บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันอาทิตย์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ในลิ้นชักความทรงจำ นักเขียนรางวัลซีไรต์ ปี 2557 แดนอรัญ แสงทอง

เขาเป็นนักเขียนไทยที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศมาก่อน (1)


ขอบคุณคุณยูร กมลเสรีรัตน์ ที่เอื้อเฟื้อบทความ “ในลิ้นชักความทรงจำ”  ตีพิมพ์ครั้งแรกในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ ปีที่ 61 ฉบับที่ 53
k_yoon_w_c@hotmail.com
 


   
            “เงาสีขาว” คือผลงานเล่มแรกของแดนอรัญ  แสงทองที่ผมรู้จักราว 20 ปีก่อน จำได้ว่าเจอหนังสือเล่มนี้ที่ร้านหนังสือเดอะมอลล์ ท่าพระ ฉบับพิมพ์ครั้งแรกปกพื้นสีขาว ตัวหนังสือสีดำสะดุดตา ที่สำคัญ หนังสือเล่มใหญ่ หนาปึ้ก ขนาดสิบหกหน้ายกพิเศษ เป็นรองพจนานุกรมไทยไม่เท่าไหร่ ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าแดนอรัญ  แสงทองเป็นใคร  คิดว่าเป็นนักเขียนใหม่ มารู้ภายหลังในเวลาต่อมา ว่า เขาเป็นนักเขียนเก่า แต่ใช้นามปากกาใหม่  ผมเคยติดตามผลงานเรื่องสั้นและบทกวีของเขามาก่อนในอีกนามปากกาหนึ่ง

          ในเวลานั้นผมคิดว่า“เงาสีขาว” คงขายยาก หนังสือเล่มโต ๆ  ใครเห็นก็ต้องขยาด ยกเว้นหนอนหนังสือตัวยงและยกเว้นอีกเหมือนกัน คือกรณีหนังสือเล่มนั้นได้รางวัลใหญ่เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของรสนิยมคนไทย จะซื้ออ่านตามกระแสเห่อรางวัลและครั้งที่“เงาสีขาว” เข้ารอบ

สุดท้ายรางวัลซีไรต์เมื่อปี 2537 ซึ่งปีนั้นเป็นรอบของการประกวดนวนิยาย  นวนิยายที่เข้ารอบสุดท้าย 6 เล่มในปีนั้น  ล้วนเป็นผลงานที่เปี่ยมด้วยคุณภาพทั้งนั้น เป็นปีที่ต้อง ลุ้นกันมาก  เพราะคุณภาพหลากหลายและเชือดเฉือนกันเหลือเกิน

ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ปีกความฝัน,เวลา,ชะบน,ผ้าทอง,หมู่บ้านท่าเข็น  จนโหรซีไรต์ที่ผมให้สมญานามคือ สกุล  บุณยทัต นักวิจารณ์รางวัลดีเด่น กองทุนหม่อมหลวงบุญเหลือ  เทพยสุวรรณ เอาผลงานทั้ง 6 เล่มมาวิเคราะห์และแจกแจงอย่างละเอียดลออ โดยทำนายว่า นวนิยายเรื่องใดมีสิทธิ์จะได้รางวัลซีไรต์และมีน้ำหนักมาก-น้อยแค่ไหน  สร้างความคึกคักให้กับวงวรรณกรรมเป็นอย่างมาก

          นวนิยายแต่ละเรื่องต่างก็มีข้อดี-ข้อเด่นคนละแบบ  สำหรับเรื่อง “เงาสีขาว”นั้น ถือว่าแปลกแหวกแนวสุดเหวี่ยงกว่าทุกเรื่อง เป็นการถะถั่งพรั่งพรูของกระแสสำนึกออกมาอย่างทะลักทลาย  คัดค้านต่อความดีงามทั้งปวง ซ้ำแต่ละบรรทัดตัวหนังสือยังเรียงติดกันเป็นพืด ไม่มีช่องว่างให้พักสายตาแม้แต่น้อย นั่นเพราะเป็นความจงใจของผู้เขียน  ผู้เขียนต้องการแหวกขนบทั้งปวง ทั้งในด้านเนื้อหาและวิธีการเขียน

          ถ้าใครติดตามคอลัมน์นี้เป็นประจำ  จะเห็นว่า 11 ปีมานี้ จะไม่เขียนเชียร์คนที่ได้รับรางวัล

ใหญ่ ๆ จะไม่ตามกระแส  เพราะเขาดังแล้วและหนังสือฉบับอื่นก็เขียนถึงหลายฉบับแล้ว  เหตุที่เขียนถึงแดนอรัญ  แสงทองในครั้งนี้ เพราะเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ครั้งที่เขียนคอลัมน์เกี่ยวกับวรรณกรรมที่นิตยสารกุลสตรีเป็นเวลาเกือบ 10 ปี วันหนึ่ง ผมคุยโทรศัพท์กับวีรยศ  สำราญสุขทิวาเวทย์ ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดกับอาจินต์  ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ  ผู้สร้างผลงานอมตะชุด เหมืองแร่ และในตอนหนึ่งของการสนทนา ผมได้พูดถึงแดนอรัญ  แสงทอง

วีรยศเห็นผมสนใจผลงานของแดน  อรัญแสงทอง  ก็เลยเสนอตัวว่า ถ้าผมจะไปสัมภาษณ์ จะพาไปที่เพชรบุรี เพราะเขารู้จักกับแดนอรัญ  แสงทอง  ตอนนั้นผมไม่สะดวกจะไปที่ไหนเลย  เรียกว่าขยับตัวไปไหนลำบากก็ว่าได้  จึงไม่ได้ให้คำตอบ เพราะต้องดูแลพ่อแม่ที่แก่ชรา พ่อก็เกือบเก้าสิบ แม่เกือบแปดสิบ  ใครไม่เลี้ยงคนแก่จะไม่รู้ซึ้งหรอกว่าเป็นยังไง เหนื่อยแค่ไหน  บุกตะลุยไปสัมภาษณ์นักเขียนในกรุงเทพฯแต่ละครั้ง บางครั้งไกลมาก ก็เหนื่อยแล้ว กลับไปถึงบ้านก็ต้องทำหน้าของลูกต่อ

หลังจากพ่อแม่เสียชีวิตเมื่อกว่าสิบปีก่อน ผมก็ลืมเลือนเรื่องนี้ไปเลย มารู้ข่าวอีกทีตอนผลงานของแดนอรัญ  แสงทองเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ปีนี้และมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า เอาผลงานเก่าที่เคยพิมพ์รวมเล่มแล้วส่งประกวด  ความจริงแล้วในเล่มมีผลงานใหม่ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าผลงานเก่า เป็นไปตามกติกาของการประกวด  ก็ลุ้นเขาอยู่ในใจ ในฐานะนักเขียนเก่าและของจริง จนกระทั่งเขาได้รางวัลซีไรต์

การเขียนถึงแดนอรัญ  แสงทอง จึงไม่ใช่เพราะเขาได้รางวัลซีไรต์แต่อย่างใด  เพียงแต่รู้สึกผิดนิด ๆ ว่าน่าจะเขียนถึงเขาตั้งนานแล้ว  เพราะเขาคือนักเขียนคุณภาพ เขาคือของแท้  เหมือนกับบทความของสุชาติ  สวัสดิ์ศรี  ศิลปินแห่งชาติ อดีตบรรณาธิการโลกหนังสือ,โลกหนังสือฉบับเรื่องสั้นและช่อการะเกดที่เขียนไว้ชื่อ “อำนาจแห่งความเป็นของแท้” ตีพิมพ์ในช่อการะเกดยุคแรก เฉียบคม กินใจมาก

          หากของแท้อย่างแดนอรัญ  แสงทอง กลับไม่ได้รับการต้อนรับในเมืองไทย และไม่มีใครพูดถึงผลงานของเขาเลย  ครั้งที่ “เงาสีขาว”เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์เมื่อปี  2537 แต่ในที่สุดแล้ว ด้วยเนื้อหาที่รุนแรง จึงถูกคัดค้านจากคณะกรรมการและมีมติให้ถอดนวนิยายเรื่อง “เงาสีขาว”ออกจากรอบสุดท้าย หากเมื่อเป็นของแท้  แม้ผลงานของเขาจะถูกมองข้ามจากคนในประเทศ  แต่กลับข้ามน้ำข้ามทะเล  ไปมีชื่อเสียงขจรในต่างประเทศ  เพราะคนต่างประเทศให้การต้อนรับผลงานของเป็นอย่างดีและน่าจะเป็นนักเขียนไทยเพียงคนเดียวที่มีชื่อเสียงในระดับสากล จากนวนิยายเรื่อง “เงาสีขาว”ประเดิมเป็นเรื่องแรก

                นั่นก็คือเมื่อมาแซล  บารังส์ นักแปลชาวฝรั่งเศส จัดทำโครงการ The 20 Best Novels of Thailand  เขาได้คัดเลือกเรื่อง“เงาสีขาว” เป็น 1 ใน 20 นวนิยายชั้นเยี่ยมของไทย พร้อมกับเขียนบทวิจารณ์ และแปลตัวอย่างนวนิยายเรื่อง“เงาสีขาว” เป็นภาษาอังกฤษ ลงในหนังสือ Thai  Modern  Classic หลังจากนั้นมาแซล บารังส์ ได้แปลตัวอย่างนวนิยายเรื่องนี้ เสนอสำนักพิมพ์ชั้นนำหลายแห่งในฝรั่งเศส  ในที่สุดนวนิยายเรื่อง“เงาสีขาว” ก็ได้รับการแปลและจัดพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศส  จากคณะกรรมการพิจารณาหนังสือของศูนย์หนังสือแห่งชาติฝรั่งเศส (Centre  National  du  Livre)

“เงาสีขาว” ฉบับพิมพ์ครั้งแรกในภาษาฝรั่งเศส  จึงอวดโฉมบนชั้นหนังสือในชื่อ L’ombre Branche (2001) โดยสำนักพิมพ์ เลอเซย (Editions du  Seuil)

แปลโดย มาแซล  บารังส์  ผู้เขียนคือ Saneh  Sangsuk (เสน่ห์ สังข์สุข) ซึ่งเป็นชื่อจริงของแดนอรัญ  แสงทอง อยู่บนปกหนังสือ ผลงานเรื่องต่อมาเป็นเรื่องสั้นขนาดยาวชื่อ“อสรพิษ” พิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารทางอินเตอร์เน็ต ชื่อ Thai Ink  

มาแซล  บารังส์ ได้นำเรื่อง “อสรพิษ”มาแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส ในชื่อ Vernon และจัดพิมพ์เป็นเล่มครั้งแรก โดยสำนักพิมพ์ เลอเซย  นอกจากนี้ “อสรพิษ”ยังได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ในชื่อ Vernin โดย มาแซล บารังส์ และนำไปทยอยลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ พิมพ์บางกอกโพสต์ ประจำเดือนกรกฏาคม  2001 ซึ่งเรื่องสั้น“อสรพิษ” นี้ นักอ่านต่างประเทศต่างก็ชื่นชอบกันมาก หนังสือพิมพ์ในด้านวรรณกรรมของฝรั่งเศสชื่อ Le  monde  des Livres ได้เขียนถึงผลงานของ  Saneh  Sangsuk (เสน่ห์  สังข์สุข)ในหน้าแรกของหนังสือพิมพ์  โดยกล่าวถึงผลงานของเขาสองเรื่องคือ เงาสีขาว และ อสรพิษ

นอกจาก“อสรพิษ” จะได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสแล้ว ยังได้รับการแปลเป็นภาษา คาตาลัน,กรีก,โปรตุเกส,สเปน,เยอรมันและอักษรเบลล์  รวมทั้งดัดแปลงเป็นละครเวทีในฝรั่งเศส  นวนิยายอีกสองเรื่องคือ“เดียวดายใต้ฟ้าคลั่ง” ได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศส  ส่วน“เจ้าการะเกด” ได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสและอิตาลี  ซึ่งในแวดวงวรรณกรรมของทั้งสองประเทศต่างก็ให้ความชื่นชมนวนิยายเรื่องนี้มาก

“ไม่ว่าปัญหาในอดีตจะแก้ไขได้หรือไม่ เราต้องดำรงชีวิตอย่างมีความหมายต่อไป”(อัลแบร์  กามูส์)

               

               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น