บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2555

"เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง" VS "Under a Demented Sky"

แฟนคลับแดนอรัญ แสงทอง สามารถหาอ่านหนังสือ “เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง ”
ฉบับแปลเป็นภาษาอังกฤษภายใต้ชื่อ  Under a Demented Sky ได้แล้วในรูป ebook
ที่ online at  thaifiction.com แปลโดย  Marcel Barang

นอกจากฉบับแปลภาษาอังกฤษแล้ว ขณะนี้ต้นฉบับ “เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง” กำลังอยู่ในช่วงการพิจารณาจากสำนักพิมพ์ในฝรั่งเศสที่รับตีพิมพ์วรรณกรรมของเอเซีย  และระหว่างที่รอฝรั่งเศสพิจารณาอยู่นี้  ได้มีนักแปลจากอิตาลีท่านหนึ่งติดต่อขอต้นฉบับ  Under a Demented Sky” จากคุณ Marcel Barang ไปอ่านด้วย....

มาช่วยกันเชียร์ช่วยกันลุ้นขอให้ “เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง”  ได้แปลเป็นภาษาฝรั่งเศสกับอิตาลีด้วยเถอะ...

วันอังคารที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เสวนาวิชาการระดับชาติ





ในวันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม 2555 อาจารย์ชนิดา ชิตบัณฑิตย์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จะร่วมเป็นวิทยากรในงานเสวนาวิชาการระดับชาติหัวข้อ

"เขียนอ่านหญิง หญิงอ่านเขียน"

เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี คณะศิลปศาสตร์ และเพื่อรำลึกถึงอาจารย์นพพร ประชากุล
จัดโดย ภาควิชาภาษาฝรั่งเศส และโครงการปริญญาโท สาขาวิชาฝรั่งเศสศึกษา ร่วมกับ
โครงการปริญญาโท สาขาสตรีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ

วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม 2555 เวลา 9.30-16.30 น.
ห้อง ศศ. 301 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

กำหนดการ

9.30-12.30
การนำเสนอผลงานวิชาการในหัวข้อ “เขียนอ่านหญิง หญิงอ่านเขียน”
แรกรักร้าง…L’amant ของ มาร์เกอริต ดูราส
อาจารย์ ดร.วรุณี อุดมศิลป
อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“อันลมปี่ดีแต่เพราะเสนาะหู ที่จะสู้ลมปากยากนักหนา″
ภาษากับการเมืองเรื่องเพศสถานะในพระอภัยมณี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นัทธนัย ประสานงาม
อาจารย์ประจำภาควิชาวรรณคดี คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

อ่านเทพนิยายร่วมสมัย เขียนใหม่ หรือ ผลิตซ้ำ?
กรณีศึกษา The Bloody Chamber ของ Angela Carter
อาจารย์ สุธิดา วิมุตติโกศล
อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาและวรรณคดีอังกฤษ
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

13.30-14.30
การนำเสนอผลงานวิชาการในหัวข้อ “เขียนอ่านหญิง หญิงอ่านเขียน”(ต่อ)
(ส)ดับเสียงโหยหวนรำพันพิลาปของนางตะเคียน ใน “ตำนานเสาไห้” ของ แดนอรัญ แสงทอง
อาจารย์ วันรัก สุวรรณวัฒนา
อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาฝรั่งเศส คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

14.30-16.30
เสวนาโต๊ะกลมในหัวข้อ “เหลียวหลังแลหน้า: แนวคิดสกุลหลังอาณานิคม สตรีศึกษา และนพพร ประชากุล”
อาจารย์ ดร.สุกฤตยา จักรปิง
อาจารย์ประจำโครงการปริญญาโท สาขาสตรีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อาจารย์ ชนิดา ชิตบัณฑิตย์
อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดารณี ศรีหทัย
(อดีต) นักวิเทศสัมพันธ์ ชำนาญการ ส่วนยุทธศาสตร์ สำนักการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

นักศึกษาสตรีศึกษา รุ่นที่ 1
วิทยานิพนธ์เรื่อง “สมเด็จรีเยนต์” พระองค์แรกในสยาม (2551) ได้รับการตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ศิลปวัฒนธรรม

ชาตรี ลีศิริวิทย์
บรรณาธิการสำนักพิมพ์ เอ-พลัส

นักศึกษาสตรีศึกษา รุ่นที่ 1
วิทยานิพนธ์เรื่อง “ภาพเสนอของผู้ชายในนิตยสารปลุกใจเสือป่าช่วงปี พ.ศ. 2517-พ.ศ. 2527: กรณีศึกษา นิตยสารแมนและนิตยสารหนุ่มสาว ” (2551)

ธนัย เจริญกุล
พนักงานบริษัทจีเอ็มเอ็ม แซท

นักศึกษาสตรีศึกษา รุ่นที่ 1
วิทยานิพนธ์เรื่อง “การขนานนามสกุล: กลไกของรัฐในการสร้างสำนึกชาตินิยมและอัตลักษณ์ความเป็นชาย” (2551)

ดำเนินรายการโดย อาจารย์ วันรัก สุวรรณวัฒนา
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ริมรั้วหัวใจ จากโดม วุฒิชัย ถึง แดนอรัญ แสงทอง

บางส่วน จาก นิตยสารขวัญเรือน ปักษ์แรก มิ.ย.55

แดนอรัญ เพื่อนรัก --- เช้าตรู่วันนี้นกดุเหว่าส่งเสียงปลุกตั้งแต่ฟ้ายังไม่ทันสาง ขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกถูกระบายด้วยแสงสีทองของยามอรุณรุ่งเป็นภาพงดงาม ผมรู้สึกว่ายามเช้าเหมือนของขวัญชิ้นเล็กๆ ที่โลกหยิบยื่นให้กับมวลมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่ว่าใครจะเห็นค่าของขวัญชิ้นนี้หรือไม่ ทุกคนมีสิทธิ์รับและปฏิเสธได้ตามความพอใจ ผมชอบยามเช้าจึงตื่นแต่เช้าเสมอ, เมื่อคืนนี้ผมอ่าน “เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง” นิยายเรื่องล่าสุดของคุณจบลงด้วยหัวใจเต้นระรัว อันที่จริงผมควรจะอ่านตั้งแต่วันแรกที่ได้มาแล้ว เพียงแต่ผมรอเวลากลับมา “บ้านสวนขวัญ” ที่ปากช่องซึ่งเป็นที่พำนักของผมยามนี้ บอกกับตัวเองว่าการอ่านหนังสือเล่มนี้ควรจะหาที่เงียบๆ อยู่กับความสงัดเพื่อดื่มด่ำกับสุคนธรสจากดอกไม้งามอย่างเต็มที่, เพียงเปิดฉากแรกผมก็รู้สึกเร้าใจเพราะคาดไม่ถึงว่าคุณจะพาย้อนเวลากลับไปในสมัยพุทธกาลเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน คุณหยิบเรื่องราวของนางกีสาโคตมีขึ้นมาเล่าใหม่ด้วยวิธีของคุณ ด้วยน้ำเสียงของคุณ ด้วยสไตล์ของคุณ เรื่องราวของนางกีสาโคตมีที่คุณสร้างขึ้นมาใหม่ทำให้ผมติดตามทุกตัวอักษรไปด้วยใจจดจ่อ ถ้อยคำและศัพท์แสงแปลกเสียงแปลกตา กลิ่นอายชวนค้นหา แต่โชคดีที่ผมรู้จักท่วงทำนองของคุณจากหนังสือเล่มก่อนๆ มาบ้าง อ่านไปผมก็อุทานในใจไป โอ...ช่างวิเศษนัก.....เราไม่ได้พบกันมานานถึงเกือบ 20 ปี ผมนึกถึงเมื่อเราพบกันครั้งแรกในวัยหนุ่มที่ยังไม่ประสีประสาชีวิต ตั้งแต่ยังเป็นนักเขียนอ่อนหัด ใช่-อ่อนหัดของผมหมายความตามนั้นจริงๆ ตอนนั้นผมเพิ่งเริ่มต้นทำงานพิสูจน์อักษรและริเป็นนักเขียนไปด้วย คุณเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วแต่ไม่ยอมกลับบ้าน คุณเขียนหนังสือและแปลหนังสือไปด้วย ในขณะที่เพื่อนบางคนยังต้องขอเงินจากพ่อแม่เรียนหนังสืออยู่ เนื่องด้วยความรักในงานเขียนและการอ่านจึงชักนำให้เราได้มาเป็นเพื่อนกัน ผมไม่รู้ว่าห้องเช่าซอมซ่อริคลองแสนแสบซึ่งอยู่ข้างรั้วมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒที่คุณเรียนจบมานั้นมีอะไรดีจึงดึงดูดให้ผมและเพื่อนๆ ต้องแวะเวียนไปหาคุณเสมอ.....(อ่านต่อได้ที่นิตยสารขวัญเรือน ปักษ์แรก มิ.ย.55)

วันพุธที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เป้ - อารักษ์ ปลี้ม "เงาสีขาว"

อารักษ์ อมรศุภศิริ (นักร้องและนักแสดง)

บางส่วนจากหนังสือ
“อ่านเถิดชาวไทย” (100 คนดังกับหนังสือดีที่อยากให้คนไทยอ่าน)  แพรวสำนักพิมพ์


ผมชอบหนังสือ “เงาสีขาว (ภาพเหมือนในวัยระห่ำของศิลปิน) ” ของแดนอรัญ แสงทอง เขาเป็นนักเขียนที่เขียนหนังสือดีมาก... เขาใช้ตัวเองเป็นผู้เล่าเรื่องโดยเปลี่ยนสรรพนามไปเรื่อยๆ .... สิ่งที่เขาเขียนนั้นผมสามารถนำแรงบันดาลใจจากการอ่านมาแต่งเป็นเพลงได้มากมาย เนื้อหาดุดัน แต่ขณะเดียวกันก็สนุกมาก.... ผมอ่านด้วยความสนุกกับการใช้คำต่างๆ ว่าเขาคิดได้ยังไง สิ่งที่คนได้รับคือมุมมองใหม่ๆ และเรื่องราวที่สามารถนำไปต่อยอดทำรีเสิร์ชได้ เพราะเขาอ้างอิงหลายเรื่องที่น่าสนใจ ขณะเดียวกันคุณก็จะได้รู้จักหนังสือเล่มอื่นๆ มากขึ้นจากการอ่านหนังสือเล่มนี้....

วันอังคารที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วิจารณ์ "เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง"

โดย กองบรรณาธิการ  นิตยสาร Lips พ.ค. 55

คัดบางส่วน....

ด้วยฝีมือการเล่าเรื่อง การใช้ภาษาอันเฉียบคมเฉกนายแห่งภาษาอย่างแท้จริง ผู้เขียนนำพาให้ผู้สังเกตการณ์เช่นเรามีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ อารมณ์ ความรู้สึกที่นางกีสาประสบได้อย่างประหลาด แม้จะรู้เรื่องราวมาก่อนแล้ว แต่ในห้วงขณะที่อ่าน เรารู้สึกมืดมน เปล่าเปลี่ยวหัวใจของเราถูกบีบคั้น เฝ้ารอแต่ว่าเมื่อใดกันที่พายุในอารมณ์ในหัวใจจะสงบลงเสียที

“เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง” จะเป็นวรรณกรรมเชิงพุทธศาสนาหรือไม่ก็ตาม แต่นับว่าเป็นวรรณกรรมไทยชั้นเยี่ยมสำหรับผู้ที่รักการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ

วันอาทิตย์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เรียน ท่านผู้อ่าน "เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง" โปรดทราบ

เรียน  ท่านผู้อ่าน “เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง” โปรดทราบ
สถานที่แห่งหนึ่งในตัวเรื่องที่มีชื่อว่า  “ตาลวันนาปเทโส”  นั้นผิด  ที่จริงต้องมีชื่อว่า “ตาลวันปเทโส” เท่านั้น
แต่ยังคงมีความหมายว่าดินแดงที่เต็มไปด้วยป่าตาล หรืออีกนัยหนึ่งคือเพชรบุรีหรืออีกนัยหนึ่งแพรกหนามแดงนั่นเอง

เป็นความบกพร่องของข้าพเจ้าเอง  ข้าพเจ้าสมควรตาย
ขอแสดงความนับถือ
แดนอรัญ แสงทอง
21 พ.ค.2555

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หนังสือแดนอรัญในต่างแดน

เส้นทางสู่ตลาดโลกของวรรณกรรมไทย


ไทยบันเทิง สัมภาษณ์คุณมาร์แซล บารังส์ โดย บัญฑิต เทียนรัตน์

http://www.youtube.com/watch?v=8eCwfdWeo4U

วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2555

10 หนังในดวงใจ แดนอรัญ แสงทอง


พบกับบทสัมภาษณ์และ 10 หนังในดวงใจของแดนอรัญ แสงทอง ได้ในคอลัมน์ 5x2 นิตยสาร FILMAX ฉบับที่ 58 เดือน เมษายน 2555

บทสัมภาษณ์ คัดมาบางส่วน...
ถ้าศรัทธาในพุทธศาสนาถึงขนาดนี้แล้วทำไมไม่บวชไปเลยล่ะครับ

นี่ก็มีคนถามผมบ่อยๆ แต่จริงๆ แล้ว มนุษย์เราน่ะก็ต้องรู้ขอบเขตขีดจำกัดของตนเอง มีพระสูตรอยู่บทนึงชื่อ “ฆฏิการสูตร” เป็นพระสูตรที่สำคัญมาก จะพูดถึงคนที่เป็นฆราวาสและบรรลุคุณธรรมชั้นสูงทางจิตได้ด้วยการปฏิบัติตนอยู่ในขอบเขตของฆราวาสเท่านั้นเอง ไม่ต้องไปบวชเพราะบางทีเราก็มีภาระอย่างอื่น มนุษย์เราถ้าจะบวชเนี่ย การบรรพชาเป็นโอกาสสว่าง เป็นโอกาสอันประเสริฐ เป็นโอกาสที่จะประพฤติพรหมจรรย์ได้อย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ แต่ฆฏิการสูตรนี่จะบอกเราว่าการเป็นฆราวาส เราก็สามารถทำงานของเรา สามารถประกอบอาชีพ ดำรงชีพของเรา จิตใจของเราก็จะพัฒนาไปเอง และสามารถก้าวไปถึงคุณธรรมขั้นสูงสุด เกือบจะถึงขั้นพระอรหันต์ได้ด้วยซ้ำไป ซึ่งใจความละเอียดมันก็จะอยู่ในหนังสือ “ตามรอยพระอรหันต์” ของท่านพุทธทาส บ้านเราเนี่ย มีนักปราชญ์ทางพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่อย่างท่านพุทธทาส งานของท่านมีคุณค่าควรแก่การศึกษามาก และเรื่องราวทางพุทธนี่ก็ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนอะไรเลย ถ้าคุณดำเนินชีวิตโดยปราศจากความโลภ ความโกรธ ความลุ่มหลงมัวเมาโดยแท้จริงคุณก็เป็นโสดาบันได้แล้ว...



จากใจผู้สัมภาษณ์
“เป็นบทสัมภาษณ์ที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งในชีวิตการทำงานของข้าพเจ้า ไม่ใช่เพราะสัมภาษณ์เก่ง หรือตั้งคำถามดีเด่อะไร แต่เป็นคนให้สัมภาษณ์ต่างหากที่ยิ่งใหญ่เหลือเกิน”
สัมภาษณ์โดย : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ถ่าพภาพ : โมรีมาตย์ ระเด่นอาหมัด

วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2555

ชวนไปดูหนัง "อสรพิษ" จากบทประพันธ์ของแดนอรัญ แสงทอง


เริ่มฉายวันแรก 26 เม.ย. 55 เป็นต้นไปที่โรงหนังลิโด้ สยามสแควร์ เท่านั้น และฉายต่อไปวันละ 1 รอบ คือรอบ 18.00 น. โดยท่านสามารถซื้อตั๋วล่วงหน้าราคาพิเศษ 70 บาทต่อที่นั่ง จนถึงวันที่ 6 เม.ย. เท่านั้น หลังจากนั้นจะเปิดขายราคาปกติ คือ 100 บาท สอบถามข้อมูลโทร. 082-3338772 หรือ email: tickets@charisma-co.com

คลิกชมตัวอย่างหนัง “อสรพิษ” ได้เลยจ้า
http://www.youtube.com/watch?v=RsGOEvXEbhw&feature=share

วันพุธที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง



แดนอรัญ แสงทอง – เขียน / จัดพิมพ์โดย สนพ.สามัญชน
บทความวิจารณ์โดย Filmsick (หรือนามจริง วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา - นักเขียนที่มีผลงานนิยาย เช่น โรงแรมอัลฟ่าวิลล์ (แปลเป็นภาษาอังกฤษโดยมาแซล บารังส์), กะหรี่รันทด และบทความวิจารณ์ตีพิมพ์ในนิตยสาร Filmvirus, Bioscope, Filmax, Vote, October , สารคดี, อ่าน และปาจารยสาร ฯลฯ)

นี้ข้าพเจ้าก็หาใช่ชาวพุทธแท้ หรือพอจะพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าเป็นพุทธศาสนิกชน หรือแม้แต่จะอวดอ้างว่าได้นับถือพุทธอย่างที่พอจะเทศนาในสิ่งตัวไม่เชื่อได้หรือก็เปล่า เพียงพอก็แต่จะกล้อมแกล้มบอกใครเขาว่าในบัตรประชาชนของข้าพเจ้าระบุศาสนาพุทธ ก็เท่านั้น


และต่อให้แม้ข้าพเจ้าอาจจะไม่นับถือศาสนาใดๆ พอที่จะบอกว่าเป็นศาสนิกได้เลยสักศาสนาอย่างเต็มภาคภูมิอยู่นั่นแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังค้นพบว่า นี้คือวรรณกรรมเชิงศาสนา (โลกุตตระตามคำเขาว่า) ที่น่าทึ่งตื่นตาตื่นใจ ใจหายใจคว่ำ ดำมืดและเรื่องเรืองอยู่ในที่จนเจียนบ้าคลั่งยามได้ดำดิ่งลงไปในป่ารกชัฏแห่งแถวทิวตัวอักษรที่หลั่งไหลราวกับมาจากโลกดึกดำบรรพ์นี้


อันเรื่องราวนั้นข้าพเจ้าก็พอจะจับความแต่เพียงเลาๆ ได้ว่าหยิบยกมาจากพุทธประวัติชั้นหนึ่ง เรื่องของนางภิกษุณีท่านหนึ่งในบรราดภิกษุณีจำนวนมากซึ่งพอจะมีระบุอยู่ในบางฉบับประวัติศาสตร์ของบางนิกายสายเก่าแห่งพุทธศาสนา เรื่องราวของพระแม่กีสาโคตมี และความบ้าคลั่งของเธอในการต้องสูญเสียลูกชายให้กับอสรพิษ ก่อนจะได้พบกับพระสมณโคดม

การณ์ก็เป็นที่แน่ชัดอยู่แล้วว่านี้คือเรื่องซึ่งขยายมาจากเรื่องเล่าบุร่ำบุราณ ด้วยท่าทีแลท่วงทำนองการเล่าแบบบุร่ำบุราณ ประหนึ่งดั่งผู้เขียนค่อยคลี่คลายจำแลงตนเข้าไปยังสวนอักษรแห่งสมัยพุทธกาลแลมองเห็นเรื่องทั้งหมดผ่านดวงตาอันช่ำชองเยี่ยงการบันทึกภาพด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่เล็งลึกลงไปในรายละเอียดประดามี ซึ่งถาโถมกันมา ทยอยกันมา พรูพรั่งกันมา รายล้อมรอบเหตุการณ์ชวนสะพรึงขวัญของนางกีสา และเวฬุบุตรชายของนาง นางผู้ซึ่งชื่อเสียงเรียงนามได้ถูกลบเลือนไปเสียแล้วเหลือก็เพียงแต่ชื่อซึ่งเป็นเพียงฉายาเรียกมากกว่าจะเป็นชื่อจริง นางทาสผู้ซึ่งขยับฐานะในบ้านขึ้นเพราะมีลูกชายสุดรักสุดดวงใจ นางผู้ซึ่งต้องสูญเสียลูกชายไปอย่างน่าสยดแสยะและกลับสยดสยองยิ่งกว่าในท่ามกลางความเพ้อคลั่งของมารดา

อาจจะกล่าวได้ว่านี่คือภาคโลกุตตระของมาตานุสติ หนังสือโลกียะ ที่บรรจุอาการวิปลาสแค้นคลั่งของแม่ลูกคู่หนึ่งต่อพาลชนริมน้ำเพชร หนังสือมืดดำคลั่งบ้าที่สุดที่ข้าพเจ้าเคยได้ประสบพบมาในชีวิตนี้

อันที่แท้ท่านคงคาดเดาได้ไม่ยากว่าแม้ข้าพเจ้าจะเทิดทูนในสำนวนอันดำดิ่งของแดนอรัญ ข้าพเจ้าก็อยู่ในเกณฑ์ของบุคคลซึ่งจำต้องต่อต้านเรื่องนี้อยู่แต่แรก ในฐานะคนนอกศาสนาที่ไม่อาจจะยอมรับการสั่งสอนเทศนาใดๆ ได้อีกต่อไป เมื่อคำถามแลความสงสัยได้เพาะอสรพิษร้ายขึ้นในใจของข้าพเจ้าเสียแล้วเช่นนั้น

หากมันช่างน่าทึ่ง ที่หนังสือเล่มนี้ หนังสือซึ่งในที่สุดข้าพเจ้าได้ถอยออกจากมันมามองมันในฐานะของเรื่องอ่านเล่นจำพวกหนึ่ง ไม่ได้พยายามกระทำในสิ่งซึ่งหนังสือศาสนาพยายามกระทำต่อข้าพเจ้า แรงกระทำซึ่งนำมายังการต่อต้านของข้าพเจ้า นั่นคือการทำตนเป็นสาธกยกนิทานมากล่าวอ้างพุทธวัจนะ ซึ่งบ่อยครั้งก็เป็นการกล่าวพล่อยๆ บ้าง กล่าวอย่างงูๆ ปลาๆ บ้าง กล่าวเกินเลยบ้าง หนังสือเล่มนี้ทำหน้าที่ในฐานะเรื่องเล่าฉายภาพอันเข้มข้นของเหตุการณ์ที่เกือบจะเป็นความวิปลาส เกือบจะเป็นหายนะ เกือบจะเป็นที่สุดแห่งความทุกข์ระทม (สำหรับข้าพเจ้าแล้วสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจที่สุดคือฉากการพบกับชายผู้ละทิ้งทรัพย์ศฤงคารไปอยู่อาศัยกับสุนัข กินอยู่เยี่ยงสุนัข และเห่าหอนอย่างสุนัข ชายผู้เป็นเอตะทัคคะในการครองจีวรเศร้าหมองนั้น และการตอบโต้ของนางกีสาผู้ซึ่งในฉับพลันทันใดได้กลายเป็นหมาแม่ลูกอ่อนที่พร้อมจะกระโจนเข้าต่อสู้ เห่าหอน เยี่ยงแม่สุนัขตัวหนึ่ง) การกล่าวบรรยายอันเข้มข้นของการต่อสู้กับโคลนลึกอย่างหนึ่ง เสือดาวอย่างหนึ่ง แมงมุมตัวเท่าปนาอย่างหนึ่ง และพาลชนอย่างหนึ่ง ได้พาข้าพเจ้าดิ่งลึกไปยังใจกลางแห่งความมืดมนอนธกาลโดยมีการพบกับพระสมณโคดมเป็นแสงหรุบหรู่รำไรอยู่ที่ปลายอุโมงค์

แลการณ์กลับตรงกันข้าม การพบพระสมณโคดมในช่วงท้ายของเรื่องราวกลับถูกนำเสนออย่างสามัญที่สุด บทสนทนาของพระสมณโคดมก็เป็นไปอย่างสามัญที่สุด ราวกับเพียงนางกีสาได้พบกับนักบวชอีกรูปหนึ่งเท่านั้น การตระหนักรู้ของนางกีสาก็เป็นไปอย่างสามัญที่สุด ราวกับในที่สุดข้าพเจ้าไปได้พบว่าการผเชิญหน้ากับพระสมณโคดมด้วยตนเองนั้นเป็นปรากฏการณ์ที่สามัญดาษดื่นที่สุด ความหรูหราใดๆ ความวิเศษอลังการอวดอ้าง อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ใดๆ ประดามี ล้วนแต่จะทำให้การพบกับพระสมณโคดมมีแต่หมองมัวไปเท่านั้น กล่าวถึงที่สุด หนังสือเล่มนี้ไม่ได้สอนให้ข้าพเจ้ากลับตัวเป็นพุทธศาสนิกชนในชั่วข้ามคืน ไม่แม้กระทั่งจะให้มรณานุสติแบบแดกด่วน หากกลับเพาะเมล็ดพันธุ์บางอย่างที่สำคัญ ที่ทำให้ข้าพเจ้าคิดว่า แม้ข้าพเจ้าจะเป็นอลัชชีนอกศาสนา ข้าพเจ้าก็ยังมองเห็นแสงเรืองในพุทธธรรมอยู่บ้างไม่มากก็น้อย

เลยพ้นไปจากโลกุตตระศิลป์อันมิต้องอวดอ้างนั้นแล้ว สิ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าตื่นตะลึงพรึงเพริดถึงที่สุดกลับคือคำตามข้างท้ายของหนังสือที่คลี่เผยวิธีการอันแยบยลในการดัดแปลง ขยายความ สร้างเรื่องเล่าจากพุทธประวัติเก่าแก่ ให้โลดแล่นมีชีวิตชีวา คำกล่าวตามในช่วงท้ายได้ทำให้ข้าพเจ้ามองเห็นสมรภูมิของนักเขียนที่เขามีต่อประวัติศาสตร์ ภาษา ศาสนา โลก อันยืดยาว การสู้รบปรบมือที่ไร้จุดสิ้นสุด การล่อหลอก การรีดเค้น การแทรกซ่อน นัยยะความหมายต่างๆ ลงในเรื่องเล่าชนิดใหม่ซึ่งทำเลียนแบบของเก่าด้วยวิธีการอย่างใหม่ มันแนบสนิทเข้ากับสิ่งเดิมได้อย่างไร อวดตัวมันได้อย่างไร และกลมกลืนไปอย่างไร

ถึงที่สุดต่อให้ข้าพเจ้าไม่ได้เป็นคนมีศาสนา หนังสือเล่มนี้ก็ยังเป็นความที่ชวนพรึงเพริดที่ข้าพเจ้าได้พบ ในรอบปีที่ผ่านมาโดยไม่ต้องสงสัยอยู่ดี และแม้มันจะจบไปแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังวาดภาพเขา – แดนอรัญ แสงทอง – ชายผู้ยังคงตวัดปากกาของเขาสู้รบกับเรื่องเล่าเพื่อที่จะต่อสู้กับการสร้างเรื่องเล่าของพระแม่ปฏจรา เรื่องที่เขาทดลองแนบมาแต่ยังไม่ได้เขียนขึ้นนั้น มันช่างเป็นสมรภูมิที่เต็มไปด้วยการทุ่มตัวลงไปอย่างน่าตื่นตาเสียกระไร

วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

จากอัศวินผู้กร้าวกล้า สู่สามัญชนผู้ใฝ่ธรรม



พอมาสนใจเรื่องศาสนา เป็นเรื่องที่ดีมากเลย เพราะปู่ย่าตาทวดมีค่านิยม มีความคิด มีวัตรปฏิบัติแบบนี้มา และยังอุตส่าห์รักษามาได้ ผมมั่นใจความคิดนี้มากด้วย มากจนกระทั่งไม่ตื่นฝรั่งอีกต่อไป....


(คัดบางส่วน... อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่นิตยสารกุลสตรี ฉบับที่ 984 ปักษ์แรก ม.ค.55)

วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555

เชิญชวนแฟนคลับร่วมส่งภาพถ่าย

ตามที่ผู้จัดทำบล็อกได้แจ้งเชิญชวนแฟนคลับแดนอรัญ แสงทอง ร่วมส่งภาพถ่ายของตัวท่านเองกับหนังสือเล่มโปรดของแดนอรัญที่ท่านชื่นชอบ

ภาพที่ชนะใจกรรมการจะมีรางวัลเล็กๆ น้อยๆ ที่เกี่ยวข้องกับแดนอรัญซึ่งไม่มีจำหน่ายทั่วไปเป็นของกำนัลให้ด้วย...

ขอบคุณครับ























วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555

นัยของการเล่านิทานใน "เจ้าการะเกด เรื่องรักแต่เมื่อครั้งบรมสมกัปป์" The Implication of Tale - Telling in the Archaic Love Story of Karaked

โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เสาวณิต จุลวงศ์ (Saowanit Chunlawong)
จาก วารสารศิลปศาสตร์ ปีที่ 7 ฉบับที่ 2 ก.ค. - ธ.ค. 50

บทคัดย่อ

นวนิยายเรื่องเจ้าการะเกด เรื่องรักแต่เมื่อครั้งบรมสมกัป ผลงานของ แดนอรัญ แสงทอง เป็นการตอบโต้และต่อรองกับรูปแบบนวนิยายในฐานะตัวแทนของวัฒนธรรมตะวันตก นวนิยายเรื่องนี้เสนอว่านวนิยายมิได้แตกต่างและแยกขาดออกจากนิทาน หากทว่านวนิยายเป็นความต่อเนื่องของนิทาน และทั้งสองต่างมีภารกิจแรกเริ่มต่อมนุษย์แบบเดียวกันคือความบันเทิง ผู้แต่งแสดงความตระหนักถึงภารกิจดังกล่าวของนวนิยายด้วยการเสนอนวนิยายเรื่องนี้ในรูปของเรื่องเล่าซ้อนเรื่อง ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับนิทานซ้อนนิทานซึ่งเป็นรูปแบบของนิทานอินเดียและเปอร์เซีย กลวิธีนี้นอกจากจะทำให้เห็นถึงลักษณะที่เหลื่อมซ้อนกันระหว่างนวนิยายกับนิทานแล้วยังเป็นการรื้อฟื้นรูปแบบนิทานของตะวันออกกลับคืนมาในรูปแบบของนวนิยายตะวันตกอีกด้วย

Abstract

The archaic love story of Karaked (Chao Karaked Rueang Rak Tae Mua Krung Barom Som Kap), by Dan-aran Sangthong, argues against the novel as the representative form of western culture. This story suggests that a novel is not different from and cannot be separated from a tale, and that a novel is actually a continuation of a tale. The original aim of both is to entertain. The author shows that he is conscious of his task by presenting this story in the story – within – story framework similar to emboxed Indian and Persian tales. This technique not only demonstrates the resemblance between a novel and a tale, but also revives the Asian tale – telling tradition in the western novel form.

การเล่านิทานเป็นความบันเทิงของชาวบ้านในสังคมไทยมาช้านาน ทั้งนิทานร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น เสภา กลอนสวด กลอนสด เป็นต้น เนื่องจากในอดีต การอ่านการเขียนหนังสือมักจำกัดอยู่ในแวดวงราชการและศาสนา การถ่ายทอดวัฒนธรรม การอบรมระเบียบสังคมโดยเฉพาะในสังคมชนบทจึงอาศัยประเพณีการบอกเล่าผ่านเพลงกล่อมเด็ก ผ่านภาษิตคำพังเพย ประเพณี พิธีกรรมและผ่านการเล่านิทาน กล่าวได้ว่า สังคมไทยในอดีตไม่ใช่ “สังคมการอ่าน” แต่เป็น “สังคมการฟัง” (ศิราพร ฐิตะฐาน ณ ถลาง, 2539 : 13) อย่างไรก็ตาม ประเพณีการเล่านิทานในสังคมไทยค่อยๆ ลดบทบาทลงเมื่อวรรณกรรมลายลักษณ์แพร่หลายมากขึ้น

วัฒนธรรมลายลักษณ์เป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่ส่งอิทธิพลเหนือวัฒนธรรมพื้นถิ่นของไทยอย่างมาก นวนิยายซึ่งเป็นผลผลิตของวัฒนธรรมดังกล่าวได้เข้ามาเผยแพร่ในไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 การศึกษาที่ขยายขอบเขตแวดวงออกไปได้เปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มสามารถเรียนหนังสือจนอ่านออกเขียนได้ และวิทยาการด้านการพิมพ์ทำให้งานเขียนประเภทนวนิยายแพร่หลายมากขึ้นจนได้รับความนิยมและเริ่มเข้ามาแทนที่นิทานชาวบ้าน นอกจากรูปแบบการประพันธ์ประเภทนวนิยายที่เข้ามาแทนที่นิทานแล้ว แนวการประพันธ์ของตะวันตกยังเข้ามาครอบงำแนวการประพันธ์ของเรื่องเล่าของไทยอีกด้วย แนวเรื่องบันเทิงคดีของไทยแต่เดิมซึ่งมีลักษณะเป็นจินตนาการที่เต็มไปด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ เช่น สังข์ทอง สมุทรโฆษ พระลอ ขุนช้างขุนแผน อิเหนา เป็นต้น หรือมีเนื้อเรื่องอิงพงศาวดาร เช่น สามก๊ก ราชาธิราช ไซ่ฮั่น ตะเลงพ่าย ผู้ชนะสิบทิศ เป็นต้น ค่อยๆ หายไป แนวการประพันธ์นวนิยายของตะวันตกได้เข้ามาแทนที่และมีอิทธิพลต่อการประพันธ์นวนิยายของนักเขียนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวสัจนิยม (realism) และสัจนิยม แนวสังคมนิยม (socialist realism) ซึ่งมีอิทธิพลและได้รับความนิยมอยู่ในวงวรรณกรรมไทยจนปัจจุบัน

นวนิยายถูกจัดวางเป็นคู่ตรงข้ามกับนิทานอันเนื่องมาจากลักษณะเฉพาะของแต่ละฝ่ายซึ่งดูเหมือนจะแตกต่างกัน การเล่านิทานเป็นรูปแบบของบันเทิงคดีของชาวบ้านในยุคที่ไม่รู้หนังสือ หรือวัฒนธรรมลายลักษณ์ยังไม่แพร่หลาย นิทานชาวบ้าน (folk tale) ใช้วิธีการถ่ายทอดแบบมุขปาฐะ จากปากต่อปาก จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง (ราชบัณฑิตยสถาน 2545: 185) ต่างกับนวนิยายซึ่งถ่ายทอดและเผยแพร่ผ่านตัวอักษร โดยเฉพาะเมื่ออธิบายว่านวนิยายมีความสมเหตุสมผลหรือสมจริง หรือมีวิธีนำเสนอเลียนแบบวิธีการที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันโดยแบ่งเป็นบทบรรยายและบทสนทนาซึ่งสอดคล้องกับลักษณะของตัวละครที่สร้างขึ้น (วิภา เสนานาญ กงกะนันทน์, 2540 : 9-10) มีรูปแบบการถ่ายทอดเป็นลายลักษณ์อักษรและมีผู้แต่งชัดเจน ส่วนนิทานชาวบ้านมีเนื้อเรื่องนานาชนิด อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับการผจญภัย การแข่งขัน เรื่องตลกขบขัน การคดโกง หรือเรื่องแปลกประหลาดผิดปกติธรรมดา เป็นเรื่องเก่าที่เล่าต่อๆ กันมา ไม่ปรากฏชื่อผู้เล่าดั้งเดิมคือระบุผู้แต่งไม่ได้ อ้างแต่เป็นเรื่องเก่าที่ฟังต่อมา (กุหลาบ มัลลิกะมาส, 2509 : 99-100) ความเสื่อมสลายของนิทานชาวบ้านจึงมักอธิบายควบคู่กับความเติบโตเฟื่องฟูของนวนิยายไทย

แดนอรัญ แสงทอง เสนอนวนิยายเรื่องเจ้าการะเกด เรื่องรักแต่เมื่อครั้งบรมสมกัปป์ เป็นการตอบโต้และต่อรองกับความเฟื่องฟูของนวนิยายด้วยการมองบันเทิงคดีสองประเภทมิได้แตกต่างและแยกขาดออกจากกัน หากทว่านวนิยายเป็นความต่อเนื่องของนิทาน และทั้งสองต่างมีภารกิจแรกเริ่มต่อมนุษย์แบบเดียวกันคือความบันเทิง แดนอรัญ แสงทอง แสดงความตระหนักถึงภารกิจดังกล่าวของนวนิยายด้วยการเสนอนวนิยายเรื่องเจ้าการะเกดฯ ในรูปของเรื่องเล่าที่เล่าถึงการเล่านิทาน ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับนิทานซ้อนนิทานซึ่งเป็นรูปแบบของนิทานเอเชียซึ่งทำให้นอกจากจะเห็นถึงลักษณะที่เหลื่อมซ้อนกันระหว่างนวนิยายกับนิทานแล้วยังเป็นการรื้อฟื้นรูปแบบวรรณกรรมตะวันออกกลับคืนมาในรูปแบบของวรรณกรรมตะวันตกอีกด้วย

ความหมายของความเสื่อมสลายของวัฒนธรรมการเล่านิทาน

ความเสื่อมสลายของวัฒนธรรมการเล่านิทานในสังคมไทยน่าจะค่อยๆ ก่อตัวขึ้นเมื่อมีความบันเทิงรูปแบบอื่นเข้ามาแทนที่ ในเรื่องเจ้าการะเกดฯ เครื่องรับวิทยุของหลวงพ่อเป็นอุปกรณ์สำคัญในการแพร่ขยายความบันเทิงรูปแบบใหม่เข้าไปในดินแดนต่างๆ อย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นละครวิทยุ “ [พ.ศ. 2510] เป็นปีที่ละครวิทยุคณะแก้วฟ้ากำลังได้รับความนิยมสูงสุดและกำลังออกอากาศเรื่อง “พรพรหม” และเรื่อง “เทพธิดาชาวไร่” และเรื่อง “แก้วกลางสลัม” ซึ่งทำให้ผู้คนแห่งแพรกหนามแดงติดกันงอมแงม” (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 18) หรือนวนิยาย เพลงลูกทุ่ง หรือกีฬามวย “แม้ว่าแก [หลวงพ่อเทียน] จะเป็นพระแต่แกก็ติดใจสำบัดสำนวนของ “ยาขอบ” เป็นที่ยิ่งและแกก็ไม่ได้ซ่อนเร้นอำพรางความชื่นชมที่แกมีต่อนักร้องลูกทุ่งอย่างพร ภิรมย์และสุรพล สมบัติเจริญ และแม้ว่าแกจะเป็นพระเวลาที่โผน กิ่งเพชรหรือชาติชายเชี่ยวน้อยขึ้นชกและมีการถ่ายทอดทางวิทยุแกก็จะฟังอย่างใจจดใจจ่อ และเชียร์ขาดใจ” (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 29)
นอกจากนี้ยังมีมหรสพอื่นๆ เช่น ลิเก ละครชาตรี หนังตะลุง หนังกลางแปลง ที่ตระเวนไปเปิดการแสดงตามที่ต่างๆ

นอกจากความบันเทิงรูปแบบอื่นที่เข้ามาแทนที่การเล่านิทานแล้ว วัฒนธรรมลายลักษณ์ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเล่านิทานมาถึงจุดสิ้นสุด ในเรื่องเจ้าการะเกดฯ ผู้เล่าแสดงให้เห็นการแปรเปลี่ยนรูปแบบนิทานมุขปาฐะมาเป็นนิทานลายลักษณ์ด้วยการเล่าถึงการจดบันทึกเรื่องราวที่หลวงพ่อเทียนเล่า การจดบันทึกเรื่องเล่าส่งผลต่อเนื่องถึงรูปแบบของบันเทิงคดีที่แปรเปลี่ยนจากนิทานที่เล่าสู่กันฟัง มาเป็นเรื่องที่เล่าผ่านตัวอักษรเพื่อการอ่าน

[...] เด็กหญิงวัยสิบขวบ [...] ได้รับคำสั่งลับๆ จากครูประยงค์ สีสันอำไพ ให้จดจำและบันทึกเรื่องราวทุกเรื่องราวที่หลวงพ่อเทียนได้เล่าขานไว้ให้เป็นลายลักษณ์อักษร อีแพรคนนี้เขียนเรียงความเก่งและมันก็เคยจดบันทึกเรื่องราวอื่นๆ ที่ครูประยงค์ไม่ได้สั่งด้วย นั่นคือบันทึกเกี่ยวกับรุ้งกินน้ำซึ่งระบุวัน เวลา สถานที่ขณะที่มันได้เห็นรุ้งกินน้ำ [...] เรียงความที่ได้จากเรื่องเล่าของหลวงพ่อเทียนและเรียงความเรื่องรุ้งกินน้ำ (ซึ่งครูประยงค์ค้นพบในเวลาต่อมา) นี้ถูกนำมาอ่านเสมอในยามบ่ายที่โรงเรียนในวิชาภาษาไทย [...] (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 36)

การจดบันทึกเรื่องเล่าของหลวงพ่อเทียนเป็นลายลักษณ์อักษรทำให้เรื่องเล่าเหล่านี้ขาดเสน่ห์ของความเป็นมุขปาฐะ การเล่านิทานแบบมุขปาฐะทำให้นิทานนั้นมีรสชาติในการฟังแตกต่างกับการเล่าเรื่องด้วยตัวหนังสือ คือมีชีวิตชีวา ไม่ตายตัว เมื่อใดที่นิทานเรื่องนั้นไม่มีการเล่าต่อ หรือถูกจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร นิทานนั้นก็จะแข็งกระด้างและไม่ดึงดูดใจ (ผ่องพันธุ์ มณีรัตน์ 2529 : 112) ฟอน ซีดอฟ (อ้างจาก ศิราพร ณ ถลาง 2548 : 121) กล่าวถึง “ชีวิตของนิทาน” ว่าขึ้นอยู่กับผู้เล่าเป็นสำคัญ เพราะผู้เล่าเป็นผู้สืบทอดและถ่ายทอดนิทานในแต่ละสังคม นักเล่านิทานจะสามารถจดจำนิทานต่างๆ และถ่ายทอดได้อย่างมีชีวิตชีวา ส่วนผู้ฟังมีบทบาทในการช่วยจดจำและทักท้วงหากนักเล่านิทานเล่าเรื่องข้ามไป แต่ไม่มีความสามารถในการถ่ายทอดนิทานให้มีชีวิตชีวาได้น่าฟังอย่างนักเล่านิทานตัวจริง

ในเรื่องเจ้าการะเกดฯ การเล่านิทานของหลวงพ่อเทียนมีชีวิตชีวาเป็นที่ประทับใจจนเด็กๆ นำมาเล่นเลียนแบบและพยายามจดบันทึกลีลาการเล่าเรื่องของท่าน ซึ่งเด็กๆ ต่างก็รู้ว่าถึงเลียนแบบให้เหมือนเพียงไร นิทานที่เล่าก็ไม่สนุกเหมือนเช่นที่หลวงพ่อเทียนเล่าให้ฟัง เด็กๆ จึงต้องแอบเล่นเลียนแบบวิธีเล่าเรื่องของหลวงพ่อไม่ให้หลวงพ่อรู้ตัวเพราะเกรงว่าหลวงพ่อจะไม่ยอมเล่าเรื่องให้ฟังอีก

[...] ด้วยความขาดแคลนกิจกรรมในเชิงสันทนาการ เด็กบางคนก็จะสมมุติตนเองเป็นหลวงพ่อเทียนและบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเผชิญหน้ากับโขลงช้างของหลวงพ่อเทียนและเรื่องราวอื่นๆ ที่แกเคยเล่าด้วยน้ำเสียง ถ้อยคำ ท่าทีลีลาของหลวงพ่อเทียนเอง เลียนแบบหลวงพ่อเทียนหมดสิ้นแม้แต่ท่าทางการจิบน้ำชาหรือน้ำมะตูมของแก การกระแอมกระไอของแกและการปล่อยให้เรื่องราวในบทถึงตอนระทึกใจค้างคาไว้ ตอนที่พลิกผันที่สุดค้างคาไว้และไม่ยอมเล่าให้จบเป็นอันขาดจนกว่าผู้ฟังจะร้องขอ เด็กคนที่สมมุติตนเองว่าเป็นหลวงพ่อเทียนจะเริ่มต้นเล่าเรื่องและเด็กคนอื่นๆ ก็จะตั้งใจฟังและขัดจังหวะเป็นบางครั้งด้วยการพูดว่า ไม่ใช่ ไม่ใช่อย่างที่เอ็งว่า เมื่อหลวงพ่อเทียนเล่ามาถึงตรงนี้แกไอแห้งๆ งอตัวลงแล้วไอแรงๆ อีกสองสามทีต่างหาก หรือพูดว่าเมื่อถึงตอนนี้แกใช้ถ้อยคำอย่างนี้ๆ ต่างหาก หรือพูดว่าเมื่อถึงตอนนี้แกหยุดและหัวเราะอะไรของแกอยู่คนเดียวต่างหาก หรือเมื่อถึงตอนนี้แกพูดไปพลางก็มองดูท้องฟ้าและเสียงของแกแผ่วเบาลงและแหบเครือและมีน้ำตาอยู่ในดวงตาของแกต่างหาก และเด็กๆ ก็จะช่วยกันแต่งเติมส่วนที่ขาดหายไปให้ครบถ้วนและตัดทอนส่วนที่เกินเลยออกไปเสียจนเกลี้ยงเกลา ต่างพยายามที่จะรักษาสำบัดสำนวนและเค้าโครงเรื่องดั้งเดิมของหลวงพ่อเทียนไว้ให้จงได้และต่างกำชับอีแพร อัญชัญซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงว่าให้จดบันทึกไว้เสียให้เป็นลายลักษณ์อักษร [...] (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 49-50)

การที่นิทานของหลวงพ่อเทียนถูกจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และนำไปเผยแพร่ต่อด้วยการอ่านนี้เองแสดงถึงแนวโน้มการสิ้นสุด “ชีวิตของนิทาน” ของหลวงพ่อเทียน เพราะนิทานของหลวงพ่อเทียนถูกตกแต่งขัดเกลาทำให้เรื่องราวเหล่านั้นเกิดความนิ่ง ไม่มีความสดหรือความมีชีวิตชีวาอันเกิดจากลีลาการเล่าของผู้เล่าอีกต่อไป

ไม่เพียงเท่านั้น ในด้านของผู้ฟัง ความเป็นผู้ใหญ่ก็ทำให้ความกระตือรือร้นต่อจินตนาการอันมหัศจรรย์ของนิทานสูญหายไป เรื่องลึกลับน่าพิศวง หรือมีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เหล่านั้นสนุกสนานน่าตื่นเต้นก็เฉพาะสำหรับเด็กๆ “เพราะจิตใจของเด็กๆ นั้นแปลกประหลาด ไม่แยกความจริง ความฝันและจินตนาการออกจากกัน เพราะว่าวัยเด็กนั้นแท้จริงแล้วก็คือความฝันอันมหัศจรรย์ประการหนึ่งโดยตัวของมันเองนั่นเอง” (แดนอรัญ แสงทอง 2546 :56) ส่วนผู้ใหญ่นั้น “ผู้คนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีเหตุผล มีสำนึกในเชิงปฏิบัติและเอาจริงเอาจัง ไม่สนใจฟังเรื่องราวของแก [หลวงพ่อเทียน] คิดเห็นกันไปว่ามันเป็นเพียงแต่ความเพ้อพกของคนแก่ๆ คนหนึ่ง” (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 32) กล่าวได้ว่า การเล่านิทานอาจไม่ตอบสนองความสนใจของผู้ใหญ่ได้อย่างเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม ความเสื่อมสลายของวัฒนธรรมการเล่านิทานมิใช่การสิ้นสุดของบันเทิงคดีร้อยแก้วในเรื่อง เจ้าการะเกดฯ การเล่านิทานอาจแทนที่ด้วยความบันเทิงรูปแบบอื่น แต่เรื่องเล่ายังคงได้รับความนิยม เพียงแต่แปรเปลี่ยนจากความนิยมในนิทานมาเป็นความนิยมในนวนิยาย “[พ.ศ.2510] เป็นปีที่นวนิยายเรื่อง “บ้านทรายทอง” ยังคงได้รับความนิยมและ “พจมาน สว่างวงศ์” อันเป็นตอนต่อของ “บ้านทรายทอง” ยังคงได้รับความนิยมและ “ทางสายเปลี่ยว” ยังคงได้รับความนิยมและส่งผลให้ ก.สุรางคนางค์ กลายเป็นประพันธ์กรหมายเลขหนึ่งของเมืองไทย และยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่องมาอีกยาวนาน” (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 18)

แดนอรัญ แสงทอง หยิบยกวัฒนธรรมการเล่านิทานมาไว้ในเรื่อง มิใช่เพื่อเป็นการรำลึกถึงการเล่านิทานที่เสื่อมสลายไป แต่เป็นการเตือนให้เกิดความตระหนักว่าการเล่านิทานมิได้หายไป เพียงแต่แปรรูปจากมุขปาฐะมาสู่ลายลักษณ์ คือนวนิยาย และภารกิจของนวนิยายมิได้ต่างกับภารกิจของนิทาน เช่นเดียวกับภารกิจของนักเขียนมิได้ต่างกับภารกิจของนักเล่านิทาน
การเล่าเรื่องของหลวงพ่อเทียน

การเล่านิทานแบบชาวบ้านในเรื่องเจ้าการะเกดฯ ปรากฏให้เห็นจากการเล่าเรื่องของหลวงพ่อเทียน แดนอรัญ แสงทอง เล่าถึงโอกาสในการเล่านิทานด้วยการพรรณนาถึงคืนวันที่หลวงพ่อเทียนเล่าเรื่องของท่าน อีกด้านหนึ่งแดนอรัญแสดงให้เห็นลักษณะการสร้างเรื่องของนิทานชาวบ้านจากเนื้อเรื่องของเรื่องที่หลวงพ่อเทียนเล่าออกมา

การเล่านิทานในชุมชนต่างๆ มักเกิดขึ้นเมื่อมีการรวมกลุ่มกัน เช่นขณะที่มีการทำงานร่วมกัน ขณะที่อยู่ในช่วงฤดูหนาว หรือการอยู่ในสถานที่จำกัด (ประคอง นิมมานเหมินทร์ 2543 : 71-72) ในเรื่องเจ้าการะเกดฯ ผู้เล่าเล่าถึงการเล่าเรื่องของหลวงพ่อเทียนว่าเกิดขึ้นในคืนฤดูหนาว หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว และเกิดภาวะน้ำท่วม “นั่นเป็นค่ำคืนหนึ่งปลายเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. สองห้าร้อยสิบ การทำขวัญข้าวผ่านพ้นไปแล้วอย่างเงียบเหงาซังกะตายและอ้างว้างราวกับงานศพ” (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 17) คืนนั้นก็เช่นเดียวกับคืนอื่นๆ ที่คนในหมู่บ้านมาชุมนุมเพื่อสังสรรค์กันแทนที่จะแยกย้ายแสวงหาความบันเทิงส่วนตัวดังเช่นในยุคปัจจุบันที่แต่ละครอบครัวมีอุปกรณ์ให้ความบันเทิงประจำบ้าน

[…] เด็กๆ มาชุมนุมกันอยู่ข้างกองไฟเช่นนี้ทุกคืนเพราะติดตามพ่อหรือลุงหรือน้าหรือพี่ชายของตนมา พวกผู้ใหญ่มาชุมนุมกันอยู่เช่นนี้ทุกคืนตั้งแต่เสร็จจากการงานในท้องนาแล้ว บนลานดินใต้ต้นมะขามใหญ่หน้ากระท่อมในคอกวัวฝูงใหญ่ของนายคราม คิชฌกูฎ ผู้ใหญ่เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชายและค่อนข้างสูงอายุ พวกที่ยังหนุ่มมีอยู่เพียงสองสามคน ไม่มีผู้หญิงมาร่วมด้วยเลย ทุกคืนพวกเขาก่อกองไฟกองใหญ่และพูดคุยกันด้วยเรื่องราวจิปาถะ […] ความเป็นหมู่บ้านชนบทอันห่างไกลทำให้รูปแบบของการแสวงหาความบันเทิงของพวกเขามีอยู่จำกัด […] ดังนั้นพวกเขาจึงมาชุมนุมกันอยู่ที่นี่ แสวงหาความสุขจากการพูดคุยกันเงียบๆ และฟังกันเงียบ ๆ […] (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 27)

ในโอกาสที่ผู้คนมาชุมนุมกันนั้นเอง หลวงพ่อเทียนมักถือโอกาสเล่าเรื่องขึ้นเพื่อให้เด็กๆ ที่มานั่งล้อมวงกันอยู่นั้นฟัง เรื่องเล่าของหลวงพ่อเทียนเป็นเรื่องเล่าที่สืบทอดต่อมาจากคนรุ่นพ่อ คือตาเฒ่าจันทน์ผาเป็นผู้เล่าให้หลวงพ่อเทียนฟังและหลวงพ่อเทียนถือเป็นความสุขที่ได้เล่าเรื่องราวเหล่านี้ต่อไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง “แกพบว่าในที่สุดแกก็เป็นเหมือนตาเฒ่าจันทน์ผาพ่อของแกนั่นเอง เต็มไปด้วยเรื่องราวและความรู้สึกนึกคิดที่จะถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังฟัง” (แดนอรัญ แสงทอง 2546 :56) เรื่องต่างๆ ที่หลวงพ่อเทียนเล่าให้เด็กๆ ฟังเรียกได้ว่ามีลักษณะเป็นนิทานชาวบ้านประเภทต่างๆ ทั้งที่เป็นนิทาน เช่น เรื่องของจอมขมังเวทย์ที่กลายเป็นเสือสมิง ตำนานทางประวัติศาสตร์ เช่น เรื่องการสวรรคตของพระพุทธเจ้าหลวง เรื่องกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เรื่องของชนเผ่าอินเดียนแดงที่ต่อสู้กับทหารสเปน เรื่องเล่าจากประสบการณ์ เช่น การเข้าไปบุกเบิกป่าเพื่อทำนา เรื่องของตาเฒ่าจันทน์ผาและหลวงพ่อเทียนเองที่ออกป่าล่าสัตว์และผจญกับสัตว์ต่างๆ เรื่องของพี่สาวของท่านที่ตายตั้งแต่เด็ก เรื่องการทำนาของแม่ดวงบุหลัน และเรื่องเล่าเกี่ยวกับสัตว์ที่เคยได้ยินได้ฟังมา เช่น เรื่องของเสือถูกจระเข้แย่งหมูป่า เรื่องของลิงป่า

เรื่องการบุกเบิกป่าเพื่อทำนาที่หลวงพ่อเทียนเล่านั้นเป็นเรื่องที่แดนอรัญ แสงทอง ให้ความสำคัญ เห็นได้จากที่เนื้อเรื่องของนวนิยายเรื่องนี้เริ่มต้นด้วยการเล่าถึงคืนที่หลวงพ่อเทียนเล่าเรื่องการบุกเบิกป่าขึ้น และนวนิยายจบลงเมื่อหลวงพ่อเทียนเล่าเรื่องจบ เรื่องการบุกเบิกป่าเพื่อทำนาของหลวงพ่อเทียนนี้แสดงให้เห็นลักษณะสำคัญของการสร้างเรื่องของนิทานชาวบ้านสองประการด้วยกัน คือความเป็นนิทานซ้อนนิทานและการแตกเรื่องของนิทาน

ในด้านความเป็นนิทานซ้อนนิทาน เรื่องการบุกเบิกป่าที่หลวงพ่อเทียนเล่านี้เป็นเรื่องเล่าที่ผู้เล่านำเรื่องอื่นมาเล่าแทรกต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ทำให้เรื่องเล่านั้นขยายยืดยาวออกไป ความเป็นนิทานซ้อนนิทานเช่นนี้เป็นลักษณะของวรรณกรรมนิทานของเอเซีย ดังปรากฏในมหากาพย์ มหาภารตะ นิทานเวตาล หรือนิทานอาหรับราตรี เป็นต้น ลักษณะสำคัญของนิทานเหล่านี้คือเป็นเรื่องเล่าที่มีเรื่องเล่าอื่นๆ แทรกอยู่หลายเรื่อง เรื่องเล่าที่เป็นโครงใหญ่ครอบเรื่องเล่าทั้งหมดนั้น มักเป็นการเล่าถึงมูลเหตุของการเล่าเรื่องแทรกอื่นๆ เข้ามา เช่น ในเรื่องนิทานเวตาล ส่วนต้นเรื่องเป็นกรอบใหญ่ที่ครอบนิทานเรื่องย่อยๆ ไว้ภายใน ส่วนต้นเรื่องนี้เล่าถึงพระวิกรมาทิตย์ ทรงสัญญากับโยคีตนหนึ่งว่าจะจับเวตาลมาให้ เมื่อทรงจับเวตาลได้และเดินทางกลับ เวตาลทูลท้าทายให้ทรงทายปัญหาจากนิทานที่ตนจะเล่าให้ฟัง และขอให้ปล่อยตนไปหากพระองค์ทรงทายปัญหาผิด เมื่อพระวิกรมาทิตย์ทรงทายปัญหาผิด เวตาลก็กลับคืนสู่ที่อยู่ของตน เป็นเช่นนี้หลายครั้งทำให้เกิดมีนิทานขึ้นหลายเรื่อง

เรื่องการบุกเบิกป่าเป็นเรื่องหลักที่หลวงพ่อเทียนเล่าและในระหว่างที่เล่า หลวงพ่อเทียนก็สอดแทรกเรื่องอื่นๆ เข้าไว้มากมาย เช่น เรื่องสัตว์ต่างๆ เรื่องการสวรรคตของพระพุทธเจ้าหลวง เรื่องกรมหลวงชุมพรฯ เรื่องอินเดียนแดง การเล่าเรื่องแทรกนี้เป็นการเล่าต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อย่างไม่ขาดตอนสอดคล้องกับลักษณะการเล่านิทานมุขปาฐะซึ่งมีความลื่นไหลต่อเนื่อง มิได้มีการขัดเกลาตกแต่งให้ประณีตมีความเป็นเอกภาพอย่างวรรณกรรมลายลักษณ์

[…] ข้าเห็นเสือตัวหนึ่งควบไล่หมูป่าเต็มกำลัง วิ่งซอกซอนหักเห เดี๋ยวไปซ้าย เดี๋ยวไปขวา เจ้าหมูป่ายังไม่บาดเจ็บก็ยังไม่คิดสู้ทั้งที่เขี้ยวของมันก็น่าเกรงขาม ส่งเสียงร้องกรีดกราดเหมือนหมูบ้านเราดีๆ นี่เอง และถลันตูมลงไปในบึง เจ้าเสือก็ไล่ตาม […] จระเข้ใหญ่ยาวตัวหนึ่งลอยตัวเงียบเชียบและโดยปราศจากการอารัมภบท งับหมับเข้าให้ที่ต้นคอของเจ้าหมูป่า เจ้าหมูป่าน่ะมันหนีเสือปะจระเข้เข้าให้ เหมือนอย่างที่คำพังเพยเขาว่าไว้จริงๆ […] เจ้าเสือก็พยายามลากเจ้าหมูป่ากลับ แต่สู้แรงของเจ้าจระเข้ไม่ได้ และทั้งเจ้าหมูป่าและเจ้าเสือก็ถูกลากห่างจากฝั่งออกไปทุกที […] เจ้าจระเข้ก็มีกลยุทธ์ของมันและมันก็ตกลงใจทื่อๆ ที่จะทำตามกลยุทธ์ของมันนั้น เจ้าเสือจำใจปล่อยเหยื่อในที่สุดอย่างแสนเสียดาย ว่ายน้ำกลับเข้าฝั่ง […] หมูป่าตัวที่เป็นเหยื่อของมันลอยขึ้นมาบนผิวน้ำประมาณหนึ่งชั่วโมงหลังจากนั้น […] เจ้าเสือรอคอยอยู่นานถึงสิบชั่วโมงเต็มโดยไม่ยอมจากไป แต่ก็เมื่อมันเห็นว่าปลอดภัยโดยแท้จริงแล้วนั่นแหละ มันถึงได้ตัดสินใจว่ายน้ำลงไปคาบซากหมูป่าเข้ามา ดูความเด็ดเดี่ยวของมันซี ดูสัญชาตญาณอันมืดบอดของมันซี แต่พวกเอ็งดูเอาเถอะ แม้แต่เสือก็ยังเกรงขามจระเข้ แปลกพิลึก แต่ข้าไม่เกรงขามจระเข้เลย […] ข้าเคยจับจระเข้ในบึงเหล่านั้น […] ข้าเคยได้ยินข่าวเรื่องจระเข้กินคนที่ไหนสักแห่งที่ปักษ์ใต้ […] เมื่อสักสิบกว่าปีก่อน คือในปีเก้าเจ็ดเก้าแปด มันเป็นจระเข้กินคน […] แล้วมันก็ถูกชาวบ้านในแถบถิ่นย่านนั่นตามล่า […] และในที่สุดมันก็ตาย เส้นทางชีวิตของจระเข้กินคนอันมีฤทธิ์เดชเป็นที่ย่นระย่อก็ถึงกาลอวสานด้วยวิธีการอันเรียบง่ายและแปลกประหลาดเยี่ยงนี้เอง […] (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 100-106)

ในด้านการแตกเรื่องของนิทาน เรื่องการบุกเบิกป่าของหลวงพ่อเทียนแสดงให้เห็นถึงลักษณะการถ่ายทอดหรือการแพร่กระจายเรื่องและอนุภาคของนิทานจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่งซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของนิทานมุขปาฐะ ศิราพร ฐิตะฐาน (2523) อธิบายว่าด้วยเหตุที่นิทานเป็นสิ่งเล่าสืบต่อกันมาโดยทางวาจา เรื่องราวจึงไม่แน่นอนคงที่หรือตายตัว อาจมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องราวหรือรายละเอียด ขึ้นอยู่กับผู้เล่าและสังคมวัฒนธรรมที่แวดล้อม จึงทำให้นิทานเรื่องหนึ่งแปรเปลี่ยนไปเป็นอีกสำนวนหนึ่งหรือแตกเรื่อง (mutation) ออกเป็นนิทานอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องที่เปลี่ยนแปลงไปอาจเกิดจากการละความ การเปลี่ยนรายละเอียด การขยายความ การผนวกเรื่อง การสลับเหตุการณ์ และการอนุรักษ์ตนเอง ในเรื่องเจ้าการะเกดฯ เรื่องที่หลวงพ่อเทียนเล่าถึงการบุกเบิกป่าของแม่ของท่านและเมียของท่านก็มีลักษณะของการอนุรักษ์ตนเองคือเล่าเรื่องเดิมซ้ำ แต่ได้เปลี่ยนรายละเอียดสลับเหตุการณ์หรือตัวละคร นำเรื่องหรืออนุภาคจากเรื่องอื่นเข้ามาผนวกโดยคงอนุภาคที่สำคัญไว้

เรื่องราวที่ครอบครัวของหลวงพ่อเทียนพยายามบุกเบิกป่าทำนาปลูกข้าว ตั้งแต่แม่ดวงบุหลันของท่านจนถึงการะเกดเมียของท่านนั้น หลวงพ่อเทียนเล่าเหมือนกับจะเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกัน เป็นเรื่องที่แยกขาดออกจากกัน แต่หากพิจารณาโครงสร้างของเรื่องแล้วจะเห็นได้ว่าทั้งสองเรื่องมีแบบเรื่องนิทานเป็นแบบเดียวกัน เป็นเรื่องเดียวกันที่เล่าซ้ำสองครั้ง ครั้งแรกคือเรื่องความพยายามของแม่ดวงบุหลันที่จะทำนาและครั้งที่สองคือเรื่องความพยายามของการะเกดที่จะทำนาเช่นเดียวกัน เรื่องทั้งสองต่างจบลงด้วยการไล่ล่าเสือ ซึ่งในเรื่องของการะเกดยังมีการนำเรื่องของเสือสมิงที่หลวงพ่อเทียนเคยเล่าไว้มาผนวกเข้าไว้ด้วย ทำให้เรื่องขยายออกและซับซ้อนมากขึ้น

ในเรื่องแรก แม่ดวงบุหลันต้องการทำนาปลูกข้าว ตรงข้ามกับตาเฒ่าจันทน์ผาพ่อของหลวงพ่อเทียนซึ่งเป็นพราน ตาเฒ่าจันทน์ผาไม่สนับสนุนการทำนาของแม่ดวงบุหลัน จึงมีเพียงหลวงพ่อเทียนในวัยเด็กเพียงคนเดียวที่แม่ดวงบุหลันถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการทำนาให้ เนื่องจากลูกสาวคนโตพีสาวของหลวงพ่อเทียนตายตั้งแต่เด็กโดยเล่าลือกันว่าถูกเสือคาบไปกิน การทำนาของแม่ดวงบุหลันประสบปัญหาภัยธรรมชาติเป็นครั้งคราว แต่แม่ดวงบุหลันไม่ยอมแพ้และพยายามปลูกข้าวใหม่จนได้ผลดี ต่อมาแม่ดวงบุหลันถูกเสือขบตาย ตาเฒ่าจันทน์ผาตามล่าเสือตัวนั้นโดยใช้ศพของแม่ดวงบุหลันเป็นเหยื่อล่อ จนจับเสือได้และนำมาทรมานจนตาย หลังจากฆ่าเสือได้ ตาเฒ่าจันทน์ผาตามล่าเสือตัวอื่นต่อไป และฝึกให้หลวงพ่อเทียนเป็นพรานป่า การทำนาจึงล้มเลิกไปโดยปริยาย

ส่วนเรื่องของการะเกดนั้น เริ่มจากการแต่งงานระหว่างหลวงพ่อเทียนกับการะเกด หลังจากแต่งงาน การะเกดมาอยู่ที่แพรกหนามแดงและต้องการทำนาในพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่กว่าที่หลวงพ่อเทียนมีอยู่เดิม หลวงพ่อเทียนจึงพาการะเกดและตาเฒ่าจันทน์ผาเข้าป่าไปบุกเบิกที่ดินใหม่ และลงทุนซื้อวัว ซื้อพันธุ์ข้าวสำหรับทำนา การทำนาได้ผลดี ทำให้หลวงพ่อเทียนและตาเฒ่าจันทน์ผามีกำลังใจที่จะทำนาและเลิกเป็นพรานล่าสัตว์หาของป่า แต่แล้ววัวที่หลวงพ่อเทียนใช้ไถนาก็ถูกเสือคาบไปกินสองตัว ตาเฒ่าจันทน์ผาและหลวงพ่อเทียนจึงออกล่าเสือตัวนั้น แต่กลับกลายเป็นตาเฒ่าจันทน์ผาที่ถูกเสือขบตาย หลวงพ่อเทียนตามล่าเสือตัวนั้นโดยใช้ศพตาเฒ่าจันทน์ผ่าเป็นเหยื่อล่อจนจับเสือได้ หลวงพ่อเทียนทรมานเสือตัวนั้นและฆ่าทิ้ง ต่อมาคืนหนึ่งหลวงพ่อเทียนเห็นเสือตัวนั้นกำลังไถนาจึงฆ่าเสีย แต่กลับกลายเป็นการะเกดที่ถูกหอกสามง่ามของหลวงพ่อเทียนแทงตาย หลวงพ่อเทียนล้มเลิกการทำนา ออกจากป่าและบวชเป็นพระตั้งแต่นั้น

โครงสร้างหรือแบบเรื่องนิทานของทั้งสองเรื่อง คือการริเริ่มทำนาปลูกข้าว การเผชิญกับอุปสรรคขัดขวาง การไล่ล่าเสือร้าย และการล้มเลิกการทำนามีอนุภาคที่ซ้ำกันคือการถกเสือขบหรือคาบไปกิน การไล่ล่าเสือ การใช้ศพเป็นเหยื่อล่อเสือ การทรมานเสือ เป็นต้น แต่ในเรื่องที่สองคือเรื่องของการะเกดนั้นมีรายละเอียดเพิ่มเติมทำให้เรื่องขยายออกมากขึ้นอีก โดยผู้เล่านำเอาอนุภาคจากเรื่องเสือสมิงมาใส่เข้าไว้ด้วย โดยเฉพาะอนุภาคเสือแปลงร่างเป็นคนซึ่งเป็น “เรื่องของเสือกินคนที่ในที่สุดวิญาณของคนที่ถูกมันฆ่าเข้าสิงสู่มันและทำให้มันกลายเป็นเสือสมิงไป มีเรือนกายเป็นเสือ แต่มีวิญญาณชั่วครอบครองเป็นเจ้าเรือนและมันก็สามารถที่จะแปลงร่างเป็นคนได้และมันก็แปลงร่างเป็นเมียของพรานที่ขัดห้างซุ่มซ่อนจะยิงมันอยู่ในท่ามกลางค่ำคืนของป่าดิบอันมืดมิด เรียกพรานลงมาจากห้างและกลับกลายเป็นเสือและฆ่าพรานผู้นั้นเสีย” (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 52) และอีกอนุภาคหนึ่งคือคนแปลงร่างกลายเป็นเสือซึ่งหลวงพ่อเทียนเคยเล่าไว้สามเรื่องด้วยกัน เรื่องที่หนึ่งเป็นนิทานต้นแบบที่แตกเรื่องออกมาเป็นเรื่องที่สองและสาม เรื่องแรกเล่าว่า “จอมขมังเวทย์ผู้หนึ่งซึ่งจดจำมนตร์วิเศษบทหนึ่งได้จนเจนใจซึ่งหากร่ายออกมาแล้วจะทำให้ผู้ร่ายกลายเป็นเสือได้ […] และครั้งหนึ่งพ่อของจอมขมังเวทย์ผู้นั้นมีเรื่องขัดแย้งกับเจ้าเมืองและถูกเจ้าเมืองฆ่าตาย จอมขมังเวทย์ผู้นั้นจึงร่ายมนตร์กลายร่างเป็นเสือและฆ่าเจ้าเมืองเสียเป็นการแก้แค้น” (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 52) เรื่องที่สองและสามมีแบบเรื่องเดียวกันคือ จอมขมังเวทย์มีมนตร์วิเศษสำหรับแปลงร่างเป็นเสือ ต่อมามีเหตุให้แปลงร่างเป็นเสือ แต่ก่อนจะแปลงร่างเป็นเสือได้สั่งความลูกชายให้เตรียมน้ำมนตร์ทำพิธีคืนร่างกลับเป็นคน แต่ลูกชายทำขันน้ำมนตร์หลุดหล่น ทำให้จอมขมังเวทย์ต้องกลายเป็นเสือตลอดไป ความแตกต่างระหว่างเรื่องที่สองกับเรื่องที่สามอยู่ที่ตัวจอมขมังเวทย์ คนหนึ่งเป็นคนชั่ว แปลงร่างไปเพื่อกระทำการหยาบช้าสามานย์ต่างๆ ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นคนดี แปลงร่างเป็นเสือเพื่อปราบเสือที่มาอาละวาดในชุมชน

เรื่องของเสือที่ถูกวิญญาณของคนตายเข้าครองร่างจนกลายเป็นเสือสมิงกับเรื่องคนกลายร่างเป็นเสืออาจดูเหมือนแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ในระดับลึกแล้วเรื่องทั้งสองมีแบบเรื่องแบบเดียวกันคือการที่คน (ไม่ว่าจะเป็นหรือตาย) เข้าไปอยู่ในร่างของเสือ อนุภาคในร่างเสือนี้มาปรากฏในเรื่องที่หลวงพ่อเทียนเล่าเป็นสองลักษณะด้วยกัน ลักษณะแรกยังคงแบบการกลายร่างจากคนเป็นเสือไว้ตามเรื่องเดิม แต่เป็นเพียงความฝันหรือภาพลวงตาของหลวงพ่อเทียน

[…] ผิวพรรณของข้าเองก็เหลืองซีดไปทั้งเนื้อตัวและหน้าตาและบางขณะข้าก็เห็นรอยแถบสีดำคล้ำพาดอยู่เป็นแนวๆ เหนือเนื้อตัวอันเหลืองซีดของข้า และข้าก็ต้องกะพริบตาจ้องมองและพบว่าตนเองตาฝาดไป มีอยู่คืนหนึ่ง ข้าฝันว่าข้าได้กลายเป็นเสือ รู้สึกนึกคิดอย่างเสือและข้าก็เดินไปรอบๆ กระท่อมของข้า และเดินรอบๆ ที่นาของข้า ข้าเป็นเสือดุร้ายที่หวงแหนอาณาเขตของข้าและข้าก็ยินดีที่จะปกป้องทุกชีวิตในอาณาเขตนั้น ข้ายินดีที่ต่อสู้กับสัตว์ทุกตัวหรือมนุษย์ทุกผู้ทุกนามที่บุกรุกเข้ามา ในขณะเดียวกันข้าก็รู้สึกโศกเศร้าด้วยที่ข้าได้กลายเป็นเสือไปเสียแล้ว […] (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 194)

แบบที่สองเป็นการสลับเหตุการณ์ คือแทนที่คนจะกลายร่างเป็นเสือหรือเข้าครอบงำเสือ เสือกลับเข้าครอบงำและสิงสู่อยู่ในร่างของคนคือการะเกด จากวิธีการเล่าของหลวงพ่อเทียนทำให้เข้าใจว่าวิญญาณเสือที่หลวงพ่อเทียนฆ่าเข้าสิงร่างของการะเกด โดยอธิบายให้เห็นว่าการะเกดมีลักษณะผิดปกติไปจากคนธรรมดา “ แววตาของเจ้าเริ่มขุ่นขวาง ตึงเขม็งและแก้วตาเริ่มกลายเป็นสีเหลือง เจ้าหลับใหลเหมือนสิ้นสติในเวลากลางวันและเอาแต่ละเมอเพ้อคลั่งไม่ได้ศัพท์ เจ้ารังเกียจรังงอนแสงสว่าง ” (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 190) “ มีบางวันเมื่อพิษไข้ลดลง เจ้าการะเกดก็ไปช่วยข้าไถคราด แต่ไอ้ลมไอ้ไฟ [วัว] มันเป็นอะไรของมันก็ไม่รู้ มันขยาดแขยงเจ้าการะเกด มันกลัว มันแตกตื่น พยายามสลัดแอกออกเตลิดหนี ” (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 193) “ ผิวพรรณของเจ้ายิ่งเหลืองซีดไปทั้งเนื้อทั้งตัวและหน้าตาและบางขณะข้าก็เห็นรอบแถบสีดำคล้ำพาดอยู่เป็นแนวๆ เหนือสีเหลืองซีดนั้น ” (แดนอรัญ แสงทอง 2546 :194) กระทั่งคืนหนึ่งหลวงพ่อเทียนลุกออกมาเดินที่นอกเรือนเห็นเสือกำลังไถนาอยู่จึงฆ่าเสีย แต่กลับเป็นการะเกดที่ถูกฆ่า

[…] ผู้ที่กำลังยืนขย่มเหยียบอยู่บนคันซี่คราดนั้นหาใช่เจ้าการะเกดไม่ หากแต่คือเสือใหญ่ […] ข้าวิ่งรี่เข้าไปหามัน ข้าเงือดเงื้อหอกสามง่ามขึ้นเหนือหัว และพุ่งออกไปสุดกำลัง หอกเหล็กสามง่ามอันนั้นปักแน่นลงบนกลางหลังของมัน มันหันมามองดูข้าแวบหนึ่ง กรีดร้องโหยหวนเยือกเย็นดังก้องไปทั่วป่า และวิ่งเขยกหายไปในแสงทึมเทา […] เมื่อข้าเข้าไปในกระท่อมอีกครั้ง ข้าได้ยินเสียงเจ้าการะเกดร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวดอันสุดทานทน สะอึกสะอึ้นปิ้มว่าจะขาดใจด้วยความขมขื่น ข้าจุดตะเกียง ไขแสงสว่างโพลงเต็มที่ บนแคร่ไม้ไผ่เจ้าการะเกดนอนตะแคงหันหลังให้ข้า ท้องอันป่องนูนของเจ้าเบียดยันพื้นแคร่ กลางหลังของเจ้ามีหอกสามง่ามปักตรึงอยู่ […] (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 196-197)

การเล่าถึงการเล่าเรื่องของหลวงพ่อเทียนเป็นการให้ภาพและบรรยากาศการเล่านิทานมุขปาฐะในยุคอดีตก่อนที่วัฒนธรรมลายลักษณ์ เช่น นวนิยายจะแพร่หลายเข้ามาแทนที่ เรื่องเล่าของหลวงพ่อเทียนให้ภาพของการปรุงเรื่องขึ้นมาเล่าจากแหล่งที่มาอันหลากหลาย การเล่าเรื่องของหลวงพ่อเทียนนี้อาจนำมาเป็นคู่เทียบกับนวนิยาย ทั้งเรื่องให้เห็นนัยของการเล่านิทานที่เรื่องเจ้าการะเกดฯ สื่อออกมาผ่านกลวิธีการเล่าเรื่องของผู้แต่ง

การเล่าเรื่องของแดนอรัญ แสงทอง

กลวิธีเล่าเรื่องเจ้าการะเกดฯ เป็นกลวิธีที่แดนอรัญ แสงทองใช้ตอบโต้และต่อรองกับวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งแผ่ขยายเข้ามาในดินแดนตะวันออกโดยมีนวนิยายเป็นตัวแทน การสื่อนัยถึงการรุกตะวันออกของชาติตะวันตก และการตอบโต้ปรากฏให้เห็นชัดเจนในการอ้างถึงเหตุการณ์ ร.ศ. 112 และการเล่าถึงกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รวมถึงเรื่องเล่าเกี่ยวกับชาวอินเดียนแดงที่ต่อสู้กับผู้ล่าอาณานิคม การตอบโต้การแผ่อิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกของนวนิยายเรื่องนี้ปรากฏในรูปของการรื้อฟื้นกลวิธีการเล่าเรื่องแบบนิทานตะวันออกขึ้นมาใช้ในการเล่านวนิยายเรื่องนี้

เมื่อพิจารณานิยายเรื่อง เจ้าการะเกดฯ จนเห็นได้ว่า แดนอรัญ แสงทอง เล่าเรื่องด้วยการเลียนแบบการเล่านิทานของชาวบ้าน ประการแรกคือการเล่าเรื่องโดยเปิดเผยเสียงของผู้เล่าให้ปรากฏชัด อีกประการหนึ่งคือการผสมผสานเรื่องจากหลายแหล่งเข้าด้วยกัน และสุดท้ายคือการเล่าเรื่องซ้อนเรื่อง

การเล่าเรื่องโดยเปิดเผยเสียงของผู้เล่าให้ปรากฏชัดทำให้การเล่าเรื่องคล้ายกับการเล่านิทานมุขปาฐะ ผู้แต่งใช้มุมมองของผู้รู้แจ้ง (omniscience) ในการเล่าเรื่อง โดยเล่าถึงอนาคตและอดีตของคืนที่หลวงพ่อเทียนเล่าเรื่องของตน ผู้เล่าเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ เหมือนกับว่าจะไม่มีการตกแต่งขัดเกลาเรียบเรียง ไม่มีบทสนทนาที่แยกออกมาต่างหากจากการบรรยาย เนื้อเรื่องจึงเสนอเป็นย่อหน้าขนาดยาว เว้นวรรคน้อย มีการซ้ำความบ่อยครั้ง ระหว่างนั้นผู้เล่าสอดแทรกการวิพากษ์วิจารณ์ในการเล่าเรื่องอย่างเปิดเผยผ่านน้ำเสียงและคำสบถ ทำให้มีผู้เล่าและผู้ฟังปรากฏในกระบวนการเล่าเรื่อง ซึ่งทำให้ความเป็นเรื่องเล่าเด่นชัดขึ้น

[…] พระภิกษุรูปนี้ชราภาพหง่อมหงำแล้วและใครต่อใคร (ยกเว้นตัวแกเอง) ก็ต่างพากันลงความเห็นว่าแกเป็นคนแก่ที่ดูหนุ่มแน่นที่สุดและมีสุขภาพแข็งแรงที่สุดเท่าที่เขาเคยพบ ผมของแกคิ้วของแกหนวดเคราของแกและแม้แต่ขนจมูกของแกที่โผล่แพลมออกมานั้นเป็นขาว […] แกเป็นพระและเป็นผู้อาวุโสสูงสุดแห่งแพรกหนามแดง ซึ่งทำให้ผู้คนต่างเคารพแก จิตใจที่ยิ่งใหญ่ของแกทำให้ผู้คนรักแก ผู้คนและแม้แต่พระภิกษุด้วยกันให้อภัยแกในข้อที่แกต้องอาบัติหยุมหยิม เพราะเวลาเดินเข้ามาในหมู่บ้านแกไม่ได้สำรวมสายตามองข้างหน้าไม่เกินสามก้าวตามพุทธบัญญัติ หากแต่ดูนั่นดูนี่และมองไปไกลๆ เวลาไม้ใหญ่ในเขตวันแผ่กิ่งก้านเกะกะ แกก็จะถือขวานป่ายปีนขึ้นไปลิดรอนเสียเองแทนที่จะใช้เณรหรือวานให้ชาวบ้านทำให้ ไม่ใช่เฉพาะเพียงในลำคลองหน้าวัดเท่านั้นที่แกปักป้าย “ เขตอภัยทาน ” แกขยับขยาย “เขตอภัยทาน” นี้ออกไปอีกตามแนวชายคลองจนไกลลิบ เวลาที่ครูโรงเรียนประชาบาลวัดแพรกหนามแดงคนใดคนหนึ่งไม่มาสอนแกก็จะดีอกดีใจเป็นหนักหนา ขมีขมันเข้าทำการสอนแทน เวลาหมากัดกันแกก็มักจะเข้าไปห้ามเสียฉิบทำให้ผู้คนที่มุงดูการต่อสู้นั้นอยู่บังเกิดความขุ่นเคืองเพราะไม่อาจรู้ได้ว่าหมาตัวไหนเก่งกว่าตัวไหน เวลาวัวขวิดกันแกก็มักจะเข้าไปห้ามเสียฉิบทำให้ผู้คนที่มุงดูการต่อสู้นั้นอยู่บังเกิดความขุ่นเคืองเพราะไม่อาจรู้ได้ว่าวัวตัวไหนเก่งกว่าตัวไหน […] (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 57-58)

ในด้านการผสมผสานเรื่องจากหลายแหล่งเข้าด้วยกัน แดนอรัญ แสงทอง เปิดเผยที่มาของอนุภาคต่างๆ ที่นำมาใช้ในการสร้างเรื่องเล่าของหลวงพ่อเทียนไว้ในส่วนท้ายของหนังสือ การเปิดเผยที่มาของอนุภาคต่างๆ นี้แสดงถึงความตระหนักในความเป็นสหบท (intertextuality) ของเรื่องเล่าอันเกิดจากการผสมผสานวัตถุดิบที่มีอยู่แล้วอย่างหลากหลายร้อยเรียงขึ้นเป็นเรื่องใหม่ การแต่งเรื่องเช่นนี้สอดรับกับกระบวนการเล่านิทานซึ่งมีการรับและสืบทอดเรื่องเล่าเหล่านี้ต่อไปด้วยการเล่าเรื่องใหม่ ซึ่งในที่นี้คือตัวนวนิยายเรื่องนี้เอง

[…] เรื่องราวเกี่ยวกับความลึกลับของป่าและสัตว์ป่าซึ่งเกี่ยวพันกับความเชื่อทางไสยศาสตร์ ข้าพเจ้าได้แรงบันดาลใจและข้อมูลมาจากหลายแหล่งแห่งที่ ที่จำเป็นต้องระบุก็คือจาก “นิทานโบราณคดี” ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบทที่ชื่อ “เสือใหญ่เมืองชุมพร” จาก “คัมภีร์ไสยศาสตร์ฉบับสมบูรณ์” ของ “ญาณโชติ” […] จากภาพยนตร์สารคดีชีวิตสัตว์ชุดหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าเคยดูตั้งแต่เป็นเด็กและจดจำไม่ได้ว่าเป็นของบริษัทวอลต์ ดิสนีย์ ใช่หรือไม่ […] ผสมผสานกับตำนานปรัมปราเกี่ยวกับป่าดงของไทย (ซึ่งน่าจะมีเล่าขานกันอยู่ในชุมชนชนบททุกแห่ง) […] เรื่องเล่าขานเกี่ยวกับการเดินธุดงค์นั้นข้าพเจ้าได้มาจาก “ธุดงควัตร” ของ ท. เลียงพิบูลย์ เรื่องเล่าขานเกี่ยวกับการล่าจระเข้นั้นข้าพเจ้าได้มาจาก “เพชรพระอุมา” ของ “พนมเทียน” เรื่องเล่าขานเกี่ยวกับสาเหตุการสวรรคตของพระพุทธเจ้าหลวงนั้นข้าพเจ้าได้มาจาก “นิทานชาวไร” ของ น.อ.สวัสดิ์ จันทนี เรื่องเล่าขานเกี่ยวกับความฮึดหื้อดื้อดึงของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์เมื่อครั้งที่ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีและเมืองตราดนั้นข้าพเจ้าจดจำไม่ได้ว่าข้าพเจ้าอ่านพบมาจากหนังสือเล่มไหนหรือได้ยินได้ฟังมาจากใคร […] กรรมวิธีในการทรมานทรกรรมศัตรูคู่อาฆาตอันวิปริตและหฤโหดอย่างที่ตาเฒ่าจันทน์ผากระทำต่อเสือที่ฆ่าเมียแกนั้น ข้าพเจ้าได้แรงบันดาลใจมาจากนวนิยายเรื่อง Torture Garden ของ Octave Mirbeau […] ส่วนวาระสุดท้ายของเจ้าการะเกดนั้น ผู้ที่คุ้นเคยกับตัวละครในเทพปกรณัมกรีกอย่างเพนธุสและอะกาเว่ออยู่บ้างก็คงไม่ประหลาดใจแต่อย่างใด (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 199-201)

สุดท้ายคือการเล่าเรื่องซ้อนเรื่อง นวนิยายเรื่องเจ้าการะเกดฯ มีเรื่องเล่าซ้อนกันอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่องของหลวงพ่อเทียนหลังจากบวชเป็นพระ เรื่องของหมู่บ้านแพรกหนามแดง เรื่องของเด็กๆ ที่นั่งฟังหลวงพ่อในคืนนั้น เรื่องการเล่าเรื่องของหลวงพ่อเทียน และในเรื่องที่หลวงพ่อเทียนเล่าก็ยังมีเรื่องต่างๆ ซ้อนอยู่อีกชั้นหนึ่งดังได้กล่าวแล้ว การเล่าเรื่องเช่นนี้เป็นกลวิธีที่ล้อกับรูปแบบนิทานเอเชียดังที่กล่าวมาแล้ว โดยเฉพาะการให้น้ำหนักแก่เรื่องแทรกเป็นสำคัญ โดยมีส่วนต้นเรื่องเป็นมูลเหตุของการเล่าเรื่องแทรก ในเรื่องเจ้าการะเกดฯ ส่วนต้นของนวนิยาย 60 หน้าแรกเป็นการเล่าถึงคืนวันที่หลวงพ่อเทียนเล่าเรื่องและมูลเหตุที่หลวงพ่อเทียนเล่าเรื่องการบุกเบิกป่าขึ้นมาก “ […] ผู้คนที่ยังหลงเหลืออยู่ในขณะนี้เซื่องซึมเกินไป ถูกทำให้เชื่องเพราะความสิ้นหวังที่มากเกินไป พวกเขาล้วนแล้วแต่เป็นคนอ่อนแอหรือน่าสมเพชไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เป็นผู้คนที่ถูกสาปบนแผ่นดินที่ถูกสาป แกจึงไม่อยากเอาใจใส่ต่อพวกเขาและหันไปเอาใจใส่ต่อเด็กๆ แทน ซึ่งเป็นการกระทำที่มีความหวังมากกว่า ซึ่งยังความสบายใจให้มากกว่า แกเริ่มต้นด้วยการถอนหายใจและเริ่มต้นพูดด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ ” (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 60)

การตอบโต้วัฒนธรรมตะวันตกอีกประการหนึ่ง คือการให้ความสำคัญแก่เรื่องลี้ลับมหัศจรรย์ตามความเชื่อในสังคมไทย โดยเฉพาะในเรื่องที่หลวงพ่อเทียนเล่า ลักษณะนี้เป็นการแย้งกับอิทธิพลความเจริญก้าวหน้าทางความคิดความรู้วิทยาศาสตร์และวิทยาการสมัยใหม่ รวมถึงวรรณกรรมรูปแบบใหม่จากตะวันตกที่เน้นการเลียนแบบชีวิตในโลกความเป็นจริง แดนอรัญ แสงทอง ใช้ความลี้ลับมหัศจรรย์ในเรื่องเล่าของหลวงพ่อเทียนแสดงให้เห็นความรางเลือนของเส้นแบ่งระหว่างเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับเรื่องราวที่เกิดจากจินตนาการ โต้ตอบกับการที่วรรณกรรมถูกยึดถือเป็นภาพสะท้อนหรือตัวแทนของความเป็นจริง ตัวละครหลวงพ่อเทียนเป็นผู้ชี้จุดอ่อนของเรื่องเล่าที่เล่าถึงความเป็นจริงและเน้นความเหมือนจริงว่าเรื่องเล่าเช่นนั้นและการเล่าเรื่องเช่นนั้นไม่น่าสนใจ

[…] แกไม่เคยบอกใครเลยว่าเนื่องจากแกเป็นแฟนประจำของรายการวรรณกรรมทางอากาศ แกก็เลยริอ่านที่จะเป็นนักประพันธ์กับเขาขึ้นมาบ้าง และแกก็ใช้เวลาว่างที่มีอยู่เหลือเฟือของแกขีดเขียนเรื่องราวหลายบทหลายตอนในชีวิตของแกลงไป ซึ่งบางเรื่องก็จบสิ้นบริบูรณ์ในตัวเอง บางเรื่องก็ค้างคาอยู่ แต่งานเหล่านี้เมื่อแกเอามาอ่านทบทวนแกก็พบว่าล้วนแล้วแต่เหลวไหลไร้สาระ ขาดสีสันและรสชาติ และแม้ว่าเรื่องทั้งหมดจะเป็นเรื่องจริง แต่ก็ดูไม่น่าเชื่อถือ […] (แดนอรัญ แสงทอง 2546 :31)

ในทางตรงข้าม ความเป็นจริงเ องกลับพลิกผันอย่างเหลือเชื่อราวกับเรื่องแต่งจากจินตนาการ ดังเรื่องของวันรุ่ง เทพธาโร กับไพร พาดไฉน ซึ่งผู้เล่ากล่าวว่าเหมือน “เรื่องนิยายน้ำเน่า” (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 22) เพราะเพื่อนรักกลับต้องมาสังหารกันเองด้วยเหตุอันไม่ใช่เรื่องของตน

เสน่ห์ของเรื่องเล่าจึงมิได้อยู่ที่การถ่ายทอดความเป็นจริง หากแต่เป็นกลวิธีการเล่าและจินตนาการในการผสมผสาน “ความจริง” กับ “ความเท็จ” เข้าด้วยกันและมิใช่เพื่อจุดมุ่งหมายอื่นใดนอกจากการเล่าเรื่อง “หลวงพ่อเทียนเล่าเพียงเพื่อฆ่าเวลา เพียงเพื่อทำลายความเบื่อหน่าย แกก็ไม่เข้าใจตนเองเหมือนกันว่าแกได้บอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นออกไปตั้งหลายครั้งหลายหนได้อย่างไร เพื่อใคร เพื่อตัวแกเองหรือเพื่อเด็กๆ ที่ฟังกันแน่ ทุกเรื่องราวนั้นแกไม่เคยยืนยันว่าเป็นเรื่องจริง แต่แกก็ไม่ได้ยืนยันว่ามันเป็นเท็จทั้งแกก็ไม่ได้ยืนยันว่ามันเรื่องจริงที่เป็นเท็จอยู่บางส่วน หรือเป็นเรื่องเท็จที่มีความจริงอยู่บางส่วนอีกด้วยเช่นกัน” (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 56)

แนวคิดดังกล่าวปะทะเข้ากับความนิยมและความเชื่อของวงวรรณกรรมไทย โดยส่วนใหญ่ที่มุ่งมอบภารกิจการรับใช้สังคมให้วรรณกรรมและนักเขียนนั่นคือการเป็นหนทางแก้ปัญหาสังคม ไม่ว่าจะโดยการสะท้อนภาพ การเสนอทางออกให้แก่สังคมและหรือการทำหน้าที่อบรมสั่งสอน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมแนวสัจนิยมและสัจนิยมแนวสังคมนิยมของตะวันตก มาตั้งแต่ยุคแรกของนวนิยายไทย คือตั้งแต่ พ.ศ. 2470 ความล้มเหลวของภารกิจดังกล่าวถูกนำเสนอผ่านความล้มเหลวของหลวงพ่อเทียนที่หวังจะฝากอนาคตของแพรกหนามแดงไว้ที่เด็กๆ ที่ได้ฟังเรื่องเล่าของหลวงพ่อซึ่งได้แก่ “ไอ้ชุบ ไอ้ชิด ไอ้ไพร ไอ้พัน ไอ้เผือก อีกลอย ไอ้วันรุ่ง อีวันแรม และอีรวง และอีแพร และลูกชายโทนของนายคราม คิชฌกูฎ” (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 26)

เด็กๆ เหล่านี้เป็นความหวังของหลวงพ่อเทียนมากกว่าผู้ใหญ่ แต่เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากคืนที่หลวงพ่อเล่าเรื่องตนเองโดยคาดหมายว่าเรื่องเล่าของตนจะส่งผลทางใดทางหนึ่ง เด็กๆ ก็เติบโตแยกย้ายกันไป ซึ่งนอกจากพัน เนรภูสี บวชและกลายเป็นเจ้าอาวาสวัดแพรกหนามแดงต่อจากหลวงพ่อเทียนแล้ว คนอื่นๆ ต่างมีอนาคตของตนเองซึ่งน้อยนักที่จะกลับคืนสู่บ้านเกิด แพร อัญชัญ หนีตามนักร้องลูกทุ่งไปและในที่สุดกลายเป็นโสเภณีในเมือง ไพร พาดไฉน ไปทำงานเป็นกรรมกรรับจ้างที่ประจวบคีรีขันธ์ กลายเป็นผู้ก่อการร้ายและถูกยิงตายโดยวันรุ่ง พุทธาโร เพื่อนในวัยเด็กที่กลายเป็นกองอาสาสมัครรักษาดินแดนทำหน้าที่ปราบปรามผู้ก่อการร้าย โดยเฉพาะลูกของคราม คิชฌกูฎ ที่ไปเรียนหนังสือในเมือง เมื่อโตขึ้นเขายึดอาชีพเป็นนักเขียนและกลายเป็นนักเขียนไส้แห้ง เขากลับมาที่หมู่บ้าน เห็นว่าหมู่บ้านกำลังล่มสลายและไม่มีทางทำมาหากินก็จากไปอีก โดยปฏิเสธที่จะช่วยกอบกู้หมู่บ้านให้พ้นจากความล่มสลาย

[…] และชายหนุ่มผู้กลายเป็นคนแปลกหน้าในดินแดนบ้านเกิดของตนก็เบือนหน้าหนีจากคำร้องทุกข์ของชาวแพรกหนามแดง ปฏิเสธที่จะลงหลักปักฐานที่นั่น พูดว่ามันจะกลับกรุงเทพฯ พูดว่าโดยธรรมชาติแล้วมันเป็นคนที่วิ่งไล่ไขว่คว้าความฝันและจินตนาการ พูดว่ามันมีภารกิจทางวรรณกรรม พูดว่ามันจะไม่กลับไปแพรกหนามแดงอีก พูดว่าขอโทษด้วยที่มันไม่อาจอยู่ร่วมกับชาวแพรกหนามแดงขณะเผชิญหน้ากับองก์สุดท้ายของโศกนาฏกรรม พูดว่าบทบาทของวีรบุรุษในการกอบกู้แพรกหนามแดงนั้น ไม่ใช่บทบาทที่มันสมควรจะได้รับหากแต่ควรเป็นบทบาทของผู้อื่นและหลังจากเดินเหินไปรอบๆ หมู่บ้านและท้องทุ่งที่มันเกิดและเติบโตมาอยู่สามวันสามคืนราวกับวิญญาณของผีตายโหง มันก็จากแพรกหนามแดงไปโดยไร้วี่แววเช่นเดียวกับเมื่อตอนมันมา ลูกอีดอก […] (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 25)

แดนอรัญ แสงทอง เยาะหยันภารกิจในการแก้ปัญหาสังคมของนักเขียน โดยเฉพาะปัญหา “นายทุนกับชาวไร่ชาวนา” ซึ่งเป็นประเด็นหลักในวรรณกรรมเพื่อชีวิตของไทยจำนวนมาก อันสืบเนื่องมาจากอุดมการณ์วรรณกรรมแบบสัจนิยมแนวสังคมนิยม ซึ่งมีรากฐานมาจากลัทธิมากซ์ ผู้แต่งเสนอภาพความล่มสลายของหมู่บ้านแพรกหนามแดงในแบบเดียวกันกับที่อาจพบได้ในวรรณกรรมเพื่อชีวิตอีกหลายเรื่อง แต่ปัญหาถูกทิ้งค้างไว้อย่างไม่มีทางออก

[…] เงาของความเสื่อมถอยทรุดโทรมได้ครอบงำท้องทุ่งแห่งนี้มาเนิ่นนานแล้ว และเงานั้นก็ดูจะเพิ่มขนาดและความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นทุกๆ ทีแล้วนับตั้งแต่ผืนป่าถูกทำลายไป […] หมู่บ้านกำลังจะร้างและคงจะต้องร้างอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้คนพื้นถิ่นดั้งเดิมและลูกหลายของเขาจะถูกกดลงเป็นทาส เพราะแม้แต่ในขวบปีเหล่านั้น กรรมสิทธิ์ที่ดินที่เคยเป็นของชาวแพรกหนามแดงมาแต่ไหนแต่ไรก็กำลังเปลี่ยนเป็นของคนต่างถิ่น และแก [หลวงพ่อเทียน] ก็รู้ดีว่าในอีกไม่ช้าไม่นานแพรกหนามแดงก็อาจจะมีสนามกอล์ฟและลูกหลานชาวแพรกหนามแดงก็อาจจะกลายเป็นแคดดี้ มีนายทุนต่างถิ่นเข้ามาเพราะเห็ดฟาง โรงเรือนอุตสาหกรรมและลูกหลานชาวแพรกหนามแดงก็จะกลายเป็นลูกจ้างอยู่ในฟาร์มเห็ดนั้น หรือจะมีบ้านพักตากอากาศรอบๆ ทะเลสาบที่ถูกขุดขึ้นและมีชื่อว่าแพรกหนามแดงเลควิวและลูกหลานชาวแพรกหนามแดงก็อาจจะกลายเป็นคนสวนหรือพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่ในบ้านพักตากอากาศนั้น […] หรืออาจมีบ่อเลี้ยงปลากะพงและลูกหลานชาวแพรกหนามแดงก็อาจเป็นลูกจ้างอยู่ในบ่อเลี้ยงปลานั้นเหมือนอย่างที่ผู้คนในหมู่บ้านบางแห่งเคยประสบมาแล้ว […] (แดนอรัญ แสงทอง 2546 : 59-60)

การที่นักเขียนหนุ่มปฏิเสธที่จะอยู่ช่วยชาวบ้านแก้ปัญหาและยืนยันใน “ภารกิจวรรณกรรม” ของตน บ่งบอกว่าภารกิจของวรรณกรรมหาใช่ภารกิจในการแก้ปัญหาในโลกความเป็นจริงไม่ ผู้เล่าชี้ให้เห็นว่าที่สุดแล้ว นักเขียนมิได้มีบทบาทแก้ปัญหาสังคมในทางปฏิบัติ ภารกิจของนักเขียนคือการสร้างโลกแห่งจินตนาการ และงานวรรณกรรมเป็นแต่เพียงเรื่องเล่าและจินตนาการวรรณกรรมไม่สามารถมีบทบาทในการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงโลกได้ดังที่เชื่อมั่นกันโดยทั่วไป ความพยายามของนักเขียนหรือแม้กระทั่งความคาดหวังต่อนักเขียนที่จะเป็นผู้ชี้ปัญหาและแก้ปัญหาเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เมื่อวรรณกรรมเป็นเรื่องของจินตนาการและความบันเทิง ผู้แต่งจึงนำเสนอนวนิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าที่ละทิ้ง “ภารกิจการรับใช้สังคม” ของวรรณกรรมมาสู่การสร้างโลกจินตนาการผ่านการแต่งเรื่องล้อรูปแบบการเล่านิทาน

แม้แดนอรัญ แสงทอง จะแสดงการโต้แย้งรูปแบบนวนิยายที่ได้รับความนิยมสูงในสังคมไทยและเสนอลักษณะความเป็นนิทานขึ้นมาเทียบเคียง แต่เขามิได้ปฏิเสธนวนิยาย เรื่องราวลี้ลับมหัศจรรย์แบบนิทานอาจตอบสนองต่อจินตนาการและความสนใจของคนยุคหนึ่ง ขณะที่เรื่องราวชีวิตที่เลียนแบบความเป็นจริงอาจตอบสนองต่อจินตนาการและความสนใจของคนอีกยุคหนึ่งและความแตกต่างระหว่างนวนิยายกับนิทานกลายเป็นเรื่องความนิยมของยุคสมัย สิ่งที่เขาเสนอขึ้นเพื่อต่อรองกับการดำรงอยู่อย่างเฟื่องฟูของนวนิยายในสังคมไทย คือการดึงนวนิยายเข้ามาเป็นสิ่งที่ต่อเนื่องมาจากการเล่านิทานซึ่งเป็นรูปแบบความบันเทิงของไทยมาแต่ดั้งเดิม

นวนิยายเรื่องเจ้าการะเกดฯ ยืนยันบทบาทของวรรณกรรมในฐานะของเรื่องแต่ง ยืนยันภารกิจของวรรณกรรมในการตอบสนองต่อจินตนาการของมนุษย์ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับนิทาน แดนอรัญ แสงทอง เชื่อมโยงนิทานมุขปาฐะเข้ากับวรรณกรรมลายลักษณ์ให้เห็นความแปรเปลี่ยนจากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง แต่สิ่งที่แดนอรัญยืนยันว่าไม่เปลี่ยนคือจินตนาการและความเป็นเรื่องแต่ง ภารกิจสำคัญที่สุดของนวนิยายจึงมิใช่อื่นใดนอกจากเป็นการแสดงพลังจินตนาการของมนุษย์

วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2555

10 หนังในดวงใจของ แดนอรัญ แสงทอง

‎(From Admin) ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ 10 หนังในดวงใจของแดนอรัญ แสงทอง ขบถจอมอหังการแห่งโลกวรรณกรรม ในนิตยสาร FILMAX ฉบับเดือนเมษายน 2555 สัมภาษณ์โดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์



(ข้างบนคือตัวอย่างปก แต่ไม่ใช่ปกจริง)