จาก กรุงเทพธุรกิจ จุดประกาย ปีที่ 16 ฉบับที่ 6421 6 สิงหาคม พ.ศ. 2549
โดย นกป่า อุษาคเนย์
นักเขียน / บรรณาธิการนิตยสาร Vote
(1)
แทบไม่น่าเชื่อว่าหนุ่มใหญ่ที่นั่งอยู่เบื้องหน้าเรา จะเป็นนักเขียนผู้มีชื่อเสียงในวงการหนังสือเล่มของยุโรป ทั้งๆ ที่กับแวดวงวรรณกรรมไทยแล้วดูเหมือนเรื่องราวของเขาจะมีคนสนใจเพียงแค่หยิบมือ
ด้วยยอดขายงานแปลโดยรวมของเขาเกือบ 80,000 เล่ม ถูกพิมพ์ซ้ำและเป็นที่ตามหาจากบรรดาหนอนหนังสือระดับฮาร์ดคอร์บนแผ่นดินอื่น ไม่ว่าจะเป็นนวนิยาย 'สร้างชื่อ' เล่มโต ชุด เงาสีขาว เรื่องสั้น อสรพิษ หรือนวนิยายที่เขาบอกว่า 'ประณีตที่สุดในชีวิต' อย่าง เจ้าการะเกด
เราเชื่อว่ากรณีนี้ได้นำมาซึ่งความภาคภูมิใจของผู้คนในวงวรรณกรรมเพียงหยิบมือนั้น ไม่มากก็น้อย
"มันคือความสะใจ" เขาบอก "สะใจที่ไอ้บ้านนอกจากประเทศเฮงซวยคนหนึ่งนั่งเขียนหนังสือให้ฝรั่งอ่าน..."
"อารมณ์เหมือนเห็น 'ปาร์ค จี ซุง' สวมชุดแข่ง 'แมนฯ ยู' ลงบู๊แข้งในสังเวียนสโมสรยุโรป..."
"มันเหมือนการระเบิดอารมณ์เก็บกดสมัยที่ผมนั่งเรียนวรรณคดีอังกฤษกับอาจารย์ต่างชาติ ซึ่งเต็มไปด้วยความหมิ่นแคลนและเหยียดหยามสติปัญญานักศึกษาไทย" อดีตล่าม USAID [United States Agency for International Development] ยิ้มเยาะกับเรื่องราวอันเป็นที่มาของความสะใจให้เราฟัง
'อดีตล่าม' คนที่ว่านี้คือหนุ่มใหญ่วัยย่าง 50 ผู้เป็นแรงบันดาลใจของคนวรรณกรรมไทยเพียงหยิบมือดังว่า
เขาผู้นั้นก็คือ 'Saneh Sangsuk' นักเขียนชาวเพชรบุรี ซึ่งเป็นที่ไถ่ถามตามร้านหนังสือแถวยุโรป
'จุดประกายวรรณกรรม' ภูมิใจเสนอบทสัมภาษณ์ 'เอ็กซ์คลูซีฟ' ของนักเขียนผู้ 'ไม่นิยมการให้สัมภาษณ์'
เขาคนนั้นมีนามว่า แดนอรัญ แสงทอง หรือ เสน่ห์ สังข์สุข ที่ทุกวันนี้ เรียกได้ว่าเขาสลัดเสื้อคลุม 'มนุษย์เงินเดือน' ทิ้งไปอย่างไม่ไยดี แถมพกด้วยการลอกคราบความเป็นคน 'ชนชั้นกลาง' ออกไปจนหมดสิ้นอีกกระทงหนึ่ง...
(2)
วงสนทนาย่อยทยอยถอยห่างมาตั้งโต๊ะใหม่ ซึ่งไม่ไกลนักจากวงข้าวใหญ่ที่ดื่มกินกันมาตั้งแต่ก่อนเพล
เราถอยห่างออกมาหามุมสงบ เพื่อบันทึกถ้อยสนทนาสำหรับ 'จุดประกายวรรณกรรม' และเพื่อนำไปออกอากาศในรายการวิทยุ 'ร้านหนังสือบนก้อนเมฆ'
"คลื่นอะไร" เขาถาม "92.5 สี่ทุ่ม ทุกคืนวันอาทิตย์" ป๋อง ใบไม้ป่า และเรืองกิตติ์ รักกาญจนันท์ ตอบเกือบพร้อมกัน
นอกจากหนุ่ม 2 หน่อนี้แล้ว วงสนทนายังมี 2 สมาชิกหลักจากกลุ่ม 'กวีหน้ารามฯ' นั่งอยู่แถวๆ นั้นด้วย นั่นคือ ศิริวร แก้วกาญจน์ กับ พิทักษ์ ใจบุญ
"ชีวิตช่วงนี้เป็นอย่างไร" เราถาม "มีความสุขดี ผมวิ่งออกกำลังวันละ 10 กิโลเมตร วิ่งมัน 5 วันต่อสัปดาห์ ที่เพชรบุรีอากาศดี ทำให้ไม่มีโรคประสาท ไม่เหมือนตอนอยู่กรุงเทพฯ ผมไม่เข้ากรุงเทพฯ มาหลายปีแล้ว พวกคุณก็เหมือนกัน ควรหาจังหวะออกไปจากเมืองนี้ทันทีที่มีโอกาส ออกไปแบบถาวรเลยยิ่งดี" เขาตอบ
ก่อนจะร่ายยาวเมื่อเราถามว่า "วิ่งเสร็จแล้วคุณคงขลุกอยู่กับ ไตรภาค : เงาสีขาว อย่างจริงจังสินะ?"
"แรกๆ มันก็เหมือนกับนักเตะเกาหลีที่ชื่อ 'ปาร์ค จี ซุง' ซึ่งเต็มไปด้วยความคล่องแคล่ว-แข็งแกร่ง-มุ่งมั่น และสู้ตาย ทว่าปัจจุบันผมล้มเลิกโครงการไตรภาคห่าเหวนั่นแล้ว ผมโยนมันทิ้งไปเพราะมันไม่สอดคล้องต้องกับความเป็นจริง ทิ้งไปเพราะมันไม่สมจริงกับชีวิตผม เมื่อผมไม่อาจ 'อิ่มทิพย์' ได้ ผมก็ไม่สามารถทำเรื่องที่ขัดแย้งกับความเป็นจริงได้...
"เพราะถ้าจะทำให้ได้ ผมต้องมีเวลาว่างอย่างยาวนานถึง 1 ปี และต้องมีเงิน 1 ล้านเท่านั้น! ผมจึงขว้างมันทิ้งไป"
"อย่างไม่แยแสงั้นรึ?"
"ไม่แยแส"
"ช่วงนี้อ่านหนังสืออะไรอยู่?"
"อ่านหนังสือธรรมะ โดยเฉพาะเรื่องราวของพระภิกษุสายวิปัสสนา และก็อ่านพระไตรปิฎก"
"สนใจมานานหรือยัง?"
"เมื่อก่อนก็สนใจอยู่บ้าง แต่ช่วงหลังจากจบ 'เจ้าการะเกด' ผมก็หันมาสนใจหนังสือธรรมะอย่างจริงจัง ถึงขั้นปวารณาตนเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เพราะยิ่งศึกษาไปผมก็ยิ่งค้นพบว่าพระพุทธเจ้าคือมหาบุรุษที่เป็นยิ่งกว่ามหาบุรุษ พระพุทธเจ้าสละความกำหนัดในกามตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30 ท่านจึงสร้างปาฏิหาริย์ได้ในเวลาต่อมา มหาตมะ คานธี ก็เช่นกัน ท่านสละกามกิจเมื่ออายุเกือบ 40 และต่อมาก็กลายเป็นมหาบุรุษอีกคน...
"ยิ่งศึกษาผมก็ยิ่งเรียนรู้ถึงความสกปรกของเพศสัมพันธ์และของอวัยวเพศ มหาบุรุษที่แท้จะต้องไม่หลงไปกับสิ่งเหล่านี้"
"คุณไปถึงขั้นสละกามกิจแล้วหรือ?"
"ผมยังไม่ถึงขั้นนั้น และยังไม่มีแผนที่จะสละ เพราะผมยังตัดไม่ขาด แต่ในอนาคตไม่แน่" (ยิ้ม)
"ทุกวันนี้นอกจากเรื่องวิ่งกับศึกษาธรรมะแล้ว คุณทำอะไรอีกบ้าง?" เราซัก
"ส่วนใหญ่จะฟังวิทยุ"
"หมายถึงงานเขียน?"
"ก็เพิ่งออกหนังสือใหม่ 2 เล่ม เป็นนิยายทั้งคู่ ชื่อเรื่อง 'ดวงตาที่สาม' กับ 'มาตานุสติ' แล้วก็กำลังขัดเกลาเรื่องสั้นต่างๆ ที่กำลังจะรวมพิมพ์" เขาตอบ
"เหตุใดคุณจึงโปรยปก 'ดวงตาที่สาม' ว่าเป็น 'เรื่องหวือหวาพาฝันเล็กๆ เรื่องหนึ่ง'?"
"ผมตั้งใจยั่วล้อความ 'น้ำเน่า' ของวรรณกรรมพาฝัน ล้อเลียนรูปแบบการนำเสนอของหนังสือพวกนั้น โดยใส่เนื้อหาสาระแบบของผมลงไป ก็อยากลองทำดูว่าถ้าจับมันมาผสมพันธุ์กันแล้วมันจะเป็นยังไง"
"แล้วมันเป็นอย่างไร?"
"ก็อย่างที่คุณเห็น"
"กับ 'มาตานุสติ' ล่ะ เหตุใดจึงบอกว่าได้ 'ทำให้มันเป็นเรื่องของฉันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้'?“
"เพราะมันคือการผสานเรื่องเล่าต่างๆ ให้มาอยู่บนโครงสร้างซึ่งผมวางไว้ ที่บอกว่า 'ทำให้เป็นเรื่องของฉัน' นั้น หมายถึงการยำเอาเรื่องราวต่างๆ ที่ผมอยากยำมานำเสนอใหม่ ด้วยการเขียนใหม่ให้เป็นเรื่องของผมล้วนๆ"
เรากำลังพูดถึง 'ดวงตาที่สาม' นวนิยายเล่มใหม่ที่เป็น 'ความบันเทิงเบ็ดเตล็ด' และพยายามจะให้เป็น 'โลกุตรศิลป์'
และเรากำลังพูดถึง 'มาตานุสติ' นวนิยายอีกเล่มที่โปรยปกไว้ว่าเป็น 'รายงานสภาพทางภูมิศาสตร์ของอเวจีขุมต่างๆ แห่งโลกยุคใหม่ และสภาพทางจิตใจโดยสังเขปของผู้ที่อยู่ในขุมอเวจีเหล่านั้น'
ความเหมือนที่แตกต่างของงานทั้งสองเล่มอยู่ที่การนำเค้าโครงเรื่องของวรรณกรรมอันหลากหลายมา 'ใช้ตามอำเภอใจ' และรังสรรค์ขึ้นใหม่ให้เป็น 'เรื่องแต่ง' ในแบบฉบับของเขาเอง ซึ่งก็คือการทำให้มัน 'หมดกลิ่นอายฝรั่ง'
ส่วนความแตกต่างที่แตกต่างก็คือนิยายคู่นี้มันเป็นคนละแนวทางกัน...
'ดวงตาที่สาม' ออกจะไปทางโรแมนติก หวานๆ และพาฝัน ขณะที่ 'มาตานุสติ' มีเนื้อหาในเชิงเขย่าขวัญสั่นประสาท
"เหมือนที่เขากล่าวกันว่านักเขียนเก่งๆ มักนิยมเปลี่ยนรูปแบบการเขียนเสมอๆ?" เรายิงคำถามใส่
"ไม่ได้คิดอะไรแบบนั้น" แดนอรัญตอบ "ผมเขียน 'ดวงตาที่สาม' โดยตั้งใจให้มันเป็นโลกุตรศิลป์ แต่ก็ยังทำได้ไม่ถึง 'มาตานุสติ' ก็เช่นกัน เป็นเรื่องยากที่คนอย่างผมซึ่งเขียนแต่งานโลกียศิลป์มาตลอดจะข้ามฝั่งไปยังจุดนั้นอย่างฉับพลันทันด่วน...
"งานแบบโลกุตรศิลป์คืองานที่ช่วยยกระดับจิตใจไปสู่การหลุดพ้น ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจต่างๆ แล้ว ผมคงจะมุ่งหน้าไปสู่งานโลกุตรศิลป์เพียงอย่างเดียว"
เขาขยายความถึง 'ภารกิจต่างๆ' ต่อมาว่าคือการรื้องานแปลเล่ม 'คนโซ' และงานเขียนที่สร้างชื่อให้กับเขา คือ 'เงาสีขาว'
"ผมกำลังจะนำ 'เงาสีขาว' และ 'คนโซ' กลับมาพิมพ์ใหม่ และหลังจากนี้ผมอาจทำงานโลกียศิลป์ขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง จากนั้นอาจหายเข้าป่าไปเงียบๆ (หัวเราะ)
"ก็คงเข้าป่าไปฝึกสมาธิ เพราะอย่างที่บอกว่าช่วงหลังมานี้ผมสนใจพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ซึ่งบางส่วนก็เริ่มลองนำมาปรับใช้กับงานวรรณกรรมบ้าง...เท่าที่ผมศึกษาเรื่องราวของภิกษุสงฆ์สาย 'พระป่า' ในช่วงหลังมานี้ ผมก็ได้สัมผัสกับเรื่องราวเชิงปาฏิหาริย์จากการทำสมาธิไม่น้อย"
"เช่นตอนท้ายๆ ของ 'มาตานุสติ'" เราแทรกขึ้น
"ใช่" เขาตอบ "จะเห็นได้ว่าเมื่อตัวละครลูก บำเพ็ญภาวนาด้วยดวงจิตอันแน่วแน่ ท้ายที่สุดแล้วก็เกิดปาฏิหาริย์ขึ้น"
มาตานุสติ จัดเป็นวรรณกรรมเขย่าประสาทที่เล่าเรื่องราวของสองแม่ลูกผู้อาศัยอยู่ในขุมอเวจีร่วมสมัย นั่นก็คือสังคมไทยในความหมายของ 'แดนอรัญ' ที่เต็มไปด้วยความหยาบช้า เห็นแก่ตัว และเต็มไปด้วยกิเลส เรื่องราวปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะฉากสุดท้ายในท้องเรื่อง มิใช่เกิดจากความบังเอิญแต่เพียงฝ่ายเดียว หากเกิดจากการลงมือปฏิบัติสมาธิโดยไม่รู้ตัวของตัวละครลูก ซึ่งนำไปสู่เรื่องราวไม่คาดฝันในท้ายที่สุด
ขณะที่ ดวงตาที่สาม ก็เล่นกับประเด็นปาฏิหาริย์เช่นเดียวกัน ทว่าเป็นปาฏิหาริย์ซึ่งวางอยู่บนน้ำหนักของเหตุผล เช่น การรักษาอาการตาบอดหรือการผูกเรื่องและดำเนินเรื่องอย่างมีที่มาที่ไปอันแจ่มชัด
"อาจเพราะผมพยายามมากเกินไปก็ได้ ที่จะทำงานโลกุตรศิลป์ ซึ่งหมายถึงอิสรภาพของจิต มากกว่างานโลกียศิลป์ ซึ่งแปลว่ากิเลสตัณหา...
ยอมรับว่าช่วงหลังผมมีอารมณ์ขันมากขึ้น ผมคิดว่ามันเกิดจากสภาพจิตใจที่ดีขึ้นเมื่อย้ายมาอยู่ต่างจังหวัด อารมณ์ขันทำให้ผมเป็นมนุษย์มากขึ้น มีเมตตาธรรม..."
"ผมศึกษาธรรมะค่อนข้างมาก มากมาตั้งแต่หลังช่วงที่ทำ 'อสรพิษ' ซึ่งมีคำพูดลอยมาเข้าหูทำนองว่า ผมทำ 'อสรพิษ' เพื่อแก้ต่างหรือชดเชยความผิด กระทั่งปกป้องสถานะนักเขียน หลังจากถูกสาปส่งเมื่อครั้งเขียน 'เงาสีขาว' ตี_เถอะครับ!
"ผมเขียน 'อสรพิษ' เพราะช่วงนั้นกำลังเดือดร้อนเรื่องเงิน จำได้ว่าใช้เวลาไม่ถึงสัปดาห์ก็เขียนจนพิมพ์ออกมาเป็นเล่มได้แล้ว...เพราะฉะนั้นไอ้ที่พูดๆ กันก็ขอบอกอีกทีว่า ตี_เถอะครับ! ปกป้อง-แก้ต่างบ้าบออะไร ผมว่าผมชุ่ยกับ 'อสรพิษ' เอามากๆ ไม่เหมือนกับเล่ม 'เจ้าการะเกด' ที่ผมรู้สึกว่ามันเป็นงานที่ 'ประณีตที่สุดในชีวิต'"
"หลังจากเสร็จ 'อสรพิษ' และ 'เจ้าการะเกด' ผมก็หันไปทุ่มเทศึกษาธรรมะ เพื่ออุทิศตนให้กับโลกุตรศิลป์ล้วนๆ"
"จุดเปลี่ยนของมันคืออะไร?" เราถาม
"อาจเป็นเพราะวัยก็ได้...(หยุดคิด)...ผมคิดว่าน่าจะมาจากการศึกษาพุทธศาสนา ผมคิดว่าพุทธศาสนานี้คือของแท้ ที่พูดนี่ไม่ได้หมายความว่าศาสนาอื่นไม่มีหนทาง แต่ผมคิดว่าศาสนาพุทธตอบโจทย์เรื่องการหลุดพ้นได้ตรงที่สุด"
"หมายความว่าทุกวันนี้คุณกำลังแสวงหาหนทางหลุดพ้น?"
"ยังเร็วเกินไปที่จะตอบ" เขาบอก "ผมยังละกิเลสไม่ได้ทั้งหมด แต่ก็พยายามอยู่ หลักๆ เลยก็คือยังตัดไม่ขาด แล้วก็ยังไม่ได้วางแผนอะไรมากไปกว่านี้..."
"ภาพสะท้อนของ ‘มาตานุสติ’ กับ ‘ดวงตาที่สาม’ เป็นการพยายามที่จะทำงานในเชิงโลกุตรศิลป์อย่างที่พูดไป แม้ว่าจะยังทำได้ไม่ถึง แต่ผมก็ตั้งใจกับมัน"
(3)
บนปีกปก ดวงตาที่สาม สำนักพิมพ์ แมวคราว ของ ธนิต สุขเกษม เขียนไว้ว่าเป็น 'การแหวกขนบครั้งสำคัญของนักเขียนแนวสร้างสรรค์คนหนึ่งซึ่งหันมาพูดถึงเรื่องรักของหนุ่มสาวในแง่มุมสุ่มเสี่ยงต่อการถูกประทับตราว่าเป็นเรื่องน้ำเน่าได้ไม่ยาก'
ขณะที่ปีกปก มาตานุสติ บอกว่าเป็นการ 'เผยให้เห็นความสามารถอันเอกอุในแง่ของการสร้างบรรยากาศและสถานการณ์อันชวนประหวั่นพรั่นพรึงชนิดที่จะติดตรึงอยู่ในความทรงจำของผู้อ่านไปอีกแสนนาน"
เมื่อเราถามถึงความเป็นไปได้ของการที่ 'เรื่องแหวกขนบ' และ 'เรื่องที่จะติดตรึงในความทรงจำไปอีกแสนนาน' จะมีโอกาสได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศหรือไม่
แดนอรัญ ตอบว่า อยากให้มีการแปล เพราะอย่างที่กล่าวไป ว่าการได้รับการพูดถึงในเวทีวรรณกรรมต่างประเทศคือความสะใจ
"ขณะที่เราส่งคนที่เกือบๆ จะดีที่สุดไปเรียนศาสตร์ตะวันตกที่ต่างประเทศ ฝรั่งเขากลับส่งคนดีที่สุดมาศึกษาพุทธศาสนาในบ้านเรา มันหมายถึงอะไรถ้าไม่ใช่การดูถูกสติปัญญากันเอง คล้ายกับเหตุการณ์ที่อาจารย์ฝรั่งเคยหมิ่นแคลนสติปัญญานักศึกษาอย่างผม...ผมจึงอยากให้นิยาย 2 เล่มใหม่นี้ทะลุออกไปข้างนอกอีกครั้ง"
"มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?" เราซัก
"ต้องไปถามคุณมาร์แซล บารังส์"
แดนอรัญ แสงทอง-หนุ่มใหญ่ผู้ที่แวดวงหนังสือยุโรปยกย่องให้เป็น 'หนึ่งในนักเขียนที่มีศักยภาพล้ำเลิศที่สุดในยุคสมัยของเขา' กล่าว ก่อนที่จะอำลาวงสนทนาเล็กๆ วงนี้ 0
ขอบคุณคุณนกป่า อุษาคเนย์์ ที่เอื้อเฟื้อบทความ
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ :
เกินบรรยายอ่ะคับ ขอแสดงความสะใจด้วยคน งานคุณแดนอรัญไม่ได้ด้อยกว่าฝรั่ง พูดได้ว่าดีกว่านักเขียนยุโรปที่เขาว่าเก่งๆ อีกอ่ะคับ อันนี้คอมเฟรม
ตอบลบเดชานนท์
ทีแรกรู้สึกขัดๆ เพราะไม่ชินกับภาษาโบราณ แต่ด้วยความอยากรู้ก็ต้องอ่าน อ่านไปอ่านมากลับติดใจ หัวใจกลายเป็นคนไทยรักภาษาไทยโดยไม่รู้ตัว อยากให้คุณแดนอรัญมีงานเขียนใหม่ๆ เยอะๆ ค่ะ
ตอบลบขอบคุณสำหรับบทสัมภาษณ์ดีๆ ขอเป็นอีกหนึ่งแรงใจให้คนเขียนและคนทำบล็อกแห่งนี้นะคะ
ดวงตะวัน
ผมอ่านชายชราผู้อ่านนิยายรัก ที่หลุยส์ เซปุล์ดา เขียน
ตอบลบแล้วตอนท้ายเป็นช่วงที่ชายชราที่เป็นพรานแล้วดวลกับเสือ
หลังจากนั้นผมก็ได้อ่านเจ้าการะเกด
รู้สึกว่าคล้ายกัน
คนกับเสือทั้ง2เรื่องมีไหวพริบพอๆกัน
แต่การบรรยายของนักเขียนผมว่า
แดนอรัญ แสงทอง บรรยายได้สุดยอดกว่า
ทั้งๆที่ในประวัติบอกว่า หลุยส์ เซปุล์ดา ได้รับความนิยมในยุโรป
เป็นอันดับ2 รองจาก กาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ(ไม่แน่ใจนะครับ)