บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

กฤษณา อโศกสิน กับ "เงาสีขาว"

กฤษณา อโศกสิน ในวัย 82
ทุกครั้งที่เธอเบื่อกับภาษาสละสลวยเวิ่นเว้อ เธอจะชอบกลับมาอ่าน "เงาสีขาว" บ่อยๆ เพราะทึ่งในความดิบและพลังมหัศจรรย์ในการเปิดเปลื้องอารมณ์ของ แดนอรัญ แสงทอง
เธอเพิ่งซื้อ "อสรพิษ" มาและกำลังจะเริ่มอ่านเร็ว ๆ นี้
จากบทสัมภาษณ์ใน Bangkok Post


http://www.bangkokpost.com/lifestyle/book/443770/the-mistress-of-domestic-drama

ในลิ้นชักความทรงจำ นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2557 แดนอรัญ แสงทอง


เขาเป็นนักเขียนไทยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศมาก่อน (จบ)
 

ขอบคุณคุณยูร กมลเสรีรัตน์ ที่เอื้อเฟื้อบทความ “ในลิ้นชักความทรงจำ”  ตีพิมพ์ครั้งแรกในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 61 ฉบับที่ 54
 

ไม่เพียงแต่ผลงานของแดนอรัญ  แสงทองได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ  เท่านั้น เกียรติยศอันสูงส่งในชีวิตก็คือ ได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นเชอวาลิเย่ร์(Chevalier des Arts et des Lettres) ด้านศิลปะและอักษรศาสตร์ จากกระทรวงวัฒนธรรม ประเทศฝรั่งเศส ในฐานะนักเขียน
ไทยคนแรกที่มีชื่อเสียงในประเทศฝรั่งเศส เรียกว่า เป็นนักเขียนชั้นอัศวิน หนังสือพิมพ์ที่สัมภาษณ์เขาหลังจากได้รับเครื่องราชอิสรยภรณ์คือกรุงเทพธุรกิจ เซกชั่นจุดประกายวรรณกรรม ภายหลังนิตยสารกุลสตรีได้สัมภาษณ์อีกครั้งหนึ่ง หากก่อนหน้ามีนิตยสาร GM ได้ทำการสัมภาษณ์ หลังจากผลงานของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส  
 ถือได้ว่าแดนอรัญ  แสงทองเป็นนักเขียนไทยที่มีชื่อเสียงมากในระดับสากล ภายใต้ชื่อ Saneh Sangsuk (เสน่ห์ สังข์สุข)  ผลงานของเขาได้รับการเป็นภาษาต่างประเทศแทบทุกเล่ม และอวดโฉมอยู่บนชั้นหนังสือในร้านหนังสือที่มีชื่อเสียงในแฟรงก์เฟิร์ต,โบโลญญา,มาดริด,ลิสบอน,ปารีส ฯลฯ โดยเฉพาะวรรณกรรมชิ้นเอก 3 เล่มคือ เงาสีขาว,อสรพิษและเจ้าการะเกด สำหรับเรื่องสั้นขนาดยาวอสรพิษ”ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาในหลายมหาวิทยาลัยของฝั่งยุโรป 
ผมพยายามคิดย้อนไปในอดีตอันยาวนานหลายตลบว่า คุ้นกับชื่อจริงของเขาคือเสน่ห์ สังข์สุขที่ไหน เมื่อภาพเก่า ๆ แจ่มชัดขึ้น จึงจำได้ว่าช่วงแรกของการเขียน เขาใช้นามปากกา “มายา” มีเรื่องสั้นตีพิมพ์ในนิตยสารต่าง ๆ หลายฉบับ เท่าที่จำได้ก็คือ ฟ้าเมืองทอง,ฟ้าของอาจินต์  ปัญจพรรค์ และนิตยสารหนุ่มสาวของปกรณ์  พงศ์วราภา หรือกรณ์ ไกรลาศ นักเขียนเรื่องสั้นระดับแถวหน้าในอดีต นั่นเมื่อเกือบ 30 ปีเห็นจะได้
ย้อนเวลาไปในอดีต แดนอรัญ แสงทอง เกิดเมื่อปีพ.ศ. 2500 ที่จังหวัดเพชรบุรี บ้านเดียวกับธัญญา ธัญญามาศ กวีมือทองวัยอาวุโส ในวัยเยาว์อยู่ในความอุปการะของพระอาจารย์อิน อินฺทโชโต ซึ่งเป็นพระภิกษุที่เป็นที่นับถือของชาวเพชรบุรี นักเขียนคลื่นลูกเดียวกันได้แก่โดม  วุฒิชัย,นิรันศักดิ์ บุญจันทร์,แก้ว  ลายทอง ฯลฯ เขาจบการศึกษาเอกวรรณคดีอังกฤษจาก มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร  เริ่มเขียนหนังสือเมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย  เรื่องสั้นเรื่องแรก 
แรกเพลงศพ ตีพิมพ์ใน สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ จากนั้นเขาก็มีเรื่องสั้นตีพิมพ์ตามนิตยสารต่าง ๆ อีกหลายฉบับ จนกระทั่งเรื่องสั้นทุ่งร้าง ได้รับรางวัลดีเด่น จากนิตยสารฟ้าเมืองทอง 
 หลังจากสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร แดนอรัญ  แสงทอง ทำงานเป็นล่ามให้กับ องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือUSAID (United Sates  Agency for International Development) ในตำแหน่งล่าม ในเวลาต่อมาเขาหันหลังให้กับการเป็นมนุษย์เงินเดือน  ด้วยเหตุผลที่ว่าตัวตนของเขากำลังจะสูญเสียจิตวิญญาณในชีวิตไป นั่นก็คือการเขียนหนังสือ  จากนั้นแดนอรัญ แสงทองจึงเริ่มต้นอาชีพที่เขารักเต็มเปี่ยม  ทั้งงานเขียน งานแปลและงานบรรณาธิการ
 ผลงานเล่มแรกชื่อผู้ถูกกระทำเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น,ความเรียงและบทละคร ในนามปากกา มายา แต่ในภายหลังเขาได้ทำลายหนังสือเล่มนี้ทิ้งเท่าที่จะสามารถทำได้  ด้วยเหตุผลที่ว่านามปากกา “มายา”ไปซ้ำกับวินัย  อุกฤษณ์  นักเขียนกลุ่มพระจันทร์เสี้ยวที่แต่งเพลง “นกสีเหลือง” จากนั้นเขาก็ตั้งนามปากกา “แดนอรัญ  แสงทอง” เบิกทางไปสู่แสงสีทองแห่งตัวอักษรนับแต่นั้นมา
หลังจากนั้นแดนอรัญ แสงทองตัดสินใจออกเดินทาง เพื่อหลีกหนีความวุ่นวายในเมืองหลวง เดินทางไปในเส้นทางของการแสวงหาและได้เขียนผลงานออกมาเป็นบทกวีชื่อ ตะคอกปีศาจใช้นาม อรัญวสี  ระหว่างเช่าห้องเล็ก ๆ อยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทราเพื่อทำงานเขียน เขาเฝ้ามองภาพชีวิตของผู้คนต่างๆ ทำให้เขาหวนคิดถึงภาพชีวิตของตนในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเขาเคยผูกพันอยู่กับผู้คน,สังคม,ประเพณีและเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต  เขาจึงเริ่มต้นเขียนนวนิยาย เรื่องแรกเงาสีขาว นวนิยายขนาดยาวที่ตั้งใจ จะให้เป็นเสมือนภาพเหมือนของศิลปินในฐานะวัยระห่ำของชีวิต  โดยต้นฉบับร่างแรกใช้เวลานานกว่า 6 ปี
                หลังจากวางมือกับต้นฉบับร่างแรกของเงาสีขาว  แดนอรัญ  แสงทองเดินทางเข้าเมือง หลวง เพื่อทำหน้าที่บรรณาธิการสำนักพิมพ์สำนักพิมพ์อรุโณทัยของเขาเอง ในห้วงเวลานั้นเขามีผลงานรวมเรื่องสั้น,ความเรียงและกวีนิพนธ์ร้อยแก้วยามพรากซึ่งเป็นรวมผลงานความเรียง เรื่องสั้นและกวีนิพนธ์ร้อยแก้ว  ในขณะเดียวกันเขาได้อ่านต้นฉบับ เงาสีขาวอีกครั้ง  เพื่อจัดพิมพ์ออกมา แต่ความยาวเหยียดของเนื้อหา  สร้างความหนักใจให้กับแดนอรัญ  แสงทองมาก จึงขัดเกลาและเรียบเรียงเนื้อหาใหม่ ให้เหลือเพียง 415 หน้า
                เงาสีขาวปรากฏโฉมออกมาในปีพ.ศ. 2536  หากวงวรรณกรรมไทยไม่ได้ให้ความสนใจแม้แต่น้อย ไม่มีนักวิจารณ์กล่าวถึงผลงานเล่มแรกของเขาเลย  แต่ผู้ที่ให้ความสนใจและแสดงความตื่นเต้นอย่างมากมายกลับเป็นชาวต่างประเทศที่ชื่อมาแซล  บารังส์(Marcel Barang) นักแปลและนัก
              
               วิจารณ์ชาวฝรั่งเศส  เมื่อมาแเซล บารังส์ จัดทำโครงการ The 20 Best Novels of Thailand โดยคัดเลือกให้ เงาสีขาว เป็นหนึ่งในยี่สิบ นวนิยายชั้นเยี่ยมของไทย ที่ได้รับการแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส จากคณะกรรมการพิจารณาหนังสือ ของศูนย์หนังสือแห่งชาติฝรั่งเศส (Centre National du Livre) ดังที่กล่าวไว้ในฉบับก่อน
 ผลงานเล่มต่อมา หลังจากเขาย้ายไปอยู่ที่เพชรบุรี คือเรื่องสั้นขนาดยาวอสรพิษ  งานเขียนที่มีความยาว 20 หน้า ซึ่งใช้เวลาคิดนานกว่า 20 ปี  แรงบันดาลใจที่เกิดขึ้นกับคนในสังคมเล็กๆ จินตนาการ และการเล่าขานในตำนานของหมู่บ้าน ผ่านเรื่องราวของเด็กแขนพิการกับแม่งูยักษ์ ที่ต่างก็รัดชะตากรรมของจนเองเอาไว้ก่อนจะถึงจุดจบ  อสรพิษพิมพ์ครั้งแรก เมื่อเดือนเมษายน 2545 โดยสำนักพิมพ์ แมวคราวของ ธนิต สุขเกษม เป็นหนังสือฉบับสองภาษา ทั้งฉบับไทยและภาษาอังกฤษ
 นอกจากนี้ยังมีคำนำของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ในภาคภาษาไทยและมีคำนำของมาแซล  บารังส์ ในภาคภาษาอังกฤษ  ผลงานเรื่องต่อมาที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แมวคราวคือนวนิยายเรื่องเจ้าการะเกด  สำหรับเรื่องสั้นขนาดยาวอสรพิษซึ่งได้รับการแปลถึง 8 ภาษา มียอดจำหน่ายกว่าแสนเล่ม  โดยมาแซล  บารังส์ยกย่องว่าอสรพิษ ว่าเป็นผลงานชิ้นเยี่ยม ชิ้นหนึ่งของโลก ไม่ใช่ผลงานสร้างสรรค์แห่งอาเซี่ยน แต่เป็นผลงานสร้างสรรค์ระดับโลก
นอกจากนี้ “อสรพิษ”ยังนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ โดย วีรยศ สำราญสุข ทิวาเวทย์ ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ จากโครงการและกิจกรรมส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย  กระทรวงวัฒนธรรม และเข้าร่วมฉายในเทศกาลภาพยนตร์ระดับโลกอย่าง Cannes Film Festival ที่ประเทศฝรั่งเศส ผลงานของแดนอรัญ  แสงทองมีดังนี้-ผู้ถูกกระทำ,อสรพิษ,ยามพราก,เพลงรักคนพเนจร,แมวผี,เงาสีขาว,เจ้าการะเกด,เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง,ตำนานเสาไห้,อตีเตกาเล,วิมุตติคีตา:อานุภาพแห่งอนุสาสนีปาฏิหาริย์,มาตานุสติ,ดวงตาที่สาม,อสรพิษและเรื่องอื่น  
ก่อนหน้าที่แดนอรัญ แสงทองจะได้รับรางวัลซีไรต์ในปีพ.ศ.2557 จากรวมเรื่องสั้น“อสรพิษและเรื่องอื่น ๆ ” เขาได้รับยกย่องให้ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาวรรณศิลป์ จากสำนักศิลงานวัฒนธรรมร่วมสมัยมาแล้วเมื่อ ปี 2553  สำหรับงานแปลที่ใช้นามปากกา“มายา”ได้แก่ทุ่งดอกหญ้าถึงดวงดาวของออสการ์  ไวลด์,เมตามอร์ฟอร์ซิส ของฟรานซ์  คาฟก้า, คนสวน ของรพินทรนารถ ฐากูร, คนโซ ของคนุท  เฮ็มซุน นามปากกา“เชน จรัสเวียง” ได้แก่กระแสลมในฤดูใบไม้ผลิ, แล้วดวงตะวันก็ฉายแสงและสวนสวรรค์แห่งความรัก ของเออร์เนสต์  เฮ็มมิงเวย์ เป็นอาทิ
“...งานเขียนไม่ใช่สิ่งที่จะเอาชนะได้โดยง่าย  งานเขียนมันมีอะไรของมัน งานเขียนที่ดีไม่ใช่สิ่งที่เอาชนะได้โดยง่าย คุณต้องทำงานหนักเพื่อที่จะต้องเขียนมันให้ดีจริงๆ ต้องแลกกับมันทั้งชีวิต...” แดนอรัญ  แสงทองเคยกล่าวไว้และเขาจะยังคงทุ่มชีวิตให้กับงานเขียนต่อไปไม่สิ้นสุด

                “จงเก็บรักษารักไว้ในหัวใจ ชีวิตที่ไร้รักเปรียบเสมือนสวนที่ ไร้แสงตะวัน เมื่อดอกไม้แห้งเหี่ยว และ ล้มตาย”ออสการ์  ไวล์ด)
 

 
 
 

 

ในลิ้นชักความทรงจำ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2557 แดนอรัญ แสงทอง

เขาเป็นนักเขียนไทยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศมาก่อน (1)


ขอบคุณคุณยูร กมลเสรีรัตน์ ที่เอื้อเฟื้อบทความ “ในลิ้นชักความทรงจำ”  ตีพิมพ์ครั้งแรกในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 61 ฉบับที่ 53
k_yoon_w_c@hotmail.com
 


   
            “เงาสีขาว” คือผลงานเล่มแรกของแดนอรัญ  แสงทองที่ผมรู้จักราว 20 ปีก่อน จำได้ว่าเจอหนังสือเล่มนี้ที่ร้านหนังสือเดอะมอลล์ ท่าพระ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกปกพื้นสีขาว ตัวหนังสือสีดำสะดุดตา ที่สำคัญ หนังสือเล่มใหญ่ หนาปึ้ก ขนาดสิบหกหน้ายกพิเศษ เป็นรองพจนานุกรมไทยไม่เท่าไหร่ ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าแดนอรัญ  แสงทองเป็นใคร  คิดว่าเป็นนักเขียนใหม่ มารู้ภายหลังในเวลาต่อมา ว่า เขาเป็นนักเขียนเก่า แต่ใช้นามปากกาใหม่  ผมเคยติดตามผลงานเรื่องสั้นและบทกวีของเขามาก่อนในอีกนามปากกาหนึ่ง

          ในเวลานั้นผมคิดว่า“เงาสีขาว” คงขายยาก หนังสือเล่มโต ๆ  ใครเห็นก็ต้องขยาด ยกเว้นหนอนหนังสือตัวยงและยกเว้นอีกเหมือนกัน คือกรณีหนังสือเล่มนั้นได้รางวัลใหญ่เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของรสนิยมคนไทย จะซื้ออ่านตามกระแสเห่อรางวัลและครั้งที่“เงาสีขาว” เข้ารอบ

สุดท้ายรางวัลซีไรต์เมื่อปี 2537 ซึ่งปีนั้นเป็นรอบของการประกวดนวนิยาย  นวนิยายที่เข้ารอบสุดท้าย 6 เล่มในปีนั้น  ล้วนเป็นผลงานที่เปี่ยมด้วยคุณภาพทั้งนั้น เป็นปีที่ต้อง ลุ้นกันมาก  เพราะคุณภาพหลากหลายและเชือดเฉือนกันเหลือเกิน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ปีกความฝัน,เวลา,ชะบน,ผ้าทอง,หมู่บ้านท่าเข็น  จนโหรซีไรต์ที่ผมให้สมญานามคือ สกุล  บุณยทัต นักวิจารณ์รางวัลดีเด่น กองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ  เทพยสุวรรณ เอาผลงานทั้ง 6 เล่มมาวิเคราะห์และแจกแจงอย่างละเอียดลออ โดยทำนายว่า นวนิยายเรื่องใดมีสิทธิ์จะได้รางวัลซีไรต์และมีน้ำหนักมาก-น้อยแค่ไหน  สร้างความคึกคักให้กับวงวรรณกรรมเป็นอย่างมาก

          นวนิยายแต่ละเรื่องต่างก็มีข้อดี-ข้อเด่นคนละแบบ  สำหรับเรื่อง “เงาสีขาว”นั้น ถือว่าแปลกแหวกแนวสุดเหวี่ยงกว่าทุกเรื่อง เป็นการถะถั่งพรั่งพรูของกระแสสำนึกออกมาอย่างทะลักทลาย  คัดค้านต่อความดีงามทั้งปวง ซ้ำแต่ละบรรทัดตัวหนังสือยังเรียงติดกันเป็นพืด ไม่มีช่องว่างให้พักสายตาแม้แต่น้อย นั่นเพราะเป็นความจงใจของผู้เขียน  ผู้เขียนต้องการแหวกขนบทั้งปวง ทั้งในด้านเนื้อหาและวิธีการเขียน

          ถ้าใครติดตามคอลัมน์นี้เป็นประจำ  จะเห็นว่า 11 ปีมานี้ จะไม่เขียนเชียร์คนที่ได้รับรางวัล

ใหญ่ ๆ จะไม่ตามกระแส  เพราะเขาดังแล้วและหนังสือฉบับอื่นก็เขียนถึงหลายฉบับแล้ว  เหตุที่เขียนถึงแดนอรัญ  แสงทองในครั้งนี้ เพราะเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ครั้งที่เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับวรรณกรรมที่นิตยสารกุลสตรีเป็นเวลาเกือบ 10 ปี วันหนึ่ง ผมคุยโทรศัพท์กับวีรยศ  สำราญสุขทิวาเวทย์ ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดกับอาจินต์  ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ  ผู้สร้างผลงานอมตะชุด เหมืองแร่ และในตอนหนึ่งของการสนทนา ผมได้พูดถึงแดนอรัญ  แสงทอง

วีรยศเห็นผมสนใจผลงานของแดน  อรัญแสงทอง  ก็เลยเสนอตัวว่า ถ้าผมจะไปสัมภาษณ์ จะพาไปที่เพชรบุรี เพราะเขารู้จักกับแดนอรัญ  แสงทอง  ตอนนั้นผมไม่สะดวกจะไปที่ไหนเลย  เรียกว่าขยับตัวไปไหนลำบากก็ว่าได้  จึงไม่ได้ให้คำตอบ เพราะต้องดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา พ่อก็เกือบเก้าสิบ แม่เกือบแปดสิบ  ใครไม่เลี้ยงคนแก่จะไม่รู้ซึ้งหรอกว่าเป็นยังไง เหนื่อยแค่ไหน  บุกตะลุยไปสัมภาษณ์นักเขียนในกรุงเทพฯแต่ละครั้ง บางครั้งไกลมาก ก็เหนื่อยแล้ว กลับไปถึงบ้านก็ต้องทำหน้าของลูกต่อ

หลังจากพ่อแม่เสียชีวิตเมื่อกว่าสิบปีก่อน ผมก็ลืมเลือนเรื่องนี้ไปเลย มารู้ข่าวอีกทีตอนผลงานของแดนอรัญ  แสงทองเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เอาผลงานเก่าที่เคยพิมพ์รวมเล่มแล้วส่งประกวด  ความจริงแล้วในเล่มมีผลงานใหม่ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าผลงานเก่า เป็นไปตามกติกาของการประกวด  ก็ลุ้นเขาอยู่ในใจ ในฐานะนักเขียนเก่าและของจริง จนกระทั่งเขาได้รางวัลซีไรต์

การเขียนถึงแดนอรัญ  แสงทอง จึงไม่ใช่เพราะเขาได้รางวัลซีไรต์แต่อย่างใด  เพียงแต่รู้สึกผิดนิด ๆ ว่าน่าจะเขียนถึงเขาตั้งนานแล้ว  เพราะเขาคือนักเขียนคุณภาพ เขาคือของแท้  เหมือนกับบทความของสุชาติ  สวัสดิ์ศรี  ศิลปินแห่งชาติ อดีตบรรณาธิการโลกหนังสือ,โลกหนังสือฉบับเรื่องสั้นและช่อการะเกดที่เขียนไว้ชื่อ “อำนาจแห่งความเป็นของแท้” ตีพิมพ์ในช่อการะเกดยุคแรก เฉียบคม กินใจมาก

          หากของแท้อย่างแดนอรัญ  แสงทอง กลับไม่ได้รับการต้อนรับในเมืองไทย และไม่มีใครพูดถึงผลงานของเขาเลย  ครั้งที่ “เงาสีขาว”เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์เมื่อปี  2537 แต่ในที่สุดแล้ว ด้วยเนื้อหาที่รุนแรง จึงถูกคัดค้านจากคณะกรรมการและมีมติให้ถอดนวนิยายเรื่อง “เงาสีขาว”ออกจากรอบสุดท้าย หากเมื่อเป็นของแท้  แม้ผลงานของเขาจะถูกมองข้ามจากคนในประเทศ  แต่กลับข้ามน้ำข้ามทะเล  ไปมีชื่อเสียงขจรในต่างประเทศ  เพราะคนต่างประเทศให้การต้อนรับผลงานของเป็นอย่างดีและน่าจะเป็นนักเขียนไทยเพียงคนเดียวที่มีชื่อเสียงในระดับสากล จากนวนิยายเรื่อง “เงาสีขาว”ประเดิมเป็นเรื่องแรก

                นั่นก็คือเมื่อมาแซล  บารังส์ นักแปลชาวฝรั่งเศส จัดทำโครงการ The 20 Best Novels of Thailand  เขาได้คัดเลือกเรื่อง“เงาสีขาว” เป็น 1 ใน 20 นวนิยายชั้นเยี่ยมของไทย พร้อมกับเขียนบทวิจารณ์ และแปลตัวอย่างนวนิยายเรื่อง“เงาสีขาว” เป็นภาษาอังกฤษ ลงในหนังสือ Thai  Modern  Classic หลังจากนั้นมาแซล บารังส์ ได้แปลตัวอย่างนวนิยายเรื่องนี้ เสนอสำนักพิมพ์ชั้นนำหลายแห่งในฝรั่งเศส  ในที่สุดนวนิยายเรื่อง“เงาสีขาว” ก็ได้รับการแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส  จากคณะกรรมการพิจารณาหนังสือของศูนย์หนังสือแห่งชาติฝรั่งเศส (Centre  National  du  Livre)

“เงาสีขาว” ฉบับพิมพ์ครั้งแรกในภาษาฝรั่งเศส  จึงอวดโฉมบนชั้นหนังสือในชื่อ L’ombre Branche (2001) โดยสำนักพิมพ์ เลอเซย (Editions du  Seuil)

แปลโดย มาแซล  บารังส์  ผู้เขียนคือ Saneh  Sangsuk (เสน่ห์ สังข์สุข) ซึ่งเป็นชื่อจริงของแดนอรัญ  แสงทอง อยู่บนปกหนังสือ ผลงานเรื่องต่อมาเป็นเรื่องสั้นขนาดยาวชื่อ“อสรพิษ” พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารทางอินเตอร์เน็ต ชื่อ Thai Ink  

มาแซล  บารังส์ ได้นำเรื่อง “อสรพิษ”มาแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส ในชื่อ Vernon และจัดพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์ เลอเซย  นอกจากนี้ “อสรพิษ”ยังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ในชื่อ Vernin โดย มาแซล บารังส์ และนำไปทยอยลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ พิมพ์บางกอกโพสต์ ประจำเดือนกรกฏาคม  2001 ซึ่งเรื่องสั้น“อสรพิษ” นี้ นักอ่านต่างประเทศต่างก็ชื่นชอบกันมาก หนังสือพิมพ์ในด้านวรรณกรรมของฝรั่งเศสชื่อ Le  monde  des Livres ได้เขียนถึงผลงานของ  Saneh  Sangsuk (เสน่ห์  สังข์สุข)ในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์  โดยกล่าวถึงผลงานของเขาสองเรื่องคือ เงาสีขาว และ อสรพิษ

นอกจาก“อสรพิษ” จะได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสแล้ว ยังได้รับการแปลเป็นภาษา คาตาลัน,กรีก,โปรตุเกส,สเปน,เยอรมันและอักษรเบลล์  รวมทั้งดัดแปลงเป็นละครเวทีในฝรั่งเศส  นวนิยายอีกสองเรื่องคือ“เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง” ได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส  ส่วน“เจ้าการะเกด” ได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสและอิตาลี  ซึ่งในแวดวงวรรณกรรมของทั้งสองประเทศต่างก็ให้ความชื่นชมนวนิยายเรื่องนี้มาก

“ไม่ว่าปัญหาในอดีตจะแก้ไขได้หรือไม่ เราต้องดำรงชีวิตอย่างมีความหมายต่อไป”(อัลแบร์  กามูส์)

               

               

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ศิลป์สโมสร : ขบถวรรณกรรมกับรางวัลซีไรต์


ชมรายการย้อนหลัง คุณแดนอรัญ แสงทอง เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 57
ในศิลป์สโมสร ทาง Thai PBS

http://www.youtube.com/watch?v=BpHghybv7ms

วันเสาร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557

"อสรพิษและเรื่องสั้นอื่นๆ" ผลงานซีไรต์ประจำปี 2557


 
เรื่องสั้น “อสรพิษ” เปิดเรื่องด้วยสัมผัสนอกและใน บรรยายธรรมชาติในยามเย็นว่า :

 
                จวนจะเย็นย่ำแล้ว แดดอ่อนรอนแสงลงแล้ว ดวงตะวันเป็นสีแดงแก่ก่ำ  นุ่มนวลอ่อนโยนลง ท้องฟ้าปร่ง **  โล่งเหมือนโดมแก้วผลึก เสี้ยวเมฆบางเบาบนเส้น ขอบฟ้าเหนือทิศตะวันตกเมื่อต้องแสงตะวันมีสีสันงามประหลาด

 
การบรรยายธรรมชาติยามเย็นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงระหว่างการจู่โจมของงูยักษ์ จากความงดงามของท้องฟ้ามาเป็นความว้าเหว่ของท้องทุ่ง จังหวะสัมผัสของการบรรยายธรรมชาติเป็นเสมือนการให้จังหวะโจมตีของเจ้างูนั้น :
 

                ความโกรธเกรี้ยวของเจ้างูโหมกระพือ มันยืดตัวสูงขึ้นอีก หัวของมันแอ่นเอนมาทางเบื้องหลังเหมือนคันธนูที่ถูกน้าวจนสุดล้า ปากของมันอ้าออก เผยให้เห็นเขี้ยวอันโค้งงดและวาววับ ลมทุ่งยังกระโชกวู่หวิว มิหยุดยั้ง ขอบดวงทางด้านล่างของดวงตะวันแตะเส้นขอบฟ้า เสียงวัวลูกแหง่ร้องเรียกหาแม่ดังมาอย่างว้าเหว่ เหยี่ยวแดงตัวหนึ่งลอยละล่องอยู่สูงลิบลิ่ว ส่งเสียงกรีดร้องแหลมสูงด้วยความหิวโหยขณะมุ่งหน้ากลับไปสู่รวงรังอันเร้นลับของมัน ยังมิทันสิ้นเสียงร้องของเหยี่ยว เจ้างูก็ฉกลงมาเต็มแรง

 
**************** 
ติดตามอ่านฉบับเต็มได้ใน “อสรพิษและเรื่องสั้นอื่นๆ” จัดพิมพ์โดย สนพ.สามัญชน

วันศุกร์ที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2557

สัมภาษณ์ แดนอรัญ แสงทอง : อสรพิษและเรื่องสั้นอื่นๆ โดยนายกุดจี่ - พรชัย


คัดบางส่วน  

กลับมาที่อสรพิษ คุณสนิทกับงูขนาดไหนถึงขั้นเขียนอสรพิษออกมา ?

(หัวเราะ) ก็เป็นเรื่องเล่าที่ผมคิดว่าในทุกหมู่บ้านในชนบททั่วประเทศน่าจะเคยได้ยินเรื่องคล้ายๆ อสรพิษอยู่บ้าง มันเป็นเรื่องที่ใครก็บอกเล่า ไม่พ่อคุณก็แม่คุณ ไม่ก็เป็นปู่ย่าตายาย พี่ป้าน้าอาของคุณที่เขาจะเล่าเรื่องถึงความน่ากลัวเกี่ยวกับงู ผมไม่ได้สนิทกับงูขนาดนั้นหรอก (หัวเราะ) มันเป็นเรื่องเล่า เรื่องเจ้าการะเกดก็เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับเสือสมิงเหมือนกัน มันเป็นเรื่องบ้านนอก ไม่เห็นต้องมีปมด้อยเลย

.... ความสุข ความทุกข์ ความหวัง ณ วันนี้ของแดนอรัญ ?

ก็มีความสุขดีนะ ตามอัตภาพ ความทุกข์ก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีอยู่ เพราะผมเองก็เป็นเหยื่อของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกับมนุษย์ทั้งหลายในโลก มันไม่ได้หวังอะไรมากมายนะ ผมก็ทำไปอย่างถึงที่สุดที่มันเป็นหน้าที่ของผมเท่าที่จะทำได้ในฐานะนักเขียน เข้าใจว่าทำมาเยอะนะ ก็ปล่อยให้เป็นภาระของคนรุ่นต่อไป... วันหนึ่งผมก็ล้มตายลงมันเป็นกฎธรรมชาติ คุณมีปัญญาคุณมีเรี่ยวมีแรง คุณก็แบกรับต่อไป ผมก็พยายามบอกกับคนรุ่นหลังๆ อยู่บ้างประมาณนี้

 โปรดอ่านต่อในนิตยสาร เนชั่นสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1167 วันที่ 10 ตุลาคม 2557 โดยกุดจี่ พรชัย แสนยะมูล

 

วันพฤหัสบดีที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2557

นานาทัศนะต่องานเขียนของ แดนอรัญ แสงทอง เรื่อง “เจ้าการะเกด เรื่องรักแต่เมื่อครั้งบรมสมกัลป์”



ครั้งหนึ่ง เช็กสเปียร์ หรือบุคคลที่คนไทยในยุคก่อนเรียกว่า เศกสพีระ เคยกล่าวทำนองว่า คนทั่วไปมักเปรียบเทียบว่าขึ้นอยู่กับคำพูด พระเจ้าเฮนรี่ที่ ๔ เคยบ่นว่าพระองค์ไม่พอพระทัยในความประพฤติไม่เหมาะสมของโอรสของพระองค์ เพราะไปคบกับเพื่อนฝูงหรือพระสหายที่ไม่ดี คือ เซอร์จอห์น ฟัลสตาฟ

ในงานของเช็กสเปียร์ พระเจ้าเฮนรี่ที่ ๔ ทรงเปรียบเซอร์จอห์น ฟัลสตาฟ ในเชิงอุปมาว่า เหมือนถ้อยคำที่ดูเทอะทะ แต่ในที่สุดการคาดการณ์ทั้งหมดก็เป็นจริง และเจ้าชายผู้นี้ก็สลัดเขาทิ้งเมื่อทรงขึ้นเป็นกษัตริย์

เช็กสเปียร์เทียบคนกับคำพูด ทั้งนี้เพราะเห็นว่าน่าสนใจเมื่อกลับคำพูดหรือที่เรียกกันในสำนวนไทยว่า คำผวน คำต่างๆ ย่อมสะท้อนบุคคลที่ใช้คำ แม้คำอุปมาก็ขยายออกไปอย่างมากมายจากคำพูดเดิม เราคบใครเราก็มักจะได้คำพูด, ท่าทาง และคำอุปมาไม่น้อยจากพวกเขา โดยเฉพาะในการใช้ถ้อยคำของพวกเขา คำพูดฉายให้เห็นระดับต่างๆ ทางสังคม, การศึกษา และวิชาชีพตลอดจนหน้าที่ที่ทำกันอยู่

กวีเศกสพีระนั้นมีผู้เคยนับว่าเขากล่าววาทะเกี่ยวกับถ้อยคำไว้ทั้งหมดรวมกี่ครั้ง เท่าที่มีผู้รวบรวมมีอยู่ประมาณ ๒๙ ประโยคในละครต่างๆ ที่เคยเขียนไว้ และส่วนใหญ่ก็เป็นประโยคที่น่าสนใจทั้งสิ้น

ถ้อยคำก็เหมือนบุคคลคือย่อมแตกต่างจากกัน ไม่ว่าในทางเพศ ภูมิภาค และอายุ จะเห็นได้ว่า ถ้อยคำเทียบเคียงได้กับบุคลิกภาพของคนแต่ละคน และสะท้อนเรื่องราวชีวิตที่เล่าสู่กันฟัง

แดนอรัญ แสงทอง เป็นคนหนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติดังกล่าว และเป็นคุณสมบัติที่สะท้อนชีวิตในชนบทที่มีวัวเป็นเพื่อน ดังที่เขาเขียนเล่าไว้ในเรื่องนี้และเรื่องอื่นๆ

โดย ดร.นพพร สุวรรณพานิช
คำนิยม (บางส่วน) จากหนังสือ “เจ้าการะเกด เรื่องรักแต่เมื่อครั้งบรมสมกัปป์” สำนักพิมพ์ แมวคราว ๒๕๔๖
<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<<>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>> 

 ไอ้เจ้างานชิ้นนี้ประทับตราอันเป็นที่รู้จักกันดีด้วยลีลาการเขียนอันแหวกแนวและอร่อยเหาะ : แต่ละพารากราฟยาวเกินกว่าสิบสองหน้ากระดาษหรือมากกว่านั้นเสียอีก แต่ละประโยคยาวย้วยเคี้ยวคดเชื่อมต่อใจความเข้าด้วยกันด้วยคำว่า  และ ซึ่งเริ่มต้นอย่างหนึ่งแล้วก็กลับโอละพ่อไปเสียอีกอย่างหนึ่งชนิดคาดไม่ถึง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยศัพท์สะแลง ภาษาที่ไพเราะดุจกวีนิพนธ์ ศัพท์เทคนิคและสำบัดสำนวนของชาวพุทธซึ่งทั้งหมดนี้ใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวในทางคติชนวิทยาและใช้สร้างมุมมองอันแหลมคมในเชิงสังคมวิทยา ด้วยน้ำเสียงเนิบนาบที่ลอยชายเชือนแชอันระคนปนเปไปด้วยอารี้อารมณ์อันขันเข ความเมตตาการุณย์ การเย้ยหยันไยไพ และทั้งความสมเพชเวทนาที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน   ตัวของหนังสือเองยังท้าทายกฎเกณฑ์ของดุลยภาพทางวรรณกรรม (Literary Balance) เข้าเสียอีกด้วยอย่างมีชั้นเชิง

ข้าพเจ้าอยากให้ท่านผู้อ่านค้นพบด้วยตัวท่านเองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและท้ายที่สุดแล้วลงเอยเช่นใด ข้าพเจ้าคงกล่าวได้แต่เพียงว่ามีการตามล่าเสือสางอันร้ายกาจตัวหนึ่ง เรื่องเล่านี้ก่อให้เกิดความเจ็บปวดรวดร้าวและดึงดูดความสนใจของเราไว้จนแน่วแน่ เต็มไปด้วยอันตราย ความตื่นตระหนก และเหตุการณ์เหนือธรรมชาติเฉียดกรายมาอยู่เนืองๆ

โดย มาร์แซล บารังส์
(นักแปลและนักวิจารณ์ชาวฝรั่งเศส ใช้ชีวิตอยู่เมืองไทยนานเกือบ ๔๐ ปี แปลเรื่องสั้นไทยเป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสมากกว่า ๑๐๐ เรื่อง และแปลนวนิยายไทยเป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสมากกว่า ๒๐ เรื่อง)
บทวิจารณ์ (บางส่วน) อ่านฉบับเต็มได้ที่บล็อกแดนอรัญ แสงทอง
http://daen-aran-saengthong.blogspot.com/

<<<<<<<<<<<<<<<<&a<<<<<<>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>> 

นวนิยายเรื่องเจ้าการะเกด  เรื่องรักแต่เมื่อครั้งบรมสมกัป  ผลงานของ แดนอรัญ  แสงทอง  เป็นการตอบโต้และต่อรองกับรูปแบบนวนิยายในฐานะตัวแทนของวัฒนธรรมตะวันตก  นวนิยายเรื่องนี้เสนอว่านวนิยายมิได้แตกต่างและแยกขาดออกจากนิทาน  หากทว่านวนิยายเป็นความต่อเนื่องของนิทาน  และทั้งสองต่างมีภารกิจแรกเริ่มต่อมนุษย์แบบเดียวกันคือความบันเทิง  ผู้แต่งแสดงความตระหนักถึงภารกิจดังกล่าวของนวนิยายด้วยการเสนอนวนิยายเรื่องนี้ในรูปของเรื่องเล่าซ้อนเรื่อง  ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับนิทานซ้อนนิทานซึ่งเป็นรูปแบบของนิทานอินเดียและเปอร์เซีย  กลวิธีนี้นอกจากจะทำให้เห็นถึงลักษณะที่เหลื่อมซ้อนกันระหว่างนวนิยายกับนิทานแล้วยังเป็นการรื้อฟื้นรูปแบบนิทานของตะวันออกกลับคืนมาในรูปแบบของนวนิยายตะวันตกอีกด้วย

โดย ผศ.ดร. เสาวณิต  จุลวงศ์  
บทวิจารณ์ (บางส่วน) อ่านฉบับเต็มได้ที่บล็อกแดนอรัญ แสงทอง
http://daen-aran-saengthong.blogspot.com/
 <<<<<<<<<<<<<<<<&a<<<<<<>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>> 
ความคิดเห็นที่เด่นมากในงานของแดนอรัญคือการทำความเป็นพื้นบ้านให้เป็นสากล ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของนักเขียนยิ่งใหญ่หลายคนในโลกตะวันตก  งานถึงอารมณ์ บรรยากาศ และวิธีการของแดนอรัญที่ผมชอบมากที่สุดในงานของเขาก็คือภาษาที่ละเมียดและประณีตมาก

เรื่องที่ผมหลงรักมากคือ เจ้าการะเกด เรื่องรักแต่เมื่อครั้งบรมสมกัปป์  อยากให้ทุกคนได้อ่านรสวรรณกรรมในเรื่องมาก

"ลมหนาวโบกโบยมาแล้วแต่ยังไม่ได้โหมกระหน่ำรุนแรง เพียงแต่ถะถั่งมาไม่รู้จบสิ้น เรื่อยรินมาสม่ำเสมอ แห้งผากและเงียบเชียบ ส่อเค้าแห่งความทารุณ มีความทมิฬหินชาติและความมุ่งร้ายหมายขวัญแอบแฝงอยู่ในความเยียบเย็นและอาการโบกโบยอันช้าเชือนของมันนั้น"

โตมร ศุขปรีชา
นักเขียน / บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร GM

 <<<<<<<<<<<<<<<<lt;<<<<<<>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>> 
หนังสือเล่มนี้อ่านสนุก แต่รสอย่างแรกที่ทำให้อ่านได้จับจิตจับใจอย่างเพลิดเพลินนั้น อยู่ที่ภาษาที่งามงดน่าประทับใจอย่างยิ่ง ภาษาของแดนอรัญสวยอย่างลึกซึ้งนัก การบรรยายบรรยากาศของป่า ของแพรกหนามแดง ของแสงหิ่งห้อยระยิบ ของลมหนาวบาดผิว ของท้องฟ้าหลากสีต่างเวลา ผู้เขียนทำได้หมดจดสวยงาม หนังสือเล่มนี้ทำให้ผู้อ่านต้องตกเป็นเชลยทางตัวอักษรอย่างสิ้นเชิง เพราะภาษาถ้อยความและเนื้อเรื่องดึงดูดใจอย่างหาที่เปรียบไม่ได้

 "นกยูงเป็นอัญมณีแห่งป่าโดยแท้ ถ้าหากป่าคือสรวงสวรรค์ นกยูงก็คือดารานักร้องและนักแสดงแห่งสรวงสวรรค์ ... นกยูงตัวผู้สวยกว่านกยูงตัวเมีย นกยูงตัวผู้จะฟ้องรำแพนหางบนลานดินอวดนางตัวเมีย นั่นเป็นนาฏกรรมสำหรับเทพเจ้าโดยแท้ แต่ก่อนที่จะฟ้อนรำแพนหาง นกยูงตัวผู้ก็จะทำลานดินให้โล่งเตียนเสียก่อน ใช้ลำคออันงอนงามของมันม้วนรัดต้นหญ้าสูงๆ และทึ้งถอนออก ม้วนรัดและทึ้งถอนออก เยี่ยงเดียวกับผู้เชี่ยวชาญนาฏกรรมที่ตรวจตราดูเวทีก่อนทำการแสดง และพรานก็ฆ่ามันโดยดอดเอาไม้รวกผ่าซีกไปปักไว้บนลานดินนั้น และนกยูงตัวผู้ก็เพียรพยายามอยู่นั่นแล้วที่จะทึ้งถอนไม้รวกอันนั้นให้หลุดขึ้นมาจากผืนดินให้จงได้ ใช้ลำคออันงอนงามของมันม้วนรัดและทึ้งถอนออก ม้วนรัดและทึ้งถอนออก และยังคงวิริยะอุตสาหะกระทำการเช่นนั้นอยู่แม้ว่าคอของมันจะมีบาดแผลเหวอะหวะ นาฏกรรมแห่งความรักกลับกลายเป็นนาฏกรรมแห่งความตาย"

นอกจากความจับใจในภาษาแล้ว เรื่องในนี้ยังมีทั้งอารมณ์ขันที่น่ารัก มีอารมณ์ตื่นเต้นใคร่รู้ และมีความเศร้าโศกเหลือแสน มีทั้งความรักและชัง เศร้าและสุข ใครที่ชอบเรื่องผจญภัยตามแบบล่องไพร หรือเพชรพระอุมา ก็น่าจะอ่านได้สนุก เพราะในเรื่องรวมเอาความลึกลับแสนเสน่ห์ไว้ได้เช่นนั้น

โดย เฟย์  Faylicity / นักวิจารณ์
บทวิจารณ์ (บางส่วน) อ่านฉบับเต็มได้ที่บล็อกแดนอรัญ แสงทอง
http://daen-aran-saengthong.blogspot.com/