บล็อกนี้ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องจาก แดนอรัญ แสงทอง

วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553

เจ้าการะเกด : เรื่องราวว่าด้วยการสร้างความมัวหมองต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์

บทความวิจารณ์โดย มาร์แซล บารังส์ / พ.ศ. 2545
แมน เมืองสิงห์ แปล

นักเขียนบางคนนั้นอิ่มเอมสมบูรณ์อยู่เฉพาะเพียงในโลกของตนเสียเหลือหลายจนถึงขนาดที่ว่าเขาเพียรแต่ใช้ชีวิตในการเขียนส่วนใหญ่ของเขา หรือใช้ชีวิตในการเขียนทั้งหมดของเขา สรรค์สร้างรูปลักษณ์และขนานนามกรให้แก่โลกที่ว่านั้น จนกระทั่งโลกที่ว่าของเขานั้นได้กลายเป็นสัญลักษณ์พิเศษทางวรรณกรรมไป ย็อกนาปาทอว์ฟา หมายถึงโลกเฉพาะของวิลเลียม โฟล์คเนอร์, มัลกูดี้ หมายถึงโลกเฉพาะของ ร.ก.นารายัน และมาทีนี้แพรกหนามแดงก็หมายถึง แดนอรัญ แสงทอง นักเขียนไทยที่ชาวยุโรปรู้จักเขาเป็นอย่างดีภายใต้ชื่อจริงของเขา คือ เสน่ห์ สังข์สุข ไม่ว่ามันจะมีอยู่จริงหรือเพียงแต่ถูกเสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้นก็ตาม โลกที่กล่าวถึงนั้นก็คือโลกที่สิงสู่อยู่ในความคิด เป็นตัวแทนของภูมิประเทศและวิถีชีวิตทั้งมวล หรือถ้าจะพูดให้ชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ มันคือปัจจัยต่างๆ นานาที่แวดล้อมมนุษย์อยู่นั่นเอง ก็ที่แพรกหนามแดงนี่อย่างไรล่ะที่ “เงาสีขาว” ได้เกิดขึ้น แล้วก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า “อสรพิษ” ก็ด้วย แม้ว่าจะไม่ได้ระบุออกมาตรงๆ ก็ตามที และก็ที่นี่แหละคือฉากของ เจ้าการะเกด ท่านควรจะรู้ไว้เสียหน่อยว่าแพรกหนามแดงนั้นไม่ใช่ชื่อของดาวนพเคราะห์ดวงพิเศษในแกแล็คซีของเราหรอก หากแต่คือชื่อหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดเพชรบุรี เป็นหมู่บ้านที่นักเขียนผู้มีฝีไม้ลายมือระดับโลกผู้นี้อาศัยอยู่โดยที่เพื่อนร่วมชาติของเขาไม่ได้แยแสแม้แต่น้อย

ไอ้เจ้างานชิ้นใหม่นี้ประทับตราอันเป็นที่รู้จักกันดีด้วยลีลาการเขียนอันแหวกแนวและอร่อยเหาะ : แต่ละพารากราฟยาวเกินกว่าสิบสองหน้ากระดาษหรือมากกว่านั้นเสียอีก แต่ละประโยคยาวย้วยเคี้ยวคดเชื่อมต่อใจความเข้าด้วยกันด้วยคำว่า “และ” ซึ่งเริ่มต้นอย่างหนึ่งแล้วก็กลับโอละพ่อไปเสียอีกอย่างหนึ่งชนิดคาดไม่ถึง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยศัพท์สะแลง ภาษาที่ไพเราะดุจกวีนิพนธ์ ศัพท์เทคนิคและสำบัดสำนวนของชาวพุทธซึ่งใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวในทางคติชนวิทยาและมุมมองอันแหลมคมในเชิงสังคมวิทยา ด้วยน้ำเสียงเนิบนาบที่ลอยชายเชือนแชอันระคนปนเปไปด้วยอารี้อารมณ์อันขันเข ความเมตตาการุณย์ การเย้ยหยันไยไพ และความสมเพชเวทนาต่อเพื่อนมนุษย์

ตัวของหนังสือเองยังท้าทายกฎเกณฑ์ของดุลยภาพทางวรรณกรรม (Literary Balance) เข้าเสียอีกด้วยอย่างมีชั้นเชิง ค่าที่หนึ่งในสามของหนังสือเป็นการจัดแจงตระเตรียมเหตุการณ์ต่างๆ ให้แก่เรื่องจริง ๆ ที่จะถูกบอกเล่าเสียฉิบ ส่วนที่เป็นท่อนอินโทรดักชั่นอันยาวเหยียด อุดมสมบูรณ์และประสานสัมพันธ์กันอย่างสมบูรณ์แบบนี้ทำให้เราได้เห็นฉากและได้รู้กาลเวลา (คืนวันหนึ่งในปี 2510 ฤดูหนาว) และสถานที่ (ที่ชุมนุมของชาวบ้านและเด็กๆ ขณะอยู่รอบกองไฟ) และในทันทีนั่นเองก็ชี้ให้เห็นมิติที่สาม ซึ่งนั่นก็คือเรื่องของประวัติศาสตร์ ทั้งด้วยการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นและการกล่าวถึงเหตุการณ์ในขวบปีก่อนๆ หน้านั้น จริงๆ แล้ว เรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงที่ชื่อเจ้าการะเกดนั้นเกิดขึ้นย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2431 โน่น (และยังย้อนลึกไปมากยิ่งกว่านั้นอีก เมื่อเหตุการณ์อันรุนแรงร้ายกาจของเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2421) ส่วนที่เป็นบทกล่าวนำนี้ยังบอกใบ้เป็นนัยๆ อยู่อย่างสม่ำเสมอถึงแนวคิดหลักในเรื่อง ซึ่งนั่นก็คืออำนาจของมนต์ดำ (ไสยศาสตร์) ซึ่งจะมีอยู่อย่างหนักหน่วงในตัวเรื่องจริงๆ ที่จะได้รับการบอกเล่าในโอกาสต่อมา

มุมมองผ่านกาลเวลานานนับศตวรรษทำให้งานเขียนชิ้นนี้ลึกล้ำกว่าปรกติ จากมุมมองนี้ เราจึงสำนึกได้อย่างแจ่มชัดว่าสิ่งต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด – การสร้างความมัวหมองต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมายเพียงใด – ที่ได้เกิดขึ้นในแพรกหนามแดง ในชนบทไทย จริงๆ แล้วก็รวมถึงประเทศนี้ทั้งประเทศด้วย ไม่ใช่แค่เพียงการสาบสูญของป่าดงพงไพรและสิ่งที่อาศัยอยู่ในนั้น อันได้แก่สัตว์และพรานเท่านั้น หากแต่หมายถึงความเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกนึกคิด ทั้งยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่ามนุษย์สมัยใหม่นั้นตกเป็นหนี้ของค่านิยมและความเชื่อเก่าแก่มากมายเพียงใด

ต้องต่อเมื่อเราคุ้นกับสิ่งแวดล้อมของเมื่อสามสิบห้าปีก่อนดีแล้วนั่นแหละ หลวงพ่อเทียนผู้มีอายุเก้าสิบสามปีถึงจะได้บอกเล่าเรื่องราวของแกได้เต็มสุ้มเต็มเสียง

เรื่องที่แกบอกแก่เราก็คือเหตุการณ์ที่ทำให้แกต้องบวชเป็นพระและละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่แกใฝ่ฝันและหวงแหนยิ่งชีวิตไปโดยสิ้นเชิง

ข้าพเจ้าอยากให้ท่านผู้อ่านค้นพบด้วยตัวท่านเองว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างและท้ายที่สุดแล้วลงเอยเช่นใด ข้าพเจ้าคงกล่าวได้แต่เพียงว่ามีการตามล่าเสือสางอันร้ายกาจตัวหนึ่ง เรื่องเล่านี้ก่อให้เกิดความเจ็บปวดรวดร้าวและดึงดูดความสนใจของเราไว้จนแน่วแน่ เต็มไปด้วยอันตราย ความตื่นตระหนก และเหตุการณ์เหนือธรรมชาติเฉียดกรายมาอยู่เนืองๆ

ผู้อ่านบางท่านอาจจะพบว่าการจบเรื่องแบบหักมุมนั้นไม่น่าพึงใจเลย (ข้าพเจ้าเป็นหนึ่งในจำนวนนั้น) จุดจบเช่นนั้นแทนที่จะยกชูเรื่องให้ขึ้นสู่ระดับชั้นที่กว้างขวางขึ้นอย่างเช่นในกรณีของ “อสรพิษ” กลับทำให้เรื่องลดต่ำลง ไม่น่าเชื่อถือ และกลายเป็นแอนตี้ไคลแม็กซ์ไปอย่างน่าเสียดาย – ข้าพเจ้าขอสารภาพความในใจไว้ ณ ที่นี้

ข้าพเจ้าได้อ่านต้นฉบับงานชิ้นนี้เมื่อหนึ่งปีก่อน หลังจากที่ผู้เขียนเขาได้เขียนจบลง และข้าพเจ้าก็ไม่พอใจอย่างยิ่งยวดต่อตอนจบของเรื่องจนทำให้ข้าพเจ้าปฏิเสธที่จะแปลมัน ในการอ่านเรื่องนี้เป็นครั้งที่สอง เมื่อมันได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือเรียบร้อยแล้ว คือเมื่อสามสัปดาห์ที่แล้วนี้เอง ข้าพเจ้าตื่นตะลึงกับสไตล์ในการเขียนเสียจนข้าพเจ้าคิดว่าบางทีข้าพเจ้าควรที่จะเปลี่ยนใจเสียใหม่ ข้าพเจ้าจึงแปลสองย่อหน้าแรก (15 หน้า) และสรุปย่อเนื้อเรื่องส่วนที่เหลือ โดยไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ เลย และส่งมันไปให้เลอเซย (Leseuil) เลอเซยนี้ก็คือสำนักพิมพ์และผู้จัดพิมพ์งานของนักเขียนผู้นี้ในประเทศฝรั่งเศสที่ซึ่ง “อสรพิษ” ขายได้มากกว่า 20,000 เล่ม เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของสถาบันการศึกษาหลายแห่ง และถูกแปลเป็นภาษาอื่นๆ ในยุโรปอีกหกภาษานั่นเอง เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ข้าพเจ้าเพิ่งได้รับข่าวว่าคณะกรรมการการอ่าน (The Readers Committee) ของเลอเซยซึ่งประชุมกันเป็นประจำทุกเดือนได้ลงความเห็นว่าหนังสือเรื่องนี้ควรได้รับการแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสด้วยคะแนนอันเป็นเอกฉันท์ และเลอเซยก็ยังบอกมาอีกด้วยว่าอีกสักประเดี๋ยวจะส่งสัญญามาให้อีตาเสน่ห์กับอีตามาร์แซลเซ็น

3 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ17 มีนาคม 2553 เวลา 02:13

    เจ้าการะเกดทำให้ผมขนลุก ผมชอบบรรยากาศในเรื่องมาก ทั้งเรื่องเล่า ผืนป่าและเสือสมิงยังตรึงใจถึงตอนนี้เลยครับ

    เชิงชาย

    ตอบลบ
  2. ขอบคุณครับคุณเชิงชาย

    ดีใจแทนคุณแดนอรัญครับที่รู้ว่ามีคนติดตามอ่านงานของเขาอยู่ เพราะตอนที่เขียนเจ้าการะเกดเป็นช่วงที่คุณแดนอรัญตัดขาดจากโลกภายนอกนานเป็นปี แทบไม่ได้พูดคุยกับใครเลยและเครียดหนักขนาดเหงื่อออกเป็นเลือด ขณะนี้คุณแดนอรัญก็เพิ่งเขียนเรื่องสั้นเรื่องใหม่เสร็จไปหนึ่งเรื่อง และจะเริ่มเขียนเรื่องอื่นต่อไปอีก ซึ่งเป็นรวมเรื่องสั้นที่จะพิมพ์กับสำนักพิมพ์สามัญชนในโอกาสต่อๆ ไปครับ

    ตอบลบ
  3. ผมเพิ่งมีโอกาสได้อ่าน เจ้าการะเกด ... อย่างที่คุณเชิงชายบอกอะครับ .. เขียนบรรยายได้ดีมาก ... ลุ้นระทึกไปกับ ควันเทียน ตลอด..แม้ตอนจบจะพอเดาเรื่องได้..แต่ก็พยายามลุ้นว่าอย่าให้เป็นอย่างที่คิดเลย..แต่พอมาอ่านที่มาที่ไปของเรื่อง..ก็พอจะเข้าใจอะไรมากขึ้น..

    แต่มีข้อสงสัยนิดนึงอ่ะครับ..ว่าการที่ทั้งเรื่องมี "ย่อหน้า" ไม่กี่ย่อหน้าเท่านั้น..มีความหมายอะไรพิเศษหรือเปล่าครับ..?? เพราะผมก็พยายามจะหาความหมายว่ามันเกี่ยวพันอะไรยังไง...แต่ก็จนด้วยเกล้า..(หรือจะคิดมากไปเอง..??)

    booknotbite

    ตอบลบ