บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันอาทิตย์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2553

วิจารณ์หนังสือ - เพชฌฆาตข้างถนน

พชฌฆาตข้างถนน
ปี 2551, สำนักพิมพ์สามัญชน

แดนอรัญ แสงทอง : ถอดหัวใจแปล
วิจารณ์โดย สุภาพ พิมพ์ชน
จากคอลัมน์ “อ่านในใจ” นิตยสาร Vote ปักษ์แรก มิถุนายน 2551

ความจริงเป็นสิ่งที่อธิบายยาก หรือกล่าวอย่างสุดโต่งคือความจริงเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้เลย กระนั้น มนุษย์ก็ยังพยายามจะพูดถึงความจริงผ่านทางภาษา แต่ภาษาก็ไม่ใช่ความจริง เหมือนเช่นว่านิ้วที่ชี้ไปยังดวงจันทร์ย่อมไม่ใช่ดวงจันทร์ และยังคงเป็นนิ้วอยู่นั่นเอง

มนุษย์พยายามเข้าใจชีวิตผ่านทางเรื่องเล่า แต่เรื่องเล่าก็ไม่ใช่ชีวิต และในการเล่าเรื่องย่อมมีการตัดเพิ่มเติมแต่งอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นต่างคนจึงต่างเล่าถึงเหตุการณ์เดียวกันไม่เหมือนกัน กล่าวอย่างสุดโต่งคือเรื่องเล่าโกหกเสมอ มากบ้างน้อยบ้างแต่ย่อมไม่ใช่ความจริงทั้งหมด กระนั้นมนุษย์ก็ยังหลงใหลในเรื่องเล่า

ฆอร์เก ลูอิซ บอร์เจส (Jorge Luis Borges, 1899-1986) นักเขียนผู้ยิ่งยงชาวอาร์เจนตินาได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่หลงใหลในกลเกมแห่งภาษาและเรื่องเล่าอย่างยิ่ง จนภาพลักษณ์ของชาติอยู่กับความเป็นปัญญาชน หอสมุด และเขาวงกต ด้วยความที่เป็นนักอ่านจนดวงตาใช้การแทบไม่ได้ในช่วงบั้นปลายของชีวิต เขาแสดงความหลงรักและระแวดระวังในเล่ห์กลของเรื่องเล่า ผ่านงานเขียนที่ถอดรื้อกระบวนการเล่าเรื่อง และเล่นกับตรรกะของเรื่องเล่าจนเป็นเหมือนรหัสลับ แต่ก็ทำให้ผู้อ่านรู้สึกถึงเสน่ห์อันน่าตราตรึง แม้ว่าจะอ่านไม่เข้าใจหรือไม่รู้เรื่องด้วยก็ตาม กระทั่งวรรคที่เขาบอกความหมายออกมาโต้งๆ ตรงไปตรงมา

ศตวรรษที่ 20 มีนักเขียนยักษ์ใหญ่ระดับโลกอยู่หลายคน ส่วนใครจะเป็น “ที่สุด” นั้นขึ้นอยู่กับจริตของผู้ประเมิน อย่างพวกที่ชอบศึกษาโครงสร้างของเรื่องเล่า โครงสร้างของภาษา หรือพวกที่ชอบถอดรื้อโครงสร้างของภาษา และเปิดโปงโครงสร้างของความหมาย มักจะยกบอร์เจสเป็นอันดับหนึ่ง เพราะงานของเขาชอบเล่นล้อกับความยอกย้อนของความจริงในภาษาและเรื่องเล่า เขาจึงเป็นขวัญใจของพวก “โพสต์โมเดิร์น” ไปโดยปริยาย

รวมเรื่องสั้นชุด “เพชฌฆาตข้างถนน” ของบอร์เจส คล้ายว่าจะไม่ได้เล่นกับวิธีการเล่าเรื่องซับซ้อนนัก เพราะเขาเขียนถึงชีวิตของคนสามัญที่อยู่ในวิถีของความดิบเถื่อน อย่างพวกโคบาลเกาโจ – นักเลงพื้นบ้านของอาร์เจนตินา ซึ่งยึดถือเอาความกล้าหาญเป็นสรณะ และชอบพิสูจน์กันด้วยการดวลมีด แต่ตำนานอันน่าตื่นเต้นและชวนหลงใหลของนักเลงมีดเหล่านี้เองที่บอร์เจสหยิบมาพลิกเหลี่ยมมุมไปมาเป็น 15 เรื่องสั้น

เริ่มจากเรื่องแรกเป็นเรื่องสั้นหักมุมว่าด้วยความกล้าหาญอันเป็นอุดมคติที่ชวนให้คุยโม้โอ้อวดในวิถีของชายเถื่อนทั้งหลาย แต่เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งมีตัวแปรซับซ้อนมากกว่าที่จะจำแนกได้ชัดเจน ความยอกย้อนก็ปรากฏออกมาท้าทายความหมายของอุดมคตินั้น ด้วยแก่นสารที่จริงจนอุจาดตา และทั้งไร้แก่นสารชวนเคว้งคว้างไปพร้อมกัน

เพียงเรื่องต่อมาบอร์เจสก็พลิกไปอีกมุมด้วยปากคำให้การของตัวละครสำคัญในเรื่องแรก จากนั้น เขาก็ใช้เสียงเล่าของผู้เขียน บอกถึงที่มาของตำนานการดวลมีดอันสง่างามประหนึ่งนาฏกรรมศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจในนิยายหรือบทละครจนเป็นที่นิยมในยุคหนึ่ง เปรียบกับบ้านเราคงคล้ายตัวละครประเภทนักเลงลูกทุ่งของ ไม้ เมืองเดิม ซึ่งพอจะเห็นเค้าโครงความเป็นจริงตามสังคมชนบทอยู่เหมือนกัน

แล้วเขาก็เขียนเรื่องเล่าถึงวีรบุรุษนักดวลมีด ซึ่งกลายมาเป็นตัวเอกในงานเขียนประเภทนั้น และด้วยประสบการณ์การอ่านอันจัดเจน เขาย่อมอดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสังเกตถึงเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งเคยเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ดังปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าหรือวรรณกรรมมากมาย

จากนั้น เขาก็เขียนเรื่องเกี่ยวกับควาแปลกประหลาดของความทรงจำ และเขียนเกี่ยวกับการอุบัติซ้ำของเค้าโครงชะตากรรมบางอย่าง

ประเด็นเรื่องเหตุการณ์อุบัติซ้ำอัน “แปลกพิลึก” นี่เองที่เขานำมาเขียนเป็นเรื่องลี้ลับชวนพิศวงเกี่ยวกับการโคจรมาดวลกันของมีดสองเล่ม

หนังสือเล่มนี้ควรจะอ่านเรื่องเรียงตามลำดับ เพื่อจะได้เข้าใจประเด็นที่นักเขียนวางไว้ให้ติดตาม อย่างอิทธิพลของเรื่องเล่าซึ่งมีผลต่อชีวิตในลักษณะต่างๆ เป็นสิ่งที่เขาขบคิดในอีกหลายเรื่องต่อมา ตั้งแต่เรื่องเล่าที่เล่าซ้ำบ่อยจนไม่แน่ใจว่าเป็นความทรงจำในอดีตหรือเป็นการผลิตซ้ำอย่างชำนิชำนาญของตัวมันเองกันแน่ หรือเรื่องเล่าที่กล่อมคนเสียจนกระทำบางอย่างแทนมันเสมือนเป็นเรื่องลี้ลับ หรือคนที่หลงระเริงทะเยอทะยานอยู่ในเรื่องเล่าของตัวเอง จนไม่รู้ตัวว่าสภาพแท้จริงของตนเองนั้นเป็นเหมือนกับ “คนผู้ซึ่งได้ตายไปแล้ว”

เช่นเดียวกับปัญญาชนที่ได้แต่แสวงหาความรู้จากการศึกษาและใช้ความคิด หากขาดประสบการณ์จากการปฏิบัติในชีวิตจริง น้ำเสียงของบอร์เจสจึงออกไปทางสดุดียกย่องความดิบหยาบของประสบการณ์ชีวิตอันจริงแท้อยู่นั่นเอง อย่างเรื่องของชายชาตรีที่ยอมหักแม้แต่ความรักที่ผ่านเข้ามาในวิถีแห่งลูกผู้ชายของพวกตน หรือสัญชาตญาณของคุณธรรมบริสุทธิ์ ซึ่งจะมีในผู้ที่เป็นตัวของตัวเองเท่านั้น

อย่างก็ตาม บอร์เจสยังคงสะกิดเตือนเป็นระยะว่า ความประทับใจนั้นผ่านมาทางเรื่องเล่านั่นเอง เช่น เรื่องในตำนานหรือนิยายเกี่ยวกับวีรกรรมของพวกโคบาลเกาโจทั้งหลายก็ล้วนผ่านการตัดแต่งมาแล้วทั้งนั้น และชนชั้นกลางเองก็บริโภคเรื่องเล่าเหล่านี้เพื่อทดแทนเสียงเพรียกแห่งชีวิต ความดิบหยาบของคนเถื่อนจริงๆ ย่อมไม่ได้สง่างามอย่างในสายตาปัญญาชน แต่เต็มไปด้วยริ้วรอยของความยากไร้และความไม่รู้อันหยาบกระด้าง

กระนั้นเรื่องเล่าก็ยังคงน่าหลงใหลเสมอ บอร์เจสจึงเขียนฉากดวลมีดครั้งสุดท้ายของวีรบุรุษคนสำคัญขึ้นใหม่ให้อยู่ในสายตาของชายผู้เป็นอัมพาต ซึ่งเป็นทั้งการคารวะและหักล้างไปพร้อมกัน เช่นเดียวกับ การสดุดีทั้งเรื่องเล่าและชีวิตในเรื่องสุดท้าย ด้วยการดวลมีดกันระหว่างชายหนุ่มชาวเมืองผู้มีเหตุให้ต้องเดินทางมายังบ้านไร่กลางท้องทุ่งตามปรารถนา กับนักเลงเจ้าถิ่นผู้มีเค้าหน้าเป็นคนจีน ภายใต้สายตาของเกาโจพันธุ์แท้แก่หง่อม

แดนอรัญ แสงทอง แปลหนังสือเล่มนี้ด้วยภาษาวิลาสวิไลของเขา แฝงด้วยสำเนียงนักเลงลูกทุ่งเมืองเพชร อ่านได้เพลิดเพลินราบรื่นคล่องคอ นับเป็นวรรณกรรมเอกอีกเรื่องที่ผ่านมือของเขาสู่ภาษาไทย หลังจากที่แปลงานดีๆ มาแล้วหลายต่อหลายเล่ม ขณะที่งานเขียนของเขาเองก็ได้รับการแปลไปหลายภาษา เรียกได้ว่าไม่เสียดุลทางวรรณกรรมก็แล้วกัน

หมายเหตุ: เรื่องสั้นสองเรื่องใน “เพชฌฆาตข้างถนน” คือ “กาลอวสาน” (The End) และ “แดนใต้” (The South) เคยตีพิมพ์ในหนังสือ bookvirus เล่ม 2 (ปี 2547)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น