บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

อสรพิษ และเรื่องสั้นอื่นๆ




รวมเรื่องสั้นอย่างเป็นเรื่องเป็นราวของผู้เขียน “เงาสีขาว” และ “เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง” แดนอรัญ แสงทอง

จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์สามัญชน  มีนาคม 2557

อสรพิษ เป็นเรื่องสั้นขนาดยาว ที่ปรากฏสู่สาธารณชนครั้งแรกในภาษาต่างประเทศ ที่ตีพิมพ์เป็นตอนๆ ในบางกอกโพสต์ หลังจากนั้นได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นๆ รวม 9 ภาษา คือ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, คาตาลัน, กรีก, โปรตุเกส, สเปน, อิตาลี, เยอรมัน และญี่ปุ่น (รวมทั้งได้รับการจัดทำเป็นอักษรเบรลส์ในภาษาอังกฤษด้วย)

ผู้เขียนและมาแซล บารังส์ ผู้แปล กล่าวในคำนำหนังสือว่าอสรพิษฉบับภาษาไทยได้รับการปฏิเสธตีพิมพ์ในนิตยสารชั้นนำต่างๆ ในไทยเรื่อยมา จนกระทั่งได้ตีพิมพ์ในไทยในฉบับนี้เป็นครั้งแรก เมื่อได้อ่านเรื่องสั้นนี้แล้วก็ยากจะเชื่อว่านิตยสารไทยหลายฉบับจะเพิกเฉยต่อต้นฉบับเรื่องนี้ นับเป็นเรื่องดีใจและน่าเศร้าพร้อมกันไป น่าดีใจที่มาแซล บารังส์อ่านภาษาไทยออกและได้อ่านอสรพิษ แต่น่าเศร้าที่ผู้มองเห็นคุณค่าเรื่องสั้นชั้นเอกเรื่องนี้กลับเป็นชาวต่างประเทศ ที่ภาษาไทยไม่ใช่ภาษาแม่ แต่เขากลับรู้สึกได้ว่างานเขียนเรื่องนี้เป็นดังเพชรน้ำหนึ่ง และกระตือรือร้นจะนำเสนอต่อชาวโลกในภาษาสากล 

อสรพิษ เป็นเรื่องสั้นที่ดีอย่างเพชรน้ำเอก เนื้อเรื่องนั้นเกี่ยวข้องกับงู ฉากของเรื่องนี้อยู่ที่แพรกหนามแดง เช่นเดียวกับเรื่อง เจ้าการะเกด แต่การจะบอกเล่าเรื่องใดๆ มากไปกว่านี้ จะเป็นการทำลายความสนุกที่ผู้อ่านจะไปค้นพบเองได้ (ซึ่งผู้เล่าเรื่องที่ดีที่สุดคือ แดนอรัญ แสงทอง) แต่สิ่งที่คนอ่านบอกได้ก็คืออยากให้คุณได้ลองอ่านเรื่องนี้ดู เรื่องสั้นๆ เรื่องนี้มีพลังและจับจิตจับใจได้มากนัก เป็นเรื่องสั้นที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของไทย ที่ภาษาการเขียนงดงาม และมีมนต์ขลังด้วยการเล่าเรื่องตรึงอารมณ์ เมื่อเรื่องได้ดำเนินไปแล้ว แดนอรัญก็ทำให้เรื่องนั้นมีชีวิตชีวา ให้ผู้อ่านได้หัวเราะ ร้องไห้ ตื่นเต้น ระทึกใจ ไปตามแต่ที่เขาจะบันดาลให้เป็นไป แดนอรัญตรึงคนอ่านด้วยอำนาจการเขียนได้อย่างที่เราต้องยอมจำนน 

เรื่องสั้นๆ เรื่องนี้ยังสะท้อนเรื่องราวของมนุษย์ได้อย่างน่าทึ่ง มนุษย์เราจะเป็นเช่นไรหากศิโรราบต่อชะตากรรมด้วยหมดสิ้นความหวัง หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์โดยมีทั้งอสรพิษภาคภาษาไทยและภาษาอังกฤษในเล่มเดียวกัน 

ภาษาของแดนอรัญสวยนักจนการอ่านนี้เป็นประสบการณ์แรกที่ทำให้คนอ่านได้นึกชื่นใจอีกครั้งว่า ภาษาของเรานั้น สวยจนแปลเป็นภาษาไหนๆ ก็จะไม่ได้รสไม่ได้ความรุ่มรวยอย่างภาษาไทยเลย ดูอย่างประโยคแรกในหนังสือที่ว่า "จวนจะเย็นย่ำแล้ว แดดอ่อนรอนแสงลงแล้ว ดวงตะวันเป็นสีแดงแก่ก่ำนุ่มนวลอ่อนโยนลง" ที่แปลได้ว่า "The afternoon was coming to an end. The light was softening, and the dark-red sheen of the sun was fading." แม้ว่าราคาหนังสือ 100 บาทอาจจะแพงสำหรับการอ่านเรื่องสั้นเพียง 47 หน้า แต่ประสบการณ์บางอย่างนั้นประมาณค่าไม่ได้ การอ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ก็เป็นประสบการณ์เช่นนั้นที่ตีราคาค่างวดให้สมคุณค่าไม่ได้เลย 

อสรพิษเป็นเรื่องสั้นที่ดีทั้งภาษาและเนื้อเรื่อง และผู้ที่ได้อ่านอสรพิษ ก็น่าจะพบว่าเรื่องสั้นเรื่องนี้สิงสู่พำนักในตัวเราแล้วอย่างถาวร 

Copyright © 2003 faylicity.com 

ขอขอบคุณ คุณเฟย์ Faylicty สำหรับบทความวิจารณ์แนะนำหนังสือเล่มนี้

เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง (ฉบับภาษาไทย VS ฉบับภาษาฝรั่งเศส)

ผลงานเขียนโดย  แดนอรัญ แสงทอง (หรือ เสน่ห์ สังข์สุข)
ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2557 เดียวดายใต้ฟ้าคลั่งฉบับภาษาฝรั่งเศสก็ได้รับการตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ Editions du Seuil สำนักพิมพ์ค่ายใหญ่หนึ่งในห้าของประเทศฝรั่งเศสเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำนวนแปลโดย คุณ Marcel Barang  ส่วนใครที่ยังไม่ได้อ่านฉบับภาษาไทย จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สามัญชน สามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป หรือติดต่อสอบถามที่เบอร์โทรศัพท์ 02-5305198

อ่านบทความวิจารณ์ “เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง”  โดย Filmsick

 
นี้ข้าพเจ้าก็หาใช่ชาวพุทธแท้ หรือพอจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นพุทธศาสนิกชน หรือแม้แต่จะอวดอ้างว่าได้นับถือพุทธอย่างที่พอจะเทศนาในสิ่งตัวไม่เชื่อได้หรือก็เปล่า เพียงพอก็แต่จะกล้อมแกล้มบอกใครเขาว่าในบัตรประชาชนของข้าพเจ้าระบุศาสนาพุทธ ก็เท่านั้น

และต่อให้แม้ข้าพเจ้าอาจจะไม่นับถือศาสนาใดๆ พอที่จะบอกว่าเป็นศาสนิกได้เลยสักศาสนาอย่างเต็มภาคภูมิอยู่นั่นแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังค้นพบว่า นี้คือวรรณกรรมเชิงศาสนา (โลกุตตระตามคำเขาว่า) ที่น่าทึ่งตื่นตาตื่นใจ ใจหายใจคว่ำ ดำมืดและเรื่องเรืองอยู่ในที่จนเจียนบ้าคลั่งยามได้ดำดิ่งลงไปในป่ารกชัฏแห่งแถวทิวตัวอักษรที่หลั่งไหลราวกับมาจากโลกดึกดำบรรพ์นี้

อันเรื่องราวนั้นข้าพเจ้าก็พอจะจับความแต่เพียงเลาๆ ได้ว่าหยิบยกมาจากพุทธประวัติชั้นหนึ่ง เรื่องของนางภิกษุณีท่านหนึ่งในบรราดภิกษุณีจำนวนมากซึ่งพอจะมีระบุอยู่ในบางฉบับประวัติศาสตร์ของบางนิกายสายเก่าแห่งพุทธศาสนา เรื่องราวของพระแม่กีสาโคตมี และความบ้าคลั่งของเธอในการต้องสูญเสียลูกชายให้กับอสรพิษ ก่อนจะได้พบกับพระสมณโคดม

การณ์ก็เป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่านี้คือเรื่องซึ่งขยายมาจากเรื่องเล่าบุร่ำบุราณ ด้วยท่าทีแลท่วงทำนองการเล่าแบบบุร่ำบุราณ ประหนึ่งดั่งผู้เขียนค่อยคลี่คลายจำแลงตนเข้าไปยังสวนอักษรแห่งสมัยพุทธกาลแลมองเห็นเรื่องทั้งหมดผ่านดวงตาอันช่ำชองเยี่ยงการบันทึกภาพด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่เล็งลึกลงไปในรายละเอียดประดามี ซึ่งถาโถมกันมา ทยอยกันมา พรูพรั่งกันมา รายล้อมรอบเหตุการณ์ชวนสะพรึงขวัญของนางกีสา และเวฬุบุตรชายของนาง นางผู้ซึ่งชื่อเสียงเรียงนามได้ถูกลบเลือนไปเสียแล้วเหลือก็เพียงแต่ชื่อซึ่งเป็นเพียงฉายาเรียกมากกว่าจะเป็นชื่อจริง นางทาสผู้ซึ่งขยับฐานะในบ้านขึ้นเพราะมีลูกชายสุดรักสุดดวงใจ นางผู้ซึ่งต้องสูญเสียลูกชายไปอย่างน่าสยดแสยะและกลับสยดสยองยิ่งกว่าในท่ามกลางความเพ้อคลั่งของมารดา

อาจจะกล่าวได้ว่านี่คือภาคโลกุตตระของมาตานุสติ หนังสือโลกียะ ที่บรรจุอาการวิปลาสแค้นคลั่งของแม่ลูกคู่หนึ่งต่อพาลชนริมน้ำเพชร หนังสือมืดดำคลั่งบ้าที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยได้ประสบพบมาในชีวิตนี้

อันที่แท้ท่านคงคาดเดาได้ไม่ยากว่าแม้ข้าพเจ้าจะเทิดทูนในสำนวนอันดำดิ่งของแดนอรัญ ข้าพเจ้าก็อยู่ในเกณฑ์ของบุคคลซึ่งจำต้องต่อต้านเรื่องนี้อยู่แต่แรก ในฐานะคนนอกศาสนาที่ไม่อาจจะยอมรับการสั่งสอนเทศนาใดๆ ได้อีกต่อไป เมื่อคำถามแลความสงสัยได้เพาะอสรพิษร้ายขึ้นในใจของข้าพเจ้าเสียแล้วเช่นนั้น

หากมันช่างน่าทึ่ง ที่หนังสือเล่มนี้ หนังสือซึ่งในที่สุดข้าพเจ้าได้ถอยออกจากมันมามองมันในฐานะของเรื่องอ่านเล่นจำพวกหนึ่ง ไม่ได้พยายามกระทำในสิ่งซึ่งหนังสือศาสนาพยายามกระทำต่อข้าพเจ้า แรงกระทำซึ่งนำมายังการต่อต้านของข้าพเจ้า นั่นคือการทำตนเป็นสาธกยกนิทานมากล่าวอ้างพุทธวัจนะ ซึ่งบ่อยครั้งก็เป็นการกล่าวพล่อยๆ บ้าง กล่าวอย่างงูๆ ปลาๆ บ้าง กล่าวเกินเลยบ้าง หนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่ในฐานะเรื่องเล่าฉายภาพอันเข้มข้นของเหตุการณ์ที่เกือบจะเป็นความวิปลาส เกือบจะเป็นหายนะ เกือบจะเป็นที่สุดแห่งความทุกข์ระทม (สำหรับข้าพเจ้าแล้วสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจที่สุดคือฉากการพบกับชายผู้ละทิ้งทรัพย์ศฤงคารไปอยู่อาศัยกับสุนัข กินอยู่เยี่ยงสุนัข และเห่าหอนอย่างสุนัข ชายผู้เป็นเอตะทัคคะในการครองจีวรเศร้าหมองนั้น และการตอบโต้ของนางกีสาผู้ซึ่งในฉับพลันทันใดได้กลายเป็นหมาแม่ลูกอ่อนที่พร้อมจะกระโจนเข้าต่อสู้ เห่าหอน เยี่ยงแม่สุนัขตัวหนึ่ง) การกล่าวบรรยายอันเข้มข้นของการต่อสู้กับโคลนลึกอย่างหนึ่ง เสือดาวอย่างหนึ่ง แมงมุมตัวเท่าปนาอย่างหนึ่ง และพาลชนอย่างหนึ่ง ได้พาข้าพเจ้าดิ่งลึกไปยังใจกลางแห่งความมืดมนอนธกาลโดยมีการพบกับพระสมณโคดมเป็นแสงหรุบหรู่รำไรอยู่ที่ปลายอุโมงค์

แลการณ์กลับตรงกันข้าม การพบพระสมณโคดมในช่วงท้ายของเรื่องราวกลับถูกนำเสนออย่างสามัญที่สุด บทสนทนาของพระสมณโคดมก็เป็นไปอย่างสามัญที่สุด ราวกับเพียงนางกีสาได้พบกับนักบวชอีกรูปหนึ่งเท่านั้น การตระหนักรู้ของนางกีสาก็เป็นไปอย่างสามัญที่สุด ราวกับในที่สุดข้าพเจ้าไปได้พบว่าการผเชิญหน้ากับพระสมณโคดมด้วยตนเองนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่สามัญดาษดื่นที่สุด ความหรูหราใดๆ ความวิเศษอลังการอวดอ้าง อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ใดๆ ประดามี ล้วนแต่จะทำให้การพบกับพระสมณโคดมมีแต่หมองมัวไปเท่านั้น กล่าวถึงที่สุด หนังสือเล่มนี้ไม่ได้สอนให้ข้าพเจ้ากลับตัวเป็นพุทธศาสนิกชนในชั่วข้ามคืน ไม่แม้กระทั่งจะให้มรณานุสติแบบแดกด่วน หากกลับเพาะเมล็ดพันธุ์บางอย่างที่สำคัญ ที่ทำให้ข้าพเจ้าคิดว่า แม้ข้าพเจ้าจะเป็นอลัชชีนอกศาสนา ข้าพเจ้าก็ยังมองเห็นแสงเรืองในพุทธธรรมอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

เลยพ้นไปจากโลกุตตระศิลป์อันมิต้องอวดอ้างนั้นแล้ว สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าตื่นตะลึงพรึงเพริดถึงที่สุดกลับคือคำตามข้างท้ายของหนังสือที่คลี่เผยวิธีการอันแยบยลในการดัดแปลง ขยายความ สร้างเรื่องเล่าจากพุทธประวัติเก่าแก่ ให้โลดแล่นมีชีวิตชีวา คำกล่าวตามในช่วงท้ายได้ทำให้ข้าพเจ้ามองเห็นสมรภูมิของนักเขียนที่เขามีต่อประวัติศาสตร์ ภาษา ศาสนา โลก อันยืดยาว การสู้รบปรบมือที่ไร้จุดสิ้นสุด การล่อหลอก การรีดเค้น การแทรกซ่อน นัยยะความหมายต่างๆ ลงในเรื่องเล่าชนิดใหม่ซึ่งทำเลียนแบบของเก่าด้วยวิธีการอย่างใหม่ มันแนบสนิทเข้ากับสิ่งเดิมได้อย่างไร อวดตัวมันได้อย่างไร และกลมกลืนไปอย่างไร

ถึงที่สุดต่อให้ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นคนมีศาสนา หนังสือเล่มนี้ก็ยังเป็นความที่ชวนพรึงเพริดที่ข้าพเจ้าได้พบ ในรอบปีที่ผ่านมาโดยไม่ต้องสงสัยอยู่ดี และแม้มันจะจบไปแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังวาดภาพเขา แดนอรัญ แสงทอง ชายผู้ยังคงตวัดปากกาของเขาสู้รบกับเรื่องเล่าเพื่อที่จะต่อสู้กับการสร้างเรื่องเล่าของพระแม่ปฏจรา เรื่องที่เขาทดลองแนบมาแต่ยังไม่ได้เขียนขึ้นนั้น มันช่างเป็นสมรภูมิที่เต็มไปด้วยการทุ่มตัวลงไปอย่างน่าตื่นตาเสียกระไร