บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันอาทิตย์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

อสรพิษ : พิษงูไม่ร้ายเท่าพิษคน


โดย ผศ.ดร. อุษา พัดเกตุ
ประจำสาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

 
บทคัดย่อ

อสรพิษ เป็นเรื่องสั้นของ “แดนอรัญ แสงทอง” นักเขียนไทยที่ไปมีชื่อเสียงโด่งดังในต่างประเทศ เนื้อเรื่องเล่าถึงการต่อสู้ระหว่างเด็กชายแขนพิการวัยสิบปีกับงูเห่ายักษ์เพศเมียตัวหนึ่ง บทความนี้สำรวจการใช้สัมผัสภาษาของผู้เขียนที่ส่งผลให้เกิดอารมณ์และจังหวะการดำเนินเรื่องที่เป็นเอกลักษณ์ต่างๆ กันไปในแต่ละช่วงของเนื้อเรื่อง และความเป็นสากลในการใช้งูเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายในเรื่องสั้นเรื่องนี้ ตลอดจนวิเคราะห์วิพากษ์ตัวละครหลักที่ปรากฏในเนื้อเรื่อง

 บทนำ : ... มาจะกล่าวบทไป

 “แดนอรัญ แสงทอง”  อาจจะไม่เป็นชื่อที่นักอ่านไทยคุ้นเคย วงการหนังสือไทยยังไม่ได้จับนักเขียนคนนี้ขึ้นแท่นเป็นนักเขียนชั้นแนวหน้าของฟ้าเมืองไทย แต่งานเขียนของเขากลับไปมีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่นิยมในต่างประเทศ นวนิยายและเรื่องสั้นของเขาได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส กรีก คาตาลัน โปรตุเกส อิตาเลี่ยน และสเปน  และตัวผู้เขียนก็ได้รับการขนานนามจากชาวต่างชาติว่าเป็น “นักเขียนชาวไทยผู้ยิ่งใหญ่”  เท่านี้ก็เพียงพอแล้วกระมังที่จะทำให้นักอ่านชาวไทยหันมาพิจารณาดูผลงานของ “แดนอรัญ แสงทอง” ว่ามีสิ่งใดที่โดดเด่นและเป็นสากล สามารถสะกดความศรัทธาของผู้อ่านข้ามชาติ ข้ามศาสนาไว้ได้
 
... ถึงภาษาไทยในเรื่องสั้น

“แดนอรัญ แสงทอง” เขียนหนังสือได้หนักหน่วงไปด้วยสัมผัสคล้องจอง เขาเขียนหนังสือเหมือนด้นกลอนสด เรื่องราวต่างๆ พรั่งพรูเป็นถ้อยคำสำนวนความเรียงที่ถูกร้อยรัดไว้หลวมๆ ด้วยวิญญาณของกวี เรื่องสั้นเรื่อง อสรพิษ เปิดเรื่องด้วยสัมผัสนอกและใน บรรยายธรรมชาติในยามเย็นว่า :
 
                                จวนจะเย็นย่ำแล้ว แดดอ่อนรอนแสงลงแล้ว ดวงตะวันเป็นสีแดงแก่ก่ำ

                นุ่มนวลอ่อนโยนลง ท้องฟ้าปร่ง **  โล่งเหมือนโดมแก้วผลึก เสี้ยวเมฆบางเบาบนเส้น

                ขอบฟ้าเหนือทิศตะวันตกเมื่อต้องแสงตะวันมีสีสันงามประหลาด
 

การบรรยายธรรมชาติยามเย็นเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงระหว่างการจู่โจมของงูยักษ์ จากความงดงามของท้องฟ้ามาเป็นความว้าเหว่ของท้องทุ่ง จังหวะสัมผัสของการบรรยายธรรมชาติเป็นเสมือนการให้จังหวะโจมตีของเจ้างูนั้น :

                 ความโกรธเกรี้ยวของเจ้างูโหมกระพือ มันยืดตัวสูงขึ้นอีก หัวของมันแอ่นเอนมาทางเบื้องหลังเหมือนคันธนูที่ถูกน้าวจนสุดล้า ปากของมันอ้าออก เผยให้เห็นเขี้ยวอันโค้งงดและวาววับ ลมทุ่งยังกระโชกวู่หวิว มิหยุดยั้ง ขอบดวงทางด้านล่างของดวงตะวันแตะเส้นขอบฟ้า เสียงวัวลูกแหง่ร้องเรียกหาแม่ดังมาอย่างว้าเหว่ เหยี่ยวแดงตัวหนึ่งลอยละล่องอยู่สูงลิบลิ่ว ส่งเสียงกรีดร้องแหลมสูงด้วยความหิวโหยขณะมุ่งหน้ากลับไปสู่รวงรังอันเร้นลับของมัน ยังมิทันสิ้นเสียงร้องของเหยี่ยว เจ้างูก็ฉกลงมาเต็มแรง

...
 
อสรพิษ กับความเป็นสากล

                เพียงการเล่นคำเล่นสำนวนแบบไทยๆ คงจะไม่ทำให้ผลงานของ “แดนอรัญ แสงทอง” เป็นที่นิยมได้ในระดับนานาชาติ คงต้องยอมรับกันว่าการแปลผลงานวรรณกรรมเป็นภาษาต่างๆ แม้ผู้แปลจะเก่งฉกาจและเชี่ยวชาญในศาสตร์การแปลเพียงใด ก็คงไม่อาจเก็บอรรถรสของถ้อยคำภาษาต้นฉบับได้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพราะสิ่งนี้เองที่ทำให้ภาษาแต่ละภาษามีเอกลักษณ์ความงามในตัวเองที่ลอกเลียนแบบไม่ได้ ในการพิจารณาถึงความนิยมชมชอบที่นักอ่านชาวต่างชาติมอบให้ “แดนอรัญ แสงทอง” ผู้อ่านจึงต้องมองหาความเป็นสากลในผลงานของนักเขียนผู้นี้ที่ได้ช่วยทำให้เขามีชื่อเสียงในวงการนักอ่านที่ไม่ใช่คนไทย

                 จะขอเริ่มจากชื่อเรื่อง “อสรพิษ” ที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกแขยงกลัวตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มเรื่อง จากคำนำของผู้เขียนทำให้ทราบว่าผู้เขียนมิได้มีเจตนาผลิตเรื่องสั้นเรื่องนี้ให้เป็นผลงานชิ้นโบแดง และความสำเร็จของ อสรพิษ ในระดับนานาชาติก็ยังความประหลาดใจมาให้ตัวผู้เขียนเองไม่น้อย จึงอาจจะกล่าวได้ว่า อสรพิษ เป็นความบังเอิญที่โชคดี กล่าวคือ เป็นความบังเอิญของผู้เขียนที่ยกให้ “งู” เป็นตัวละครเอกตัวหนึ่งในเรื่องนี้ และยังตั้งชื่อเรื่องให้เห็นความน่าสะพรึงกลัวของสัตว์ประเภทนี้ และเป็นความโชคดีของงานเขียนชิ้นนี้ที่ “งู” มิได้เป็นเพียงสัตว์ที่คนไทยรังเกียจ เข็ดขยาดทั้งในรูปลักษณ์และพิษสงของมัน หากแต่เป็นสัญลักษณ์แห่งความชั่วร้ายลวงหลอกในอีกหลายวัฒนธรรมรวมถึงวัฒนธรรมชาวคริสต์ ซึ่งเป็นที่มาของความเชื่อความศรัทธาในบรรดาประเทศตะวันตกที่ผลงานของ “แดนอรัญ แสงทอง” กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้

                 พระคัมภีร์ไบเบิ้ลตามความเชื่อในคริสต์ศาสนา เล่าไว้ว่า เมื่อพระเจ้าสร้างมนุษย์ชายหญิงขึ้นมาคู่หนึ่ง พระองค์โปรดให้มนุษย์ทั้งสอง ที่รู้จักกันในชื่อ อาดัม และ อีฟ ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายในสวนอีเดน ให้มีกินมีใช้ โดยไม่ต้องออกแรงทำงานใดๆ ต่อมาไม่นาน ซาตานซึ่งเป็นศัตรูของพระเจ้าจ้องหวังจะทำลายความปรารถนาดีของพระองค์ จึงแปลงกายมาเป็นงูเลื้อยพันอยู่กับต้นแอปเปิ้ลแห่งความรู้ ซึ่งเป็นต้นไม้เพียงต้นเดียวในสวยอีเดนที่อาดัมและอีฟถูกสั่งห้ามไม่ให้เก็บกินผล ซาตานในคราบของงูได้หว่านล้อมให้อีฟหลงเชื่อ ขัดขืนคำสั่งของพระเจ้าและกินผลแอปเปิ้ลบนต้นไม้ตั้น เมื่ออีฟได้ลิ้มรสอันหอมหวานของผลแอปเปิ้ล ก็ชักชวนให้อาดัมกินตาม พระเจ้าทราบเรื่องก็พิโรธหนัก ขับไล่มนุษย์ทั้งสองให้ออกจากสวนอีเดน พร้อมกับคำสาปว่า ทั้งอาดัมและอีฟตลอดจนลูกหลานที่จะตามมา จะไม่มีวันได้ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายอีกต่อไป ถ้าอยากมีอยากกินก็ต้องทำงาน แลกอาหารด้วยหยาดเหงื่อและแรงกาย เป็นอันว่าเจ้าซาตานร้ายก็ประสบความสำเร็จในการปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในอาณาจักรของพระเจ้าได้จริงๆ ในครานั้น มนุษย์คงยังไม่มีภาพลักษณ์ที่เป็นลยเกี่ยวกับสัตว์เลื้อยคลานเช่นงู เพราะไม่เห็นมีบันทึกว่าอีฟตื่นตระหนกที่จะต้องเจรจากับซาตานในร่างของงู แต่ผลจากเรื่องเล่านี้ก็ทำให้งูกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้ายในระบบความเชื่อของชาวตะวันตก ซึ่งก็เข้ากันได้พอดิบพอดีกับเนื้อหาของเรื่องสั้นเรื่อง อสรพิษ ของ “แดนอรัญ แสงทอง”

หมายเหตุ : คัดมาบางส่วนจากบทความ  อสรพิษ : พิษงูไม่ร้ายเท่าพิษคน
โดย ผศ.ดร. อุษา พัดเกตุ  ขอขอบคุณเป็นอย่างสูงมา ณ ที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น