บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2557

นานาทัศนะต่องานเขียนของ แดนอรัญ แสงทอง เรื่อง “เจ้าการะเกด เรื่องรักแต่เมื่อครั้งบรมสมกัลป์”



ครั้งหนึ่ง เช็กสเปียร์ หรือบุคคลที่คนไทยในยุคก่อนเรียกว่า เศกสพีระ เคยกล่าวทำนองว่า คนทั่วไปมักเปรียบเทียบว่าขึ้นอยู่กับคำพูด พระเจ้าเฮนรี่ที่ ๔ เคยบ่นว่าพระองค์ไม่พอพระทัยในความประพฤติไม่เหมาะสมของโอรสของพระองค์ เพราะไปคบกับเพื่อนฝูงหรือพระสหายที่ไม่ดี คือ เซอร์จอห์น ฟัลสตาฟ

ในงานของเช็กสเปียร์ พระเจ้าเฮนรี่ที่ ๔ ทรงเปรียบเซอร์จอห์น ฟัลสตาฟ ในเชิงอุปมาว่า เหมือนถ้อยคำที่ดูเทอะทะ แต่ในที่สุดการคาดการณ์ทั้งหมดก็เป็นจริง และเจ้าชายผู้นี้ก็สลัดเขาทิ้งเมื่อทรงขึ้นเป็นกษัตริย์

เช็กสเปียร์เทียบคนกับคำพูด ทั้งนี้เพราะเห็นว่าน่าสนใจเมื่อกลับคำพูดหรือที่เรียกกันในสำนวนไทยว่า คำผวน คำต่างๆ ย่อมสะท้อนบุคคลที่ใช้คำ แม้คำอุปมาก็ขยายออกไปอย่างมากมายจากคำพูดเดิม เราคบใครเราก็มักจะได้คำพูด, ท่าทาง และคำอุปมาไม่น้อยจากพวกเขา โดยเฉพาะในการใช้ถ้อยคำของพวกเขา คำพูดฉายให้เห็นระดับต่างๆ ทางสังคม, การศึกษา และวิชาชีพตลอดจนหน้าที่ที่ทำกันอยู่

กวีเศกสพีระนั้นมีผู้เคยนับว่าเขากล่าววาทะเกี่ยวกับถ้อยคำไว้ทั้งหมดรวมกี่ครั้ง เท่าที่มีผู้รวบรวมมีอยู่ประมาณ ๒๙ ประโยคในละครต่างๆ ที่เคยเขียนไว้ และส่วนใหญ่ก็เป็นประโยคที่น่าสนใจทั้งสิ้น

ถ้อยคำก็เหมือนบุคคลคือย่อมแตกต่างจากกัน ไม่ว่าในทางเพศ ภูมิภาค และอายุ จะเห็นได้ว่า ถ้อยคำเทียบเคียงได้กับบุคลิกภาพของคนแต่ละคน และสะท้อนเรื่องราวชีวิตที่เล่าสู่กันฟัง

แดนอรัญ แสงทอง เป็นคนหนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติดังกล่าว และเป็นคุณสมบัติที่สะท้อนชีวิตในชนบทที่มีวัวเป็นเพื่อน ดังที่เขาเขียนเล่าไว้ในเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ

โดย ดร.นพพร สุวรรณพานิช
คำนิยม (บางส่วน) จากหนังสือ “เจ้าการะเกด เรื่องรักแต่เมื่อครั้งบรมสมกัปป์” สำนักพิมพ์ แมวคราว ๒๕๔๖
<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>> 

 ไอ้เจ้างานชิ้นนี้ประทับตราอันเป็นที่รู้จักกันดีด้วยลีลาการเขียนอันแหวกแนวและอร่อยเหาะ : แต่ละพารากราฟยาวเกินกว่าสิบสองหน้ากระดาษหรือมากกว่านั้นเสียอีก แต่ละประโยคยาวย้วยเคี้ยวคดเชื่อมต่อใจความเข้าด้วยกันด้วยคำว่า  และ ซึ่งเริ่มต้นอย่างหนึ่งแล้วก็กลับโอละพ่อไปเสียอีกอย่างหนึ่งชนิดคาดไม่ถึง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยศัพท์สะแลง ภาษาที่ไพเราะดุจกวีนิพนธ์ ศัพท์เทคนิคและสำบัดสำนวนของชาวพุทธซึ่งทั้งหมดนี้ใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวในทางคติชนวิทยาและใช้สร้างมุมมองอันแหลมคมในเชิงสังคมวิทยา ด้วยน้ำเสียงเนิบนาบที่ลอยชายเชือนแชอันระคนปนเปไปด้วยอารี้อารมณ์อันขันเข ความเมตตาการุณย์ การเย้ยหยันไยไพ และทั้งความสมเพชเวทนาที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน   ตัวของหนังสือเองยังท้าทายกฎเกณฑ์ของดุลยภาพทางวรรณกรรม (Literary Balance) เข้าเสียอีกด้วยอย่างมีชั้นเชิง

ข้าพเจ้าอยากให้ท่านผู้อ่านค้นพบด้วยตัวท่านเองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและท้ายที่สุดแล้วลงเอยเช่นใด ข้าพเจ้าคงกล่าวได้แต่เพียงว่ามีการตามล่าเสือสางอันร้ายกาจตัวหนึ่ง เรื่องเล่านี้ก่อให้เกิดความเจ็บปวดรวดร้าวและดึงดูดความสนใจของเราไว้จนแน่วแน่ เต็มไปด้วยอันตราย ความตื่นตระหนก และเหตุการณ์เหนือธรรมชาติเฉียดกรายมาอยู่เนืองๆ

โดย มาร์แซล บารังส์
(นักแปลและนักวิจารณ์ชาวฝรั่งเศส ใช้ชีวิตอยู่เมืองไทยนานเกือบ ๔๐ ปี แปลเรื่องสั้นไทยเป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสมากกว่า ๑๐๐ เรื่อง และแปลนวนิยายไทยเป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสมากกว่า ๒๐ เรื่อง)
บทวิจารณ์ (บางส่วน) อ่านฉบับเต็มได้ที่บล็อกแดนอรัญ แสงทอง
http://daen-aran-saengthong.blogspot.com/

<<<<<<<<<<<<<<<<&a<<<<<<>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>> 

นวนิยายเรื่องเจ้าการะเกด  เรื่องรักแต่เมื่อครั้งบรมสมกัป  ผลงานของ แดนอรัญ  แสงทอง  เป็นการตอบโต้และต่อรองกับรูปแบบนวนิยายในฐานะตัวแทนของวัฒนธรรมตะวันตก  นวนิยายเรื่องนี้เสนอว่านวนิยายมิได้แตกต่างและแยกขาดออกจากนิทาน  หากทว่านวนิยายเป็นความต่อเนื่องของนิทาน  และทั้งสองต่างมีภารกิจแรกเริ่มต่อมนุษย์แบบเดียวกันคือความบันเทิง  ผู้แต่งแสดงความตระหนักถึงภารกิจดังกล่าวของนวนิยายด้วยการเสนอนวนิยายเรื่องนี้ในรูปของเรื่องเล่าซ้อนเรื่อง  ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับนิทานซ้อนนิทานซึ่งเป็นรูปแบบของนิทานอินเดียและเปอร์เซีย  กลวิธีนี้นอกจากจะทำให้เห็นถึงลักษณะที่เหลื่อมซ้อนกันระหว่างนวนิยายกับนิทานแล้วยังเป็นการรื้อฟื้นรูปแบบนิทานของตะวันออกกลับคืนมาในรูปแบบของนวนิยายตะวันตกอีกด้วย

โดย ผศ.ดร. เสาวณิต  จุลวงศ์  
บทวิจารณ์ (บางส่วน) อ่านฉบับเต็มได้ที่บล็อกแดนอรัญ แสงทอง
http://daen-aran-saengthong.blogspot.com/
 <<<<<<<<<<<<<<<<&a<<<<<<>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>> 
ความคิดเห็นที่เด่นมากในงานของแดนอรัญคือการทำความเป็นพื้นบ้านให้เป็นสากล ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของนักเขียนยิ่งใหญ่หลายคนในโลกตะวันตก  งานถึงอารมณ์ บรรยากาศ และวิธีการของแดนอรัญที่ผมชอบมากที่สุดในงานของเขาก็คือภาษาที่ละเมียดและประณีตมาก

เรื่องที่ผมหลงรักมากคือ เจ้าการะเกด เรื่องรักแต่เมื่อครั้งบรมสมกัปป์  อยากให้ทุกคนได้อ่านรสวรรณกรรมในเรื่องมาก

"ลมหนาวโบกโบยมาแล้วแต่ยังไม่ได้โหมกระหน่ำรุนแรง เพียงแต่ถะถั่งมาไม่รู้จบสิ้น เรื่อยรินมาสม่ำเสมอ แห้งผากและเงียบเชียบ ส่อเค้าแห่งความทารุณ มีความทมิฬหินชาติและความมุ่งร้ายหมายขวัญแอบแฝงอยู่ในความเยียบเย็นและอาการโบกโบยอันช้าเชือนของมันนั้น"

โตมร ศุขปรีชา
นักเขียน / บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร GM

 <<<<<<<<<<<<<<<<lt;<<<<<<>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>> 
หนังสือเล่มนี้อ่านสนุก แต่รสอย่างแรกที่ทำให้อ่านได้จับจิตจับใจอย่างเพลิดเพลินนั้น อยู่ที่ภาษาที่งามงดน่าประทับใจอย่างยิ่ง ภาษาของแดนอรัญสวยอย่างลึกซึ้งนัก การบรรยายบรรยากาศของป่า ของแพรกหนามแดง ของแสงหิ่งห้อยระยิบ ของลมหนาวบาดผิว ของท้องฟ้าหลากสีต่างเวลา ผู้เขียนทำได้หมดจดสวยงาม หนังสือเล่มนี้ทำให้ผู้อ่านต้องตกเป็นเชลยทางตัวอักษรอย่างสิ้นเชิง เพราะภาษาถ้อยความและเนื้อเรื่องดึงดูดใจอย่างหาที่เปรียบไม่ได้

 "นกยูงเป็นอัญมณีแห่งป่าโดยแท้ ถ้าหากป่าคือสรวงสวรรค์ นกยูงก็คือดารานักร้องและนักแสดงแห่งสรวงสวรรค์ ... นกยูงตัวผู้สวยกว่านกยูงตัวเมีย นกยูงตัวผู้จะฟ้องรำแพนหางบนลานดินอวดนางตัวเมีย นั่นเป็นนาฏกรรมสำหรับเทพเจ้าโดยแท้ แต่ก่อนที่จะฟ้อนรำแพนหาง นกยูงตัวผู้ก็จะทำลานดินให้โล่งเตียนเสียก่อน ใช้ลำคออันงอนงามของมันม้วนรัดต้นหญ้าสูงๆ และทึ้งถอนออก ม้วนรัดและทึ้งถอนออก เยี่ยงเดียวกับผู้เชี่ยวชาญนาฏกรรมที่ตรวจตราดูเวทีก่อนทำการแสดง และพรานก็ฆ่ามันโดยดอดเอาไม้รวกผ่าซีกไปปักไว้บนลานดินนั้น และนกยูงตัวผู้ก็เพียรพยายามอยู่นั่นแล้วที่จะทึ้งถอนไม้รวกอันนั้นให้หลุดขึ้นมาจากผืนดินให้จงได้ ใช้ลำคออันงอนงามของมันม้วนรัดและทึ้งถอนออก ม้วนรัดและทึ้งถอนออก และยังคงวิริยะอุตสาหะกระทำการเช่นนั้นอยู่แม้ว่าคอของมันจะมีบาดแผลเหวอะหวะ นาฏกรรมแห่งความรักกลับกลายเป็นนาฏกรรมแห่งความตาย"

นอกจากความจับใจในภาษาแล้ว เรื่องในนี้ยังมีทั้งอารมณ์ขันที่น่ารัก มีอารมณ์ตื่นเต้นใคร่รู้ และมีความเศร้าโศกเหลือแสน มีทั้งความรักและชัง เศร้าและสุข ใครที่ชอบเรื่องผจญภัยตามแบบล่องไพร หรือเพชรพระอุมา ก็น่าจะอ่านได้สนุก เพราะในเรื่องรวมเอาความลึกลับแสนเสน่ห์ไว้ได้เช่นนั้น

โดย เฟย์  Faylicity / นักวิจารณ์
บทวิจารณ์ (บางส่วน) อ่านฉบับเต็มได้ที่บล็อกแดนอรัญ แสงทอง
http://daen-aran-saengthong.blogspot.com/

 

วันพฤหัสบดีที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2557

โปรดติดตามชม โซเซ มูริญโญ่ โค้ชฟุตบอลชื่อดัง กับหนังสือเล่มโปรด "อสรพิษ" ของแดนอรัญ แสงทอง



โฆเซ่ มูริญโญ่ โด่งดังในฐานะผู้จัดการทีมฟุตบอล เขาทุ่มเททำงานด้านนี้เป็นอย่างมาก แต่อีกแง่มุมนึง มูริญโญ่เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือมาก และหนึ่งในหนังสือเล่มโปรดของเขาก็คือ "VENOM" หรือในชื่อภาษาไทยก็คือ "อสรพิษ" ผลงานรวมเรื่องสั้นของนักเขียนไทยที่มีนามว่า แดนอรัญ แสงทอง ผลงานของแดนอรัญนั้นได้รับการตีพิมพ์และแปลเป็นภาษาต่างๆมากมาย รายการจุดประกายจะพาคุณไปรู้จักกับแดนอรัญ แสงทอง นักเขียนผู้มีแนวทางที่แน่วแน่และเป็นตัวของตัวเองสูงผ่านการพูดคุยสบายๆสไตล์เพื่อนซี้กับนิรันศักดิ์ บุญจันทร์ บก.จุดประกายวรรณกรรม ติดตามชมกันนะครับกับจุดประกาย ตอน แดนอรัญ แสงทอง ขบถนักเขียน ออกอากาศ วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน 2557 เวลา 6.00-6.30น. ทางช่อง NOW26 กล่องดิจิตอล Set Top Box (DVB-T2) --- กดช่อง 26 True CTH PSI ------------------------------ กดช่อง 36
 
ติดตามชมตัวอย่างบางส่วนได้ที่ลิ้งค์นี้ http://www.youtube.com/watch?v=HD66YV1wQkU&feature=youtu.be