บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เตรียมพบกับ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ เร็วๆ นี้

อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (วิมุตติคีตาหมายเลขหนึ่ง)

แดนอรัญ แสงทอง บรรจงเขียน

สำนักพิมพ์คนสรวล บรรจงพิมพ์



“…ในบรรดานกตีรทัสสีทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นนกตีรทัสสีที่เลิศล้ำที่สุดเพราะพระองค์ได้ทรงบอกกล่าวถึงวิธีการข้ามโอฆสงสารไว้เป็นอเนกปริยาย ทรงบอกกล่าวโดยพิสดารถึงกระแสน้ำ กระแสลม ห้วงวังวน มัจฉาร้าย เกาะแก่ง อสูรแห่งห้วงสมุทร และทรงย้ำเตือนเสมอว่าการบรรลุถึงฝั่งให้จงได้เท่านั้น คือจุดมุ่งหมายหลักของชาวเรือ…”

อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (วิมุตติคีตาหมายเลขหนึ่ง) คือผลงานเขียนชิ้นสำคัญอีกครั้งของ แดนอรัญ แสงทอง นักเขียนรางวัลศิลปาธรคนล่าสุด (๒๕๕๓) เป็นการหักเหเข้าสู่โลกุตตรศิลป์ครั้งแรกสุดของเขา ผู้อ่านที่เคยติดตามผลงานของแดนอรัญมาก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ถูกกระทำ (๒๕๒๘), ยามพราก (๒๕๓๔), เงาสีขาว (๒๕๓๖), อสรพิษ (๒๕๔๕), เจ้าการะเกด (๒๕๔๖), ดวงตาที่สาม (๒๕๔๙), มาตานุสติ (๒๕๔๙), ตำนานเสาไห้ (๒๕๕๒), แมวผี (๒๕๕๓) จะต้องแปลกประหลาดใจแน่นอนเมื่อได้อ่านผลงานชิ้นสำคัญนี้

อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (วิมุตติคีตาหมายเลขหนึ่ง) เคยตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร สานแสงอรุณ ปีที่ ๑๓ ฉบับที่ ๒ มีนาคม-เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่มี ทวีศักดิ์ แก้วเข้ม เป็นบรรณาธิการ และกำลังจะจัดพิมพ์เป็นเล่มโดยสำนักพิมพ์คนสรวล (laughing gardener book house) เร็วๆ นี้ 

อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (วิมุตติคีตาหมายเลขหนึ่ง) ใช้ฉากในสมัยพุทธกาล บอกเล่าเรื่องราวของวาสวเนสินหนุ่ม ผู้เที่ยวเสาะแสวงหาความหลุดพ้นด้วยสารพัดวิถี แต่กลับพบเพียงความหมายอันจอมปลอม กระทั่งวันหนึ่ง… วาสวเนสินหนุ่มจึงได้พบวิถีแห่งความหลุดพ้นที่แท้จริง แดนอรัญ แสงทอง ยังคงใช้ภาษาเขียนที่ประณีตบรรจงเช่นเดิม เรื่องราวที่อวลด้วยกระแสธรรมในรูปลักษณ์วรรณกรรม รูปประโยคซ้ำๆ อย่างตั้งใจ อาจทำให้ผู้อ่านดิ่งลึกลงในภวังค์ของสมาธิอย่างไม่รู้ตัว และบางทีอาจประสบภาวะสงบสงัดสักชั่วขณะหนึ่งของดวงจิตที่กำลังเสาะแสวงหาหนทางแห่งความหลุดพ้นที่แท้จริง ดุจเดียวกับวาสวเนสินหนุ่มก็เป็นได้

วาสวเนสินระลึกได้เลือนๆ รางๆ ถึงคำพรรณนาในตำรามหาปุริสลักษณะ ซึ่งเขาเล่าท่องได้เจนใจมาตั้งแต่เขายังอยู่ในวัยหนุ่ม เขาเพ่งมองสมณะรูปงามนั้นด้วยสายตาของสัตว์ที่ถูกกักขังจ้องมองดูผู้ที่จะมาปลดปล่อยตน เขาฉงนฉงายด้วยซ้ำไป ว่าผู้ปลดปล่อยเขานั้น จะใช้วิธีการกับเขาเยี่ยงไร จะกล่าววาจากับเขาด้วยถ้อยคำเช่นใด และด้วยอาการอย่างใด

..................................................................................
หมายเหตุ: สอบรายละเอียดเพิ่มเติมที่ konsuan12@yahoo.com

1 ความคิดเห็น: