะเกด" จะเป็นชื่อเรื่อง และชื่อรองบนปกเขียนไว้ว่า "เรื่องรักแต่เมื่อครั้งบรมสมกัปป์" แต่ตัวละครที่มีบทบาทเด่นที่สุดไม่ใช่เจ้าการะเกด แต่เป็นธรรมชาติและป่าในอดีต หากจะจัดเรื่องนี้เป็นเรื่องรักในอดีต ก็เป็นรักของธรรมชาติในสมัยที่ผืนป่ายังไม่ถูกทำลาย 

หากพบหนังสือเล่มนี้ก็อยากให้ลองอ่านดู เนื่องจากเป็นไปได้ว่าเราจะตกอยู่ในอาการอย่างเดียวกัน อันที่จริงแล้ว การเขียนแนะนำถึงหนังสือที่เราชอบอย่างสุดจิตสุดใจนั้นทำได้ยากมาก เนื่องจากแทนที่จะใช้สมองไตร่ตรอง เรากลับใช้แต่หัวใจ และดูเหมือนการใช้เหตุผลใดๆ จะหยุดทำงานอย่างสิ้นเชิง เวลาเขียนแนะนำเรื่องแนวนี้จึงมีแต่ข้อความที่แปลได้เพียงคำเดียวว่า อยากแนะนำให้อ่านจริงๆ แต่บทแนะนำนั้นจะเขียนได้ไม่น่าอ่านเอาอย่างยิ่ง ผู้แนะนำสังเกตตัวเองมาเป็นหลายหนแล้วว่า เรื่องที่รักที่สุดนั้น กลับเขียนแนะนำได้ไม่เป็นภาษาคนเอาเสียเลย 

เจ้าการะเกดเป็นหนังสือดีที่รักเล่มหนึ่งที่อยากแนะนำอย่างยิ่งเช่นนั้น หากเมื่อได้อ่านคำแนะนำนี้แล้วจะไม่เห็นเนื้อหาสาระอ้นใด นั่นก็เป็นเพราะความรักทำให้เรามืดบอดไปเสียแล้ว และหากจะกล่าวคำใดที่จะฟังรู้เรื่องราวแม้แต่คำเดียว คำนั้นก็อยากจะบอกคุณว่าให้ลองอ่านหนังสือเล่มนี้ดู แม้ว่าคุณอาจจะไม่ได้ชอบได้รักอย่างที่ผู้แนะนำรัก แต่หนังสือเล่มนี้ก็พิเศษและไม่น่ามองผ่านไปด้วยประการใดๆ 

ดังที่หลวงพ่อเทียนเล่าว่านกยูงเป็นอัญมณีแห่งป่า การเขียนในเล่มของแดนอรัญเป็นอัญมณีแห่งภาษา 
 
เกี่ยวกับผู้เขียน แดนอรัญ แสงทอง นามปากกาของ เสน่ห์ สังข์สุข เกิดที่เพชรบุรี สำเร็จการศึกษาทางวรรณคดีต่างประเทศจากม.ศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เป็นนักเขียน นักแปล กวี และเจ้าของสำนักพิมพ์ปาปิรัส, อรุโณทัย ผลงานเขียนเรื่องแรกคือเรื่องสั้น "เพลงศพ" พิมพ์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ผลงานเรื่องสั้น "ทุ่งร้าง" ได้รับรางวัลเรื่องสั้นดีเด่นจาก ฟ้าเมืองทอง 

ผลงานเขียนรวมเล่มคือ ผู้ถูกกระทำ (๒๕๒๘ ในนามปากกา มายา), ยามพราก (๒๕๓๓), เงาสีขาว (๒๕๓๖), อสรพิษ (๒๕๔๕), เพลงรักคนพเนจร (๒๕๔๕), เจ้าการะเกด (๒๕๔๖) เงาสีขาวและอสรพิษได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศด้วย นอกจากนั้นยังมีงานแปลที่ใช้นามปากกา มายา เช่น ทุ่งดอกหญ้าถึงดวงดาว ของ ออสการ์ ไวลด์, เมตามอร์ฟอร์ซิส ของคาฟก้า, คนสวน ของ รพินทรนารถ ฐากูร, คนโซ ของ คนุท เฮ็มซุน ใช้นามปากกา เชน จรัสเวียง กับงานแปลเช่น กระแสลมในฤดูใบไม้ผลิ, แล้วดวงตะวันก็ฉายแสง, สวนสวรรค์แห่งความรัก ของเฮ็มมิงเวย์ และ คนจมน้ำตายที่รูปหล่อที่สุดในโลก ของ การ์เซีย มาร์เกซ ปัจจุบันพำนักที่อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี 

เจ้าการะเกด : แดนอรัญ แสงทอง 
ISBN 974-916-22-5-0 แมวคราว ๑๙๗ หน้า ราคา ๑๕๐ บาท 

Copyright © 2003 faylicity.com 

บางค่ำคืนหลังจากฝนตกหรือในขณะที่ฝนสร่างซาเบาบางลงเหลือแต่เพียงอาการพร่างพรำ ป่าทั้งป่ากลายเป็นสีน้ำเงินพร่างพราวระยิบระยับและสว่างไสวราวกับมีงานนักขัตฤกษ์เพราะแสงหิ่งห้อยนับหมื่นนับแสนตัว แสงของหิ่งห้อยมากมายเหลือคณาเยี่ยงนั้นข้าคงไม่มีโอกาสได้เห็นอีกแล้วในชั่วชีวิตนี้ แสงนั้นและการกะพริบพร่างพรายของมันเย้ยแสงจันทร์และแสงดาว แสงนั้นและการกะพริบพร่างพรายของมันทำให้โลกงดงามกว่าสรวงสวรรค์ 
-- แดนอรัญ แสงทอง, เจ้าการะเกด 

หยิบมาปัดฝุ่นล่าสุด ๒๒ ธันวาคม ๒๕๔๖
.................................................................................

ขอขอบคุณ คุณเฟย์ Faylicty

สำหรับบทความวิจารณ์แนะนำหนังสือเล่มนี้ http://www.faylicity.com/book/book1/karaked.html

วันพฤหัสบดีที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2553

อสรพิษ


บทความวิจารณ์ /แนะนำโดย  เฟย์ Faylicity
http://www.faylicity.com

อสรพิษ เป็นเรื่องสั้นความยาว 47 หน้า ที่ปรากฏสู่สาธารณชนครั้งแรกในภาษาที่ไม่ใช่ภาษาไทย แต่เป็นฉบับแปลภาษาฝรั่งเศส และภาษาอังกฤษ ที่ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในบางกอกโพสต์ หลังจากนั้นได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ รวม 6 ภาษา 

ผู้เขียนและมาแซล บารังส์ ผู้แปล กล่าวในคำนำหนังสือว่าอสรพิษฉบับภาษาไทยได้รับการปฏิเสธตีพิมพ์ในนิตยสารชั้นนำต่างๆ ในไทยเรื่อยมา จนกระทั่งได้ตีพิมพ์ในไทยในฉบับนี้เป็นครั้งแรก เมื่อได้อ่านเรื่องสั้นนี้แล้วก็ยากจะเชื่อว่านิตยสารไทยหลายฉบับจะเพิกเฉยต่อต้นฉบับเรื่องนี้ นับเป็นเรื่องดีใจและน่าเศร้าพร้อมกันไป น่าดีใจที่มาแซล บารังส์อ่านภาษาไทยออกและได้อ่านอสรพิษ แต่น่าเศร้าที่ผู้มองเห็นคุณค่าเรื่องสั้นชั้นเอกเรื่องนี้กลับเป็นชาวต่างประเทศ ที่ภาษาไทยไม่ใช่ภาษาแม่ แต่เขากลับรู้สึกได้ว่างานเขียนเรื่องนี้เป็นดังเพชรน้ำหนึ่ง และกระตือรือร้นจะนำเสนอต่อชาวโลกในภาษาสากล 

อสรพิษ เป็นเรื่องสั้นที่ดีอย่างเพชรน้ำเอก เนื้อเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับงู ฉากของเรื่องนี้อยู่ที่แพรกหนามแดง เช่นเดียวกับเรื่อง เจ้าการะเกด แต่การจะบอกเล่าเรื่องใดๆ มากไปกว่านี้ จะเป็นการทำลายความสนุกที่ผู้อ่านจะไปค้นพบเองได้ (ซึ่งผู้เล่าเรื่องที่ดีที่สุดคือ แดนอรัญ แสงทอง) แต่สิ่งที่คนอ่านบอกได้ก็คืออยากให้คุณได้ลองอ่านเรื่องนี้ดู เรื่องสั้นๆ เรื่องนี้มีพลังและจับจิตจับใจได้มากนัก เป็นเรื่องสั้นที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย ที่ภาษาการเขียนงดงาม และมีมนต์ขลังด้วยการเล่าเรื่องตรึงอารมณ์ เมื่อเรื่องได้ดำเนินไปแล้ว แดนอรัญก็ทำให้เรื่องนั้นมีชีวิตชีวา ให้ผู้อ่านได้หัวเราะ ร้องไห้ ตื่นเต้น ระทึกใจ ไปตามแต่ที่เขาจะบันดาลให้เป็นไป แดนอรัญตรึงคนอ่านด้วยอำนาจการเขียนได้อย่างที่เราต้องยอมจำนน 

เรื่องสั้นๆ เรื่องนี้ยังสะท้อนเรื่องราวของมนุษย์ได้อย่างน่าทึ่ง มนุษย์เราจะเป็นเช่นไรหากศิโรราบต่อชะตากรรมด้วยหมดสิ้นความหวัง หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยมีทั้งอสรพิษภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกัน 

ภาษาของแดนอรัญสวยนักจนการอ่านนี้เป็นประสบการณ์แรกที่ทำให้คนอ่านได้นึกชื่นใจอีกครั้งว่า ภาษาของเรานั้น สวยจนแปลเป็นภาษาไหนๆ ก็จะไม่ได้รสไม่ได้ความรุ่มรวยอย่างภาษาไทยเลย ดูอย่างประโยคแรกในหนังสือที่ว่า "จวนจะเย็นย่ำแล้ว แดดอ่อนรอนแสงลงแล้ว ดวงตะวันเป็นสีแดงแก่ก่ำนุ่มนวลอ่อนโยนลง" ที่แปลได้ว่า "The afternoon was coming to an end. The light was softening, and the dark-red sheen of the sun was fading." แม้ว่าราคาหนังสือ 100 บาทอาจจะแพงสำหรับการอ่านเรื่องสั้นเพียง 47 หน้า แต่ประสบการณ์บางอย่างนั้นประมาณค่าไม่ได้ การอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็เป็นประสบการณ์เช่นนั้นที่ตีราคาค่างวดให้สมคุณค่าไม่ได้เลย 

อสรพิษเป็นเรื่องสั้นที่ดีทั้งภาษาและเนื้อเรื่อง และผู้ที่ได้อ่านอสรพิษ ก็น่าจะพบว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้สิงสู่พำนักในตัวเราแล้วอย่างถาวร 
  
อสรพิษ : แดนอรัญ แสงทอง 
ISBN 974-90102-9-9 แมวคราว ๑๒๗ หน้า ราคา ๑๐๐ บาท 

Copyright © 2003 faylicity.com 

เจ้างูยักษ์อยู่ใกล้เขามาก เขาไม่เคยคิดฝันมาก่อนเลยว่าเขาจะได้ใกล้ชิดกับมันมากมายถึงปานนี้ ไม่มีลางบอกเหตุผลอันใดทั้งในความจริงและความฝัน 
-- แดนอรัญ แสงทอง, อสรพิษ 

หยิบมาปัดฝุ่นล่าสุด ๑๖ มกราคม ๒๕๔๗

****************************************
ขอขอบคุณ คุณเฟย์ Faylicty สำหรับบทความวิจารณ์แนะนำหนังสือเล่มนี้  
http://www.faylicity.com/book/book1/venom.html

วันอังคารที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2553

บุ๊คไวรัส / ฟิล์มไวรัส



ฝากประชาสัมพันธ์หนังสือในเครือ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส)  
ท่านใดที่สนใจหนังสือวรรณกรรมเข้มข้นนอกสายตา หรือหนังสือที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ไว้เก็บเป็นคู่มือประจำบ้านในเครือฟิล์มไวรัสคอเลทชั่น สามารถหาซื้อได้ในงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติครั้งที่ 15  
ที่ บูธ ออเตอร์เนทีฟ ไรเตอร์ (Alternative Writer) M12 โซน C 
ระหว่างวันที่ 21 – 31 ตุลาคม 2553 ตั้งแต่เวลา 10.30 น. – 20.30 น. ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต

บุ๊คไวรัส เล่ม 1 : A-Z หนังวรรณกรรม
(รวม 262 หนังนานาชาติ จากนักเขียน 129 คน เขียนคำนิยมโดยสองชาติ คือ สุชาติ สวัสดิ์ศรี และ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล)

บุ๊คไวรัส เล่ม 2 (รวมเรื่องสั้นทั้งจากนักเขียนไทยและเทศ)  

เรื่องสั้นไทยประกอบด้วย
“จินตนาการไร้บรรทัด” : Visual Art Novel โดย สุชาติ สวัสดิ์ศรี
“ในท่ามกลางแสงแห่งเดือนอันฉายฉาน” โดย แดนอรัญ แสงทอง
“ความตายกับศิลปิน” โดย อุทิศ เหมะมูล
“สุมลกับสุมลรัตน์” โดย เอื้อ อัญชลี
“ความเงียบแห่งจักรวาล” โดย ฟ้า พูลวรลักษณ์

และเรื่องสั้นต่างประเทศ
“โทรเลขสองฉบับ” (มิเกลอันเจโล่ อันโตนีโอนี่- เขียน) แปลโดย ไอดา อรุณวงศ์
“พื้นที่ทางใจ” (แซม เชพพาร์ด - เขียน) แปลโดย ไอดา อรุณวงศ์
“แดนใต้” (ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส – เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
“กาลอวสาน” (ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส – เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
“ เกม” (โดนัลด์ บาร์เทลมี่ – เขียน) แปลโดย จิตติ พัวสุทธิ
“หูล้างเลือด” (อีแธน โคน – เขียน) แปลโดย ชนิดา ศักดิ์สิริสัมพันธ์
“บทสัมภาษณ์ ฆอร์เฆ ลุยส์ บอร์เฆส โดย อามาเลีย บาริลี่” แปลโดย กรกิจ ดิษฐาน
และอื่นๆ 

บุ๊คไวรัส เล่ม 3 : กาจับโลง (2 เรื่องสั้นแปลจากนักเขียนระดับโลก)
“เลือดสามหยาด” (Sadeq Hedayat - เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง
“สารานุกรมชีวิตผู้ตาย” (Danilo Kis – เขียน) แปลโดย ธิติยา ชีรานนท์

บุ๊คไวรัส เล่ม 4 : สนธิสัญญาอสูร (3 เรื่องสั้นแปลที่สังสรรค์โลกมืดกับความขันขื่น)
ประเดิมเรื่องสั้นจาก Felisberto Hernandez (ครูใหญ่ของนักเขียนอย่าง Gabriel Garcia Marquez, Julio Cortazar และ Italo Calvino)

“จรลีร่ำไห้” (Felisberto Hernandez – เขียน) แปลโดย ชัยวัฒน์ ทองรัตน์
“บุญผ่อนบาป” (Slawomir Mrozek – เขียน) แปลโดย ชาญชนะ หอมทรัพย์
“หน้าต่างกลางไพร” (Jonathan Baumbach – เขียน) แปลโดย ณิชา อู่ดาราศักดิ์

บุ๊คไวรัส เล่ม 5 : นางเพลิง
รวมเรื่องสั้นแปลสาวแสบเอเชียปะทะยุโรป 
บาซูก้าของจูเลีย ผลงานของ แอนนา คาแวน (อังกฤษ)
ภูเขาอุกกาบาต ของ ฉาน เสว่ (จีน) 
ช้างคืนเรือน ของ โจ คียุง รัน (เกาหลี) 

บุ๊คไวรัส เล่ม 6 : เดอะ เว็นดิโก้ อสูรไพรทมิฬ (ฉบับครบรอบ 100 ปี)
Algernon Blackwood – เขียน  
แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง (ที่เจ้าตัวออกปากว่าเป็นงานแปลที่โหดหินที่สุดในชีวิต)
ตัวเรื่องนั้นมีที่มาจากตำนานปรัมปราที่เล่าขานกันมานานเกี่ยวกับอสูรร้ายโฉบกระชากวิญญาณในป่าหิมะ ซึ่งชาวป่าต่างคุ้นเคยกันดี แต่แทบไม่เคยมีใครได้เห็นหน้าตาแล้วรอดชีวิตกลับมาเล่าสู่กันฟัง

บุ๊คไวรัส เล่ม 7 : นารีนิยาม (เบิกม่านเรื่องสั้นผู้หญิงเกินนิยาม)
“นักว่ายน้ำ” (มิแรนดา จูลาย – เขียน) แปลโดย ไกรวุฒิ จุลพงศธร
“เกมที่ค้างคา” (โกลี ทารากี - เขียน) แปลโดย ชลเทพ ณ บางช้าง
“ม้าน้ำ” (ฮิโรมิ คาวาคามิ – เขียน) แปลโดย โดยมัทนา จาตุรแสงไพโรจน์
“ลอกลายกุหลาบ” (แคลริซ ลิสเปคเตอร์ – เขียน) แปลโดย ดิษพล ศิวะรัตนธำรงค์
“จบให้สวย” (มาร์กาเร็ท แอ็ตวูด – เขียน) แปลโดย แดนอรัญ แสงทอง  
อ่านเพิ่มเติม http://www.onopen.com/filmvirus/10-07-25/5494

ฟิล์มไวรัส เล่ม 3 : อีสาวกายสิทธิ์ 
 รวมบทความ + บทสัมภาษณ์ พร้อมวีดีโอหนังสามัญประจำบ้าน

ฟิล์มไวรัส เล่ม 4 : สางสำแดง 
(รวมหนัง cult และหนังสยองขวัญระดับอุบาทว์คลาสสิก

ฟิล์มไวรัส 5 : ปฏิบัติการหนังทุนน้อย
รวม 5 บทความจากนิตยสาร Filmview และอีก 18 บทความเขียนใหม่แนะนำผู้กำกับหนังทุนสมอง ลงทุนประหยัด (ไม่เน้นทุ่มทุนขว้างเหวี่ยงทุนเสนอ) 

The 8 Masters  
แนะนำ 8 ผู้กำกับหนังระดับโลก โดยกลุ่ม Filmvirus

151 Cinema 
151 หนังนานาชาติที่อยากชวนชม แนะนำโดยกลุ่ม filmvirus

Unknown Forces ( สัตว์วิกาล : ภาพเรืองแสงของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ) - ตุลาคม 2550
รวมบทความและข้อเขียนเกี่ยวกับ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล - คนทำหนังไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับการยอมรับสูงสุดจากทั่วโลก ด้วยผลงาน สุดเสน่หา, สัตว์ประหลาด และ แสงศตวรรษ (จัดทำโดยกลุ่ม filmvirus)

ปฏิบัติการหนังทุนข้ามชาติ : ตำรับชีวิตสามัญโกอินเตอร์
รวมบทสัมภาษณ์คนทำหนังอิสระไทย 13 ราย ที่ได้รับการสนับสนุนทุนสร้างภาพยนตร์จากต่างประเทศ ชัยชนะเล็ก ๆ ของคนทำหนังไทยนอกระบบสตูดิโอ ร่วมด้วยบทความแนะนำการติดต่อแหล่งทุนจากต่างประเทศ ลักษณะเฉพาะของแหล่งทุนแต่ละแห่ง พร้อมแนะนำตัวอย่างหนังนานาชาติที่ได้รับทุน

สำหรับท่านที่อยู่ต่างจังหวัด สามารถสั่งซื้อทางไปรษณีย์ ติดต่อสอบถามได้ที่ email:filmvirus@gmail.com

วันพฤหัสบดีที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2553

แมวผี


โดย 'นรา' 
http://narabondzai.blogspot.com/


‘แมวผี’ เป็นผลงานเรื่องสั้นขนาดกะทัดรัดเล่มล่าสุดของ แดนอรัญ แสงทอง

ยาว (หรือสั้น) ประมาณเกือบ ๆ 30 หน้า ราคาเล่มละ 50 บาท

อาจจะแพง หากเทียบผิวเผินว่ามันเป็นแค่การซื้อขายแผ่นกระดาษ แต่ถ้ามองในแง่ของ ‘ราคาทางความคิด’ และคุณค่าที่จะได้รับจากการอ่านแล้วล่ะก็ ราคานี้ถูกเหมือนได้เปล่าสำหรับผม

ปกติแล้ว ความยาว (หรือสั้น) ขนาดนี้ ผมควรจะใช้เวลาไม่เกินชั่วโมงในการอ่านให้จบ แต่ผมก็ต้องบวกเพิ่มไปอีกเท่าตัว ในการอ่านเรื่องสั้น (หรือยาว) เรื่อง ‘แมวผี’

เพื่อสุขภาพจิตอันดีงามของผู้อ่านและตัวผมเอง จะยาวหรือสั้นก็ช่างมันเถอะนะครับ

ทำไมต้องใช้เวลาอ่านมากกว่าปกติ? เป็นเพราะว่าอ่านยากหรือเปล่า?

คำตอบคือ ทั้งไม่ใช่และใช่

ไม่ใช่เพราะว่า เรื่องราวที่บอกเล่านั้น เพลิดเพลินรื่นรมย์ ชวนติดตาม และสนุกเหลือหลาย

และใช่...มันอ่านยาก เพราะว่า ความบันเทิงเริงใจส่วนหนึ่ง อยู่ที่วิธีการเขียนและวิธีการอ่าน

นี่เป็นหนึ่งในน้อยเรื่องน้อยเล่ม ที่ผมไม่สามารถพกพาติดตัวไปอ่านบนรถเมล์หรือตามที่สาธารณะ ต้องหลบอ่านในหลืบมุมมิดชิดเป็นส่วนตัว ราวกับเด็กนักเรียนวัยคึกคะนองฮอร์โมนพลุ่งพล่าน แอบอ่านหนังสือแนวปลุกใจเสือป่า

‘แมวผี’ ไม่ได้โป๊ดุเดือดเลือดพล่าน ถึงขนาดต้องอ่านด้วยกรรมวิธีกระมิดกระเมี้ยนหลบ ๆ ซ่อน ๆ หรอกนะครับ และเอาเข้าจริงก็สะอาดถูกสุขอนามัยตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย

แต่นี้เป็นงานเขียนที่เรียกร้องให้ต้อง ‘อ่านออกเสียง’ จึงจะสนุกได้อรรถรสเต็มพิกัด

เพื่อมิให้ผู้คนรอบข้างแตกตื่นตกใจ ผมก็เลยเลือกที่จะอ่านดัง ๆ ในบ้าน

มีคำชี้แจงสั้น ๆ ก่อนเริ่มเรื่องของ ‘พ้อนักประพันธ์โฉ่มเอ้ก’ บอกกล่าวตกลงกับผู้อ่านไว้ว่า “ข่อเรียนให้ซาบย้างนี้น่ะขะรับว้า ถ้าหากว้าย้ากจะอ้านเรื้องมะโน่ส่าเร้เรื้องนี้แล้วล่ะก้อ ข่อความกรุ่ณาอ้านให้เปนส่ำเนียงเหน้อ ๆ แบบสู้พรรณ ๆ ซักน่อยนึ่งเถิ้ดจ้า หรือถ้าไม่ย้างนั้นก๊อเชิญเอาเวล่ำเวลาไป่ทำอะไร ๆ ย้างอื่น ๆ เห่อะ แล้วก๊ออย่าอ้านในใจ อ้านในใจแล้วคือว่ามันจะตะกึ้กตะกั่กอยู้ซักกะน่อย”

ครับ ทุกหน้า ทุกบรรทัด ทุกประโยคของ ‘แมวผี’ เขียนด้วยสำเนียงเหน่อแบบสู้พรรณ

ดังนี้เอง จึงปรากฏในเรื่องว่า อ้ายวิลลีหมากรุงเทพฯ กลายเป็นอ้ายหวิ่นลี่ ก่อนจะเสี่ยหม่า เห่าเหน่อหลังจากไปอยู่บ้านนอกได้สักพัก

หลังจากอ่านออกเสียงจบแล้ว และทดลองอ่านเงียบ ๆ ในใจอีกรอบ ผมพบว่าวิธีแรก สนุกกว่าเยอะ ขณะที่วิธีหลังจืดชืดไม่เป็นรส

เหตุผล ที่มาที่ไป เกี่ยวกับการเลือกใช้เทคนิคสำเนียงสุพรรณตลอดทั้งเรื่อง ปรากฏอยู่ในคำชี้แจงของผู้เขียนตอนท้ายเล่ม (ซึ่งไม่ควรรู้ล่วงหน้าก่อนอ่าน)

นอกจากจะเป็นลูกเล่นในการทำให้แปลก สร้างรสระรื่นเสนาะหูระหว่างการอ่านแล้ว ผมคิดว่าสำเนียงเหน่อนี้ เมื่อบวกรวมกับสำนวนลูกทุ่งของนักเขียน- -ที่ผมนับถือและยกย่องว่าเป็น ‘นายแห่งภาษา’ ด้วยแล้ว ก็ยิ่งส่งผลให้ ‘แมวผี’ กลายเป็นเรื่องเล่าที่ถึงแก่นวิญญาณความเป็นชนบท (ในอดีต) และเขียนได้เนียนหูเนียนตา เหมือนนั่งอยู่ต่อหน้าทิดโขดผู้เป็นตัวละคร ฟังแกเล่าอะไรต่อมิอะไรเป็นคุ้งเป็นแคว ในลีลา ‘เดี่ยวไมโครโฟน’ แบบไม่เสียบปลั๊ก (เนื่องจากยังไม่มีไฟฟ้าใช้) อย่างเพลิดเพลินลืมเวลา

พูดง่าย ๆ คือ มันทำให้ ‘แมวผี’ มีบรรยากาศแบบชนบทไทยแท้ ทั้งคำพูดคำจาและมุมมองความคิดของตัวละคร (นี้เป็นจุดเด่นอย่างหนึ่งที่แข็งแรงมากในผลงานระยะหลัง ๆ ของแดนอรัญ แสงทอง พูดแล้วก็ขอแนะนำ ‘ตำนานเสาไห้’ อีกสักเล่ม พร้อมคำยืนยันว่าดีเยี่ยมน่าอ่าน)

รวมทั้งได้อารมณ์ขันเสียดสีแบบน่ารักน่าเอ็นดูเป็นโบนัสแถมพก

เนื้อที่กว่าครึ่งหนึ่งของ ‘แมวผี’ เล่าไปเรื่อย ๆ เหมือนปราศจากเค้าโครงเหตุการณ์ (และเหมือนคนเล่านึกอันใดขึ้นมาได้ก่อนก็เล่าไปตามนั้น ไม่ได้เรียบเรียงวางลำดับของเนื้อหาให้มีต้น กลาง ปลายที่แน่ชัด) พูดถึงความทรงจำฝังใจในอดีต เกี่ยวกับการดูหนังกลางแปลง การเดินข้ามทุ่งข้ามหมู่บ้าน นานหลายชั่วโมงหลายสิบกิโลเมตร เพื่อไปเสพงานศิลป์มหรสพยังต่างถิ่น โดยไม่คิดว่านั้นเป็นอุปสรรคยากลำบาก ฉากประทับใจและภาพจำจากหนังไทยรุ่นเก่าหลาย ๆ เรื่อง ความพึงพอใจและขัดใจจากการปรุงรสให้แก่หนังโดยฝีปากนักพากย์ ความหลงใหลชื่นชมต่อบทบาทการแสดงของพระเอกยอดนิยม-มิตร ชัยบัญชา (หรือมิตร ไฉ่บัญชาในสำเนียงสุพรรณ)

อารมณ์และรสบันเทิงนั้น พอจะเทียบคร่าว ๆ ได้ว่า ใกล้เคียงกับหนังอิตาเลียนเรื่อง Cinema Paradiso

ไม่ได้เด่นที่การผูกเนื้อเรื่องให้ซับซ้อนย้อนยอก เป็นพล็อตเรียบง่ายธรรมดา แต่พิสดารโดยรสของถ้อยคำและการพรรณนารายละเอียดอันน่าตื่นตาตื่นใจ

ถึงแม้ ‘พ้อนักประพันธ์โฉ่มเอ้ก’ จะกล่าวไว้ท้ายเล่มหลังจบเรื่องว่า ‘แมวผี’ เป็นเรื่องมโนสาเร่ เป็นเรื่องอ่านเล่น จุดประสงค์ก็เพียงเพื่อหยอกเอินให้ได้หัวเราะหัวใคร่กันบ้างเท่านั้น

แต่ในท่ามกลางลีลาทีเล่นผ่อนคลาย ‘แมวผี’ ก็สะท้อนภาพรายละเอียดบางด้านของสังคมชนบทในอดีตเมื่อครั้งพายุแห่งความเจริญยังไม่พัดผ่าน, ความเปลี่ยนแปลงพ้นเลยในหลายสิ่งหลายอย่างชนิดไม่หวนย้อนกลับมาอีก, อารมณ์ถวิลถึงอดีตอันสวยเศร้าจับอกจับใจ, แถมยังเป็นพงศาวดารชาวบ้านจดจารจารึกถึงประวัติศาสตร์หนังไทยเสี้ยวเล็ก ๆ ได้อย่างมีชีวิตชีวา และเสน่ห์แรงเป็นบ้า

หนังไทยจำนวนมากที่กล่าวถึงในงานเขียนชิ้นนี้ บางเรื่องผมไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อนเลย บางเรื่องก็แค่สดับรับฟังคำร่ำลือ แต่โตไม่ทันดู บางเรื่องเคยผ่านตา ทว่าก็เป็นความหลังรางเลือน ไม่แจ่มชัดเท่ากับที่ตัวละครสาธยาย

ทว่าทุกเรื่อง แดนอรัญ แสงทอง เขียนเล่าและเร้าโน้มน้าว กระทั่งผู้อ่านรู้สึกว่า น่าดูมากและเกิดความรู้สึกอยากเสาะหามาดูด้วยตนเอง

แต่ผมก็รู้อีกว่า ต่อให้ออกไล่ล่าหนังเหล่านั้นมาได้จริง ๆ การดูเองก็คงไม่สนุกและมีเสน่ห์เทียบเท่ากับที่ตัวละครทิดโขดเล่าให้ฟังใน ‘แมวผี’

มันเป็นเรื่องของมุมมองซื่อใสบางอย่าง ซึ่งผมไม่มีอยู่ในตัว และเป็นเรื่องของพรสวรรค์ความสามารถพิเศษเฉพาะตัวในการถ่ายทอดความบันเทิงดาด ๆ ให้กลายเป็นเรื่องกระทบความรู้สึกเร้าใจผู้อ่าน

ตัวละครทิดโขด โดยการพูดผ่านปลายปากกาของแดนอรัญ แสงทอง มีคุณสมบัติและพรสวรรค์ดังกล่าวอยู่เต็มเปี่ยม

ร้ายกาจกระทั่งว่า หนังบางเรื่องเช่น ‘สิ่งล้าสิ่งห์’ (สิงห์ล่าสิงห์) ที่ทิดโขดในเรื่องไม่มีโอกาสได้ดู และเห็นเพียงแค่ภาพวาดจากโป๊ดสะเต้อ ตะแกยังจินตนาการและนึกสงสัยเกี่ยวกับหนังไปได้ต่าง ๆ นานา จนผมคิดว่า อาจสนุกกว่าตัวหนังจริง ๆ เสียอีก

พูดอีกแบบนะครับ ตลอดทั้งเรื่องใน ‘แมวผี’ แทบจะมีทิดโขดเป็นตัวละครหลักที่แสดงบทบาทวาดลวดลายอยู่ตามลำพัง ทว่าในเรื่องเล่าผ่านท่วงทำนอง ‘พูดคนเดียว’ ตั้งแต่ต้นจนจบ อีกมุมหนึ่งก็เหมือนประกอบด้วยตัวละครเยอะแยะมากมาย และล้วนเป็นคนดังในอดีตที่ผู้อ่านรู้จักชื่อคุ้นหน้าค่าตากันอย่างดี เช่น มิตร ชัยบัญชา, สมบัติ เมทะนี, เพชรา เชาวราษฏร์, ล้อต๊อก และดาราดังรุ่นเก่าอีกหลายสิบชีวิต

ตลอดเวลาช่วงต้นจนถึงกึ่งกลางของการอ่าน ผมมีข้อสงสัยและคำถามหนึ่งอยู่ในใจ นั่นคือ เรื่องทั้งหมดที่เล่ามา ไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับชื่อเรื่อง ‘แมวผี’ เลยสักนิด


ชื่อนั้นชวนให้คิดและคาดหวังล่วงหน้าไปว่า จะต้องเป็นเรื่องสยองขวัญ อาถรรพ์ลี้ลับ บรรยากาศน่าสะพรึงกลัว อ่านแล้วขนหัวลุก

จนอ่านจบแล้วนั่นแหละ ผมจึงถึงบางอ้อ Oh I See ทั้ง ๆ ที่เรื่องเกิดขึ้น ณ หมู่บ้านมาบสันตะวา ว่าทำไมจึงตั้งชื่อเรื่องเช่นนี้

เป็นชื่อที่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงนะขะรับ

เหตุการณ์ในครึ่งเรื่องหลังไปจนกระทั่งจบ เป็นความลับที่ไม่สามารถเปิดเผย

ผม- -ในการเขียนเชิญชวนอย่างระแวดระวัง เพื่อรักษาอรรถรสเกี่ยวกับความลับของเรื่อง- -เล่าได้แค่ว่า ครึ่งท้ายของ ‘แมวผี’ มีเค้าโครงเหตุการณ์ให้จับต้องได้, มีการบรรยายฉากและอารมณ์ภายในของตัวละครที่ทรงพลังแบบวางไม่ลง (หลายจังหวะ เรื่องนั้นสะกดตรึงดึงดูดจนผมพลั้งเผลอ ทำสำเนียงสุพรรณตกหล่นหลงหายจากปลายลิ้นไปชั่วขณะ) และมีทั้งสิ่งที่ผู้อ่านคาดหวังไว้ก่อนอ่านควบคู่ไปกับเหตุการณ์นึกไม่ถึง

รวมถึงทีเด็ดสำคัญใน ‘เรื่องเล่าเช้าวันนั้น’

และเมื่อไล่สายตาอ่านออกเสียงจนถึงบรรทัดสุดท้าย ผมเผลอตัวปลดปล่อยอารมณ์ความรู้สึกหนึ่งออกมาแบบสุดกลั้น ควบคู่ไปกับมีรสแห่งการอ่านอีกแบบ แผ่คลุมแน่นทึบภายในใจ ราวกับความกดอากาศต่ำพาดผ่านตอนหนึ่งตอนใดของประเทศไทย จนทำให้รู้สึกเยียบยะเยือกอยู่ลึก ๆ

เมื่ออ่าน ‘แมวผี’ จบลง ผมไม่อยากให้จบ ยังอยากอ่านต่ออีก ทั้งที่รู้ว่า เรื่องได้ยุติตรงจุดที่สวยสุดกำลังเหมาะเจาะลงตัว

งานเขียนชั้นเยี่ยม มักทำให้ผมรู้สึกเช่นนี้ คือ อิ่มแปล้แล้ว แต่ยังตะกละตะกลามอยากกินอีก ก็เพราะมันอร่อยเหาะเด็ดดวงนัก

อาจทิ้งท้ายเป็นสำเนียงสู้พรรณปลอม ๆ ได้ว่า “แหม่ หมั่นแหงแก๋อยู้ ข้าอ่านแล้ว ข้าช้อบ หมั่นชุ้มชื่นหั่วใจดีพี่ลึกล่ะ”

แต่ถ้าจะให้ตรงกับความเป็นจริง ผมต้องใช้สำเนียงจีนพูดไทยไม่ชัดว่า “โขงเค้าลีจิง ๆ นาค้าบ”

บทความชิ้นนี้จะอ่านออกเสียงหรืออ่านในใจก็ได้ตามอัธยาศัย แต่ที่แน่ ๆ ควรจะ ‘อ่านออกตังค์’ โดยซื้อ ‘แมวผี’ ไว้เป็นหนังสือดีประจำบ้าน

***************************************

หมายเหตุ : ในภาพคือแมวตัวจริงที่บ้านของคุณแดนอรัญ (ภาพประกอบโดย "ฟิล์มไวรัส")

ขอขอบคุณ คุณนรา 

สำหรับข้อมูล http://narabondzai.blogspot.com/2010/10/blog-post.html

หนังตัวอย่าง True Grit (อารยชนคนเถื่อน) แดนอรัญ แสงทอง แปล

 True Grit ฉบับสร้างใหม่  (อารยชนคนเถื่อน - สำนักพิมพ์สามัญชน)

Jeff Bridges นักแสดงรางวัลออสการ์ในบทเดิมของ John Wayne ผลงานกำกับของพี่น้อง Coen (No Country for Old Men, Fargo, Barton Fink)

วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2553

มาตานุสติ


โดย เฟย์ Faylicity
http://www.faylicity.com/


ก่อนอื่นจำต้องบอกว่านิยายเล่มนี้น่ากลัวที่สุด คนขวัญอ่อนอย่าอ่านหนังสือตอนกลางคืนเวลาอยู่คนเดียว ควรวางแผนเวลาในการอ่าน ไม่ให้อ่านเรื่องนี้จบตอนกลางคืนเวลาที่อยู่คนเดียว ด้วยอาจกลัวจนถึงแก่เสียสติ 

นิยายเล่าถึงชึวิตคนหาเช้ากินค่ำสองคน เป็นแม่กับลูกสาววัยสิบห้าปี เพิ่งย้ายข้าวของไปอยู่บ้านสองชั้นเก่าแก่ทรุดโทรมกลางทุ่งเปลี่ยว เพื่อนบ้านใกล้ที่สุดอยู่ห่างไปเกือบสามกิโลเมตร ในคืนแรกนั้นฝนตกหนัก ฟ้าคำราม ลมกรรโชก สายฟ้าแปลบปลาบ ในคืนแรกที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ด้วยยังไม่ได้ไปติดต่อทางการ ความมืดจึงยิ่ง "เข้มข้นอย่างอำมหิต" ในคืนแรกนั้นมีเสียงผิดปกติบ่งบอกการบุกรุกจากชั้นล่าง แม่จึงถือมีดลงไปดูและสั่งลูกสาวว่า อย่าเปิดไฟฉาย อย่าจุดเทียน อย่าเคลื่อนไหว อย่าส่งเสียงเป็นอันขาด "แม่จะรีบกลับมาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้" 

เรื่องนี้เล่าโดยลูกสาว เด็กหญิงจิตใจเปราะบางที่ต้องรอแม่อยู่เพียงเดียวดายในความมืดท่ามกลางพายุฝน ขณะเงี่ยหูฟังสรรพเสียงต่างๆ จากชั้นล่าง จิตใจของเธอมีแต่ความหวาดกลัว ความกลัวนั้นมีอำนาจทำให้จินตนาการตนเองเพริดไปต่างๆ นานา ผู้บุกรุกนั้นจะเป็นสัตว์ร้าย หรือเป็นคน หรือเป็นภูตผีปีศาจกันแน่หนอ 

นี่ฉันกำลังหวาดกลัวมากเกินไปหรือเปล่า ในค่ำคืนที่มืดดำเข้มข้นขึ้นทุกทีๆ นี้ ในท่ามกลางเสียงแห่งสายฝน สายฟ้าและสายลมที่กำลังรุนแรงยิ่งขึ้นทุกทีๆ นี้ ฉันได้ปล่อยความคิดให้เพริดกระเจิงไปและสั่นระทึกหวาดกลัวต่อสิ่งที่ตนได้จินตนาการขึ้นมาหรือเปล่า 

ผู้เขียนเป็นนักเล่าเรื่องที่เก่งและใช้ภาษาไพเราะแสนเสน่ห์ เรื่องของเขาจึงน่าติดตามยิ่งนัก ตัวละครเด่นของเรื่องคือ แม่ ซึ่งมีบุคลิกชัดเจนติดตรึงใจ เธอเป็นผู้หญิงกล้า เฉียบขาด สู้ชีวิต เป็นคนที่น่ายำเกรง ในเรื่องนี้เล่าทำให้ความสมัยใหม่ของเมืองและความโบร่ำโบราณของป่าและตำนานดึกดำบรรพ์ มาอยู่ด้วยกันได้ลงตัวอย่างน่าอัศจรรย์ใจ เรื่องของแดนอรัญล้วนเป็นมนต์ขลัง สะกดให้หัวใจผู้อ่านศิโรราบกับการเล่าเรื่องของเขา 

เนื่องจากลูกสาวเป็นผู้เล่าเรื่อง คนอ่านจึงได้เห็นโลกนี้จากมุมมองของเด็กหญิงจิตใจพรั่นหวั่นหวาด ฉากที่ทำให้ตัวละครอยู่ในภาวะต้อง "รอคอย" ชะตากรรม ทำให้คนอ่านยิ่งใจแกว่งไปกับเธอ แรกๆ นั้นเนื้อเรื่องเล่าชีวิตที่ผ่านมาของเธอและแม่ แต่แล้วยิ่งนานไปเรื่องยิ่งน่าขนพองสยองเกล้าขึ้นทุกขณะ จนกระทั่งเมื่อถึงบทที่เด็กหญิงบอกว่า "แม่จ๋า นั่นแม่ใช่ไหมจ๊ะ หนูกลัวจนทนไม่ไหวแล้ว" ผู้อ่านหลายคนน่าจะรู้สึกอย่างเดียวกัน คือกลัวจนจะทนอ่านต่อไปไม่ไหวแล้ว เมื่อเด็กหญิงคำนึงว่า "จิตใจของโชคเคราะห์ทำด้วยอะไรนะ" ผู้อ่านอาจคิดว่า "จิตใจของแดนอรัญทำด้วยอะไรนะ" 

เวลาผู้เขียนเล่าเรื่องน่ากลัวก็ทำให้ขวัญกระเจิดกระเจิงได้จริงๆ แต่เรื่องยังมีอารมณ์ขันร้ายกาจ เช่นบทประพันธ์เรื่องรักระหว่างสาวไทยกับทหารญี่ปุ่น อังกาบกับโนโบรุ ที่ผู้เขียนบรรยายว่า "บทประพันธ์ที่ถือกำเนิดขึ้นจากวิญญาณแห่งความเป็นทาสและความเป็นโสเภณีนี้ จับอกจับใจผู้คนมาตั้งแต่ครั้งแรกที่มันได้รับการตีพิมพ์" 

ในเเรื่องนี้ยังมีเหตุฆาตกรรมแปลกประหลาด ชีวิตคนหาเช้ากินค่ำ หญิงโสเภณีที่บอกว่า "หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ของเราก็คือโยนีอย่างไรเล่าคะ" บทเพลงที่แสนสวยและแสนเศร้า นกขุนทองช่างเจรจาผู้สามารถพูดจาสองแง่สองง่าม ชอบบอกผู้คนที่เดินผ่านกรงว่า อยากลงหม้อแกงว่ะ มีบทวิพากษ์สังคมไทยที่แสบสันต์ และที่สำคัญคือเด็กหญิงที่กำลังรอคอยชะตากรรม ที่เฝ้าคิดว่า "เดี๋ยว-แม่-ก็-คง-จะ-มา" 

วลีข้างต้นชวนให้ขนลุกเกรียว และชวนนึกถึงเรื่องผีที่โด่งดังมากของฝรั่ง ที่มีชื่อจับจิตจับใจมากกว่า Wait Till Helen Comes เพียงแต่อ่านชื่อเรื่องก็น่ากลัวอย่างยิ่งเสียแล้ว ถ้าเฮเลนมาแล้วจะเป็นอย่างไรละหรือ ทั้งสองเรื่องนี้ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกัน เพียงแต่ทำให้เกิดความรู้สึกหลอนหลอกได้ดุจเดียวกัน 

อยากชวนไปอ่านหนังสือดีเล่มนี้ ไปรู้ว่าสุดท้ายแล้วชะตากรรมของเด็กหญิงและแม่ของเธอจะจบลงอย่างไร ความหมายของชื่อเรื่องจะปรากฏชัดเจนและเย็นยะเยือกในใจเมื่อคุณอ่านหนังสือจบลง 


เกี่ยวกับผู้เขียน แดนอรัญ แสงทอง 

ดวงตาที่สาม : แดนอรัญ แสงทอง 
ISBN 974-9748-25-5 แมวคราว 224 หน้า ราคา 190 บาท ปกอ่อน ปีที่พิมพ์ ๒๕๔๙ 

Copyright © 2006 faylicity.com 
นี่เป็นการกระทำเยี่ยงสัตว์ และในเมื่อมันเป็นการกระทำเยี่ยงสัตว์เช่นนี้ มันก็น่าจะต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของคนเท่านั้น 

-- แดนอรัญ แสงทอง มาตานุสติ

************************************

ขอขอบคุณ คุณเฟย์ Faylicity  

สำหรับข้อมูล http://www.faylicity.com/book/book1/matanus.html.