บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2554

"มาตานุสติ - คุยกับ แดนอรัญ แสงทอง"

ข่าวดีสำหรับแฟนคลับของ แดนอรัญ แสงทอง
รายการสัมภาษณ์นักเขียนไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับเหรียญอิสริยาภรณ์ของฝรั่งเศส


ชมได้ที่
รายการ "โลกนักอ่าน บ้านนักเขียน" โดย สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
วันเสาร์ที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๑๑.๓๐ น. ทางไทยพีบีเอส (Thai PBS)


และออกอากาศครั้งที่ ๒ ในวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๐๘.๐๐ น.

ติ ชม เสนอแนะ ได้ที่ thaiwriter@thaipbs.or.th
ขอบคุณ Nolyho H. Wanderer ที่โพสต์ข้อมูลบน Facebook ครับ

วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

วิมุตติคีตา : อานุภาพแห่งอนุสาสนีปาฏิหาริย์

นวนิยาย (ขนาดสั้น) เรื่องใหม่ล่าสุดของ แดนอรัญ แสงทอง ฉบับ Limited Edition ได้จัดพิมพ์และส่งให้ผู้สนับสนุน สนง.ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนฉบับปรับปรุงเพิ่มเติมและพิมพ์เผยแพร่ในวงกว้างต่อสาธารณะ ใช้ชื่อว่า “วิมุตติคีตาหมายเลขสอง : เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง” นั้น โปรดติดตามได้จาก สำนักพิมพ์สามัญชน เร็วๆ นี้ครับ .... (ปล. ขอบคุณ The Seeker ณ ที่นี่ที่บรรจงวาดจุดที่ละจุดจนกลายเป็นดอกบัวสวยงามบนปกหนังสือ)




บางส่วนจาก “วิมุตติคีตาหมายเลขสอง : เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง”


ดิฉันมิได้กรีดร้องเมื่อเขาเหล่านั้นง้างแงะนิ้วมือของดิฉันออกจากด้ามดาบ แต่ดิฉันกรีดร้องสุดเสียงเต็มกำลังยิ่งกว่าครั้งใดในชีวิตเมื่อเขาง้างแงะเอาเวฬุออกไปจากอ้อมอกของดิฉัน เสียงกรีดร้องของดิฉันถูกกลบลบเลือนหายไปในเสียงคลั่งของลมและฝนและความกึกก้องกัมปนาทของสายฟ้าซึ่งกำลังแล่นแลบเรืองประกายอยู่ในหมู่เมฆ เขาเหล่านั้นเหวี่ยงดาบทิ้งไม่แยแส เขาเหล่านั้นเหวี่ยงเวฬุทิ้งไม่แยแส ยิ่งเนิ่นนานไปเขาเหล่านั้นยิ่งเมามายหนัก เขาพูดแก่ดิฉันและแก่กันและกันว่า เมื่อเป็นนางเทราปตี ก็จะต้องถูกจับเปลื้องผ้าต่อหน้าธารกำนัลเป็นธรรมดา เขาช่วยกันจับดิฉันกดนอนลงกับพื้น เขาช่วยกันกดแขนกดขาของดิฉันไว้…..

วันอาทิตย์ที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2554

วิมุตติคีตาหมายเลขสอง : อนุสาสนีปาฏิหาริย์


เตรียมพบกับนวนิยายเรื่องใหม่ล่าสุด “ วิมุตติคีตาหมายเลขสอง : อนุสาสนีปาฏิหาริย์ ”
ของแดนอรัญ แสงทอง ซึ่งได้รับการส่งเสริมสนับสนุนโดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ณ ตอนนี้ต้นฉบับได้เขียนเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว กำลังอยู่ในขั้นตอนจัดทำอาร์ตเวิร์ค
พิมพ์จำนวนจำกัด

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

Writer Magazine Come Back

การกลับมาอีกครั้งของไรเตอร์โฉมใหม่ภายใต้สโลแกน "โลกนักอ่าน บ้านนักเขียน ห้องนักฝัน" ที่กลับมามีชีวิตมีสีสันอีกครั้ง


แฟนคลับสามารถติดตามอ่านบทสัมภาษณ์คุณแดนอรัญได้ในเล่มนี้ นอกจากนี้ยังมีนักเขียนอื่นๆ ให้ติดตามอีกหลายท่าน หาซื้อได้แล้วตามร้านหนังสือทั่วไป

วันพฤหัสบดีที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2554

“ความเศร้าของภูติผี” Teaser ชุด 1

หนังตัวอย่างแนะนำผลงานเรื่องแรกของ “โครงการหนังโดมิโน่ 4 สหาย”

“ความเศร้าของภูติผี” บทหนังของ แดนอรัญ แสงทอง กำลังเป็นแรงบันดาลใจให้ 4 คนทำหนังพัฒนาบทหนังยาวอยู่ในขณะนี้

นี่คือตัวอย่างฉบับย่อแนะนำเมืองหิมะ ส่วนหนังตัวอย่างฉบับยาวจะตามมาในเร็ววัน

อ่านรายละเอียดโครงการที่ http://dominofilm.blogspot.com/

วันอังคารที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2554

วีดีโอแนะนำโครงการหนังโดมิโน่

วีดีโอแนะนำโครงการหนังโดมิโน่ ซึ่งรวมผลงานของ แดนอรัญ แสงทอง 

อ่านรายละเอียดโครงการที่ http://dominofilm.blogspot.com/

วันเสาร์ที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2554

ปฏิบัติการหนังโดมิโน 4 สหาย : Domino Film Experiment

วิ่งผลัดวรรณกรรมสู่แผ่นฟิล์ม
ปฏิบัติการหนังโดมิโน 4 สหาย : Domino Film Experiment

เชิญร่วมงานเปิดตัวแถลงข่าว จันทร์ ที่ 25 เม.ย. 54 บ่าย 3 โมงตรง
ที่ห้องสมุดวิลเลี่ยม วอร์เรน (หอศิลป์บ้าน จิม ทอมป์สัน
(* ชั้น 4 ตึก Henry B. Thompson,ซ. เกษมสันต์ 2 รถไฟฟ้าป้ายสนามกีฬาแห่งชาติ)

แค่คิดก็สนุกแล้วกับโครงการหนังโดมิโน่ คนทำหนัง 4 คนจะวิ่งผลัดกันแต่งเรื่องต่อๆ กันเป็นทอดๆ จากโจทย์ต้นเรื่องของนักเขียนที่เปิดนำร่อง โดยส่งไม้ต่อให้คนทำหนังเอาไปเติมแต่งตามจินตนาการให้อักษรโลดแล่นบนพื้นผ้าใบโตจุใจ
2 ชั่วโมง ด้วยทุนสร้าง 500,000 บาท หนังที่ทุกคนมีส่วนร่วมสนับสนุนได้  
เท่านั้นยังไม่พอ ทางโครงการยังมีโดมิโน่วรรณกรรมอีกต่างหาก สตาร์ทเริ่มต้นด้วยโจทย์
ของนักเขียนคนเดียวกัน แต่ทีมแต่งเรื่องต่ออีกคณะจากหนอนหนังสือขั้นเทพจากร้านหนัง (สือ) 2521 

และนี่คือประชากรหนังโดมิโน่ทั้งหมด

โปรดิวเซอร์ : ภาณุ อารี (The Convert และ Baby Arabia)
เจ้าของโครงการ : สนธยา ทรัพย์เย็น (Filmvirus)
ที่ปรึกษา: อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล, ก้อง ฤทธิ์ดี, สมเกียรติ์ วิทุรานิช (October Sonata)
คณะนักเขียนโดมิโน่: สุชาติ สวัสดิ์ศรี, แดนอรัญ แสงทอง, อุทิศ เหมะมูล, ปราบดา หยุ่น, อนุสรณ์ ติปยานนท์
นักแสดงรับเชิญ : ทราย - อินทิรา เจริญปุระ และ เจนจิรา พงพัศ (ลุงบุญมีระลึกชาติ) 
คณะนักทำหนังโดมิโน่ : จุฬญาณนนท์ ศิริผล, วชร กัณหา, รัชฏ์ภูมิ บุญบัญชาโชค และเฉลิมเกียรติ แซ่หย่อง
คณะโดมิโน่วรรณกรรม : นก ปักษนาวิน, อุเทน มหามิตร และ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา (Filmsick)
……………………………………………………………………….
ข้อมูลเพิ่มเติมโดยละเอียดที่เว็บไซต์ http://dominofilm.blogspot.com/
หรือ ดวงกมลฟิล์มเฮ้าส์ (ฟิล์มไวรัส) : ติดต่อ โมรีมาตย์ ระเด่นอาหมัด โทร.02-925-0141, 086-490-6295
Email: morimartr@gmail.com, filmvirus@gmail.com
……………………………………………………………………….

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

เชิญชวนทุกท่านชมผลงานศิลปะ วิรุณ ตั้งเจริญ

ณ ศูนย์ศิลปกรรมแห่งประเทศไทย “สวูนนิเพล็กซ์” มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ 
งานมีแสดงตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ. - 22 พ.ค. 54 เปิดให้เข้าชม
ตั้งแต่เวลา 11.00 น. – 19.00 น. (อังคาร - อาทิตย์) 

วิรุณ ตั้งเจริญ เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในบทบาทของครู นักวิชาการศิลปะ นักการศึกษา นักบริหาร นักเขียน และผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ

ซึ่งบทบาทหน้าที่ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งในชีวิตการทำงานเท่านั้น ประโยคที่มักได้ยินอยู่เสมอ คือ “ผมไม่ได้เป็นศิลปิน แต่ผมเป็นครูสอนศิลปะ” คำว่า “ครู” เป็นคำสั้นๆ หากแต่มีความหมายที่ลึกซึ้งยากที่จะหาคำพูดใดมาอรรถาธิบาย หรือกล่าวสรุปความหมายของคำนี้ให้สมบูรณ์ได้ในประโยคเดียว ครั้งนี้ครูสอนศิลปะอย่างวิรุณจะปฏิบัติหน้าที่ของครู ไม่เพียงเพื่อศิษย์ของเขาเท่านั้น หากแต่ยังเผื่อแผ่ประสบการณ์ของตนออกไปสู่สังคม เพื่อให้ผู้สนใจได้ร่วมเรียนรู้ และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ไปพร้อมกัน

ในโลกที่เต็มไปด้วยมายาภาพ เราสามารถจะเรียนรู้ถึงคุณค่าของบุคคลหนึ่งได้จากสิ่งใด ฐานะ ตำแหน่ง บทบาทหน้า พฤติกรรมการแสดงออก หรือผลงาน มีคำกล่าวที่ว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” อาจเป็นคำตอบได้ในเบื้องต้น แล้วงานประเภทใดเล่าที่เป็นเครื่องชี้วัดคุณค่าความเป็นตัวตนของวิรุณ เมื่อพิจารณาไปที่บทบาทของความเป็นครู เขากล่าวว่า “เราต้องสร้างคน ศิลปะเก่งไม่ยาก เก่งวิทยาศาสตร์ไม่ยาก แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ เราจะสร้างคนให้มีคุณภาพ มีศักยภาพได้อย่างไร” เจตจำนงในการผลิตคนคุณภาพสามารถสะท้อนให้เห็นถึงสำนึกรับผิดชอบในหน้าที่ครู รวมทั้งรับผิดชอบต่อบุคคลทั่วไปในสังคม และประเทศชาติ หากวงปีของต้นไม้สามารถบ่งชี้ถึงการเจริญเติบโตของเนื้อไม่ได้ ผลงานที่ปรากฎเป็นจำนวนมากของวิรุณในบทบาทครูที่สร้างศิษย์ ผลิตตำรา ค้นคว้างานวิจัย ตลอดจนผลงานอื่นๆ ย่อมแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการ ศักยภาพ ความมุ่งมั่น และประสบการณ์ผ่านร้อนหนาว

เปรียบเสมือนต้นไม้ที่ยืนลำต้นแข็งแกร่งเจริญเติบโตเพื่อให้ร่มเงา ให้ความชุ่มชื้น แตกหน่อออกผล และสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ดีต่อไปในอนาคต เมื่อพิจารณาไปที่ผลงานศิลปะ ซึ่งถือเป็นอีกแง่มุนการทำงานหนึ่งที่ยังคงกระทำอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ด้วยเจตคติที่เชื่อมั่นในเสรีภาพทั้งในทางความคิดและในทางปฏิบัติส่งผลทำให้ผลงานมีความหลากหลาย ไม่จำกัดอยู่เพียงกรรมวิธีใดกรรมวิธีหนึ่ง หรือรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่าเป็นผู้พร้อมที่จะรับและถ่ายทอดความคิดเหล่านั้นตามวิถีของเสรีชน


หมายเหตุ : คัดลอก (บางส่วน) จากคำนิยมโดย คุณปวีณา เอื้อน้อมจิตต์กุล  ในหนังสือ ABSTRACT APPLIED ATTITUDE  
ทางผู้จัดทำบล็อกขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง มา ณ โอกาสนี้




อสรพิษ เดอะมูวี่


ใกล้ความจริงทุกขณะ อีกไม่นานเกินรอ อสรพิษ ฉบับภาพยนตร์ก็จะออกสู่สายตาผู้ชม
อ่านบทสัมภาษณ์โดยทินพัฒน์ บัญญัติปิยพจน์ ที่ตามสัมภาษณ์ผู้กำกับ ทีมงาน 
รวมทั้งแดนอรัญ แสงทอง ได้ที่เว็บกรุงเทพธุรกิจนี้ครับ
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/read-write/20110117/372019/อสรพิษ-พลังที่รุนแรง-ทิ่มแทงหัวใจ.html

วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

True Grit พลิกโผเป็นทั้งหนังตัวเต็งรางวัลออสการ์และขึ้นอันดับ 1 หนังทำเงินฮอลลีวู้ด


พี่น้อง Coen นำหนังคาวบอยกลับมาสู่ความยิ่งใหญ่ด้วย True Grit งานประพันธ์ของ Charles Portiss (สำนวนแปลโดย แดนอรัญ แสงทอง ในนาม “อารยชนคนเถื่อน”, สนพ. สามัญชน)

True Grit หนังนำแสดงโดยดาราออสการ์ เจมส์ บริดเจส (ผลงานล่าสุดคือ Crazy Heart, Iron Man และ Tron Legacy) ทำเซอร์ไพรส์รับ 15 ล้านเหรียญจากจำนวน 3, 124 โรง แซงโค้งหนังบล็อกบัสเตอร์หลายเรื่องอย่างหนัง นิโคลาส เคจ - Season of the Witch รวมทั้งหนังตัวเต็งของ โรเบิร์ต เดอ นีโร / เบน สติลเลอร์ / โอเว่น วิลสัน เรื่อง Little Fockers และหนังภาคต่อ Tron Legacy 

ความสำเร็จของ True Grit เป็นการพิสูจน์ว่าวงการหนังยังสามารถดึงผู้ชมรุ่นใหญ่ได้และไม่จำเป็นต้องตกอยู่ใต้อำนาจกลุ่มคนดูหนังวัยรุ่นแต่เพียงเท่านั้น 

True Grit เคยสร้างเป็นหนังมาแล้ว นำแสดงโดย จอห์น เวย์น แต่หนังฉบับนั้นเล่าเรื่องโดยผ่านตัวละครของไอ้ตาเดียว ค็อคเบิร์น (จอห์น เวย์น) เป็นหลัก ซึ่งต่างจากหนังในฉบับของพี่น้องตระกูลโคเอน ที่ยึดถือการเล่าเรื่องเดิมจากตัวละครเด็กผู้หญิงของนิยายต้นฉบับ ผนวกกับอารมณ์ขันร้าย ๆ ตามสไตล์พี่น้องโคเอน

โจเอล และ อีแธน 2 พี่น้องตระกูลโคเอน (Coen Brothers) เคยสร้างผลงานลือลั่นทั้งบนเวทีออสการ์และรางวัลเมืองคานส์มาแล้วหลายครั้ง ด้วยผลงานอย่าง Fargo, No Country for Old Men, Barton Fink, The Man Who Wasn’t There, A Serious Man, Burn After Reading, The Ladykillers และ Blood Simple (เรื่องนี้ จางอี้โหมว นำมาสร้างใหม่เป็น A Woman, a Gun and a Noodle Shop)